นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ SINO ผสานน่านน้ำการค้าโลก - Forbes Thailand

นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ SINO ผสานน่านน้ำการค้าโลก

ความเชื่อมั่นในศักยภาพตลาดส่งออกและประสบการณ์ทำงานที่สั่งสมจากสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ร่วมทศวรรษของ "นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์" สู่การจับมือเริ่มต้นธุรกิจโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ พร้อมฝ่าคลื่นความท้าทาย ติดอาวุธบริการครบวงจร ผงาดขึ้นแท่นผู้นำการขนส่งทางทะเลข้ามพรมแดนสหรัฐอเมริกาของไทย


    ภาคโลจิสติกส์ของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นแรงผลักดันให้ นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ที่ในขณะนั้นเป็นพนักงานบริษัทสายการเดินเรือ ตัดสินใจลาออกร่วมกับคู่ชีวิตและเพื่อนร่วมงาน พร้อมทั้งร่วมทุนกับผู้ถือหุ้นชาวฮ่องกงที่ดำเนินธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในฮ่องกงและสนใจการขยายธุรกิจมายังประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการขนส่งจากทวีปเอเชียไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก รวมถึงประเทศแคนาดา ทวีปยุโรป และทวีปเอเชีย

    “ช่วงที่เรียนจบภาษาปี 2542 เรามองหางานเกี่ยวกับการติดต่อระหว่างประเทศจึงเริ่มงานกับสายการเดินเรือ NYK Shipping Services ประเทศไทย ปัจจุบันเป็นสายการเดินเรือ Ocean Network Express (ONE) ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 3 บริษัทญี่ปุ่น (กลุ่มสายการเดินเรือ Kawasaki Kisen Kaisha, Mitsui O.S.K. Lines และ Nippon Yusen Kabushiki Kaisha)

    โดยเราทำงานเป็นพนักงานขายและได้รับการโปรโมตเป็นผู้ช่วยผู้จัดการอยู่ที่นั่นประมาณ 10 ปี จนมองเห็นโอกาสธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศและเส้นทางการส่งออกจากไทยไปอเมริกาเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพมาก”

    นันท์มนัส วิทยศักดิ์พันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SINO กล่าวถึงความเชี่ยวชาญเส้นทางการส่งออกไทย-สหรัฐฯ จากการทำงานในบริษัทสายการเดินเรือระดับโลกทันทีที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พร้อมเริ่มต้นธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในปี 2553 และสามารถสร้างการเติบโตต่อเนื่องสู่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอย่างครบวงจรสัญชาติไทยที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่ในเส้นทางไทย-สหรัฐฯ


    “ผมเริ่มต้นบริษัทกับคุณอรัชพรซึ่งเป็นภรรยาและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการในปัจจุบัน และคุณกวิล กฤษเจริญ เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน รวมถึงร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ที่ฮ่องกง เพราะจำเป็นต้องใช้ license ขนส่งไปอเมริกา ทำให้เราสามารถขยายงานได้เร็วขึ้นจาก license ที่พร้อมให้บริการ

    โดยตอนนั้นเราค่อนข้างมั่นใจและกล้าที่จะเสี่ยงแม้ส่วนแบ่งทางการตลาดของเรายังเป็นศูนย์ แต่เราก็มั่นใจในอาวุธความพร้อมในการขายและทีมเซลส์ของเราที่มาจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับ freight forwarder ซึ่งสร้างความแตกต่างจากที่อื่น โดยในช่วง 2 ปีแรกอาจจะมีอุปสรรคพอสมควร แต่เมื่อลูกค้าเชื่อมั่นก็ทำให้เราได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดมากขึ้น”

    นอกจากนั้น นันท์มนัสยังเล็งเห็นโอกาสก่อตั้ง บริษัท อินเตอร์ คอนเนคชั่นส์ โลจิสติกส์ จำกัด หรือ ICL เมื่อปี 2556 เพื่อขยายธุรกิจการให้บริการขนส่งภายในประเทศและข้ามแดนระหว่างประเทศ ได้แก่ การขนส่งโดยรถบรรทุกหัวลากและหางพ่วง รถบรรทุก 4 ล้อ รถบรรทุก 6 ล้อ และรถบรรทุก 10 ล้อ

    ซึ่งให้บริการตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่หน้าโรงงานและท่าเรือหรือท่าอากาศยาน รวมทั้งการขนส่งระหว่างโรงงานในประเทศและระหว่างประเทศ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าขนส่งทางอากาศและรวดเร็วกว่าขนส่งทางทะเล โดยมีเส้นทางครอบคลุมในประเทศ เช่น เส้นทางระยอง-ชลบุรี, เส้นทางลาดกระบัง และผ่านแดนไปยังประเทศใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย เป็นต้น

    ขณะเดียวกันบริษัทย่อยยังสามารถให้บริการด้านพิธีการศุลกากรเพื่อการนำเข้าและส่งออก รวมถึงการจัดเตรียมเอกสารและให้คำแนะนำด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยบริษัทได้รับการรับรองจากกรมศุลกากรให้เป็นสมาชิกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการออกของ และทีมงานของบริษัทที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกของได้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ชำนาญการศุลกากรและการทดสอบข้อสอบมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด

    “ตอนเริ่มต้นเราคิดว่าจะทำธุรกิจเฉพาะขนส่งทางเรือก็เพียงพอ แต่เมื่อเป็น freight forwarder แล้ว ความต้องการของลูกค้าหลากหลายมากขึ้น อย่างความต้องการรถหัวลากในการรับสินค้าจากประตูโรงงานลูกค้า ทางทีมบริหารและทีมขายของเรามีความคิดว่าเราควรเปิดบริษัทเพื่อให้บริการขนส่งทางบกในประเทศ

    ซึ่งต่อมาเรายังขยายการขนส่งทางอากาศเพิ่มในปี 2558 ทำให้เรามีการบริการครบตั้งแต่ทางเรือ ทางอากาศ ภาคพื้นดิน โดยแบ่งงานขนส่งระหว่างประเทศทางเรือและอากาศเป็นของ SINO ส่วนการขนส่งในประเทศและข้ามแดนรวมถึง customs clearance พิธีการศุลกากรให้อินเตอร์ คอนเนคชั่นส์ โลจิสติกส์ดำเนินการ”

    ดังนั้น ในปัจจุบันบริษัทสามารถให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (freight forwarder) ทั้งทางทะเล (sea freight) ในรูปแบบของการขนส่งแบบเต็มตู้ (Full Container Load หรือ FCL) และแบบไม่เต็มตู้ (Less Than Container Load หรือ LCL) ทางอากาศ (air freight) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal transport operation)

    พร้อมตอบสนองความต้องการของตลาดที่มีความต้องการบริการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางทั่วโลก (end-to-end global logistics) รวมถึงการให้บริการเช่าคลังสินค้า การให้บริการขนส่งทางบก การให้บริการด้านพิธีการศุลกากร และบริการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

    “จุดขายของเราในช่วงแรกที่ทำตลาดจะเน้นเรื่องการควบคุมสินค้าให้ขนส่งตรงตามเวลาและราคาที่เราได้จากการเซ็นสัญญากับสายการเดินเรือ เพราะตลาดอเมริกาไม่ใช่การขนส่งจากท่าเรือไปท่าเรือ แต่เป็นการส่งจากท่าเรือไปถึงประตูโรงงานหรือลูกค้าปลายทางผ่านรถบรรทุก รถหัวลาก ด้วยความที่เรามี agent network ที่ดีในอเมริกา ทำให้ลูกค้าเห็นว่าเวลาเรารับงานมา เราไม่เคยพลาดในการส่งมอบสินค้า”


ปักหมุดผู้นำโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค

    มรสุมลูกใหญ่ที่กลายเป็นบททดสอบฝีมือ 3 ทหารเสือในการขับเคลื่อนธุรกิจเริ่มตั้งแต่วิกฤตความแออัดของท่าเรือขนส่งสินค้าของสหรัฐฯ จนตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และตามมาด้วยการล็อกดาวน์ปิดท่าเรือในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ซึ่งหัวเรือใหญ่วัย 46 ปีไม่เพียงสอบผ่านโจทย์ยาก แต่ยังสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสสร้างการเติบโตหลายเท่าตัว

    พร้อมปรับโครงสร้างและรีแบรนด์ภาพลักษณ์องค์กรให้ชัดเจนในการเป็นบริษัทรับจัดการขนส่งสินค้าชั้นนำของประเทศ โดยเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ไซโน คอนเนคชั่นส์ โลจิสติกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็น บริษัท ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2564 เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต

    “ยอดขายเราเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปี 2563 ประมาณ 800 กว่าล้านบาท ซึ่งก่อนจะเกิดโควิด-19 เราเจอปัญหาท่าเรือฝั่งอเมริกา congest หนักมากหรือหนาแน่นมาก เรือไม่สามารถเข้าไปที่ท่าเรือได้ และเมื่อโควิด-19 ระบาดจากเดิมที่ท่าเรือหนาแน่นอยู่แล้ว เขาก็ปิดท่าเรือ ทำให้เรือที่หนาแน่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาอันสั้น

    “แต่ในปีนั้นเป็นปีที่เราสามารถขยับยอดขายเติบโตเป็น 4.68 พันล้านบาทได้ เพราะเราบริหารตู้สินค้าให้ลูกค้าได้ในภาวะวิกฤตตู้สินค้าขาดแคลน ด้วยการเตรียมตู้สินค้าทั้งของเราและส่วนที่ล็อกกับสายการเดินเรือล่วงหน้า ทำให้ลูกค้ามีตู้สินค้าส่งออกได้และพึงพอใจจึงใช้บริการเรามากขึ้น บวกกับค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงอย่างรวดเร็วและเราสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือได้ ทำให้ยอดขายเราเติบโตเพิ่มขึ้นมาก”


    ฟ้าหลังฝนของบริษัทโลจิสติกส์สัญชาติไทยที่สามารถฝ่าคลื่นลมได้สำเร็จสามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยรายได้รวม 5.93 พันล้านบาทในปี 2565 โดยมีสัดส่วนรายได้มาจากการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล 97% ซึ่งบริษัททำหน้าที่เหมือนตัวกลางระหว่างลูกค้ากับสายการเดินเรือในการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือ

    รวมถึงจัดสรรเส้นทางเดินเรือและเวลาให้สอดคล้องกับความต้องการหรือความเหมาะสมของสินค้า พร้อมดำเนินการติดตามสถานะสินค้าและแจ้งความคืบหน้าตลอดระยะทาง ด้วยเส้นทางครอบคลุมมากกว่า 100 ประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางการค้าไทย-โซนอเมริกาเหนือเป็นตลาดหลักของบริษัทและเส้นทางการค้าไทย-เอเชีย ตลอดจนไทย-ยุโรปเป็นตลาดรองที่มีปริมาณการส่งสินค้าและนำเข้าจำนวนมาก

    สำหรับช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้มีการจัดตั้ง บริษัท เอสเอ็นซี คาร์โก้ เซอร์วิสเซส จำกัด ประกอบธุรกิจบริการรับจัดการขนส่งทางอากาศ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาการทำสัญญา (General Cargo Sales Agent-GSA) เพื่อเป็นตัวแทนการขายระวางสินค้ากับสายการบินแต่เพียงผู้เดียว

    รวมถึงบริษัทได้มีการลงนามเป็นพันธมิตรทางการค้ากับ บริษัท สิทธิ โลจิสติกส์ (ลาว) จำกัด ผู้พัฒนาเมกะโปรเจกต์โครงการท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทร์ของ สปป.ลาว ทำให้บริษัทสามารถให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทางอากาศ ทางรถไฟ และบริการตู้สินค้าแบบ SOC ของบริษัทในโครงการท่าบกท่านาแล้ง ซึ่งเป็นการยกระดับธุรกิจโลจิสติกส์แบบบูรณาการ

    นอกจากนั้น บริษัทยังเดินหน้าการจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อนำเงินลงทุนขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์หรือให้บริการเช่าลานกองตู้สินค้า และช่วยบริหารการจัดการตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ให้ลูกค้าในช่วงที่ปริมาณตู้จำกัดหรือขาดแคลน ด้วยแผนการลงทุนที่จังหวัดระยองหรือชลบุรี เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่ใช้บริการขนส่งทางบกอยู่โซนภาคตะวันออก

    พร้อมทั้งลงทุนกับพันธมิตรธุรกิจในประเทศและกลุ่มอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ freight forwarding ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ freight forwarding ธุรกิจการจัดการขนส่งระหว่างประเทศทางอากาศ

    “แม้เราจะเห็นการเติบโตต่อเนื่อง 10-15% ทุกปี แต่ไม่คิดว่าจะสูงมากในปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 และไม่เคยคิดเรื่องการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกระทั่งดำเนินงานถึงช่วงปีที่ 7-8 เราเริ่มสนใจการระดมทุนเพื่อขยายบริษัทให้สามารถต่อสู้กับบริษัทระดับโลก เมื่อรายได้ของเราถึง 800 กว่าล้านบาท และกำไรมากกว่า 23 ล้านบาท

    เราจึงลองพูดคุยกับ FA เพราะเราเห็นโอกาสการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายสาขาไปต่างประเทศจากสัญญาที่เรามีกับ FMC ทำให้สามารถให้บริการประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์การระดมทุนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเราสนใจประเทศมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา

    รวมทั้งเมื่อปีที่แล้วเราเริ่มให้บริการธุรกิจตู้บรรจุของเหลวหรือ tank container ซึ่งต่อยอดกับ ICL เรื่องการขนส่งตั้งแต่โรงงานถึงท่าเรือแหลมฉบังที่เรามีลานของ ICL โดยเราต้องการพัฒนาลานให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อเก็บแทงก์เปล่าก่อนส่งมอบทำการบรรจุสินค้าให้ลูกค้า”



อ่านเพิ่มเติม: พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ความท้าทายไม่เคยหยุดนิ่ง 12 ปี “LINE ประเทศไทย”

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine