การระบาดของโควิด-19 สะเทือนไปทุกธุรกิจ หลายแห่งถึงขั้นต้องยุติกิจการ ทว่าบริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LEO แม้จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ประสบการณ์จากวิกฤตต้มยำกุ้งทำให้ เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ซีอีโอผู้ก่อตั้ง กระจายพอร์ตความเสี่ยงมีภูมิต้านทานมากขึ้น
เกตติวิทย์เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่แวดล้อมด้วยคนทำธุรกิจ เขามีเป้าหมายตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาว่าต้องเป็นเจ้าของกิจการ และเลือกเรียนต่อปริญญาตรีสาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน หลังเรียนจบเขาไปทำงานเป็นตัวแทนสายเดินเรือประมาณ 3 ปี ต่อมาสมัครเข้าทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ผ่านการคัดเลือกและได้รับเงินเดือนมากกว่าที่แจ้งไป แต่เมื่อมาคิดทบทวนว่า หากทำงานสายโฆษณาอาจไม่มีโอกาสสร้างกิจการเป็นของตนเอง เขาจึงปฏิเสธและกลับมาทำงานสายเดิม จากนั้นในปี 2534 ได้ร่วมกับกลุ่มเพื่อน 5-6 คน ตั้งบริษัทขณะอายุ 28 ปี ด้วยทุนเริ่มต้น 3.5 ล้านบาท และในปีเดียวกันนี้สามารถเพิ่มพนักงานจาก 15 เป็น 40 คน เกตติวิทย์ เล่าว่า สาเหตุที่บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปีแรก เพราะให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า "LEO ให้บริการครอบคลุมทั่วโลก ประกอบกับมีบริการตู้ consolidation ซึ่งในช่วงนั้นมีความเสี่ยงคือ หากสินค้าไม่เต็มตู้ผู้ประกอบการจะไม่จัดส่งตามกำหนดและเลื่อนเป็นสัปดาห์ถัดไป แต่ LEO จัดส่งตามกำหนด ไม่เต็มตู้ก็ส่ง ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น จากที่เคยให้บริการขนส่งเฉพาะสินค้าขาออก ก็มาให้บริการสินค้าขาเข้าด้วย เป็นตัวแทนจัดส่งทางอากาศ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนสายการเดินเรือ ยิ่งทำให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้ามากขึ้น" บมจ. ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการโลจิสติกส์ครอบคลุมทั่วโลก ใน 190 ประเทศ 849 เมือง มีบริษัทในเครือ 4 แห่ง ประกอบด้วย Sinokor Merchant Marine (Thailand), YJC Depot Services, Aramex (Thailand) และในเมียนมา 1 แห่งคือ LEO Myanmar Logistics ส่วนบริการประกอบด้วย การรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและการส่งออก (freight forwarder) โดยการขนส่งทางทะเล (sea freight) ทางอากาศ (air freight) รวมทั้งการให้บริการสนับสนุนการให้บริการโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร (integrated logistics services) และให้บริการพื้นที่สำหรับเก็บของ (LEO Self Storage) ในส่วนของการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลมีทั้งแบบเต็มตู้ (full container loaded: FCL) และแบบไม่เต็มตู้ (less than container loaded: LCL) ขนส่งสินค้าโครงการและสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องจักรขนาดใหญ่ เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายแรกที่ได้รับการรับรองระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าตามมาตรฐานฮาลาล ด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ บริการขนส่งสินค้าแบบเร่งด่วน (express service/ hand carry/ on board courier) เช่น ต้นแบบสินค้าเพื่อส่งผลิต ส่งตัวอย่างเลือดหรือเนื้อเยื่อเพื่อตรวจสอบ ส่งชิ้นส่วนเครื่องจักรไปซ่อมพร้อมรอรับกลับ สร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤต ปี 2540 บริษัทเอกชนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาจากการลอยตัวค่าเงินบาทแต่ LEO ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะบริการจัดส่งขาออกเป็นส่วนใหญ่ “ต้มยำกุ้งทำให้รู้ว่าเราต้อง diversify ก่อนต้มยำกุ้งลูกค้าเป็นสินค้านำเข้าเพื่อบริโภคทั้งนั้น ตัวเลขหายไป 50% เราเรียนรู้ว่าไม่ได้แล้ว ต้องหาลูกค้านำเข้าเพื่อการผลิตบ้าง หากเกิดเหตุขึ้นมายังทำธุรกิจได้เหมือนโควิด-19 local consumer จะลดลง แต่เรามี manufacturing แม้จีนจะเป็นตลาดใหญ่แต่ก็แค่ 20% เรากระจายความเสี่ยง ตอนเกิดโควิดเรา drop ไป 25% เทียบกับค่าเฉลี่ยใน industry เดียวกันเราน้อยกว่า เพราะกระจายพอร์ตมากกว่า...” “เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งประชุมกับสายเดินเรือยักษ์ใหญ่ เขาคิดว่าพอธุรกิจเปิดทำการตัวเลขสายเดินเรือทั้งหมดจะลดลง 10-15% เทียบกับปีก่อน หากโชคดีอาจพอๆ กับปีที่แล้ว ส่วนขนส่งทางอากาศราคาจะปรับตัวสูงขึ้น ย้อนหลังไป 7-8 ปีก่อน การท่องเที่ยวภาคยุโรปบูมมาก มีไฟต์บินมาไทย 4-7 เที่ยวต่อวัน capacity ในการขนสินค้ามหาศาล ก่อนโควิด-19 ค่าขนส่งไปทางยุโรปไม่ถึง 100 บาทต่อ 1 กก. ตอนนี้ 200-300 บาท ขึ้นมา 4-5 เท่า และคงเป็นราคานี้ไปอีก 2-3 ปี คนยุโรปเจอวิกฤตทำให้ไม่มีเงิน ไม่เดินทาง” หาจุดแข็งเสริมความแกร่ง ช่วงแรกบริษัทวางเป้าหมายด้วยยอดขาย ต่อมาพบว่าใช้เกณฑ์นี้ไม่เหมาะสม เพราะรายได้ของบริษัทมาจากค่าระวางทางเรือและอากาศ ซึ่งปรับขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก LEO จึงปรับแผนธุรกิจให้ฝ่ายการตลาดใช้ margin แทน ทำให้ทีมงานเห็นเป้าหมายชัดเจนขึ้น “ธุรกิจเราต้องพึ่งเน็ตเวิร์กต่างประเทศหาลูกค้าให้ด้วย จึงต้องมีเอเย่นต์ที่ดี ช่วงที่เริ่มโฟกัสจีนเราขนสินค้าไม่ถึงพันตู้ แต่ตอนนี้ develop มาเป็นหลายหมื่นตู้ ส่วนอเมริกาเดิมขนส่งปีละไม่กี่ร้อยตู้ เพิ่มเป็น 2,000 ตู้ การวางแผนทำให้เรามีเวลานั่งคิดว่า จุดแข็งของเราอยู่ตรงไหน แผนคืออะไรและมาแบ่งงานกัน เรามีแผนก agency development ทำหน้าที่หาเอเย่นต์ที่ดีเพื่อมา support เราคุยกับซัพพลายเออร์สายการบินและบริษัทเดินเรือว่าเน้น trade ไหนถ้าแผนชัดเจน ทุกคนในองค์กรเห็นภาพชัดตามว่าเราจะไปทิศทางไหน อย่างไร” พัฒนาบุคลากร-นวัตกรรม “เราเสียเงินค่าตรวจครั้งละเป็นแสนบาทต่อปี ผมบอกพนักงานว่า ตรวจเพื่อให้รู้ว่ามีข้อบกพร่องอะไร ต้องปรับปรุงตรงไหนตั้งแต่ได้ ISO มา ไม่เคยเจอข้อผิดพลาดใหญ่ ตรวจมาเกิน 15 ปีแล้ว ISO 9001 เวอร์ชั่น 2015 เป็นพื้นฐานให้เราได้รางวัล” นอกจากนี้ยังตั้งโครงการ “LEO Successor” เพื่อพัฒนาผู้บริหารรุ่นใหม่ให้มีทักษะการเป็นผู้นำ การทำงานแบบทีมเวิร์ก การวางแผนและบริหารงานด้านต่างๆ เพื่อขึ้นเป็นหัวหน้างาน หรือผู้บริหารทีมในอนาคต ผลลัพธ์หนึ่งที่ได้คือ โมไบล์แอปพลิเคชันชื่อ Book Leoy โดยแอปข้างต้นจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการจองบริการขนส่งสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต โดยสามารถส่งข้อมูลตรงสู้ระบบฟรอนต์ออฟฟิศของบริษัทพนักงานไม่ต้องป้อนข้อมูลซ้ำ ในส่วนของฝ่ายการตลาดก็มีการเติมความรู้อยู่เป็นระยะ โดยจัดประชุมทีม 30 คน เดือนละครั้ง เกตติวิทย์ย้ำว่า พนักงานต้องรู้เรื่องต่างๆ เท่ากับเขา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้ทันท่วงที ในช่วงท้ายของการสนทนาเกตติวิทย์กล่าวว่า “ตั้งบริษัทมา 30 ปีแล้ว ผมเคยคิดตอนจะตั้งบริษัทว่า มีพนักงาน 40 คนก็แฮปปี้ ปัจจุบันทั้งกรุ๊ปมีพนักงาน 350 คน มาถึงจุดนี้ก็เกินความคาดหวัง แต่ยังสนุกอยู่คิดว่ายังไปได้อีกเพราะมี potential”คลิกอ่านฉบับเต็ม "เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ส่ง LEO ท่องทั่วโลก" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine