อุตสาหกรรมจอเงินของไทยคงมีเพียงไม่กี่คนที่จะสามารถคลุกวงในตลาดหนังจนเชี่ยวชาญได้เท่า วิสูตร พูลวรลักษณ์ ชายผู้ผ่านประสบการณ์ทั้งหวานและขม จนบ่มเพาะธุรกิจสร้างหนังให้มีรสชาติกลมกล่อมถูกจริตคนไทย การันตีด้วยจำนวนหนัง 9 เรื่องในบัญชีรายชื่อ 20 อันดับหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาล
ปรากฏการณ์ปี 2556 สร้างบทบัญญัติหน้าใหม่ให้ผู้ทำธุรกิจหนังไทยต้องอ้าปากค้าง ค่ายหนังที่สร้างความหวือหวาแห่งยุค 'GTH' ทำแจ๊คพ็อตแตกถล่มรายได้ box office จากหนังเรื่องเดียวไปถึง 1,000 ล้านบาท กระโดดขึ้นที่ 1 หนังไทยทำเงินไปแบบขาดลอย ต่อเนื่องถึงช่วงปลายปีที่ปล่อยหมัดฮุคเด็ด น็อคปลายคางคู่ต่อกรในสนามจอแก้ว ด้วยซีรี่ส์เอาใจวัยซ่า 'Hormones the Series' จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วประเทศ และค้างติดลมบนด้วยยอดผู้ชมย้อนหลังบนโลกออนไลน์ถึง 9 หลักในแต่ละตอน ทว่ากว่า GTH จะเติบโตเข้มแข็งเช่นในปัจจุบัน ต้องผ่านมรสุมและคลื่นลมแรงมาไม่น้อย หากไม่ได้ผู้ชายที่ชื่อ วิสูตร พูลวรลักษณ์ ร่วมพยุงไว้ โอกาสที่เรือธงในตลาดภาพยนตร์ไทยจะถึงฝั่งฝันคงไม่ใช่เรื่องง่าย วิสูตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ GTH และประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นบุตรคนที่ 5 ของ 'เจริญ พูลวรลักษณ์' เขาเกิดในช่วงปี 2502 ก่อนการถือกำเนิดของโรงหนัง 'ศรีตลาดพลู' สองปี ซึ่งเป็นก้าวแรกของ 'บริษัท โก-บราเดอร์' บริษัทในครอบครัวพูลวรลักษณ์ที่มีพ่อของเขาเป็นประธานบริษัท เขาเริ่มต้นชีวิตในเส้นทางภาพยนตร์ตั้งแต่วัยรุ่น ที่โรงภาพยนตร์ชั้นสอง 'พหลโยธินรามา' โดยทำงานตั้งแต่เป็นคนขายน้ำหน้าโรง คนขายตั๋ว คนเก็บตั๋ว จนกระทั่งไปฉายหนังในห้องฉาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาได้เรียนรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของวงการภาพยนตร์มากขึ้นจากที่เคยดูแต่หน้าจอ พอเริ่มงานตรงนี้ได้ไม่นาน โรงหนังแมคเคนน่าก็ได้เปิดแผนกฟิล์มขึ้นมา ในชื่อ 'โก-บราเดอร์ ฟิล์ม' เพื่อดูแลการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศโดยเฉพาะ 'เกษม พูลวรลักษณ์' อาของวิสูตรจึงชักชวนให้เขามาประจำอยู่ฝ่ายศิลป์ ซึ่งถือเป็นการเติมเต็มเด็กหนุ่มที่หลงรักศิลปะในเวลานั้นให้ฉายแววอย่างเป็นรูปธรรม หลังทำงานศิลป์โฆษณาหนังมากว่า 200 เรื่อง โชคชะตาก็ชักนำชีวิตให้มาพบกับ 'ปื๊ด' และ 'อังเคิล' สองนักเขียนใบปิดหนังที่คุยกันจนถูกคอ จนนำมาสู่การพลิกบทบาทชีวิตมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง และด้วยลูกบ้า เขาก็ไปยืมเงินจากพ่อมาหนึ่งล้านบาท และขอให้อาคนเล็กอย่าง 'จรัล พูลวรลักษณ์' หุ้นเพิ่มอีก 5 แสนบาท ก่อนก่อตั้งบริษัท ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ "น้องใหม่" ในวงการหนังไทย ซึ่งประเดิมก้าวแรกอันสวยงามด้วยหนัง "ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย" ที่ทำรายได้ไป 5 ล้านบาท ถือเป็นหนังทำเงินสูงสุดในปี 2528 “ในวันที่ผมจะทำหนังก็ได้ไปปรึกษากับอาจำเริญ ที่เป็นเสมือนเจ้าพ่อโรงหนังในเวลานั้น ผมก็บอกไปตามตรงว่าผมไม่ได้อยากทำโรงหนังสักเท่าไหร่ อยากสร้างหนังมากกว่า แกก็บอกมาว่า 'บ้าหรือเปล่า โรงหนังน่ะเป็นเสือนอนกิน ไม่เห็นเหรอว่ามันรับเงินสดทุกวัน แล้วจะไปสร้างหนังทำไม ไหนจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินเค้า หนังไม่ดีก็ต้องถอดอีก' แล้วแกก็ฝากคำถามมาให้ผมคิดว่าในบรรดาคนทำหนังมีคนไหนทำหนังแล้วรวยบ้าง" วิสูตรเล่าถึงคำท้วงติงของอาคนโต 'จำเริญ พูลวรลักษณ์' ซึ่งเป็น 'เจ้าพ่อโรงหนัง' ในเวลานั้น เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2546 ปีที่วงการภาพยนตร์ต้องจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อ 3 ผู้เล่นในอุตสาหกรรมจอเงินอันได้แก่ GMM Pictures ในเครือ GMM Grammy, ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ของวิสูตร และ หับโห้หิ้น ฟิล์ม ร่วมกันผลิตหนังที่พูดถึงทั้งบ้านทั้งเมืองอย่าง "แฟนฉัน" ขึ้นมา ก่อนก่อเกิดความร่วมมือถาวรเมื่อทั้งสามผนึกกำลังกันจนกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ภายใต้ชื่อ GTH (หรือ GMM Tai Hub) แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างในปัจจุบัน GTH เคยผ่านช่วงเดินทางผิดมาพักหนึ่ง เพราะหลงเชื่องาน research มากเกินไป ทำให้รายได้หนังไม่น่าประทับใจ วิสูตรจึงทบทวนแล้วคิดได้ว่า คนดูจะเลือกตอบคำถามจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ไม่ได้ตอบจากสิ่งที่ยังไม่เกิด นั่นแปลว่าการจะซื้อบัตรไปดูภาพยนตร์เรื่องใหม่ในโฉมหน้าแบบเดิมคงจะเป็นไปได้ยาก ผลงานเรื่องหลังๆ ของ GTH จึงมักจะเป็นผลงานที่เกิดจากสัญชาตญาณของบรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผ่าน "เสียงคลิ้กในใจ" ถ้าโปรเจ็กต์เรื่องไหนเกิดเสียงที่ว่าขึ้น แปลว่าสัญชาตญานได้ทำงานแล้ว แต่ในที่สุดแล้ว สิ่งที่วิสูตรหวังกลับหาใช่ความโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนของปรากฏการณ์ต่างๆในวงการ สิ่งที่เขาหวังกลับเป็นเพียงความต้องการที่จะได้เห็นวงการหนังไทยสามารถเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงบุคลากรให้รู้สึกไม่ด้อยไปกว่าวงการอื่นๆ “GTH ไม่ได้เพียงสร้างแบรนด์อย่างเดียว แต่เรากำลังสร้างคุณภาพให้ content ด้วย ทั้งหมดมาจากการปูทางที่ดีของคนรุ่นก่อน ก่อนส่งผ่านให้คนรุ่นใหม่ เพื่อให้หนังยังคงมีผู้ผลิตที่มีคุณภาพไปอีก 20-30 ปี เพราะผมไม่ได้มองแค่ GTH แต่ผมมองไปถึงวงการหนังไทยให้สามารถสร้างอาชีพที่แท้จริงใด้ ถ้าเราไปถึงจุดนั้น ภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังไทยมันก็จะแข็งแรง”ติดตามอ่าน "วิสูตร พูลวรลักษณ์: พหูสูตของหนังไทยยุคใหม่" ฉบับเต็มได้ ใน Forbes Thailand ฉบับ OCTOBER 2014