สายเลือดนักสู้ทางธุรกิจที่สามารถฟันฝ่าทุกมรสุมด้วยความมุ่งมั่นพลิกฟื้นธุรกิจ และใช้ฝีมือเดินหน้าเรียกศรัทธาความเชื่อมั่น จนสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และคว้าชัยชนะการประมูล วันนี้ "ซีวิลเอนจีเนียริง" เป็นผู้รับเหมาไทยรายแรกที่ได้รับไฟเขียวให้สร้างไฮสปีดเทรนพร้อมเล็งตลาดทุนเสริมความแข็งแกร่ง
กว่า 50 ปีในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด ผ่านร้อนผ่านหนาวและต้องเผชิญกับสถานการณ์อันหนักหน่วง โดยเฉพาะวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ทำให้ธุรกิจติดหนี้เกือบหมื่นล้านบาท ถึงขนาดไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน
แต่สิ่งที่ทำให้ผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ก็ด้วยคุณค่าของครอบครัว ภายใต้การนำทัพของทายาทรุ่นที่ 3 พร้อมขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างที่มีมูลค่าหลักแสนล้านอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย หรือที่เรียกว่าโครงการรถไฟไทย-จีน
ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ที่อาคารซีอีซี สำนักงานใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในทำเลสำคัญใกล้กับโครงการศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ “สถานีกลางบางซื่อ” ขณะที่ซีอีโอของบริษัทมีภาพของการเป็นนักบริหารมากกว่าวิศวกร
ซีอีโอวัย 40 ปี เป็นทายาทนักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยแท้ เพราะคุณปู่ (อารี อัศวศิริสุข) ที่เดินทางมาจากเมืองจีน และลงหลักปักฐานธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ตั้งบริษัทในปี 2509 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยร่วมกันกับบิดา (ชัยวัล อัศวศิริสุข) ถือเป็นผู้บุกเบิกโครงการก่อสร้างถนนในพื้นที่ภาคใต้จนเติบโตขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันรับผิดชอบโครงการก่อสร้างสำคัญ ทั้งถนน สะพาน เขื่อน ทางด่วน ทางยกระดับกว่า 1,000 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท
“หลังจากเรียนจบวิศวกรรมโยธาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา พอจบแล้วยังคงทำงานต่อที่ แอล.เอ. อีก 4 ปี ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับบริษัท Swinerton ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ อย่างสนามบิน แม้จะทำงานหนักแต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ประกอบกับตอนนั้นที่เมืองไทยเริ่มประสบปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง รู้สึกลังเลไม่อยากกลับมาเจอปัญหา” ปิยะดิษฐ์เล่าย้อนถึงอดีตอันหนักหน่วง
แบกหนี้เกือบหมื่นล้านบาท
ในฐานะบุตรชายคนเล็กที่ยังต้องการแสวงหาความรู้ ปิยะดิษฐ์จึงเกิดความลังเลในการกลับมาเผชิญปัญหาที่บ้าน ซึ่งก่อนเดินทางไปศึกษาต่อเขาเริ่มเห็นสัญญาณทางธุรกิจที่ไม่ค่อยดี พอปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินปิด ไม่มีการปล่อยกู้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทุกธุรกิจ
ช่วงนั้นซีวิลฯ มีการกู้เงินมาลงทุนจำนวนมาก รับงานกว่า 100 โครงการ และพนักงานกว่า 4,000 คน ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ บริษัทค้างจ่ายเงินเดือนพนักงาน 4 เดือน และมีหนี้สินเกือบหมื่นล้านบาท
“สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจกลับมาคือเรื่องของ family values คุณค่าของครอบครัว ซึ่งไม่ใช่แค่พ่อแม่พี่น้อง แต่พนักงานทุกคนคือครอบครัว การที่เขาไม่ทิ้งเราแม้ว่าจะไม่จ่ายเงินเดือนแสดงว่าเขามีใจ ดังนั้นเมื่อบริษัทมีปัญหาก็ต้องกลับมาดู แม้จะเสียดายโอกาสที่ได้ทำงานที่ต่างประเทศ แต่ก็คิดว่าถ้าเราไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือธุรกิจที่บ้านก็รู้สึกไม่สบายใจที่พี่น้องต้องมาลำบาก”
ระหว่างการแก้ปัญหา ปิยะดิษฐ์ได้วางพื้นฐานที่สำคัญของธุรกิจไปด้วย ทั้งในเรื่องคุณภาพ การบริหารต้นทุน ระยะเวลา ความปลอดภัย รวมถึงการสร้างคน พัฒนาบุคลากร ทำให้ภายในระยะเวลา 4-5 ปี บริษัทเริ่มดีขึ้น แต่ด้วยยอดหนี้เกือบหมื่นล้านทำให้กว่าจะเคลียร์หนี้สินได้ต้องใช้เวลาร่วม10 ปี
สร้างผลงานพิสูจน์ฝีมือ
ปัจจุบันบริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยรายได้ในปี 2562 จำนวน 3.5 พันล้านบาท และน่าจะเติบโตแตะ 5 พันล้านบาท จากการส่งมอบงานโครงการของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งมีงานบางส่วนเลื่อนการส่งมอบมา โดยในปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือ (backlog) เข้ามากว่า 4 พันล้านบาท จาก backlog ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดย backlog ที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันจะทยอยรับรู้ไปถึง ปี 2567 เฉลี่ยปีละ 4 พันล้านบาท
ด้านงานรับเหมาก่อสร้างให้กับโครงการภาครัฐที่บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย-ชุมพร, โครงการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 2-1 งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว-กุดจิก
นอกจากนั้นบริษัทยังได้รับงานในโครงการ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน- สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร ซึ่งบริษัทได้รับงานก่อสร้างรวม 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 16 และสัญญาที่ 29, 30 และ 31 บริเวณเขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อก่อสร้างทางยกระดับมอเตอร์เวย์ขนาด 4 เลน โดยปัจจุบันได้ส่งมอบงานก่อสร้างในสัญญาที่ 29, 30 และ 31 ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน จากสัญญาที่ระบุไว้ 3 ปี หรือเร็วกว่ากำหนดถึง 9 เดือน
แม้พื้นที่ก่อสร้างจุดนี้จะมีความท้าทายด้านงานวิศวกรรมโยธาเนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างเป็นชั้นหิน แนวเส้นทางบางช่วงเป็นเหวลึกและพาดผ่าน โรงไฟฟ้าพลังน้ำใต้ดิน ซึ่งบริษัทได้ใช้ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาผนวกกับการบริหารจัดการที่ดี จึงสามารถส่งมอบงานให้แก่ กรมทางหลวงได้ก่อนกำหนด
ก้าวต่อไปสร้างความมั่นคงยั่งยืน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างมีการแข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการตัดราคาในธุรกิจ ส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการรับเหมางานนั้นๆ ไม่สูงมาก โดยเฉพาะงานภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องหันมาพิจารณาด้านต้นทุนอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพและใช้ระยะเวลาที่รวดเร็วเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดในงานที่ได้มา
“ในธุรกิจก่อสร้างใครมีต้นทุนที่ถูกกว่าเป็นผู้ชนะ และการได้มาซึ่งต้นทุนที่ถูกกว่าไม่ได้เกิดจากการเบียดบังซัพพลายเออร์แต่อยู่ที่การสร้างวินัยทางการเงินที่ดี ใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านวิศวกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ การดูแลคนทำงาน หาคนที่มีทักษะในด้านต่างๆ เข้ามาเติมเต็มเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จและต่อยอดได้”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็ม ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข 5 ทศวรรษ “ซีวิลเอนจีเนียริง”สู่ไฮสปีดเทรน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine