หากไม่ใช่เพราะพี่ชายซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเปิดบริษัทเสียชีวิต ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ อาจเติบโตในสายงานราชการของกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่นายใหญ่ของบริษัทมหาชนที่ทำธุรกิจเสาเข็มเจาะและงานฐานรากระดับแถวหน้าของประเทศ จวบจนทุกวันนี้
เส้นทางสายวิชาชีพของ ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซีฟโก้ ไม่ได้เริ่มจากการเป็นนักธุรกิจ หากแต่เริ่มต้นชีวิตด้วยการรับราชการเป็นวิศวกรโยธาในกองออกแบบ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2515 แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปีมีเหตุให้ต้องพลิกผันจากอาชีพรับราชการมาสู่ถนนสายนักธุรกิจ
เมื่อปลายปี 2517 สุพจน์ ทัศนนิพันธ์ พี่ชายซึ่งเป็นวิศวกรโยธา เห็นว่าในประเทศไทยยังไม่มีการก่อสร้างบ้านหรืออาคารโดยใช้เสาเข็มเจาะ แต่ในต่างประเทศมีเทคโนโลยีนี้แล้ว จึงชักชวนน้องชายและเพื่อนจำนวนกว่า 50 คน ร่วมลงหุ้นเปิดบริษัทมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1.5 ล้านบาท
ซึ่งในปีแรกๆ ยังไม่มีงานเนื่องจากคนยังไม่คุ้นเคยกับเสาเข็มเจาะ ยังนิยมใช้เสาเข็มตอก ต่อมาในปี 2519 สุพจน์ถึงแก่กรรม ดร.ณรงค์จึงลาออกจากราชการเพื่อมาบริหารแทน งานแรกที่ได้ทำคือสร้างตึกในเยาวราช
ปี 2523 บริษัท สเตนท์เฟาเดชัน จำกัด (Stent Foundation) บริษัทฐานรากที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักร ซึ่งรับงานเสาเข็มขนาดใหญ่ ต้องการบุกตลาดในประเทศไทยและมองหาพาร์ทเนอร์ มีคนแนะนำให้มารู้จักในที่สุดได้ร่วมทุนกันเปิดบริษัท สเตนท์ ซีฟโก้ จำกัด รับงานเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่เป็นหลักมีทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท
โดยสเตนท์เฟาเดชันรับผิดชอบด้านเครื่องมือ เทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ ส่วนซีฟโก้ดูแลด้านการตลาดและพนักงาน งานแรกที่ได้ทำคือโครงการไทปิงทาวเวอร์ในซอยเอกมัย แต่ในเวลาต่อมาซีฟโก้ขายหุ้นคืนให้กับสเตนท์เฟาเดชัน
ปี 2532 บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัทโซลิตองซ์ เอ็นเตอร์ไพรส (Soletanche Enterprise) ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงในประเทศฝรั่งเศส โดยมีเงื่อนไขว่ต้องรับงานผ่านซีฟโก้ โดยซีฟโก้ทำเสาเข็มเจาะ ส่วนโซลิตองซ์ก่อสร้างกำแพงไดอะแฟรมวอลล์ ทำด้วยกัน 4-5 ปีโซลิตองซ์ก็กลับไปประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นซีฟโก้ก็ประกอบธุรกิจด้านนี้เอง
“การร่วมทำงานกับบริษัทต่างชาติที่ชำนาญทำให้ได้เรียนรู้และเห็นวิธีการทำงาน ซึ่งซีฟโก้ใช้เป็นบรรทัดฐานมาจนถึงทุกวันนี้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอธิบาย
ปัจจุบันซีฟโก้เน้น 2 งาน คือ เสาเข็มเจาะกับกำแพงกันดิน เนื่องจากงานด้านนี้ล้นมือต้องเทคนไปทำงาน ส่วนธุรกิจอื่นๆ หยุดไว้ชั่วคราว มีเครื่องจักรสำหรับตอกเสเข็ม 50 เครื่อง สำหรับทำกำแพงไดอะแฟรม 30 ตัว สามารถทำพร้อมกัน 20 โครงการมีพนักงานรวมกว่า 1,200 คน เป็นพนักงานประจำและพนักงานรายวันอย่างละครึ่ง
ผลงานของบริษัทล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอาคารสูงนับตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน เช่น อาคารอโศก ทาวเวอร์, ไทม์สแควร์, โรงแรมแลนด์มาร์ค, โรงแรมเอราวัณ, เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์, ใบหยก 1, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, โรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช, ไอคอนสยาม, ตึกมหานคร, สยามพารากอน เป็นต้น และล่าสุดทำโครงการ แบงค็อกมอลล์, วิมานสุริยาของดุสิตธานี มูลค่า 1 พันกว่าล้าน และโครงการวันแบง ค็อกซึ่งมี 4 โซน ซีฟโก้ได้งาน 3 โซน มูลค่า 1.7 พันล้านบาท
งานวิจัยสร้างชื่อ
นอกจากงานในไทยแล้ว ซีฟโก้ยังมองตลาดเพื่อนบ้านด้วย โดย 5 ปีที่แล้วเริ่มบุกตลาด CLMV เป็นการร่วมทุนกับคนท้องถิ่นในชื่อบริษัท ซีฟโก้ (เมียนมาร์) จำกัด ถือหุ้น 80% ปี 2562 มีรายได้เกือบ 200 ล้านบาท คิดเป็น 7% ของรายได้ทั้งหมด
และมีแผนจะเปิดบริษัทในกัมพูชา แต่ช่วงนี้งานชุก ต้องระดมกำลังทำงานในประเทศก่อน หลังจากเจอปัญหาต้มยำกุ้งมาหลายปี กล่าวได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2539-2544 ทำเอานายใหญ่ของซีฟโก้ต้องปาดเหงื่อเช่นกัน
ช่วง 3-4 ปีที่เศรษฐกิจซบและบริษัทมีงานไม่มากนัก ดร.ณรงค์จึงทุ่มเทเวลาให้กับงานด้านวิชาการ ส่งผลให้ซีฟโก้เป็นที่รู้จักในแวดวงเพื่อนร่วมอาชีพต่างชาติเป็นอย่างดีเวลามีโปรเจกต์ใหม่ๆ หรือจะเข้ามาทำโครงการในไทย ต่างก็แวะมาปรึกษาที่ออฟฟิศย่านถนนรามอินทรา
งานวิชาการที่ว่าคือการเขียนบทความหรือรายงาน ที่บริษัททำเสาเข็มเจาะให้กับโครงการใหญ่ๆ ในประเทศไทยเสนอวงการวิศวกรรมไทย รวมทั้งนำเสนอบทความภาษาอังกฤษในเวทีประชุมสัมนาทางวิชาการด้านวิศวกรรมใต้ดินในต่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่ ไต้หวัน เบลเยียม ออสเตรเลีย รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ดร.ณรงค์และทีมก็บินไปร่วมงานด้วยเป็นประจำปีละ 1-2 ครั้ง
การแบ่งปันองค์ความรู้และเผยแพร่งานวิชาการในเวทีสัมมนาต่างประเทศ จึงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ทำให้บริษัทเป็นที่รู้จัก และได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ ที่ผ่านมามีบทความทางวิชาการที่ได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในงานประชุมวิชาการรวม 66 ชิ้น
เน้นงานนวัตกรรม
นอกจากการเติบโตในสายงานธุรกิจแล้วความภูมิใจอีกอย่างคือการทำเสาเข็มเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายใหญ่ของซีฟโก้บอกว่า ปกติขั้นตอนการตอกเสาเข็มมีแรงสั่นสะเทือน อาจทำให้เกิดปัญหากับพื้นที่ใกล้เคียง บริษัทตั้งใจลดปัญหาให้น้อยลง จึงนำเสนอนวัตกรรมระบบเสาเข็มไร้แรงสั่นสะเทือนและกำลังทำเรื่องขอจดสิทธิบัตร คาดว่าใช้เวลา 2 ปีจึงทราบผล
โดยนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัล Innovative Company Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในปี 2562 บริษัทได้รับถึง 4 รางวัล โดยอีก 3 รางวัลประกอบด้วย Best Company Performance Awards, Outstanding Investor Relations Awards และ Outstanding CEO Awards
รวมทั้งได้รับใบประกาศจากสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ว่าเป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ทั้งยังได้รับเลือกจาก Forbes Asia ว่าเป็น 1 ใน 200 บริษัทชั้นนำของเอเชียในหมวด “Best Under a Billion” ของปี 2562
ฟิตเนสใจ เพิ่มประสิทธิภาพงาน
หลายปีมานี้ ดร.ณรงค์ ยึดหลักความพอดีในการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิต เพราะศรัทธาในคำสอนของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร แห่งวัดธรรมมงคล หลังจากเข้าอบรมหลักสูตรครูสมาธิในปี 2554 และพบว่าตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จิตอ่อนโยนแต่มีพลัง
เมื่อเห็นว่ามีประโยชน์จึงสนับสนุนพนักงานทุกคนเข้าคอร์ส เปิดรอบพิเศษให้พนักงานที่สำนักงาน 200 กว่าคนเรียนเวลางาน ใครเรียนจบได้รับเงินจากเจ้านายอีก 500 บาท รวมทั้งจัดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้คนสามารถเรียน โดยใช้บริษัทเป็นศูนย์สาขาของวัดได้ 7 ปีแล้ว ในชื่อสถาบันพลังจิตตานุภาพ ปีหนึ่งๆ จัด 2 คอร์ส คอร์สละ 6 เดือน วันละ 2 ชั่วโมง
“ตั้งแต่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อและทำอย่างนี้มาหลายปี เราเอาวิทยาศาสตร์ทางกายภาพมาปรับปรุงด้วย ทำให้บริษัทดูน่าอยู่ ระบบการทำงานทันสมัย เอาจิตใจเป็นตัวเสริม บริษัทโตขึ้น เดิมรายได้เราแค่ 1.8 พันล้านบาทมาหลายปี แต่ 2 ปีนี้รายได้เพิ่ม และขึ้นมาเป็น 3 พันล้านบาท ปี 2563 ตั้งเป้ารายได้ 3 พันกว่าล้าน คิดว่าไม่ยาก
“หลวงพ่อวิริยังค์ท่านบอกว่า ทางสายกลางคือการทำให้พอดีการที่เราทำสิ่งใดและประสบความสำเร็จเพราะทำพอดี พูดง่ายๆ คือผมทำพอดี ถ้าเศรษฐกิจอย่างนี้ผมก็ขยายกำลังพอดี ไม่โลภราคาก็ต้องพอดี ทำแล้วเจ้าของต้องแฮปปี้ ถ้าเราแฮปปี้ฝ่ายเดียวก็ไม่ยั่งยืน”
- อ่านเพิ่มเติม ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล พลิกวิกฤตลงเสาเข็มไพลอน
คลิกอ่านฉบับเต็ม “ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ ปั้นธุรกิจ 'ซีฟโก้' โตพอดีด้วยสายวิชาการ” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine