ธนพล ศิริธนชัย กำลังบอกเล่าความสำเร็จของ สามย่าน มิตรทาวน์ สู่ตำนานบทใหม่บนพื้นที่สามย่านและจุฬาฯ ในฐานะโครงการมิกซ์ยูสที่สมบูรณ์แบบที่สุด ทั้งยังเป็นการหวนคืนถิ่นของอดีตศิษย์เก่าแห่งรั้วจามจุรีที่หลอมรวมความตั้งใจจริงในการพัฒนาโครงการแห่งนี้
Samyan Mitrtown หรือ โครงการสามย่าน มิตรทาวน์ ขึ้นแท่นเป็น Talk of the Town นับต่อเนื่องตั้งแต่วันก่อสร้างยาวมาจนถึงวันที่เปิดให้บริการ และวันนี้กระแสยังคงแรงต่อเนื่องไม่หยุด หลายคนกลับไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ขณะที่คนไม่เคยไปก็รู้จักผ่านความแรงในกระแสสื่อโซเชียลจนต้องปักหมุดว่าจะไปให้ได้ ด้วยทำเลชั้นเยี่ยมบนพื้นที่ขนาด 14 ไร่ จากจุฬาฯ กว่า 3 ปี ของการก่อสร้างและเม็ดเงินลงทุนที่สูงถึง 9 พันล้านบาท “ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในชีวิตการทำงาน” ธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ Golden Land กล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง ทว่าแฝงไว้ด้วยความมั่นใจกับการได้รับความไว้วางใจให้เข้ามารับผิดชอบโครงการนี้แบบเต็มตัว พร้อมกับทำให้ที่นี่เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์สไตล์มิกซ์ยูส (Mixed-Use) ที่สมบูรณ์แบบที่สุด “เมื่อคิดจะเป็นมิกซ์ยูสให้สมบูรณ์แบบที่สุดก็ไม่ควรมีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้ามีมากไปก็จะกลายเป็นให้น้ำหนักกับสิ่งนั้นมากกว่า ส่งผลให้ที่นี่จึงเป็นแบ่งส่วนของรีเทล 33,000 ตารางเมตร มีพื้นที่ออฟฟิศ 48,000 ตารางเมตร มีคอนโดฯ 516 ยูนิต มีโรงแรมอีกกว่าร้อยห้อง มีที่จอดรถพร้อมในทุกสัดส่วน ที่สำคัญทุกธุรกิจของที่นี่สามารถ Synergy กันได้อย่างลงตัว” ย้อนกลับไปสู่จุดแรกของการลงมือทำ ถึงศูนย์การค้าจะเป็นแนวคิดรูปแบบใหม่ที่โกลเด้นแลนด์ไม่เคยลงสนามมาก่อน แต่ธนพลก็พร้อมรับมือด้วยประสบการณ์การทำงานที่หล่อหลอมจนกลายเป็นมือดีที่สุดคนหนึ่งในธุรกิจรีเทล เพราะเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ผู้ชายคนนี้ก็เคยได้รับโจทย์ยากกับการเข้ามา Rebuild Business ของโกลเด้นแลนด์ “ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในชีวิตการทำงานเลย เพราะโกลเด้นแลนด์เป็นบริษัทเก่าแก่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มานาน แต่เมื่อได้รับมอบหมาย ผมจึงตัดสินใจปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมดให้เหลือแค่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือธุรกิจที่ซื้อมาขายไป แบ่งออกเป็นบ้านกับคอนโดมิเนียมเป็นหลัก ตรงนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับสร้างรายได้และกำไร และส่วนที่สองคือรายได้จากการให้เช่า ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้บริษัทมีรายรับเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ” ความสำเร็จทั้งหมดของธนพลในฐานะผู้ถือหางเสือใหญ่ของโกลเด้นแลนด์ วัดได้จากการเติบโตของรายได้ที่ติดลบอยู่เกือบ 400 ล้านบาทในวันที่เขาเข้ามานั่งแท่นบริหาร ถูกเปลี่ยนเป็นกำไรที่มากกว่า 2,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา “มันไม่ง่าย” ธนพลตอบตรงประเด็น “ความสำเร็จที่เกิดขึ้น นอกจากเงินทุนที่ต้องมีหมุนเวียนยังต้องมีความอดทน และที่สำคัญต้องมีกลยุทธ์ที่ดี ซึ่งผมเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทในวันนี้น่าจะเป็นสิ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความลงตัวในกลยุทธ์ของบริษัท”เริ่มต้นที่คิดผ่านหัวใจผู้บริโภค
“ผมยึดหลักการทำงานผ่าน Motto ของโกลเด้นแลนด์ คือ Developing the Best นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทำโครงการที่แพงที่สุด หรูหราที่สุด หรือดีที่สุด แต่เราจะต้องทำสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในจุดนั้น ดังนั้นเราจะไม่มีการ Copy และกด Paste โครงการหนึ่งไปสู่โครงการหนึ่งโดยเด็ดขาด แต่เราจะต้องสำรวจทำเลและศักยภาพแถบนั้นก่อนลงมือทำ เพื่อเปลี่ยนให้ที่ดินรอบข้างเติบโตขึ้นตามไปด้วย ไม่ใช่แค่เราจะดีอยู่แค่ส่วนเดียว แต่มันต้องเติบโตไปพร้อมกัน” จากแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้โครงการสามย่าน มิตรทาวน์ เกิดขึ้นด้วยสมองของคนทำงาน สายตาของคนในพื้นที่ และใช้หัวใจของผู้บริโภคเข้ามากำหนดทิศทาง ซึ่งจากการค้นคว้าของธนพลและทีมงานค้นพบจุดแข็งของพื้นที่สามย่าน มิตรทาวน์สองประการ “ประการแรก เราตั้งอยู่ในทำเลที่แวดล้อมด้วยสถานศึกษาและเป็นแหล่งรวมตัวของคนมีความรู้ ดังนั้นเราจะโฟกัสไปที่เรื่ององค์ความรู้ พร้อมกับทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กวัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะตอนนี้เราเข้าสู่สังคมสูงวัย คุณจะจูงมือลูกหลานมาเรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมกันก็ได้ หรือครอบครัวไหนที่ลูกไม่ยอมมีหลานให้ก็มาคลายเหงาที่นี่ได้” “ประการที่สอง สามย่านเคยเป็นตลาดเก่า มีตำนานและเรื่องเล่ามากมาย ดังนั้นเราจะเน้นหนักเรื่องอาหาร โดยการหยิบเอาคำว่า 'สามย่าน' มาทำให้ตัวเองมีคาแรคเตอร์และแตกต่างกับที่อื่น” ด้านการออกแบบพื้นที่โซนรีเทล ธนพลนำคำว่า Knowledge มาสู่ Smart นั่นหมายถึงว่าเราต้องออกแบบให้ฉลาด และทันสมัยผ่านการเลือกใช้วัสดุที่ดีบนการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัว ส่วนด้านบรรยากาศตั้งใจทำให้ทุกคนที่เดินเข้ามารู้สึกถึงความ Friendly ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ที่จะทำให้ทุกคนสะดวกใจในการเรียนรู้ ดังนั้นมาที่นี่คุณจะไม่รู้สึกเกร็ง จะแต่งตัวแบบไหนก็ได้ คุณนาย สายลุย รองเท้าแตะ หรือแฟชั่นจัดก็ได้หมดเมืองแห่งความเป็นมิตร
“สามย่าน มิตรทาวน์ ความหมายของชื่อก็ตรงตามตัว ที่นี่คือเมืองแห่งความเป็นมิตร เราเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาอ่านหนังสือได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีร้านกาแฟ ร้านอาหาร มีซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างบิ๊กซี มีร้านก๋วยเตี๋ยว มีชาบู มีฟิตเนสรองรับครบทุกกิจกรรม พร้อมทั้งยังสามารถวางใจได้ว่ามาถึงที่นี่ปลอดภัย เพราะเราไม่มีอะไรที่ทำให้ทุกคนรู้สึกถึงอันตราย” ธุรกิจ 24 ชั่วโมงเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่าย ธนพลยืนยันในเรื่องนี้อีกเสียง ทว่าถ้าทำได้สำเร็จก็จะขึ้นแท่นเป็นหนึ่งเดียวที่ทำได้ “ความยากอยู่ตอนเริ่ม เราต้องทำให้มันแข็งแรง ทุกร้านต้องเปิดด้วยกัน และเปิดทุกวัน ไม่ใช่บางวันร้านนี้เปิด อีกร้านปิด ดังนั้นเราต้องโน้มน้าวใจคนทำธุรกิจด้วยกันให้ได้ด้วย ถึงวันนี้มันประสบความสำเร็จแล้ว แต่ก็ต้องพยายามรักษาภาพความสำเร็จนี้ให้อยู่ตลอด เพราะเชื่อว่าหลายคนก็คงรอดูเหมือนกันว่าเราจะอยู่แบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน” ส่วนด้าน Residence สิ่งที่เป็นไฮไลท์คือความใกล้ ที่นี่ไม่ใช่แค่สองสถานีหรือหนึ่งสถานี แต่ที่นี่สามารถเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินได้เลย แถมยังไม่ต้องขับรถ ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องแวะที่ไหนเพื่อหาข้าวกิน ที่นี่มีพร้อมหมด “ความยั่งยืนเหล่านี้หลายคนถามว่าจะอยู่ยาวนานแค่ไหน ผมคิดว่าถ้าเรามี Content ที่แน่นพอและชัดเจน ก็จะอยู่ได้อย่างเข้มแข็งแน่นอน แต่นั่นก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนให้ทันเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งทุกการเปลี่ยนผมจะย้ำเสมอว่าเราต้องอยู่ภายใต้ Core Value หลัก ต่อให้ Form จะเปลี่ยนแต่สิ่งที่เป็นแก่นต้องยังอยู่”อุโมงค์อวกาศทางเชื่อมสู่ความสำเร็จ
อุโมงค์ใต้ดินสถานีสามย่านเปรียบเสมือนตัวจุดกระแสที่ช่วยโหมให้โครงการสามย่าน มิตรทาวน์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับว่ามีคนมาเช็กอินเพื่อถ่ายรูปเยอะที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อุโมงค์นี้ถือเป็นอีกสิ่งมหัศจรรย์ ธนพลเผยว่าเขาเองไม่ได้คิดว่ามันจะโด่งดังขนาดนี้ ย้อนกลับไปตอนแรกทีมออกแบบก็ทำงานกันหนัก ดีไซน์มาหลายอย่าง แต่พอได้ไปเดินตรวจงาน เขารู้สึกชอบผนังที่เป็นแบบนี้ เลยเสนอไอเดียให้เปลือยความดิบเท่นี้ออกมา ที่สำคัญความเรียลนี้คนไม่เคยเห็น แถมยังเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาสู่คำว่า Knowledge เพราะคนที่มาจะได้รู้ว่ารถไฟฟ้าใต้ดินสร้างอย่างไร ทำงานแบบไหน สายไฟอยู่จุดไหนบ้าง “ภาษาทางการในธุรกิจอสังหาฯ จะเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า Place Making คือเรามีพื้นที่ให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ แต่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งจริงๆ อุโมงค์ถือเป็นสาธารณสมบัติด้วยซ้ำ ไม่ใช่ของของเรา เราแค่เข้าไปลงทุนและออกแบบให้เท่านั้น ความสำเร็จตรงนี้ ผู้บริหารของรถไฟฟ้าใต้ดินยังบอกเลยว่าเขาสร้างมาทั่วกรุงเทพฯ ยังไม่ดังเท่ากับเราสร้างตรงนี้แค่ 120 เมตร ซึ่งต้องขอบคุณพลังโซเชียลฯ ด้วยอีกทาง มันเหมือนเราคือคอนเทนต์ และเขาคือแพลตฟอร์มที่ดีมากๆ” ไม่ใช่แค่พื้นที่เปิดกว้างบริเวณอุโมงค์ใต้ดินเท่านั้นที่โครงการสามย่าน มิตรทาวน์ตั้งใจทำให้เป็น Place Making แต่ยังมีพื้นที่สีเขียวบนชั้น 5 และด้านหน้าที่เว้นว่างไว้ขนาดใหญ่สำหรับปลูกต้นไม้ความสำเร็จในวันนี้ “คน” คือกลยุทธ์สำคัญที่สุดของงานบริหาร
“หลักง่ายๆ เลยคือพนักงานต้องทำงานแล้วมีความสุข ผมมีแผนกที่ชื่อว่า People Passion หน้าที่เขามีอย่างเดียวคือทำให้พนักงานมีความสุข ส่งผลให้ที่ออฟฟิศเราจะมีคาเฟ่ มีเครื่องชงกาแฟให้ทานฟรี ส่งแม่บ้านไปเรียนเป็นบาริสต้า ตอนเช้าพนักงานก็มาเข้าคิวรอกินกาแฟได้ จะสั่งคาปูชิโน่หรืออเมริกาโน่ได้หมด รวมถึงสนับสนุนเรื่องออกกำลังกายและดูแลเรื่องสุขภาพจิตควบคู่กันไป ที่นี่จะมีศิราณีเลยนะ ใครเครียดอะไรมาปรึกษาได้ เพราะยุคนี้มันแยกเรื่องการทำงานกับที่บ้านไม่ได้แล้ว เขาต้องมีความสุขทุกส่วน จะได้ทำงานอย่างมีความสุข” “ส่วนเรื่องออกกำลังกาย ไม่ใช่แค่ผมจะสนับสนุนพนักงาน แต่ตัวผมเองก็ทำด้วย เริ่มจากชวนทุกคนไปวิ่ง ลงระยะ 5 กิโลเมตร แล้วค่อยขยับขึ้นมาเป็น 21 และ 42 กิโลเมตร จนตอนนี้ผมวิ่งจบไป 5 มาราธอน พร้อมกับที่มีพนักงานวิ่งฟูลได้ไม่ต่ำกว่า 7-8 คน โดยถ้าคุณลงชื่อว่าสนใจ ผมจะมีโค้ชมาช่วยเทรนด์ มาช่วยเลือกรองเท้าให้ และผมจะช่วยขจัดข้ออ้างให้อีกต่างหาก ถ้าบอกว่าบ้านไกล เราจะส่งรถไปรับ ถ้าลูกไม่มีคนดูแล เอามาได้เลย เพราะแม่บ้านไปเชียร์ด้วย เขาดูให้ได้” ธนพล ทิ้งท้ายถึงการสนับสนุนให้ทุกคนประกาศตั้งเป้าการออกกำลังกายและอย่าลืมประกาศเป้าหมายออกไป ซึ่งเปรียบเหมือนการทำงานที่ต้องตั้งเป้าไว้ เพื่อจะได้รู้ทิศทางที่จะเดินไป อย่ากลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ แต่ให้ใช้มันเป็นแรงผลักดันให้เราขยันมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนที่เขาตั้งเป้าไว้ว่าจะพา สามย่าน มิตรทาวน์ ไปสู่ความสำเร็จ พร้อมกับคืนทุนภายใน 8 ปี อ่านเพิ่มเติม: เปิดครบทั้งโครงการ! “สามย่าน มิตรทาวน์” ชูคอนเซปท์ “ศูนย์การเรียนรู้-คลังอาหาร” 24 ชั่วโมงไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine