5 ธันวาคม 2542 วันกำเนิดมังกรยักษ์ที่เคลื่อนพาดผ่านฟากฟ้ากรุงเทพมหานคร เส้นทางของเมืองหลวงได้รับการเชื่อมต่อและย่นย่อระยะเวลาในการเดินทางให้เหลือเพียงไม่ถึงชั่วโมง ตลอดเส้นทางที่ทอดยาว 36.9 กิโลเมตร รวม 34 สถานี สร้างการเดินทางของผู้คนกว่า 2 พันล้านคนนับตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน
กว่าจะกลายเป็นอาณาจักรมูลค่าหลักหลายหมื่นล้านบาท เส้นทางของผู้ก่อตั้งนาม หว่อง ท่ง ซัน หรือ คีรี กาญจนพาสน์ นักธุรกิจเชื้อสายฮ่องกงวัย 65 ปี เต็มไปด้วยบททดสอบตั้งแต่ยังไม่ได้ขับเคลื่อนธุรกิจ เมื่อคครั้งที่เขายังเป็นผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อ “ธนายง” ทำสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ เมื่อปี 2535 เพียง 5 ปีต่อมาบริษัทก็ต้องเผชิญวิกฤตค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540 พร้อมกับการระดมพลหัวกะทิที่ไว้วางใจได้ร่วมกอบกู้สถานการณ์ กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ในวัย 40 ปี ในฐานะทายาทคนโตของพี่น้องสองคน ผู้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่บิดา ไม่ว่าจะเป็น การเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี 2545 ทั้งเพิ่มทุน ลดทุน การดึงผู้ลงทุนรายใหม่เข้าถือหุ้น การขายทรัพย์สิน ที่ดินและหุ้นของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ “อย่างปี 2540 เราเจอวิกฤตหนักมาก ผมบอกว่า ยอมแพ้ ทำอย่างอื่นดีกว่า แต่คุณพ่อไม่ใช่ ท่านสอนว่า ตอนนี้เราอยู่ในบ้าน เมื่อมีคนข้างนอกจะมายึดบ้านของเรา เราอาจจะไม่มีอาวุธ ไม่มีปืน แต่เรายังมีไม้จิ้มฟัน อย่างน้อยก็จิ้มให้เจ็บก่อน ท่านเป็นคนที่พูดอะไรแล้วทำจริง สุดท้ายเราก็เอาชนะได้ด้วยไม้จิ้มฟันจนถึงวันนี้ที่มีปืน” กวิน กาญจนพาสน์ กล่าว สองพ่อลูกร่วมกอบกู้วิกฤตล้างหนี้สิน จาก 8 หมื่นกว่าล้านบาทในปี 2548 เหลือเพียง 3 พันกว่าล้านบาทในปี 2551 หลังทุกอย่างลงตัว กวินก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ คุมหัวขบวนบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในปี 2550 อย่างเต็มภาคภูมิก่อนจะขยับเป็นกรรมการบริหารในปัจจุบัน ที่พร้อมรับผิดชอบ 4 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการอ่าน ฉบับเต็ม “กวิน กาญจนพาสน์ ผมชอบธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง” จาก Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2015