วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ยืนหยัดสู้พาสวนสยามขายความสุข - Forbes Thailand

วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ยืนหยัดสู้พาสวนสยามขายความสุข

พิษโควิดทำให้สวนสยามเกือบจะปิดตายหมดทางหารายได้ แต่สำหรับทายาทสวนสยามคนนี้ไม่มีเวลาให้ท้อ คิดอย่างเดียวคือเดินไปข้างหน้าเพื่อพาสวนน้ำ สวนสนุกขาย "ความสุข" ทำให้ต้องตัดที่ดินบางส่วนขายเพื่อเสริมสภาพคล่องและสู้ไปกับพนักงาน พร้อมเดินหน้าโครงการพันล้าน Bangkok World สร้างแม่เหล็กตัวใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว


    เป็นเวลา 2 ปีที่ “สวนสยาม ทะเลกรุงเทพฯ” ย่านชานเมืองของเมืองหลวงไม่ได้สร้างเสียงหัวเราะและความสุขให้กับผู้คน ประตูที่เคยต้อนรับนักท่องเที่ยวราว 1 ล้านคนในแต่ละปีแทบจะปิดตายตามมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศระลอกแล้วระลอกเล่าเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด จนทำให้หนทางหารายได้ดูจะมืดมนและไร้ทางออก

    แต่กระนั้น วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด วัย 48 ปี ทายาทรุ่นที่ 2 ไม่มีเวลาสะกดคำว่าท้อ เพราะมีพนักงานต้องรับผิดชอบและค่าใช้จ่ายอีกมากมายในแต่ละวัน ไม่นับรวมที่ต้องแบกความตั้งใจของผู้เป็นบิดา ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ผู้ก่อตั้งที่ได้ปลุกปั้นสวนสยามมากว่า 4 ทศวรรษให้เป็นที่พักผ่อนของคนไทยในระดับสากล


สู้ไปกับพนักงาน

    สวนสยาม “แทบไม่มีรายได้เลย” วุฒิชัยเปรยกับ Forbes Thailand ในช่วงเริ่มสัมภาษณ์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวหยุดการเดินทางและการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศล้วนแต่อยู่ในช่วงเวลาทำเงินของสวนสยามทั้งสิ้น นั่นก็คือช่วงปิดเทอมระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน และปิดเทอมย่อยเดือนตุลาคม ซึ่งรายได้จากช่วงปิดเทอมนี้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดที่บริษัทได้ในแต่ละปี

    “จำได้เลยว่าปิดตอนปีใหม่พอดี (ปี 2563) ต่อมาก็ปิดก่อนสงกรานต์ถึงช่วงกลางปี ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างสวนสยามรายได้กว่า 50% มาจาก Summer กลางมีนาคมถึงกลางพฤษภาคม โดนปิดอย่างนี้มา 2 ปีมีผลกระทบกับรายได้สูงมาก” เขากล่าว

วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด

    ในช่วงนั้นวุฒิชัยยอมรับว่า “เหนื่อย” เพราะกิจการสวนน้ำ สวนสนุกไม่สามารถยืดหยุ่นได้เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่หาทางออกโดยใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาช่วย หรือไม่ก็เปิดครัวทำอาหารขายแบบเดลิเวอรี่ เพราะแม้สวนสยามจะปิดให้บริการแต่มีรายจ่ายทุกวัน ไม่ใช่เพียงแค่ด้านการดูแลรักษาสวนน้ำและเครื่องเล่นในสวนสนุก แต่ยังมีค่าใช้จ่ายพนักงานประจำของบริษัทอีกราว 400 คน 

    อีกทั้งการบริหารธุรกิจแบบ “ครอบครัว” ซึ่งบิดาวางรากฐานไว้เขาจึงไม่มีนโยบายที่จะปลดพนักงานออก แต่เลือกลดเงินเดือนแทน โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 30% ถือว่าดูแลดีกว่าหลายๆ บริษัท ซึ่งวุฒิชัยบอกว่า อย่างไรก็ตามมีพนักงานบางส่วนที่ลาออกเอง ขณะที่ส่วนตัวเขาและคนในครอบครัวก็ไม่อยู่นิ่งเฉย ยังต้องเดินทางไปทำงานที่สวนสยามแทบทุกวัน ที่ทำเช่นนั้นเพราะต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานที่ทำอยู่

    “ที่สวนสยามมีพนักงาน รปภ. คนทำความสะอาด คนทาสี คนมาซ่อม เขาจะเห็นว่านายมา ผู้บริหารมา เขาจะรู้สึกว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป อย่างงานก่อสร้าง (โครงการ Bangkok World) มีต้องหยุดบ้างตามปัญหาเรื่องของ supplier และวัสดุก่อสร้าง แต่ก็ยังดำเนินหน้าต่อไป คนเห็นบริษัทเดินหน้าต่อไปเขาก็มีความมั่นใจมากขึ้น มีความมั่นคงมากขึ้น” เขากล่าว

    ส่วนเรื่องการเงินก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องหาทางออก วุฒิชัยบอกว่า ที่ผ่านมาสไตล์การบริหารของบิดาคือ “ไม่ค่อยเก็บเงินสด” เมื่อมีเงินมาเท่าไรก็นำเงินนั้นมาลงทุนอัดเพิ่มเข้าไปในสวนสยาม และเมื่อวิกฤตเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันอย่างโควิดระบาดที่ลากยาวเป็นปีๆ ทำให้บริษัทมีเงินสดไม่มากพอที่จะอยู่ได้นานขนาดนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเฉือนที่ดินขายไป 2 รอบ โดยรวมแล้วเกือบ 100 ไร่ จากพื้นที่รวมของสวนสยามกว่า 300 ไร่ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัท

    ปัจจุบันพื้นที่สวนสยามเหลืออยู่กว่า 200 ไร่ และมีการพัฒนาไปแล้ว 70-80% ขณะที่หนี้สินก็มีเพียงราว 100 ล้านบาท (เฉพาะสวนสยามที่เป็นสวนน้ำ สวนสนุก) เขาคิดว่ามูลค่าหนี้ไม่หนักหนาอะไรเมื่อเทียบกับโอกาสทางธุรกิจและมูลค่าของสวนสยามที่มีอยู่ในปัจจุบัน

    วุฒิชัยกล่าวเสริมว่า วิกฤตที่ส่งผลร้ายแรงที่สุดให้กับสวนสยามไม่ใช่วิกฤตโควิดระบาดในครั้งนี้ หากแต่เป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะช่วงนั้นสวนสยามยังมีฐานะการเงินไม่แข็งแรงและมีหนี้ค่อนข้างมาก หนี้สินกับทรัพย์สินอยู่ในอัตราส่วนที่ไล่เลี่ยกัน

    “เงินสดนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก” ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ธุรกิจที่มีเงินสดมากจะไปต่อได้ในช่วงโควิดและยังรักษาการเติบโต ดังนั้นหากมีใครถาม ณ ตอนนี้ว่าได้เรียนรู้อะไรจากช่วงโรคโควิดระบาดก็จะตอบทันทีว่า ถ้ามีความสามารถในการเก็บเงินสดได้ก็ควรเก็บเพราะเงินสดสำคัญที่สุด นอกจากนี้ จากที่เคยคิดว่าทำที่เรามีให้ดีที่สุดมันเริ่มไม่ใช่แล้ว มันจะต้องมีการขยายธุรกิจออกไปในสายธุรกิจอื่นๆ ที่มันไม่เกี่ยวเนื่องกันที่สามารถดำเนินงานได้


Bangkok World ความหวังใหม่

    การเกิดขึ้นของ Bangkok World มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท เป็นอีกธุรกิจที่ขยายออกไปนอกเหนือจากธุรกิจสวนน้ำ สวนสนุก เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเรียนรู้ถึงจุดอ่อนของธุรกิจสวนน้ำ สวนสนุกที่เป็น open-air ของสวนสยาม ซึ่งกิจการลักษณะนี้มีข้อเสีย คือ คนจะไม่ค่อยมาเที่ยวตอนกลางคืนและบางคนก็ไม่ชอบที่จะมาเจอฝนขณะเล่น ส่วนความเป็นห้างมีจุดดี คือ เปิดบริการได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเสียค่าตั๋วเข้าเล่นเหมือนสวนสยาม และที่สำคัญคือ การจัดเก็บภาษีที่ดินในปัจจุบันทำให้บริษัทต้องหาทางบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงรายได้

    เดิมทีบิดาของวุฒิชัยตั้งใจจะให้เป็นสถานที่ขายสินค้าโอทอปเพราะคนมาเที่ยวสวนสยามปีละเป็นล้าน การให้โอกาสผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีพื้นที่ในการขายนำสินค้ามาขายก็จะได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการข้างนอกอีกแรงหนึ่ง แต่ท้ายสุดรูปแบบนั้นก็ค่อยๆ ปรับมาเป็นรูปแบบค้าปลีกที่ผสมผสานด้านความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ประชุม ห้องอาหาร หรือการแสดงจัดเลี้ยงรวมเข้าไปด้วย

    วุฒิชัยมีโครงการหลายอย่างอยู่ในใจที่จะสร้างจุดขายให้ Bangkok World แน่นขึ้นในอนาคต แต่เขาก็ไม่คิดที่จะทำอย่างเร่งด่วน ทั้งหมดนี้เขาจะค่อยๆ ศึกษาตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นตัวตั้ง

    Bangkok World เปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามข้อมูลของบริษัทระบุว่า ภายในโครงการแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ อาทิ ศูนย์อาหาร ศูนย์เรียนรู้ พื้นที่ขายสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากทั่วประเทศ พื้นที่จัดแสดงวัฒนธรรมร่วมสมัย 

    จุดยืนของศูนย์คือ สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ไม่ซ้ำแบบใคร และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างความสุขให้กับผู้คนที่ต่างจากรูปแบบเดิมๆ ด้วยการนำเสนอการท่องเที่ยวแบบสุดอะเมซิ่งของเมืองบางกอกที่รวมไว้ในหนึ่งเดียวเคียงคู่กับสวนสนุกระดับโลกแห่งนี้

    ซึ่งเราก็อดสงสัยที่จะถามไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วสวนสยามมีจุดยืนธุรกิจอะไรกันแน่ วุฒิชัยตอบว่า “จุดที่เราเริ่มตั้งแต่ต้น ที่คุณพ่อต้องการคือ เราขายความสุข เพราะความสุขไม่จำเป็นต้องเป็นสวนน้ำ สวนสนุก ความสุขคือการมาใช้ชีวิตที่สวนสยาม การได้มารับประทานอาหาร ได้ดื่มกาแฟกับคนที่เรารัก ได้มาเห็นอะไรที่มันสนุกสนาน” 

    และเขาเข้าใจดีว่าที่ผ่านมา “สวนน้ำ สวนสนุกมีข้อจำกัด ในอนาคต (สวนสยาม) จะมีสิ่งที่กว้างขึ้นและหลากหลายมากขึ้น”
    เมื่อทุกอย่างลงตัว ประกอบกับสถานการณ์โควิดคลี่คลายดีขึ้น วุฒิชัยมองว่าธุรกิจของสวนสยามก็จะดีขึ้นตามลำดับ โดยคาดว่าในปี 2567 น่าจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง ส่วนปี 2566 น่าจะมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเพิ่มเป็นเท่าตัวจาก 300,000-400,000 คนในปี 2565 โดยนักเที่ยวไทยคิดเป็น 80% ของทั้งหมด

    ในอนาคตเขาคาดการณ์ว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปัจจุบัน โดยเขาเองพยายามที่จะนำสวนสยามเข้าไปบรรจุเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวของบริษัททัวร์ต่างชาติ อย่างเช่นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาก็ได้ไปพูดคุยกับเอเยนต์ทัวร์ที่ไต้หวัน และหลังจากนี้จะทยอยเดินทางไปพูดคุยกับเอเยนทัวร์ในต่างประเทศอย่างจริงจัง

    ปัจจุบันตลาดคนไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น ตลาดนักเรียนอย่างค่ายลูกเสือ รวมถึงตลาดจัดเลี้ยงของบริษัทต่างๆ เช่น โรงงานจัดเลี้ยงปีใหม่ ซึ่งในยามปกติจะคึกคักในช่วงปลายปี แต่ 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าจัด ปัจจุบันก็เริ่มติดต่อเข้ามามากขึ้น

    ในปีที่ผ่านมามีบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นเข้ามาจัดงานด้วยความจุกว่า 10,000 คน ถือเป็นหลักหมื่นครั้งแรกตั้งแต่มีโควิดระบาด วุฒิชัยบอกว่า การจัดงานขนาดใหญ่เช่นนี้ในสวนสยามกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว เนื่องจากสวนสยามมีความได้เปรียบของการมีพื้นที่ขนาดใหญ่และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าโรงแรม

    ตอนนี้เขาเริ่มรู้สึกหายใจ “คล่อง” ขึ้นและสบายใจที่จะทำต่อ เพราะผู้คนและครอบครัวเริ่มออกมาเที่ยวมากขึ้น แต่กว่าที่จะมาถึงวันนี้เราอดถามไม่ได้ว่า บิดาของเขาได้ย้ำอะไรเป็นพิเศษไหมในช่วง 2 ปีที่โควิดระบาดและอนาคตของสวนสยามตอนนั้นเองก็ดูมืดมนเอามากๆ เขาบอกว่า คุณพ่อย้ำกับผมเพียงสั้นๆ ว่า “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และสวนสยาม

อ่านเพิ่มเติม:

>> สุจินต์ หวั่งหลี สืบสานธุรกิจยุคใหม่ เน้นนวัตกรรมต่อยอดสินค้าเกษตรไทย 


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine