ตระกูลคหบดีเก่าแก่อย่าง "หวั่งหลี" สืบเชื้อสายบรรพชนจีนรุ่นแรกที่เข้ามาบุกเบิกทำการค้ากับไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต้นสกุลหวั่งหลีคือ "ตันฉื่อฮ้วง" บัณฑิตหนุ่มจากจีนแผ่นดินใหญ่ผู้เข้ามาทำการค้าและตั้งรกรากในไทย (ปี 2387-2468) สมรสกับหญิงไทยนามว่า "หนู" สืบทายาทหวั่งหลีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
อาคารสาธรธานีที่ตั้งตระหง่าน 3 หลัง อยู่บนถนนสาทรเหนือ คือ อาณาจักรธุรกิจ “พูลผลกรุ๊ป” ของบ้านหวั่งหลีในสายสกุล “ตันซิวเม้ง หวั่งหลี-ทองพูล ล่ำซำ” ซึ่งมีบุตรธิดาด้วยกัน 13 คน หนึ่งในนั้นคือ “สุจินต์ หวั่งหลี” ผู้สืบเชื้อสายตระกูลในเจเนอเรชั่น 4 ที่ยังมีส่วนสำคัญในการดูแลกิจการของครอบครัว แต่ปัจจุบันการบริหารในรายละเอียดอยู่ในความรับผิดชอบของทายาทรุ่นที่ 5
ในวันที่ทีมงาน Forbes Thailand นัดสัมภาษณ์ธุรกิจของบ้านหวั่งหลีสายคุณปู่ตันซิวเม้ง-คุณย่าทองพูล ผู้ให้สัมภาษณ์หลักคือ สุจินต์ หวั่งหลี ประธานกรรมการ บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท พูลผล จำกัด ทายาทรุ่น 4 ของตระกูล แม้วัยจะล่วงเลยมากว่า 86 ปีแล้ว แต่ยังดูคล่องแคล่ว สมองปราดเปรียว สามารถถ่ายทอดแนวคิด จริยธรรมการใช้ชีวิต รวมถึงการทำธุรกิจของบ้านหวั่งหลีได้อย่างชัดเจน
“การศึกษา” สู่ความสำเร็จ
การสัมภาษณ์ในวันนั้นดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีผู้บริหารบ้านหวั่งหลีถึง 6 คนร่วมให้สัมภาษณ์ สุจินต์เริ่มต้นด้วยการย้อนอดีตที่มาของธุรกิจบ้านหวั่งหลีตั้งแต่ต้นตระกูลยุคแรกที่ได้เข้ามาค้าขายในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่ได้เดินทางมาแบบเสื่อผืนหมอนใบเหมือนชาวจีนทั่วไป เพราะเป็นบัณฑิตที่มีการศึกษาจากประเทศจีนและก่อนจะมาเมืองไทยยังเคยค้าขายกับฮ่องกงมาก่อน
“ครอบครัวหวั่งหลีให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามาเป็นอันดับ 1 คุณทวด คุณปู่ ตัวผม และลูกหลานทุกคนเราให้การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ” สุจินต์ย้ำว่า ไม่ว่าจะเจเนอเรชั่นใดคนของบ้านหวั่งหลีต้องได้รับการศึกษาที่ดีก่อนเป็นอันดับแรก
“หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณพ่อผมเสีย ตอนนั้นคุณแม่เป็นเพียงแม่บ้านธรรมดาไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน แต่สามารถลุกขึ้นมาทำการค้าเลี้ยงดูลูกทั้ง 13 คนส่งไปเรียนต่างประเทศได้ทั้งหมด” เจ้าสัววัย 86 ย้อนอดีตด้วยแววตาชื่นชมที่มีต่อมารดาผู้ล่วงลับ น้ำเสียงที่เขากล่าวถึงมิใช่เพียงเพื่อบอกเล่า แต่มันสะท้อนความภูมิใจ ความเชื่อมั่น และศรัทธาที่มีต่อครอบครัวได้อย่างชัดเจน
เมื่อกิจการเติบใหญ่ระดับหลายหมื่นล้าน องค์กรเพื่อสังคมในนามมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี จึงให้ความสำคัญด้านการศึกษามากเป็นพิเศษ ด้วยการให้ทุนการศึกษาแบบให้เปล่า มีเพียงเงื่อนไขข้อเดียวที่ร้องขอจากผู้รับทุนคือ “คุณต้องทำความดีให้กับสังคมสัก 1 ครั้งในชีวิต” ปรัชญาของคำกล่าวนี้ คือ ความพยายามปลูกฝังให้เยาวชนทุกคนคำนึงถึงการทำความดีและรู้จักตอบแทนสังคม
“เราให้ทุนการศึกษาต่อปี 500-600 ทุน เป็นทั้งแบบ full scholarship และบางส่วน สาขาวิชาที่ให้มีทั้งแพทย์ พยาบาล วิศวกร และอื่นๆ แทบทุกสาขา โดยเน้นช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนยากไร้แต่เรียนดีและมีความตั้งใจ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้คัดกรองรายชื่อมาให้” อภิชาต หวั่งหลี กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิทองพูล หวั่งหลี กล่าว
ซินเนอร์จี 5 กลุ่มธุรกิจ
พูลผลกรุ๊ป เป็นกิจการค้าขายและแปรรูปสินค้าเกษตรของตระกูลหวั่งหลี สินค้าในตลาดที่ทุกคนรู้จักดี เช่น น้ำมันพืชกุ๊ก มีทั้งน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันดอกคาโนล่า วุ้นเส้นตราต้นสน
รวมถึงธุรกิจรับซื้อมันสำปะหลัง และแปรรูปแป้งมันสำปะหลังเพื่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่เรียกว่า “modified starch” เป็นผงแป้งมันสำปะหลังที่เพิ่มความนุ่มเหนียวให้กับอุตสาหกรรมหลากหลาย ทั้งอาหาร เส้นบะหมี่ ลูกชิ้น ยา และแม้กระทั่งปูนซีเมนต์ก็ใช้ modified starch เป็นสารยึดเหนี่ยวสำคัญ
"อนาคตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเราจะไปซัพพอร์ตอุตสาหกรรม ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้ามองทั้งโลกไทยเราเป็นจุดที่ละติจูด ลองจิจูดที่ดีที่สุด แต่สินค้าเกษตรรายได้ต่ำ จะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มมูลค่า” เขม หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวอย่างฉะฉาน คำพูดของเขาเหมือนมีความรู้ด้านเคมีและการตลาดเป็นอย่างดี แต่ทว่าโดยพื้นฐานแล้วเขาเป็นบัณฑิตวิศวะคอมพิวเตอร์
ทายาทเจนฯ 5 ของตระกูลผู้นี้บริหารธุรกิจมันสำปะหลัง สร้างนวัตกรรม modified starch จนแทรกซึมไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ต่างๆ นับไม่ถ้วน สร้างรายได้ยอดขายของกลุ่มให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง
“แป้งมันฯ ไม่เหมือนข้าวโพด เพราะไม่มี GMO หรือกลูเต็น ทำให้คนไม่แพ้ สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารได้ดี” เขมเล่าถึงโอกาสทางธุรกิจแป้งโมดิฟายด์อย่างตื่นเต้นพร้อมเผยว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ขายแป้งโมดิฟายด์นี้ไปที่สหรัฐอเมริกาและขยายไป 70 ประเทศทั่วโลกถือเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทยให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันธุรกิจให้บริการทางการเงินของบ้านหวั่งหลีก็ยังคงดำเนินการเป็นปึกแผ่น และจดทะเบียนอยู่ในตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อ บมจ. นวกิจประกันภัย ซึ่งแต่เดิมเน้นการทำประกันให้กับธุรกิจในเครือ ต่อมาได้ขยายสู่บริการด้านการเงินรายย่อยและประกันรายย่อยเพิ่มเข้ามา เป็นอีกสายธุรกิจที่มีความสำคัญไม่แพ้ด้านอื่น เพราะสามารถให้บริการได้ทุกกลุ่มธุรกิจของหวั่งหลีซึ่งมีฐานลูกค้าจำนวนมาก
“เราเป็น financial services มีบริการทางการเงินที่มากกว่าประกัน นวกิจดำเนินการมา 89 ปีแล้ว เริ่มมาจากธุรกิจของกลุ่มที่ค้าขายสินค้าเกษตร เป็นการเสริมสร้างธุรกิจด้านไฟแนนซ์ให้กลุ่ม” ปิติพงศ์ พิศาลบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลก่อนจะขยายความว่าปัจจุบันนวกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรวมมากกว่า 3 พันล้านบาท เติบโตมาจากเดิมที่รับประกันให้ธุรกิจในกลุ่ม ต่อมาได้ขยายทำตลาดลูกค้ารายย่อย retail business มากขึ้น มีประกันอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์ ธุรกิจมีหลากหลาย
อาณาจักร 600 ไร่รังสิต
จากพืชเกษตรมาสู่นวัตกรรมการเกษตร และบริการด้านการเงิน อีกธุรกิจที่เป็นทั้งสิ่งสะท้อนความสำเร็จและเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงของบ้านหวั่งหลี คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยกตัวอย่าง เช่น ท่าเรือทางการค้าในอดีตที่ชื่อ “ล้ง 1919” ซึ่งเป็นสถานที่ค้าขายแห่งแรกของต้นตระกูลหวั่งหลี ปัจจุบันได้รับการบูรณะและปล่อยเช่าให้กับกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ยังมีโกดังสินค้าหลายแห่งที่ใช้เพื่อการเก็บและกระจายสินค้าตั้งแต่ยุคเริ่มแรก แต่พื้นที่สำคัญที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่ชัดเจนของครอบครัวหวั่งหลีคือ ที่ดินแปลงใหญ่ในย่านรังสิต ถือเป็นประตูด่านหน้าของการเดินทางจากภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก เข้าสู่กรุงเทพฯ ปัจจุบันแลนด์มาร์กดังที่ทุกคนรู้จักดีคือ “ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต” ศูนย์การค้าเก่าแก่ ที่ยึดครองทำเลรังสิตมากว่า 28 ปี และอีกแห่งคือ อาคารสำนักงานสาธรธานีที่ถนนสาทรเหนือ โรงแรมโนโวเทล รังสิต และโกดังสินค้าต่างๆ
“เรามีที่ดินย่านรังสิตซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างฟิวเจอรพาร์ค รังสิต อยู่ทั้งหมดกว่า 600 ไร่ที่ผ่านมาพัฒนาไป 70 ไร่เท่านั้น” จิตตินันท์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการร่วม-กลุ่มงานธุรกิจบริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด ทายาทธุรกิจสาวหนึ่งเดียวของเจนฯ 5 กล่าวเสริมด้วยว่า “เราเพิ่งเปิดโรงแรมโนโวเทล รังสิต ไปตอนช่วงปลายโควิดทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ธุรกิจโรงแรมในอีกรูปแบบ และพื้นที่แปลงใหญ่นี้ยังเปิดให้เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลเปาโล รังสิต และในอนาคตกำลังศึกษารูปแบบการพัฒนาใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่เพิ่มขึ้น”
เจ้าตลาดน้ำมันพืช
กลุ่มธุรกิจอาหารนี้มีสัดส่วนรายได้สูงสุดในพูลผลกรุ๊ป “รายได้ของกลุ่มพูลผล 5 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมาเป็นรายได้จากน้ำมันพืชกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท” เพชร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด กล่าวพร้อมย้ำว่า น้ำมันพืชกุ๊กอยู่ในตลาดมายาวนานเป็นผู้นำตลาดน้ำมันพืชในไทย ซึ่งนอกจากน้ำมันพืชแบบขวดสำหรับขายรายย่อยแล้ว ยังมีการจำหน่ายน้ำมันพืชสำหรับอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ ด้วย
สินค้าหลักของธนากรฯ ประกอบด้วยน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคาโนล่า “เราเป็นผู้รับซื้อ 90% ของผลผลิตทั้งหมด” เพชรขยายความถึงที่มาของการผลิตน้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งผลผลิตเมล็ดดอกทานตะวันต่อปีมีประมาณ 8,000 ตัน บริษัทธนากรฯ รับซื้อกว่า 7,000 ตัน
ส่วนถั่วเหลืองประเทศไทยไม่ได้ปลูกมาก แต่การใช้มีอยู่ประมาณ 30,000 ตันต่อปี “เราเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ สำหรับพืชถั่วเหลืองด้วยเช่นกัน รับซื้ออยู่ประมาณ 25% ของยอดการใช้ในตลาด” ทั้งหมดนี้คือความมั่นคงทางอาหารจากธุรกิจตระกูลหวั่งหลี
ก่อนจบการสัมภาษณ์ในวันนั้นสุจินต์ยังสรุปแนวทางการทำงานและแนวคิดการทำธุรกิจของครอบครัวหวั่งหลีไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราคือธุรกิจครอบครัวที่มีเพียงประเพณีปฏิบัติคือ เคารพต่อผู้อาวุโส และมีเมตตาจิตต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ความสามัคคี คือพลังที่เข็มแข็งทำให้อยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน"
นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งที่บ้านหวั่งหลีให้ความสำคัญและถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว “ที่บ้านหวั่งหลีหน้าบ้านจะมีกลอน 2 อัน ข้างหนึ่งเขียนว่า หวั่ง อีกข้างเขียนว่า หลี หวั่งคือสถานที่การศึกษาเพื่อความเจริญ ส่วนหลีคือการได้มาซึ่งกำไรที่บริสุทธิ์ยุติธรรม” เจ้าสัวบอกว่า นี่เป็น motto หรือ คติประจำใจของครอบครัวที่บุตรหลานหวั่งหลีทุกคนทุกรุ่นต้องให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา และการประกอบธุรกิจกำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่กำไรที่ได้ต้องมาจากความบริสุทธิ์ยุติธรรมนั่นคือสิ่งที่สำคัญ
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และพูลผลกรุ๊ป
อ่านเพิ่มเติม
>> “ภาววิทย์ กลิ่นประทุม” การลงทุนคือวิถีชีวิต
>> "ทิพย์ ดาลาล" พลิกวิกฤต นำ “III” ขยายน่านฟ้า Air Freight