“จิ้นฮ่วย” ในมือรุ่นที่ 3 ผ่าน 90 ปีสู่บริษัทมหาชนฯ - Forbes Thailand

“จิ้นฮ่วย” ในมือรุ่นที่ 3 ผ่าน 90 ปีสู่บริษัทมหาชนฯ

เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น

วันนั้น เมื่อ 90 ปีที่แล้ว บนพื้นที่ 15 ไร่ ณ อำเภอท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร อดีตคนงานแบกข้าวสารสามพี่น้อง “ตระกูลซี” ได้แก่ ซี หยกปิซี ฮ่วงน้ำ และซี เกี้ยยู้ จากเมืองซัวเถา (Guangdong) สาธารณรัฐประชาชนจีน คงคาดไม่ถึงว่า โรงงานผลิตซีอิ๊วและน้ำปลาเล็กๆ  ชื่อ บริษัท จิ้นฮ่วย จำกัด(Chin Huay) ที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงในปี 2468 นั้น จะกลายเป็นโรงงานผลิตปลากระป๋องแห่งแรกในไทย และเติบโตจนขยายธุรกิจสู่ผลไม้อบแห้ง จนมียอดขายและส่งออกกว่าพันล้านบาทในทุกวันนี้

กิจการ จิ้นฮ่วย ที่ได้รับขนานนามใหม่ในภายหลังเป็น บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด ได้ถูกส่งมอบมายังทายาทรุ่นที่ 3 โดยมี  ปิยวงศ์ ศรีแสงนาม ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ พร้อมญาติผู้พี่คือ ศักดา ศรีแสงนาม เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประวิทย์ ศรีแสงนาม เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ซึ่งทั้ง 3 ต่างรับภารกิจเดิมที่บิดาของแต่ละคนเคยดูแลก่อนหน้านี้ “ผมเข้ามาดูแลกิจการแบบกึ่งๆ ถูกบังคับเพราะพี่น้องคนอื่นไม่ยอมทำ และต่างลงความเห็นว่าต้องเป็นผมที่มารับช่วงต่อ จึงนับเป็นงานที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะทำได้ดีแค่ไหน ถึงแม้ว่าผมไม่ได้จบด้านวิศวะฯ” ปิยวงศ์ เล่าถึงที่มาของการเป็นผู้สืบทอดกิจการ หลังจากผ่านประสบการณ์เป็นพนักงานออฟฟิศด้านการตลาดและการขายมากว่า 10 ปี ความเจ็บป่วยของคุณพ่อที่ทำให้ต้องวางมือจากงานด้านการผลิตเมื่อ 5 ปีก่อน นับเป็นอีกสาเหตุนึงที่ทำให้ปิยวงศ์ตัดสินใจรับช่วงต่อ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญาติผู้พี่ได้เข้ามาบริหาร และเก็บกวาดบ้านในส่วนงานขายและทางการเงินให้เป็นระบบไปบ้างแล้ว ดังนั้น งานหลักที่ ปิยวงศ์ ต้องเข้ามาดูแลและจัดการคือด้านโรงงาน เขามุ่งปรับปรุงระบบการผลิตให้เข้าที่ เพื่อให้มีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและวัดผลิตภาพได้อย่างชัดเจน โดยผสานการสื่อสารข้อมูลระหว่างฝ่ายงานขาย การผลิต และการเงินให้มีประสิทธิภาพ “แรกๆ ที่เข้ามาก็มีปัญหาบ้าง เช่นเรื่องบริหารและสื่อสารกับคนรุ่นเก่า แต่ผมก็พยายามเรียนรู้งานด้านการผลิตพร้อมทำระบบข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ซึ่งกว่าจะเรียบร้อย ก็ใช้เวลาราวๆ หนึ่งปี” ผลลัพท์ของความมุ่งมั่นและเอาใจใส่ในรายละเอียดของเขา ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่อง yield จากการผลิตที่เคยต่ำและมีอัตราที่ไม่คงที่ โดยพลิกตัวเลขขาดทุนในอดีตให้เริ่มมีผลกำไร และเริ่มเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เขายังให้มีการพัฒนารูปโฉมผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่ พร้อมๆ กับปัดฝุ่นงานด้านประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้ชื่อเสียงขององค์กรเป็นที่รู้จัก และมีภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมาร่วมงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้รุดหน้าไปพร้อมกัน ปิยวงศ์ เท้าความถึงจุดเปลี่ยนสำคัญก่อนที่จะเดินทางมาเป็นเจริญอุตสาหกรรมในวันนี้ถึงการมองการณ์ไกลของปู่ที่นำวัตถุดิบเหลือจากการการผลิตซีอิ้วและน้ำปลามาผลิตเป็น “ปลากระป๋อง” ที่ยุคนั้นยังเป็นสินค้าราคาแพงและต้องนำเข้า และการเดินทางหาข้อมูลจากไต้หวันและเริ่มลงมือปั้นธุรกิจ โรงงานปลากระป๋องแห่งแรกของไทยจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2469 ภายหลังจากผลิตภายในประเทศแล้วยังส่งออกปลากระป๋องไปยังต่างประเทศและขยายไลน์สินค้าไปสู่ ผักกาดดองกระป๋อง ความคิดสร้างสรรค์ของผู้บริหารรุ่นก่อนในการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่หยุดนิ่ง จึงก่อเกิดสินค้าต่างๆ ตามมา ผลไม้กระป๋อง อาหารเจกระป๋อง ธุรกิจให้เช่าห้องเย็น และธุรกิจผลไม้อบแห้งซึ่งเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน “ผู้บริหารรุ่นที่สองในตอนนั้นมองว่า แทนที่จะขายเศษผลไม้ที่เหลือในราคาถูกๆ เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ เราควรนำไปทำอย่างอื่นซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นดีกว่า” ปิยวงศ์ เล่า พร้อมให้ภาพการเปลี่ยนแปลงและแนวทางบริหารกิจการในสมัยนั้นว่า อาจจะมีช่วงสะดุดไปบ้าง แต่ก็ผ่านพ้นมาด้วยความร่วมมือของพี่น้อง 4 คนที่เป็นทายาทสายตรงของ ซี ฮ่วงน้ำ ที่เข้ามาบริหารกิจการต่อจากรุ่นแรก โดยในปัจจุบัน ประกอบ ศรีแสงนาม(บิดาของปิยวงศ์) ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอาวุโส แม้ปัจจุบันบริษัทต้องยกเลิกกิจการผลไม้กระป๋องไปเนื่องจากแข่งขันที่ดุเดือด แต่ เจริญอุตสาหกรรมยังคงเดินหน้าผลิตผลไม้อบแห้งต่อไป จนมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นธุรกิจหลักที่ครองอัตรายอดขายของบริษัทถึง 70% ส่วนอีก 30% เป็นรายได้จากธุรกิจปลากระป๋อง ในปัจจุบัน เจริญอุตสาหกรรม มีพนักงานรวม 1,126 คน โรงงานมีกำลังการผลิตผลไม้อบแห้งที่ 500 ตัน/เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์มะม่วงอบแห้งกว่า 50% จากจำนวนผลไม้ในประเทศทั้งหมดที่บริษัทซื้อราว 1.2 หมื่นตัน/ปี ด้านโรงงานมีการผลิตปลากระป๋อง 40 ตู้คอนเทนเนอร์/เดือน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ให้แก่บริษัทต่างชาติกว่า 40 ราย ที่ส่งออกไปวางขายใน 51 ประเทศ โดยตลาดหลักครอบคลุมทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน นอกจากนี้ ในสมัยผู้บริหารรุ่นที่สอง ยังมีความพยายามในการสร้างแบรนด์ปลากระป๋องของตนเองภายใต้ เพื่อวางขายทั้งในไทยและส่งออก “ตอนนั้นมีแนวคิดว่าจะทำปลากระป๋องที่เป็น premium grade ในราคาไม่แพงมากนัก ซึ่งประสบความสำเร็จดีมากในสมัยนั้น แต่ไม่ค่อยได้ทำการตลาดและโปรโมทอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เงียบๆ ไปในที่สุด” ปิยวงศ์ กล่าว นอกจากนี้ บริษัทยังผลิตปลากระป๋องภายใต้ชื่อแบรนด์อื่น ๆ ตามมาอีกด้วย และเริ่มจดทะเบียนลิขสิทธิ์ตราสินค้าที่มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในต่างประเทศไว้ ได้แก่ Eiffel (ปลากระป๋องอันดับหนึ่งในเมียนมาร์), Triangle, Pailin, Rudder, Wheel, Apache, Eros, Rabbit และ Battle Ship ในเวลาต่อมา ช่วงยุครุ่นที่ 2 บริษัทยังผลิตผลไม้อบแห้งภายใต้แบรนด์ของตัวเอง “Eros” ทว่ายังขาดการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดอย่างจริงจัง จึงทำให้แบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นในยุคผู้บริหารรุ่นปัจจุบัน ที่เริ่มใช้สื่อโฆษณาใหม่ๆ เพื่อโฆษณาสินค้า เช่น พื้นที่โฆษณาด้านข้างรถปรับอากาศของ ขสมก.เพื่อต้องการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง ทั้งนี้ บนเส้นทางเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา บริษัท เจริญอุตสาหกรรม ได้เดินผ่านบทเรียนอันมีค่า พร้อมกับการพัฒนาทางด้านความคิด การผลิต และความสร้างสรรค์ในการแตกไลน์สินค้าอย่างมากมาย และมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นสำคัญยิ่ง คือการเป็นกิจการที่ปลอดภาระหนี้สิน “บริษัทมีคำขวัญเป็นภาษาจีนว่า ‘ไม่กู้เงิน’ เพราะตั้งแต่รุ่นปู่เคยมีปัญหาเรื่องเงินกู้ พอหลุดพ้นมาได้ ก็ไม่คิดจะกลับไปกู้อีก จึงเป็นการท้าทายไม่น้อยว่า ด้วยเงินสดที่เรามีอยู่ จะทำให้มีการลงทุนใหญ่ๆ ให้บริษัทมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร”
คลิ๊กเพื่ออ่าน "“จิ้นฮ่วย” ในมือรุ่นที่ 3 ผ่าน 90 ปีสู่บริษัทมหาชนฯ" ฉบับเต็มได้ที่ FORBES THAILAND ฉบับ SEPTEMBER 2015