กลุ่มบริษัทพัฒนายนต์ชลบุรี (PATCO Group) ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 2 ในตระกูล “สุขะมงคล” ผู้กุมพอร์ตอสังหาริมทรัพย์โซนตะวันออก และเป็นผู้นำเข้า-จำหน่ายเครื่องยนต์ทางการเกษตร-อุตสาหกรรมรายใหญ่ของไทย กำลังร่วมกันยกระดับธุรกิจทะยานสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยปลายปี 63
สองพี่น้องทายาทรุ่นที่ 2 ของ สุทิน และ วิจิตรา สุขะมงคล ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ริมถนนบางนา-ตราด จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สืบวงษ์ และ นวณัฐ สุขะมงคล ปัจจุบันพวกเขาคือกำลังสำคัญทำหน้าที่นำพาธุรกิจครอบครัวให้เติบโตจากต้นกำเนิดที่เริ่มมาจากธุรกิจโรงสี เครื่องยนต์ทางการเกษตรและเรือประมง รวมถึงเจ้าของโรงเจียร์คว้าน กระทั่งเริ่มแตกแขนงออกมาบุกเบิกโครงการอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาคตะวันออก
ปั้นธุรกิจ “พันล้าน” โตอย่างยั่งยืน
เมื่อธุรกิจเริ่มใหญ่ขึ้นจำเป็นต้องขยับขยายจากจังหวัดชลบุรีมาสู่สมุทรปราการ ยึดพื้นที่ริมถนนบางนา-ตราด กม.ที่ 8 จนเป็นที่ตั้งของบริษัทมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยทำเลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งเรื่องการขนส่ง การเดินทางที่สะดวก ทำให้ครอบครัวขยายธุรกิจออกไปได้อย่างเต็มที่จนครอบคลุม 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
- Patco Power ธุรกิจเครื่องตัดหญ้า เครื่องยนต์เรือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม
- Patco Property ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมลฑล รวมถึงโซนตะวันออก
- Patco Agro ธุรกิจวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ รวมทั้งบริษัทในเครืออีกกว่า 30 บริษัท
“คุณพ่อเป็นคนชลบุรี ส่วนคุณแม่เป็นคนบางพลีน้อย เดิมทีธุรกิจครอบครัวเราเริ่มต้นที่ชลบุรี แล้วก็ย้ายมาที่ถนนบางนา-ตราด ด้วยความที่ครอบครัวต้องการขยายสเกลของธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นจากที่เราทำธุรกิจโรงสี ทำเครื่องยนต์ทางการเกษตร"
"ยุคนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการใช้ควายไถนามาเป็นรถไถนา คุณแม่อยากขยายสเกลให้กว้างขึ้น ก็เริ่มหันมาจับรถแทรกเตอร์ รถบรรทุก เริ่มทำโรงเจียร์ นำเข้าเครื่องยนต์ทางการเกษตร เครื่องยนต์ในเรือประมง ตอนนั้นเราเป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ให้กับคูโบต้าด้วย รวมถึงเริ่มนำเข้าเครื่องปั่นไฟ (Generator) และเริ่มไปจับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”
สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทพัฒนายนต์ชลบุรี หรือ Patco Group ทายาทคนโตของตระกูลผู้บริหารพอร์ตแลนด์แบงก์ 1-2 หมื่นไร่ และกิจการในเครือ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจครอบครัว
คุณแม่ของเขาเริ่มลงทุนทำอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ 500 หลังคาเรือน เป็นโครงการบ้านจัดสรรแรกในจังหวัดชลบุรี ภายใต้ชื่อ “สามมุขธานี” ก่อนจะต่อยอดพอร์ตอสังหาฯ มาสู่อีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น มารวย เรียลเอสเตท ที่เน้นในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา, วิจิตราธานี โซนบางนา-ตราด สมุทรปราการ รวมถึงต่อยอดโครงการสามมุขธานี ที่ชลบุรี สู่ เดอะรอยัล สามมุข ฯลฯ
จัดพอร์ตอสังหาฯ รับ “อีอีซี”
“นโยบายอีอีซีส่งผลให้ฉะเชิงเทราเติบโตมากจากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย เป็นการรองรับนักท่องเที่ยวและผู้ใช้แรงงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ”
พี่ชายผู้นำของเครือเผยว่าบริษัทมีแลนด์แบงก์รองรับการพัฒนาได้อีกราว 20 โครงการ ดังนั้นยุทธศาสตร์ของกลุ่มอสังหาฯ ของบริษัทจะเน้นไปที่พื้นที่อีอีซีเป็นหลัก รวมทั้งยังมีแผนขยายไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ในโซนนี้อย่างต่อเนื่องตามโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา พัทยา ซึ่งเติบโตอยู่แล้ว
“เรากำลังมีแบรนด์อสังหาฯ ใหม่ภายใต้ชื่อ Treasure ที่บางพลี เน้นกลุ่มสตาร์ทอัพ ราคาราว 2 ล้านบาท”
ทายาทคนโตผู้กุมบังเหียนธุรกิจครอบครัวขยายความเพิ่มว่า พอร์ตของบริษัทแยกเซกเมนต์ชัดเจน แบรนด์ วิจิตราธานี เน้นทำบ้านราคาสูง มารวย เน้นบ้านราคาระดับกลางๆ และ วิคทอเรีย เน้นในกลุ่มสตาร์ทอัพคนที่เริ่มต้นในชีวิตเป็นทาวน์เฮ้าส์ ราคาเริ่มต้น 2 ล้านบาท
เขาบอกว่าเป้าหมายในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือการเป็นผู้นำอสังหาริมทรัพย์ภาคตะวันออกอย่างมั่นคง ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจนี้มียอดโอนคิดเป็นมูลค่ากว่า 800 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายโดยรวม 1 พันล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีแผนซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายโครงการในอนาคตด้วย
“ในส่วนของอสังหาฯ เราค่อนข้าง conservative แต่ขณะเดียวกันก็เน้น expand ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน บางครั้งการตั้งเป้าหมายที่รายได้อย่างเดียว หากเศรษฐกิจไม่เอื้อ อาจเกิด over-supply ได้ ทุกครั้งที่เราทำธุรกิจ แต่ละโครงการถ้าเรา move ต้องสำเร็จ ...เราไปอย่างระมัดระวัง” นวณัฐ รองประธานกรรมการบริหาร ทายาทคนที่ 3 ของตระกูล กล่าวเสริม
เล็งลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทน
อีกกลุ่มธุรกิจที่ได้ชื่อว่าสร้างชื่อเสียงให้ Patco คือ กลุ่ม Patco Power ทำรายได้ให้ทั้งกลุ่มราว 800 ล้านบาท โดยบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายและนำเข้าเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรและการประมงธุรกิจ เครื่องตัดหญ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องยนต์เรือ รวมถึงเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมของประเทศไทย พร้อมบริการหลังการขาย ศูนย์ซ่อมและการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
“เราเชี่ยวชาญเรื่องของเครื่องยนต์มาก่อนเพราะเป็นธุรกิจเริ่มต้นของครอบครัว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2508 บางคนไม่รู้ว่าเรือรบลำใหญ่ๆ หรือเรือรบของทหาร เรือท่องเที่ยว เรือด่วนเจ้าพระยา เรือยอชต์ ส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ของเรา ...ลูกค้าจะมีตั้งแต่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กลุ่มธุรกิจนี้จะเน้นการเติบโตของรายได้อย่างมั่นคง และรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิม” สืบวงษ์กล่าวพร้อมทั้งเผยว่า บริษัทมีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่เกี่ยวกับพลังงานทางเลือก คือแผนลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะและโซล่าเซลล์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา
สุดท้าย คือ Patco Argro กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์ ค้าพืชไร่ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ค้าและนำเข้ากากถั่วเหลือง ข้าวโพด และวัตถุดิบการเลี้ยงสัตว์ ที่มีคู่ค้าเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ชั้นนำ เช่น เบทาโกร กลุ่มซีพี เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้ทั้งเครือกว่า 1 พันล้านบาท
โดยดำเนินการภายใต้ 2 บริษัทหลักๆ ในเครือได้แก่ บริษัท ชลบุรีพืชผล อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด และ บริษัท บางนาพืชผล อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ที่มีรายได้รวมกัน 2 บริษัทราว 1.6 พันล้านบาท
“กลุ่มธุรกิจนี้จะเน้นนำเข้าเป็นหลักทั้งจากอาร์เจนติน่า อินเดีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา เฉลี่ยแล้วเรานำเข้ารวมๆ ไม่ต่ำกว่า 120,000 ตันต่อปี เป็นกลุ่มธุรกิจที่โตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) มีกำไรไม่มาก แต่จะได้ volume หรือยอดขายที่สูง โดยทิศทางการเติบโตของกลุ่มอาหารสัตว์โดยภาพรวมจะมีการเติบโตที่ดีขึ้นต่อปีไม่ต่ำกว่า 10%” สืบวงษ์ขยายความ ก่อนจะเผยว่า ทั้งสามธุรกิจของ Patco Group น่าจะสร้างรายได้รวมในปีนี้จนถึงปีหน้าราว 3 พันล้านบาท หนุนเป้าเข้าตลาดฯ ปลายปี 63
“แต่ละธุรกิจเรามีแผนที่จะลงทุนเพิ่ม ศึกษาแนวทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่เกินปี 2563 เป็นเป้าหมายระยะยาวของบริษัท รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในโซน CLMV ที่มีทิศทางน่าสนใจ โดยเฉพาะในเมียนมา สปป.ลาว รวมถึงในจีน”
“การบริหารในรุ่นของคุณแม่อาจจะใช้สัญชาตญาณมาก แต่ในรุ่นของพวกเราถือว่ามีความยืดหยุ่น และมีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น” สืบวงษ์กล่าว
นวณัฐ น้องสาวคนกลางในฐานะรองประธานของกลุ่ม กล่าวต่อว่า ปณิธานของบริษัทตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีการกะเกณฑ์ว่าต้องเน้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมากเป็นพิเศษ พวกเขาต้องบริหารทั้งสามธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นที่เท่าเทียมกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงในอนาคต
“เราไม่มุ่งเน้นที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่ต้องการทำให้ทุกธุรกิจเป็นขาขึ้นทั้งหมด เป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะเมื่อไหร่ที่อสังหาริมทรัพย์ลง เราก็ยังอยู่ได้ เนื่องจากมีธุรกิจอื่นมาเสริม อย่างช่วงต้มยำกุ้ง กลุ่มค้าพืชไร่กับเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยเสริมให้รายได้เราหมุนเวียนอยู่ได้ ถือเป็นพอร์ตที่มีการบาลานซ์ diversify ความเสี่ยงได้ดี ต้องเรียกว่าคุณพ่อคุณแม่วางกลยุทธ์ไว้ดี” นวณัฐกล่าวปิดท้าย
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ "ทายาทรุ่น 2 "สุขะมงคล" ปั้น PATCO เติบโตอย่างยั่งยืน" ได้จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561