สั่งอาหารออนไลน์ ธุรกิจโตไวในกัมพูชา - Forbes Thailand

สั่งอาหารออนไลน์ ธุรกิจโตไวในกัมพูชา

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Aug 2019 | 09:33 AM
READ 3570

แอปพลิเคชัน MealTemple ของ Maxime Rosburger กำลังหาทางชิงตำแหน่งผู้นำในตลาด สั่งอาหารออนไลน์ ของกัมพูชาคืนมา

Maxime Rosburger ผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศสวัย 29 เริ่มบุกเบิกบริการ ส่งอาหารออนไลน์ และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในบ้านในกัมพูชาด้วยแอปฯ MealTemple ของเขาเมื่อปี 2013 และครองความเป็นผู้นำตลาดก่อนจะเสียท่าให้กับคู่แข่งใหม่ 2 รายที่ดันเขาให้ตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 3 (โดยวัดจากจำนวนครั้งในการส่ง)

Rosburger เผยว่า จำนวนครั้งในการส่งของ MealTemple ยังอยู่ที่ 10,000 ครั้งต่อเดือน จากบริการที่ครอบคลุมพื้นที่ Phnom Penh, Siam Reap และ Sihanoukville

อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเลขทางการเงินของบริษัท โดยกล่าวเพียงว่า บริษัทอยู่ในสถานะทำกำไรแล้ว และยังบอกอีกด้วยว่าบริษัทของเขาได้รับเงินลงทุนก้อนใหม่เป็นจำนวนตัวเลขหกหลักในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากผู้ลงทุนรายหนึ่งเพื่อขยายตลาดในกัมพูชา รุกตลาด สปป.ลาว และตลาดที่มีศักยภาพอื่นๆ

สตาร์ทอัพบริการ สั่งอาหารออนไลน์ MealTemple นับเป็นรายแรกๆ ที่เข้าไปทำตลาดในกัมพูชา

Rosburger กำลังหาทางรับมือกับการคุกคามของคู่แข่ง โดยปีที่แล้ว เขาเพิ่มบริการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในบ้านและบริการเรียกรถรับส่งในกัมพูชา

แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว ที่ 1,485 เหรียญสหรัฐฯ จะทำให้กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก แต่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตกว่า 7% ต่อปีตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สร้างกลุ่มประชากรชั้นกลางที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่แม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ก็กำลังค่อยๆ ขยายตัว

โดยตัวเลขจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ระบุว่ากัมพูชามีประชากรกว่า 1 ใน 3 ที่ใช้อินเทอร์เน็ต

 

ผู้จัดการโรงงานแฟชั่นผันตัวสู่บริการเดลิเวอรี่

เส้นทางการเข้าสู่ธุรกิจส่งอาหารในกัมพูชาของ Rosburger นั้นผกผันมาจากวงการแฟชั่นของ Paris ในปี 2008 ขณะที่กำลังศึกษาใน Paris เขาทำงานให้กับร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์อย่าง Dolce & Gabbana และ Hermès

จากนั้นเขาใช้เวลาหนึ่งภาคการศึกษาของปี 2011 ฝึกฝนทักษะด้านธุรกิจที่มหาวิทยาลัย Tongji ใน Shanghai ระหว่างนั้น เขาเริ่มนำเข้าสินค้าแฟชั่นจากยุโรปมาขายในจีน แม้ธุรกิจไม่ได้ทำเงินมากมายนัก แต่ช่วยให้ Rosburger สานสัมพันธ์กับผู้ประกอบการเสื้อผ้าจากฮ่องกง ซึ่งนำพาเขาไปสู่ตำแหน่งงานที่กำลังว่างในกัมพูชาในปีถัดมา

Maxime Rosburger ผู้ก่อตั้ง MealTemple

Rosburger เข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานชุดชั้นในใน Sihanoukville ซึ่งขณะนั้นยังเป็นจังหวัดที่ค่อนข้างเงียบ ก่อนจะเริ่มคึกคักขึ้นมาเนื่องจากได้รับการส่งเสริมให้เป็นเขตการค้าเสรีและเป็นจุดหมายปลายทางด้านการพนันสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน

เขาขยายโรงงานที่มีพนักงาน 50 คน เป็น 500 คน ก่อนจะลาออกในปี 2013 พร้อมด้วยเงินเก็บ 30,000 เหรียญ เขานำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนใน MealTemple โดยเริ่มจากรถจักรยานยนต์ 2 คันและคนขับ 2 คน เพื่อส่งอาหารรอบๆ Phnom Penh

ในช่วงแรก ออร์เดอร์การสั่งซื้ออาหาร 70% ของ MealTemple มาจากการสั่งจากโทรศัพท์สั่งแบบเก่าๆ แล้วทางออกของ Rosburger คืออะไร เขายอมให้ร้านอาหารโฆษณาฟรีบนแผ่นพับที่พิมพ์อย่างสวยงามของบริษัท ถ้าร้านเหล่านั้นยอมลงรายละเอียดทางออนไลน์ด้วย ซึ่งทำให้ตอนนี้ลูกค้า MealTemple มากกว่าครึ่งหนึ่งสั่งอาหารจากเว็บไซต์หรือแอปฯ

 

คู่แข่งกำลังชิงส่วนแบ่ง

สำหรับคู่แข่งของเขาในตลาด Nham24 เข้าสู่ตลาดในปี 2016 จากการก่อตั้งของ Borima Chann ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่อดีตเป็นผู้อำนวยการด้านการตลาดของโรงแรมแห่งหนึ่งในกัมพูชา

สั่งอาหารออนไลน์-Nahm24
คนขับรถ 100 คนของ Nahm24 ส่งอาหารมากกว่า 21,000 ออร์เดอร์ต่อเดือน

คนขับรถ 100 คนของ Nham24 ส่งอาหารมากกว่า 21,000 ออร์เดอร์ต่อเดือน มากกว่า 2 เท่าของยอดออร์เดอร์ที่ MealTemple ทำได้ Smart Axiata บริษัทลูกของ Axiata ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมจากมาเลเซียที่ดำเนินธุรกิจในกัมพูชา ได้ซื้อหุ้นส่วนหนึ่งในสัดส่วนที่ไม่มากของ Nham24 เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วและไม่เปิดเผยจำนวนเงินในการซื้อ

E-Gets Technology ผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เติบโตแซงหน้าทั้ง MealTemple และ Nham24 อย่างรวดเร็ว Xiao Hongpei ผู้ประกอบการจากจีนก่อตั้ง E-Gets เมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน พุ่งเป้าลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เป็นชาวจีน โดยสามารถเจาะตลาดชาวจีนที่เดินทางมาอาศัยอยู่ใน Phnom Penh และ Sihanoukville ได้อย่างรวดเร็ว บริษัทส่งอาหารเฉลี่ย 30,000 ออร์เดอร์ต่อเดือนให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ที่มีอยู่ราว 120,000 คน

Rosburger แห่ง MealTemple กล่าวว่า เขาได้พยายามเจาะกลุ่มลูกค้าในชุมชนชาวจีนที่กำลังเติบโตแต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ไม่ต้องคิดหนักว่าทำไม นั่นเพราะ E-Gets เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก ขณะที่ MealTemple เน้นภาษาอังกฤษ แต่ลูกค้าสามารถเลือกภาษาฝรั่งเศสและกัมพูชาได้ด้วย สำหรับ Nham24 ให้บริการในภาษาอังกฤษและกัมพูชา

คาดว่าการแข่งขันจะยังไม่ยุติเพียงเท่านี้ Grab ผู้ประกอบการรายใหญ่จากสิงคโปร์ซึ่งให้บริการส่งอาหารและเรียกรถในตลาดอื่น ได้ริเริ่มบริการเรียกรถรับส่งที่กัมพูชาเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2017 เพียงแต่ยังไม่ได้เข้าสู่ธุรกิจส่งอาหารที่นั่นเท่านั้นเอง

 

เรื่อง: Danielle Keeton-Olsen  เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม


คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “สั่งอาหารออนไลน์ ธุรกิจโตไวในกัมพูชา” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine