เมื่อธุรกิจเครื่องหนังถึงจุดอิ่มตัว อัตราการเติบโตไม่เร้าใจอีกต่อไป วีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) ทายาทรุ่น 2 ของตระกูล ซึ่งทำธุรกิจเครื่องหนังมา 48 ปี จึงข้ามสายไปลงทุนในธุรกิจพลังงานและธุรกิจออกแบบจัดจำหน่ายเรือและรถโดยสารขนาดเล็กที่ผลิตด้วยอลูมิเนียม ซึ่งเขามั่นใจว่าจะสร้าง s-curve ใหม่ให้กับบริษัท
CWT ก่อตั้งโดย บุญชัย ไชยธีรัตต์ บิดาของวีระพล ซึ่งอพยพมาจากประเทศจีนพร้อมครอบครัวขณะอายุ 15 ปี และทำงานในโรงฟอกหนังของอาอยู่หลายปี ก่อนมาเปิดกิจการของตนเองในชื่อบริษัท โรงงานฟอกหนังชัยวัฒนา จำกัด ในปี 2515 ขณะอายุ 40 ปี ด้วยทุนจดทะเบียน 1.6 ล้านบาท
วีระพลเข้ามาทำงานในบริษัทตั้งแต่ปี 2535 เริ่มจากงานในโรงงานเกือบ 10 ปี ก่อนจะขึ้นเป็นผู้บริหารในปี 2542 รวมทั้งต้องไปฝึกงานที่อิตาลีและเยอรมนี ประเทศละ 6 เดือน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับธุรกิจนี้
วีระพลเล่ากลั้วหัวเราะน้อยๆ ว่า “ถูกบังคับ” และขยายความต่อว่า ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ดีที่สุดอยู่อิตาลี ส่วนเครื่องจักรที่ดีที่สุดอยู่เยอรมนี ถ้าจะมารับช่วงก็ต้องไป ฝึกงานที่ประเทศนั้นๆ โดยฝึกงานในบริษัท ที่เป็นลูกค้าของบิดา
“จุดรอดของวงการเครื่องหนังอิตาลีคือ มีความเป็นแฟชั่นสูงไม่ใช่แมส พอไปเรียน แล้วจึงรู้ว่าธุรกิจเครื่องหนังจะอยู่รอดได้มี 2 แบบคือ ทำไซซ์เล็กเฉพาะทางแบบแฟชั่น หรูไปเลย กับทำแบบแมสขายจำนวนมาก ของผมอยู่ฝั่ง ออโตฯ ซึ่งเป็นแมส”
บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2534 อีก 6 ปีถัดมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น
บมจ. ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป ปัจจุบันมีพนักงาน กว่า 1,000 คน
- เพิ่มมูลค่าด้วยเบาะหนังรถยนต์
ในช่วงแรก
CWT ผลิตหนังสัตว์ฟอกเป็นผืน และหนังสัตว์สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ ต่อมาวีระพลได้สร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตเบาะหนังรถยนต์และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ช่วงปี 2538-2539 เมื่อมองเห็นว่าทิศทางที่จะไปได้คือการส่งออกต่างประเทศ
โดยเป็นบริษัทเดียวในเอเชียที่เสนอตัวผลิตหนังสำหรับตัดเย็บเป็นเบาะรถยนต์ให้กับค่ายรถยนต์จีเอ็ม และได้รับออร์เดอร์จำนวน 2 รุ่น ติดต่อกัน 5 ปี
ทำรายได้เข้าบริษัทมากกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เหตุผลที่ได้รับเลือกเพราะวัตถุดิบที่เสนอไปคือ หนัง water buffalo ซึ่งมีความเหนียวทนทานกว่าหนังวัว ทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่า โดยบริษัทส่งหนังผืนไปตัดที่อเมริกา ผ่านกระบวนการตัดเย็บที่เม็กซิโกก่อนจะส่งไป Detroit
"เดิมธุรกิจอยู่ในกลุ่มสเปกไม่สูง ผมเห็นว่าจะไปได้ไม่ไกล ตอนนั้นเทกซ์ไทล์ย้ายไปจีน ก่อนย้ายกลับมาเวียดนาม ธุรกิจหนังถ้าทำแบบเดิมๆ หนีไม่พ้นต้องย้ายไปจีน ผมก็พัฒนาจากงานตัดเย็บเพื่อเฟอร์นิเจอร์มาเป็นตัดเย็บเบาะรถยนต์”
กิจการของบริษัท CWT เติบโตล้อไปกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเดิมใช้หนังเทียมสำหรับทำเบาะรถยนต์ ส่วนหนังแท้เป็นออฟชั่นเสริมที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่หลังจากปี 2547 เป็นต้นมารถยนต์หลายรุ่นหันมาใช้เบาะหนังแท้กันมากขึ้น บริษัทเน้นการผลิตเบาะรถยนต์และเครื่องตกแต่งที่ทำมาจากหนังแท้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและมีอัตรากำไรที่สูงขึ้น
สำหรับอัตราการเติบโตของกลุ่มธุรกิจหนังในแต่ละปีผู้บริหาร CWT บอกว่า ช่วงดีที่สุดมีรายได้ 1.8 พันล้านบาทต่อปี ต่ำสุดคือ 1.2 พันล้านบาท และปี 2562 มีรายได้อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท โดยธุรกิจเบาะรถยนต์ภายในประเทศมีมูลค่ารวม 5 พันล้านบาท
ซึ่งบริษัทเป็น 1 ใน 3 ของผู้ผลิตรายใหญ่ มีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตารางฟุตต่อเดือน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่กำลังพอดี เนื่องจากสินค้าพวกนี้มีความเป็นศิลปะพอสมควร ทำมากไปก็มีโอกาสเสียหาย หากทำน้อยก็ไม่คุ้มทุน
CWT ถือหุ้นในบริษัทย่อย 8 บริษัท และบริษัทร่วม 4 บริษัท
ปี 2562 CWT มีรายได้รวม 2,069.52 ล้านบาท กำไรสุทธิ 105.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 2,022.94 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกปี 2563 มีรายได้ 448.83 ล้านบาท กำไรสุทธิ 13.94 ล้านบาท โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หนัง พลังงาน และกลุ่มธุรกิจออกแบบและ จัดจำหน่ายยานพาหนะ
กลุ่มที่ 1 ผลิตภัณฑ์หนัง เป็นธุรกิจดั้งเดิมประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ 4 ประเภทคือ หนังสัตว์ฟอก เป็นการนำหนังดิบของโคมาผ่านกรรมวิธีการฟอกย้อมสีและตกแต่งเป็นหนังผืนสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจของเล่นสุนัข (Dog Chews) สำหรับธุรกิจเบาะและชิ้นส่วนหนังสำหรับรถยนต์ เป็นการนำหนังสัตว์ฟอกมาเพิ่มมูลค่า ผลิตเป็นหนังเบาะรถยนต์และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์
บริษัทมีผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดคือ หนังผืนสำเร็จรูป (leather), ชิ้นงานหนังตัด (cut piece) และหนังหุ้มเบาะรถยนต์ (cushion cover) สำหรับค่ายรถยนต์ที่บริษัทผลิตสินค้าให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบด้วย โตโยต้า ฮอนด้า และอีซูซุ คิดเป็นยอดรวมมากกว่า 90% ของยอดผลิตเบาะรถยนต์ และเป็นรายได้หลักของบริษัท
กลุ่มที่ 2 ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 8 MW ที่จังหวัดสระแก้ว และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 5 MW ที่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ ธุรกิจกลุ่มออกแบบและจัดจำหน่ายยานพาหนะ ซึ่งประกอบด้วยเรือและรถโดยสารขนาดเล็กที่ผลิตด้วยอลูมิเนียม และ CWT เข้าไปถือหุ้นในบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด เมื่อปี 2561 ในสัดส่วน 50.01%
วีระพลกล่าวถึงแนวโน้มของกลุ่มธุรกิจผลิตหนังในปี 2563 ว่า ธุรกิจนี้มีข้อดีคือ มีสินค้าไม่กี่ชนิด ข้อเสียคือ ผูกติดกับ OEM และขึ้นกับการผลิตรถยนต์ด้วย หากยอดการผลิตเพิ่มบริษัทก็มีออร์เดอร์เพิ่ม แต่โควิด-19 ทำให้บริษัทรถยนต์หยุดสายการผลิต บริษัทต้องหยุดตาม นั่นเป็นที่มาของการลงทุนในธุรกิจที่ 2 และ 3
“เครื่องหนังเป็นธุรกิจดั้งเดิม ไม่ต้อง ลงทุนเพิ่ม ตอนนี้เหลือแต่การเก็บเกี่ยว ลูกค้าเดิม repeat order ปี 2020 กำลังสนุกว่าจะโตไม่น้อยกว่าเดิม แต่ครึ่งปี แรกต้องชะงักไปเพราะโควิด-19 ส่วนโรงไฟฟ้าช่วงแรกลงทุนหนักแต่ให้ผลตอบแทนที่ดี
ธุรกิจที่หวังว่าเป็น s-curve คือ สกุลฎ์ซี เป็นธุรกิจที่มีอนาคต ในแวดวงธุรกิจเรียกว่า 10x คือมีโอกาสเติบโตเป็น 10 เท่า บริษัททั่วไปบอกว่า ขอโตปีละ 10-20% ก็หรูแล้ว”
แน่นอนว่าเมื่อเป็นธุรกิจคนละประเภทการบริหารจัดการจึงมีความแตกต่างกันมากด้วย
ธุรกิจสุดท้ายคือ การผลิตรถไฟฟ้าและเรือไฟฟ้าขนาดเล็กด้วยนวัตกรรม ใช้วัสดุอลูมิเนียมเกรดพรีเมียม มีน้ำหนักเบา แข็ง-แรง ไม่เป็นสนิม ภายใต้แบรนด์
“สกุลฎ์ซี” ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด และ CWT เข้าไปถือหุ้น 50.01% โดยวีระพลประเมินว่า เป็นธุรกิจที่มีอนาคต มีโอกาสเติบโตได้อีกหลายเท่า ทั้งยังเป็นธุรกิจที่สอดรับกับเทรนด์ของโลกที่ go green เพราะปลอดมลพิษทั้งควัน ฝุ่น และเสียงรบกวน
“สกุลฎ์ซีมีดีมานด์รออยู่ ลูกค้าเป็นคนที่ซื้อรถไปใช้แทนรถตู้ โดยกฎหมายรถที่มีระยะทางวิ่งเกิน 300 กม. ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ใน กทม. แล้วแต่ความสมัครใจ จำนวนครึ่งหนึ่งต้องเปลี่ยนแล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ กลุ่มลูกค้าคือ รถร่วม บขส. รถตู้ และรถบัส ขสมก. เราเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคต ธุรกิจหนังมีอนาคตแต่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว ถือว่าเป็นเบส เนื่องจากเครื่องจักรชุดเดิมใช้งานได้อีกยาวๆ เหมือนธุรกิจที่ไม่ต้องหาเงินใหม่มาลงทุน รีเทิร์นไม่ขี้เหร่ แต่ไม่ดีเท่าธุรกิจที่จะมาใหม่ๆ”
คลิกอ่านฉบับเต็ม “วีระพล ไชยธีรัตต์ ติดเครื่องยนต์ใหม่ CWT” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine