เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง
ฟาร์มปศุสัตว์ขนาด กว่า 3,000 ไร่ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม แหล่งเพาะเลี้ยงทั้งไก่ไข่ เป็ดไข่ และปลาน้ำจืด คือส่วนหนึ่งของฐานธุรกิจที่ฟูมฟักให้ บริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด หรือ KCF ที่ปัจจุบันมี โกญจนาท ศรมยุรา กรรมการผู้จัดการวัย 36 ปี ทายาทรุ่นสองผู้เป็นบุตรชายคนกลางในบรรดาพี่น้อง 3 คน ของ เกษม ศรมยุรา ผู้เป็นบิดา ที่ตั้งไข่กิจการด้วยการทำฟาร์มเลี้ยงเป็ดไข่เมื่อปี2519
“ใน บรรรดาพี่น้องทุกคนกลับมาทำงานให้ที่บ้านหมดเลย ไม่มีใครไปเป็นลูกจ้างบริษัทอื่น เชื่อกันว่ามาเรียนรู้จริงกับธุรกิจที่บ้านเลยไม่ต้องไปหาประสบการณ์ที่อื่น พอมาทำก็สนุกขึ้นเรื่อยๆ อยากเห็นการเติบโตของธุรกิจ”
ปัจจุบัน โกญจนาท และพี่ชายคือ เกรียงศักดิ์ ศรมยุรา ผู้รับหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดด้านบัญชีและการเงิน (CFO) คือผู้บริหารหลักที่ร่วมแรงกันผลักดันการเติบโตของธุรกิจที่สร้างยอดขาย เพิ่มขึ้นโดยโดยปี2559 มียอดขาย 4 พันล้าน โดยมีเป้าหมาย 1 หมื่นล้านบาทภายในไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า
“ธุรกิจเราเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% แต่ปีนี้จะเติบโตก้าวกระโดดถึง 30%” โกญจนาท ย้ำทิศทางการขยายตัวของธุรกิจ เกษตรชัยฟาร์มกรุ๊ป ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มเกษมชัยฟาร์มดำเนินการผ่าน 14 บริษัท ในเครือที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก หนึ่งคือปศุสัตว์ที่มีทั้งฟาร์มไก่ไข่และเป็ดไข่ สองคือประมงน้ำจืด และสามคือบริการ
ทั้งนี้ปัจจุบันรายได้หลักของเกษมชัย-ฟาร์มกรุ๊ป มาจากธุรกิจไข่ไก่ราว 50% ของรายได้ทั้งหมด แล้วจึงตามด้วยธุรกิจไข่แปรรูป เนื้อปลาแปรรูป และปลาสดจากฟาร์ม ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้บริษัท โดยบริษัทมีรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไข่และปลาน้ำจืดไปยังประเทศต่างๆ
ด้วย กลยุทธ์ในการขยายฐานการผลิตของสินค้าต่างๆ ปัจจุบัน และการเพิ่มเติมสินค้าใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งการนำเข้า การจ้างผลิต และควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ของ KCF ให้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภควงกว้างมากขึ้น เพื่อทำให้เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ปมีรายได้ถึง 1 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้า
“ถ้า เราจะทำเองทุกอย่างคงไม่สามารถทำยอดขายถึง 1 หมื่นล้านตามที่ตั้งเป้าไว้ได้แน่ เพราะถ้าจะเพิ่มยอดขายทีละ 5 พันล้านก็ต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 พันล้านบาทภายใน 3 ปีคงไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องพึ่งพารายได้จากสินค้าที่จ้างผลิตและที่นำเข้าจากต่างประเทศมาขาย ด้วย”
แต่เส้นทางที่เขามุ่งหวังเพื่อไปแตะรายได้เพื่อให้ถึง ยอดขาย 1 หมื่นล้าน นั้นหนักหนาเนื่องจากปัจจุบันสินค้าของบริษัทยังเสียเปรียบคู่แข่งรายใหญ่ คือ CP และ Betagro ในเรื่องช่องทางจำหน่ายที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงกว่าและการรับ รู้เรื่องแบรนด์ เขาจึงเลือกสร้างแบรนด์ผ่านกลยุทธ์เกษตรท่องเที่ยวโดยใช้พื้นที่ของฟาร์มที่ เลี้ยงไก่แบบปล่อย (free-range chicken) เปิดให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวได้พาเด็กๆ มาสัมผัสประสบการณ์ของการเลี้ยงไก่ และจัดตั้ง บริษัท เคซีเอฟ ดีสทริบิวชั่น จำกัด เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการกระจายสินค้าของเกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป ให้เข้าถึงมือผู้บริโภคมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม โกญจนาท ตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์ KCF ว่าทุกวันนี้ชื่อเสียงของ KCF ยังสามารถติดสามอันดับแรกของสินค้าไข่ไก่อยู่แล้ว ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ KCF เป็นที่ยอมรับนั้น คือกระบวนการและคุณภาพกับมาตรฐานสากลต่างๆ ที่ได้รับ
“ถ้า แบรนด์เราดีจริงเป็นที่ต้องการของลูกค้า เขาก็ไม่กล้าเขี่ยสินค้าของเราออกเพราะต่อให้ทุ่มโฆษณาแค่ไหนแต่ถ้าไม่มีของ ไปวางขายก็ไม่มีประโยชน์” โกญจนาท กล่าว
ทั้งนี้ เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป ก็มีแผนนำบริษัทในเครือ 2 บริษัทเข้าจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต คือ บริษัท เค ซี เอฟ โพรเซสซิ่ง แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ในธุรกิจปลาน้ำจืดและธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (biogas) ในนาม บริษัท เคซีเอฟ พลังงานสีเขียว จำกัด ที่ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ราว 8 เมกะ-วัตต์ต่อเดือน โกญจนาทให้เหตุผลที่นำบริษัทในเครือสู่ธุรกิจมหาชนว่า จุดประสงค์หลักคือระดมทุนมาหนุนให้ธุรกิจเติบโต แต่ไม่ได้รีบร้อน
คลิ๊กเพื่ออ่าน "รุ่น 2 เกษมชัยฟาร์ม ฟูมฟักธุรกิจหมื่นล้าน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ APRIL 2016