ปณิธานที่จะให้ "ร้านขายยาเป็นที่พึ่งพิงของคนในชุมชน" ควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรอย่างยั่งยืนของ HL ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโมเดลนี้สามารถทำได้ เพราะปัจจุบันนี้ไม่เพียงที่บริษัทมหาชนรายนี้มีรายได้ทะลุพันล้านบาทไปแล้ว แต่ยังมีอนาคตสดใสด้วยแผนขยายสาขา และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพสร้างรายได้ก้อนงามอีกด้วย
ร้านขายยา Pharmax ที่ว่าเป็น 1 ใน 4 แบรนด์ร้านขายยาที่อยู่ภายใต้กลุ่ม บริษัท เฮลท์ลีด จำกัด (มหาชน) (HL) ซึ่งรวมไปด้วย iCare, Super Drug และ vitaminclub ณ สิ้นปี 2564 ทั้ง 4 แบรนด์มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 26 สาขา ที่นี่มีจุดเด่นคือ บริหารโดยกลุ่มเภสัชกรที่มุ่งหวังยกระดับมาตรฐานร้านยาของไทยและยึดมั่นการทำงานบนหลักการที่ว่า จำหน่ายเวชภัณฑ์ในราคาที่เป็นธรรมเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ HL มีจุดเริ่มต้นในปี 2536 ณ ร้านขายยาแห่งหนึ่งแถวพุทธมณฑลสาย 2 ที่ชื่อ “มัทยาเภสัช” โดยมีผู้ก่อตั้งคือ เภสัชกรหญิง มัทยา พันธุกานนท์ เธอจบระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และใบปริญญาบัตรทั้งสองนี่เองได้เป็นใบเบิกทางให้เธอเข้าสู่สายงานด้านเภสัชกรรมในบทบาทหลากหลาย เธอตระหนักอยู่เสมอว่า วิชาชีพของเธอสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อีกมาก บวกกับปณิธานที่อยากเห็นเภสัชกรชุมชนเป็นที่พึ่งพิงที่เข้าถึงได้ของคนในชุมชนต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพในทุกๆ เรื่องได้ก่อนที่จะไปโรงพยาบาล ดังนั้น ธุรกิจร้านยาในแบบฉบับของเธอจึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นร้านขายยาของเธอค่อยๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงปี 2547 ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นร้านยาคุณภาพรุ่นที่ 2 ของสภาเภสัชกรรม จากนั้นในปี 2550 ก็เข้าซื้อหุ้นบริษัทเจ้าของแบรนด์ร้านขายยา Pharmax (สมัยนั้นหลังซื้ออยู่ภายใต้ความดูแลของ บริษัท เฮลทิเนส จำกัด (HN)) ไม่กี่ปีต่อมาก็ได้ก่อตั้ง บริษัท ไอแคร์ เฮลท์ จำกัด (IC) และเปลี่ยนชื่อร้านขายยาเดิมที่มีอยู่ดั้งเดิมเป็น iCare พร้อมกับเปิดอีก 2 แบรนด์คือ vitaminclub และ Super Drug (ดูรายละเอียดในตาราง) เมื่อบริษัทขยายตัวมากขึ้น ความซับซ้อนขององค์กรก็เพิ่มตามมา ทำให้เธอต้องปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัท ดังนั้น เธอจึงได้ตั้ง HL ขึ้นในปี 2561 และใช้บริษัทนี้เข้าไปลงทุนใน IC และ HN เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและอำนาจการต่อรองกับผู้จำหน่ายสินค้า หลังปรับโครงสร้างร้านขายยาทั้ง 4 แบรนด์ได้เข้าอยู่ภายใต้บริษัท IC ขณะที่บริษัท HN จะมุ่งดำเนินธุรกิจคิดค้นและพัฒนาร่วมกับทีมวิจัยภายนอก รวมทั้งว่าจ้างผู้ผลิตเพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ บริษัทเข้าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในปี 2564 เมื่อบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยเสนอขายหุ้นใหม่ให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และได้เงินจากการระดมทุนมารวม 705.60 ล้านบาทจากราคา IPO 9.80 บาท โดยหุ้นมีการซื้อขายบนกระดานหุ้นในวันที่ 3 ธันวาคม ปี 2564 เป็นวันแรก หลังเข้าตลาดหุ้น HL มีแผนจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีสองผู้บริหารที่เป็นเภสัชกรอย่าง ธัชพล ชลวัฒนสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ถือหุ้นใน HL 1.76%) และ ศุภกร พันธุกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (ถือหุ้นใน HL 24.27%) บุตรชายของมัทยาร่วมช่วยสร้างการเติบโต- เภสัชกรนักบริหาร -
ธัชพล ชลวัฒนสกุล ปัจจุบันอายุ 44 ปี จบคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ MBA จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นรุ่นน้องของมัทยา ความสนิทชิดเชื้อของทั้งคู่ส่วนหนึ่งมาจากมีจุดยืนในวิชาชีพคล้ายๆ กันคือ ต้องการนำหลักวิชาการที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือชุมชน จนอยู่มาวันหนึ่งผู้ถือหุ้นเก่าของ Pharmax ประกาศขายเชนร้านขายยาแห่งนี้เพราะไม่มีเวลาทุ่มเทมากพอ ธัชพลซึ่งทำงานอยู่ที่ Pharmax ในขณะนั้น จึงชักชวนมัทยาให้เข้าซื้อหุ้น และเธอก็ตอบตกลงเพราะเห็นโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจจากร้านยา iCare ที่มีอยู่ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้จำหน่ายยาและขยายฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นด้วย จากการเข้าซื้อครั้งนั้นได้ทำให้ยอดขายรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเป็น 600-700 ล้านบาท จาก 300-400 ล้านบาท ธัชพล เปรยกับ Forbes Thailand ว่า แม้ว่าบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ภารกิจของบริษัทยังไม่จบ การเข้าตลาดฯ เป็นเพียงแค่ “ก้าวแรก” เท่านั้น จากนี้ไปบริษัทจะขยายธุรกิจเชิงรุกมากขึ้น โดยจะเน้นเปิดสาขาใหม่ๆ ในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ ที่ผ่านมาเน้นเปิดในเมืองหลวงก่อน เพราะระบบรองรับยังไม่พร้อม อีกทั้งตลาดร้านขายยาใน กทม. คิดเป็น 40% จากตลาดทั้งหมดที่มูลค่าราว 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีการเติบโต 3-5% ต่อปี โดยปีนี้จะเริ่มเปิดในพื้นที่ปริมณฑล ก่อนที่จะรุกเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัดในปีหน้าอย่างจริงจัง โดยจะใช้ iCare และ Pharmax เป็นสองแบรนด์หลักในการขยายตลาด “(หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์) เรายังจะมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากอย่างเช่น เจอนักลงทุน เจอกองทุน เจอกับดีลธุรกิจใหม่ๆ ที่จริงโอกาสเยอะมาก เป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามา เราต้องเรียนรู้ตลอด ไม่ใช่อัดเต็ม max แล้วปล่อยเกียร์ว่าง” ธัชพลอธิบายเพิ่มตามข้อมูลจากรายงานประจำปี 2564 ของบริษัทระบุว่า แผนงานในอนาคตจะมีทั้งเปิดสาขาใหม่และปรับปรุงสาขาเดิม โดยช่วงปี 2565-2567 มีแผนที่จะขยายสาขาจำนวน 10 สาขาต่อปี โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการขยายสาขาและปรับปรุงสาขาประมาณ 60 ล้านบาทภายในปี 2567 ธัชพลบอกว่า จุดแข็งบริษัท ณ ขณะนี้คือ มีสายสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์กว่า 2 ทศวรรษ และมีเครือข่ายร้านขายยาครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายและมีการจำหน่ายเวชภัณฑ์ เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อุปกรณ์การแพทย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ รวมกว่า 10,000 รายการ โดยคาดว่าอนาคตจะยังคงรักษาการเติบโตได้ด้วย “ตัวเลข 2 หลัก” ทั้งยอดขายและกำไรเหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตนี้จะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนความต้องการการใช้ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้แล้วการมาเยือนของโควิด-19 ได้ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน เห็นชัดว่าคนจะออกจากบ้านน้อยลง และเมื่อออกแล้วก็จะมุ่งไปร้านขายยาที่มีสินค้าขายครบวงจรเพื่อได้สินค้าทุกอย่างที่ต้องการในที่เดียว รวมถึงวิถีใหม่ของการบริโภคอาหารเสริมเพื่อดูแลตัวเอง “อยากให้ร้านยาเป็นที่พึ่งของชุมชนมองว่าสังคมไทยในอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ เวลาจะซื้อยาก็ไม่มีที่ซื้อนะ ก็น่าจะไปซื้อหน้าโรงพยาบาล...ผู้สูงอายุก็ไม่ได้ไปอยู่ที่โรงพยาบาล ต้องอยู่ที่บ้านดูแลเอง บางทีก็ให้ถุงน้ำเกลือที่บ้าน อุปกรณ์พวกนี้ก็มีในร้านยา ร้านขายยาทั่วไปไม่มี นี่คือโอกาสของเรา”- ทำธุรกิจต้องแบ่งปัน -
ศุภกร พันธุกานนท์ จบปริญญาตรีจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อายุ 34 ปี ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ใน HL รองจากมารดา แม้อยู่ฐานะเป็นบุตรผู้ก่อตั้งและทายาท แต่เขาก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษมากกว่าใครๆ เขาบอกว่า ผู้บริหารที่นี่ต้องมี “blueprint” เพื่อเป็น “องค์กรมืออาชีพ” และตัวเขาเองก็ต้อง “qualified” พอที่จะรับงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ มุ่งดูแลงานปฏิบัติการทั้งหมด ไม่ว่าจะหน้าร้าน จัดซื้อ หรือคลังสินค้า ศุภกรเติบโตมากับร้านยาและใช้ที่นี่เป็นที่วิ่งเล่นมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นมัทยาผู้เป็นมารดาขายยาจนโต บางทีก็ช่วยขายบ้างนับเงินบ้าง จนซึมซับปณิธานจากมารดาที่ต้องการให้ร้านยา “เป็นที่พึ่งของชุมชน” โดยไม่รู้ตัว และคิดว่าถ้ามาทำร้านยาก็น่าจะดี เลยตัดสินใจเลือกเรียนสาขาเภสัชศาสตร์ด้วยตนเองโดยปราศจากการบังคับจากมารดา ความคิดนี้ยังได้รับการตอกย้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ กทม. ปี 2554 ที่เขาพบว่า มารดายังต้องเปิดร้านขายยาอยู่แม้ยอดขายจะไม่มากและไม่มีลูกน้องช่วย เพราะกลับบ้านไปหมดแล้วก็ตาม ด้วยความเป็นเด็กก็คิดว่ามารดา “งกจังเลย” แต่หลังเปิดก็พบว่า สิ่งที่มารดาทำก็ต้องการช่วยเหลือคน เพราะมีคนเดือดร้อนจากการเจ็บป่วย อยากให้ร้านยาเป็นที่พึ่งให้พวกเขา และเขายังได้เห็นอีกว่า ยังมีคนรายได้น้อยอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เพราะต้องซื้อยาได้ทีละแผง ทำให้เขาเข้าใจถึงสุภาษิต “ตำข้าวสารกรอกหม้อ” ว่าเป็นอย่างไร ศุภกรเข้าช่วยงานบริษัทตั้งแต่ใกล้จะจบปริญญาตรี ตอนนั้นบริษัทกำลังจะเปิดแบรนด์ vitaminclub ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาพระราม 9 เขาได้เข้าไปช่วยรับผิดชอบไม่ว่าจะเรื่องระบบบัญชี บริหารคน พนักงาน และสัมภาษณ์พนักงานด้วยตนเอง หลังจากนั้นก็ได้รู้จักธัชพลและรู้สึกคุ้นเคยเพราะมีจุดยืนเหมือนกันว่า อยากให้ร้านยาเป็นที่พึ่งของชุมชน ได้ช่วยเหลือคนได้จริงๆ โดยจัดหายาคุณภาพให้ และได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรจริงๆ ดังนั้น ศุภกรจึงมุ่งมั่นทำงานเพื่อจะสานฝันให้ปณิธานของมารดาเป็นจริง “สิ่งที่จะบอกว่า ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือเปล่าคือ อย่างแรกต้องมีกำไร เราก็อยากทำตาม passion และสิ่งที่เราต้องการ แต่บรรทัดสุดท้ายต้องมี “กำไร” เพราะไม่งั้นจะเดือดร้อนคนอื่น เดือดร้อน stakeholders ต่างๆ” โดยศุภกรทิ้งท้ายไว้ว่า ความท้าทายของเขาก็คือ การบริหารพนักงาน บริหารทุกคน บริหารระบบ เพื่อท้ายสุดแล้วให้ธุรกิจเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง ทุกปีก็จะมีโจทย์การทำงานต่างกันไปออกไป แต่สิ่งที่ท้าทายคือ จะแก้ปัญหาเหล่านั้นออกมาแล้วให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งหมดนั้น “happy” ได้อย่างไร ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ HL อ่านเพิ่มเติม:- พจนา พะเนียงเวทย์ นำทัพ “มาม่า” เสิร์ฟลูกค้าทั่วโลก
- พจนา พะเนียงเวทย์ จากบัณฑิตสายอาร์ตสู่แม่ทัพ “มาม่า
- “วัฒนธรรมองค์กร” คือเกราะคุ้มภัยที่ยั่งยืนในโลกยุคใหม่จริงหรือ?
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine