ย้อนไปเมื่อปี 2004 Jack Welde สัญญากับตัวเองไว้ว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการที่ต้องวุ่นวายกับเรื่องการแปลอีกแล้ว ในตอนนั้นเขาเป็น COO ของ Run Time Technologies บริษัทซึ่งเพิ่งเสร็จภารกิจจากการดำเนินโครงการของลูกค้าที่ใช้เวลานานเป็นปีในการแปล platform จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาญี่ปุ่น “ตอนแรกเราบอกกับลูกค้าว่าทำได้ไม่มีปัญหา” Welde เล่าย้อนไปถึงตอนที่รับงาน “แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริง งานนี้ทำเอาบริษัทเกือบจะไปไม่รอดเลยทีเดียว”
หลายปีต่อมาเขาไม่เพียงแต่กลับเข้ามาในธุรกิจการแปลเท่านั้น แต่ Welde ยังบอกอีกว่าเขาได้สร้าง platform การแปลที่เร็วที่สุดที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ Smartling เป็นบริษัท cloud software ที่ Welde ร่วมก่อตั้งและทำหน้าที่บริหาร ได้มีส่วนช่วย GoPro ในการเปิดร้านค้าออนไลน์ในหกภาษา ซึ่งเว็บภาษาต่างประเทศเหล่านั้นใช้งานได้จริงภายในเวลาเพียงสามสัปดาห์เท่านั้น เคล็ดสำคัญอยู่ที่การทำให้กระบวนการที่ซับซ้อนของการแปลเว็บไซต์ และแอพต่างๆ และการสื่อสารผ่านสื่ออื่นๆ อีกนับร้อย ในรูปแบบที่ง่ายขึ้น ธุรกิจการแปลภาษามีมูลค่าสูงถึงปีละ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต่างก็เร่งขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Smartling คือ Andrey Akselrod ซึ่งมีตำแหน่งเป็น CTO และเป็นอดีตเพื่อนร่วมงานของ Welde ที่ Run Time โดย Smartling เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ขยับตัวเพื่อจับตลาดในธุรกิจนี้ และปัจจุบันมีลูกค้าถึงกว่า 300 รายแล้ว หนึ่งในลูกค้าของบริษัทคือ Pinterest ซึ่งต้องการที่จะนำเสนอบริการในอีกกว่า 30 ภาษา ถ้าเป็นในอดีต Pinterest อาจจะต้องใช้บริการของบริษัทเอเจนซี่ด้านการแปลเจ้าใหญ่สักรายหนึ่ง (ซึ่งคิดค่าบริการแพงมาก) แต่ Smartling ได้จัดการปัญหานี้ด้วยการตั้งศูนย์กลางการแปลเพื่อขจัดการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งอิงอยู่กับเอกสารออกไป ระบบจะดึงเนื้อหาต่างๆ ของ Pinterest และส่งตรงให้กับผู้แปลที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วทั่วโลก (Smartling มีพนักงานประจำประมาณ 160 คน และมีการทำสัญญากับนักแปลนับพันคนทั่วโลก) ซึ่งทำให้ผู้แปลได้รับต้นฉบับที่มีบริบทครบถ้วนตามความเหมาะสม และมีระบบการแก้ไขงานที่แทบจะเหมือนการแก้ไขคำแบบสดๆ ออนไลน์เลยทีเดียว แต่กว่าที่ Welde วัย 45 ปีจะมาถึงตรงจุดนี้ได้ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยเหมือนกัน ย้อนไประหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัย เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมไปกับการศึกษาด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และภาษาศาสตร์ หลังจากที่สำเร็จการศึกษา Welde กับเพื่อนร่วมชั้นอีกสองคนได้คิดค้นระบบการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัวซึ่งรวมเอาปฏิทิน contacts และบันทึกต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งพวกเขาขายระบบที่คิดขึ้นมานี้ให้กับ Apple ไปในปี 1993 ในราคา 2 ล้านเหรียญ ในระหว่างที่ Welde เข้าประจำการในกองทัพอากาศเป็นเวลา 9 ปี เขาก็กลับมาที่สหรัฐในปี 2001 ซึ่ง Welde ใช้เวลาแค่ไม่ถึง 6 เดือนที่ Run Time ก็ไต่เต้าขึ้นไปถึงตำแหน่ง chief operating officer ซึ่งเขาต้องเผชิญกับความยุ่งยากของการแปลทางธุรกิจ แต่หลังจากที่เปลี่ยนงานไปทำที่บริษัทด้านเทคโนโลยีอีกหลายแห่ง Welde ก็ติดต่อไปหา Akselrod ในปี 2009 เพื่อนัดกินกาแฟพร้อมกับเสนอแนวคิดในการก่อตั้งกิจการใหม่สามอย่าง ซึ่ง Akselrod ปฏิเสธสองแนวคิดแรกไป แต่เขารู้สึกตื่นเต้นกับแนวคิดที่ท้าทายเกี่ยวกับธุรกิจด้านการแปล ดังนั้น เมื่อได้เงินลงทุน 50,000 เหรียญ จาก Welde และอีก 100,000 เหรียญ จากพันธมิตรทางธุรกิจที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พวกเขาเริ่มสร้างต้นแบบ ด้วยการทำงานจากที่บ้านและอาศัยเครือข่ายของ Akselrod ที่ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา บริษัทมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่คำนวณตามจำนวนคำที่มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ที่มีการเก็บข้อมูลอยู่ในระบบ ซึ่งรายได้ของบริษัทขยายตัวสองเท่าทุกปี และคาดว่าปีนี้จะมีรายได้ประมาณ 25 ล้านเหรียญ แต่นั่นก็ยังไม่ได้ทำให้บริษัทมีกำไรได้ในทันที “ยิ่งเราโตเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งใช้เวลานานยิ่งขึ้นกว่าที่กิจการจะมีกำไร” Adi Dehejia ซึ่งเป็น CFO คนใหม่บอก แต่นักลงทุนก็ไม่ได้บ่นหรือกังวลอะไร ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการระดมทุนรอบใหม่อีก 25 ล้านเหรียญจากกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Iconiq Capital ซึ่งประเมินมูลค่าของ Smartling เอาไว้ที่ 250 ล้านเหรียญ
ก้าวต่อไปของบริษัท ก็คือการเปิดสำนักงานใน San Francisco, Boston, London, Dublin รวมถึง developer center อีกสองแห่งในยูเครน และสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ บรอดเวย์ ต่อจากนั้น บริษัทอาจจะหาทางสร้าง in-house marketplace เพื่อเป็นช่องทางให้ลูกค้าและนักแปลสามารถติดต่อกันได้
นอกจากนี้ Welde ก็กำลังมองหาลู่ทางที่จะนำเสนอทางเลือกของการให้บริการแบบ self-serve สำหรับบริษัทที่มีขนาดเล็กมากๆ เพื่อให้สามารถเข้าไปจับตลาดล่างได้ เพราะทุกวันนี้ใครๆ ก็อยากขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศกันทั้งนั้น
คลิ๊ก! เพื่ออ่าน "ใช้ภาษาถิ่นเบิกทางเปิดตลาดต่างแดน" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2015
คลิ๊ก! เพื่ออ่าน "ใช้ภาษาถิ่นเบิกทางเปิดตลาดต่างแดน" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2015