Zafer Üstüner นำ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ” ส่งต่อความยั่งยืน - Forbes Thailand

Zafer Üstüner นำ “อาร์เซลิก ฮิตาชิ” ส่งต่อความยั่งยืน

แม่ทัพเบอร์ 1 ของกิจการร่วมทุนระหว่างอาร์เซลิก กรุ๊ปของตุรกี และฮิตาชิ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ “ฮิตาชิ” ที่คนไทยคุ้นเคย วันนี้ปรับมาเป็น บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด มีนักธุรกิจชาวตุรกี Zafer Üstüner เป็นผู้บริหารสูงสุดในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นักบริหารท่านนี้เติบโตมากับอาร์เซลิก กรุ๊ปมาโดยตลอด


    Üstüner เริ่มงานกับ อาร์เซลิก กรุ๊ป บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของตุรกีมาตั้งแต่ปี 2544 โดยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายระหว่างประเทศในปี 2544-2550 กว่า 6 ปีในการดูแลตลาดต่างประเทศให้กับอาร์เซลิก ก่อนจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการประจำประเทศของ Beko Germany ในปี 2550 เป็นเวลา 5 ปี

    ล่าสุดในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ฯ รับผิดชอบดูแลตลาดในระดับเอเชียแปซิฟิกยกเว้นประเทศญี่ปุ่น “Arçelik เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในตุรกี ทำธุรกิจอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในตุรกี เราเติบโตเร็วที่สุดในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา” Üstüner กล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand ในการสัมภาษณ์พิเศษครั้งแรกพร้อมย้ำว่า อาร์เซลิก กรุ๊ป เติบโตอย่างรวดเร็วมาอย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้มีโรงงานกว่า 28 แห่งทั่วโลก และขายสินค้าไปกว่า 120 ประเทศ


- ผสานเจตนารมณ์ “ธุรกิจยั่งยืน” -

    สำหรับความร่วมมือกับฮิตาชิ บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นแบรนด์ดัง Üstüner บอกว่า “การเลือก Hitachi เป็นความลงตัวที่สุด เราเลือกเขา เขาก็เลือกเรา เราทั้งคู่ต่างเลือกซึ่งกันและกัน ร่วมกันทำบริษัทนี้ขึ้นมาด้วยเป้าหมายการร่วมธุรกิจในระยะยาว” แม่ทัพอาร์เซลิก ฮิตาชิฯ อธิบายที่มาของการร่วมทุนบริษัทใหม่โดยบอกว่า 

    เป้าหมายคือต้องการดำเนินธุรกิจระยะยาว เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีกลยุทธ์ที่เหมือนกัน และมุมมองทางธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการเน้นเรื่อง sustainability มองเรื่องความยั่งยืนเป็นโจทย์สำคัญ ทุกกิจกรรมที่ทำจะเป็นการมองระยะยาว และที่สำคัญทุกอย่าง ที่ทำล้วนไปในทิศทางเดียวกันคือ ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม


    ส่วนการพัฒนาตัวสินค้า แน่นอนความที่อาร์เซลิกเป็นยุโรปและฮิตาชิเป็นญี่ปุ่น ดังนั้น สินค้าที่พัฒนาจึงคนละสไตล์ แต่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและความคาดหวังของลูกค้านั้นไม่ต่างกัน ทุกวันนี้ลูกค้าต้องการผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน คุณภาพดี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีอายุการใช้งานยาวนาน คือเหตุผลที่เป็นความลงตัวระหว่างอาร์เซลิกและฮิตาชิ

    “นี่เป็นครั้งแรกของการร่วมทุนที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันไม่ใช่แค่ Hitachi แต่มันหมายถึง Arçelik Group ด้วย” เขาบอกว่า อาร์เซลิก กรุ๊ป มีการร่วมทุนหลากหลายธุรกิจ และมีธุรกิจหลากหลายทั้งแบงก์กิ้งพลังงาน ออโตโมทีฟ ธุรกิจในเซกเตอร์สำคัญๆ หลายธุรกิจซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวเกือบทั้งหมด เป็นการร่วมทุนในระยะยาวที่สร้างผลดีกับลูกค้า

    ในการร่วมทุนกับญี่ปุ่นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้อาร์เซลิกมีการร่วมทุนกับหลายบริษัทในยุโรปและตะวันออกกลาง มีธุรกิจร่วมกันยาวนานและเพิ่งกลับมาในเอเชียครั้งแรก เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เริ่มโฟกัสพื้นที่เอเชียแปซิฟิก เพราะมองว่าภูมิภาคนี้กำลังเติบโตและต้องการเทคโนโลยี ทำให้การผลิตมีโอกาสมากมาย ตลาดกำลังเติบโตอย่างมาก ไม่ใช่แค่จีนแต่รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย เวียดนาม และอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้


- เทคโนโลยีเพื่อไลฟ์สไตล์ใหม่ -

    ธุรกิจที่ยังคงเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในระยะสั้น 3-5 ปีต้องตอบโจทย์ความต้องการตลาดให้ตรงจุด ซึ่ง อาร์เซลิก ฮิตาชิ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วในเดือนกรกฎาคม ปี 2564 เพิ่งมีอายุได้ 1 ปี แต่ฮิตาชิในประเทศไทยมีมาแล้ว 50 ปี ถือว่าอยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน และยอมรับว่าปัจจุบันตลาดเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีในสถานการณ์โควิด-19 

    “มันเป็น speed of change ที่สูงมาก ผู้คนใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น เตรียมอาหารเพื่อที่จะใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน เพราะฉะนั้นสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในบ้านจึงมีดีมานด์ที่สูงขึ้นมาก” นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ชาวตุรกีอธิบายถึงมุมมองของตลาดในประเทศไทยที่เขาสัมผัสในช่วงที่ผ่านมา


Zafer Üstüner

    “ผู้คนใช้จ่ายกับเรื่องของอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านมากขึ้น สิ่งที่เราเห็นความแตกต่างก็คือ พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย” นี่คือแรงบันดาลใจของการมองโอกาสและการขยายตลาด ซึ่ง Üstüner ย้ำว่าความต้องการในเรื่องของเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องใช้ในบ้านมีมากขึ้น

    สินค้าที่เป็นไฮเทคโนโลยีจึงเป็นสินค้าที่ลูกค้าต้องการมากขึ้น แน่นอนลูกค้าต้องเลือกแบรนด์ที่พวกเขามั่นใจ ซึ่ง “ฮิตาชิ” เป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่ลูกค้าให้ความเชื่อมั่นเขามองว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวเอง สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า นั่นคือที่มาของการร่วมทุน เพราะแบรนด์ฮิตาชิเป็นที่ยอมรับในตลาดเอเชียแปซิฟิก แต่หลังจากร่วมทุนแล้วความก้าวหน้าย่อมมีมากขึ้น หมายถึงจะมีโปรดักต์ใหม่ๆ เข้ามา เช่น เครื่องล้างจาน เครื่องอบแห้ง และอีกหลายโปรดักต์ที่อาร์เซลิก ฮิตาชิ ยังไม่เคยนำเสนอในตลาดของเอเชียแปซิฟิก


- 3 ทศวรรษแห่งการพัฒนา -

    ที่ผ่านมาอาร์เซลิกพบปะและร่วมธุรกิจกับหลายบริษัททั้งบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทเหล่านั้นให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาสินค้า ซึ่งหลายประเทศมีความคาดหวังที่แตกต่างกัน มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ต่างกันอาร์เซลิกพยายามที่จะตอบโจทย์ความคาดหวังให้ได้ดีที่สุด

    สำหรับตลาดในเอเชียแปซิฟิก Üstüner บอกว่า มีความแตกต่างกัน เช่น ทางเหนือของเอเชียอย่างญี่ปุ่นก็แตกต่างจากเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองไม่ได้แตกต่างมากแต่มันก็แตกต่าง เช่น ไทยกับเวียดนามก็มีความแตกต่าง แต่ไม่ได้มากเหมือนไทยกับเยอรมนี



    “สิ่งที่จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จคือ ต้องประสบความสำเร็จในรายละเอียด ถ้าคุณผิดพลาดในบางรายละเอียดก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้ ผู้คนก็จะจำความผิดพลาดนั้น” แม่ทัพอาร์เซลิก ฮิตาชิอธิบายว่า ด้วยเหตุนี้เขาจึงพยายามพบปะผู้คนเพื่อสอบถามความคาดหวังในรายละเอียดทุกๆ อย่าง เพราะการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนไม่เคยเพียงพอสำหรับความต้องการในชีวิตและความคาดหวัง

    อาร์เซลิก กรุ๊ป และฮิตาชิ มีความแตกต่าง แต่ทั้งคู่ก็เรียนรู้ที่จะผสมผสานประสบการณ์ที่ต่างคนมีเพื่อตอบสนองลูกค้าให้ดีที่สุด Üstüner ยอมรับว่าต้องเรียนรู้ในรายละเอียด ต้องปรับตัวในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร และการทำธุรกิจไม่ได้แยกเชื้อชาติหรือชนชั้น แต่ทำในสิ่งที่ดีที่สุด ผสมผสานไอเดียออกมาเพื่อให้ดีที่สุด นำไปสู่การนำเสนอสินค้าที่ดีให้กับตลาด

    “เราอาจจะไม่ได้เลือกทุกไอเดีย แต่เราเปิดประตูรับสำหรับไอเดียที่ดีที่สุด เราเปิดกว้างสำหรับสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น” Üstüner เผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้นราว 5,000 คน มีโรงงาน 2 แห่ง ที่ประเทศจีนและไทย เขาย้ำก่อนจะอธิบายว่า ตัวเขาเองมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้กว่า 30 ปี หลังจบจากมหาวิทยาลัยเขาก็มาเริ่มงานกับอาร์เซลิก “ผมศรัทธาในวัฒนธรรมของที่นี่ เราทำงานด้วยความเชื่อถือและศรัทธาจากลูกค้า เราทำสิ่งที่ดีที่สุด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้มากที่สุด”


ภาพ: API

อ่านเพิ่มเติม:

>> Tom Linebarger ซีอีโอ Cummins ผู้ผลิตเครื่องยนต์ใหญ่ใส่ใจโลก

>> 10 อันดับมหาเศรษฐีจีนประจำปี 2022


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine