Richard Maloney ซีอีโอใหม่นำ UOB ไทยเติบใหญ่ในวิถียั่งยืน - Forbes Thailand

Richard Maloney ซีอีโอใหม่นำ UOB ไทยเติบใหญ่ในวิถียั่งยืน

ประสบการณ์กว่า 40 ปีในธุรกิจธนาคาร โดยเฉพาะในธุรกิจ wholesale banking ที่ให้บริการลูกค้าธุรกิจดูจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ยูโอบี ประเทศไทย (UOB) ได้ต้อนรับ Richard Maloney ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ล่าสุดของยูโอบี ประเทศไทย


    ขณะเดียวกันนักบริหารหญิงคนเก่ง วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล ก็ได้รับการโปรโมตเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Deputy CEO Head of Wholesale Banking) รับผิดชอบดูแลตลาดลูกค้าธุรกิจเต็มตัว นี่จึงเป็นสองแรงแข็งขันของนายแบงก์ผู้คร่ำหวอดในวงการธนาคารมานาน และหญิงเก่งแห่งวงการธนาคารที่ทำให้ธุรกิจ wholesale banking ของยูโอบี ไทย เป็นที่น่าจับตามอง

    ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อยูโอบีประกาศตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน ปี 2567 ว่า ได้โปรโมตซีอีโอคนใหม่ของยูโอบี ประเทศไทย ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นราว 3 เดือน Forbes Thailand และทีมบรรณาธิการบางกอกโพสต์ได้รับเชิญไปร่วมโต๊ะอาหารในการแนะนำตัว 2 ผู้บริหารมืออาชีพทั้ง Richard Maloney ซีอีโอ ยูโอบี ประเทศไทย และ วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล ด้วยตำแหน่งใหม่ Deputy CEO Head of Wholesale Banking ผู้บริหารของยูโอบีไทยทั้งคู่ แม้จะเข้ารับตำแหน่งล่าสุดไม่นาน แต่พวกเขาเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการธนาคารว่าเป็นมืออาชีพ


ชอบวัฒนธรรมเอเชีย

    ด้วยประสบการณ์ที่มีมากกว่า 40 ปีในธุรกิจธนาคารทำให้ Maloney มีความเป็นนายแบงก์ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในงานธนาคารสำหรับลูกค้าองค์กร ด้านวีระอนงค์ซึ่งก่อนหน้านี้เธอดูแลธุรกิจรายย่อยหรือ retail banking (ธนาคารซิตี้แบงก์ไทย) มาก่อน เธอจึงมีพื้นความรู้สำหรับลูกค้ารายย่อยเป็นอย่างดี และด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนของยูโอบี ไทย ที่ต้องการเจาะกลุ่มองค์กรขนาดกลางและย่อมหรือ SME ยิ่งทำให้มีความพร้อมและพื้นความรู้จากประสบการณ์ retail banking กลายเป็นจุดแข็งที่โดดเด่น สอดคล้องกับช่องว่างตลาด wholesale banking ที่ธนาคารส่วนใหญ่เน้นเฉพาะลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ยูโอบี ไทย ให้น้ำหนักมาที่ลูกค้าองค์กรระดับกลางและย่อมลงมาจึงเท่ากับวันนี้ยูโอบีมีทีมบริหารมือหนึ่งของตลาดลูกค้าองค์กรทั้งระดับองค์กรใหญ่และองค์การระดับกลาง-เล็กพร้อมสำหรับการรุกตลาดเต็มที่ตามทิศทางและเทรนด์ธุรกิจรายเล็กที่กำลังเติบโต

    “ผมเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง โดยมานั่งประจำในไทยได้ 3 เดือนแล้ว แต่ในความเป็นจริงผมคุ้นเคยกับประเทศไทยดีเพราะมาเยือนทุกปี และมีภรรยาเป็นคนไทย” Maloney ออกตัวในการทักทายที่มื้ออาหารกลางวันย่านเอกมัยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา เขายังได้สรุปโปรไฟล์ของตัวเองว่า มีประสบการณ์ในธุรกิจการเงินและธนาคารมากกว่า 30 ปี โดย 21 ปีอยู่กับยูโอบีบริษัทแม่ที่ประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น จึงเชี่ยวชาญและรู้จักธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก-เฉียงใต้เป็นอย่างดี


3 เดือนปรับตัวเข้าใจทีม

    “3 เดือนที่ผมเข้ามาส่วนใหญ่จะเข้าไปดูแต่ BU ของธุรกิจ UOB ในประเทศไทยว่า มีจุดไหนที่เติบโตดี มีโอกาสขยายตัว และมีจุดไหนที่เป็นอุปสรรคปัญหาจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร” เขาสรุปภารกิจที่ทำอย่างสั้นๆ ในช่วง 3 เดือนแรกของการเข้ามานั่งประจำเป็นผู้บริหารอันดับ 1 ของยูโอบี ไทย เขาเรียกสิ่งที่ทำนี้ว่า เป็นการปรับตัว ทำความเข้าใจกับองค์กร วัฒนธรรม ผู้คน และทีมงานทั้งหมด

    Maloney บอกว่า เขาเปิดรับฟังทุกความคิดเห็น ทุกอุปสรรคปัญหา และทุกโอกาสที่เห็น “ห้องทำงานผมเปิดประตูตลอดเวลา ใครสงสัย มีข้อข้องใจ หรือมีไอเดียอะไรที่น่าสนใจสามารถเข้ามาหารือได้ เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เขามีมุมมอง มีวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ สามารถมานำเสนอได้” เขาบอกเล่าสิ่งที่ทำนี้ด้วยสีหน้าที่ตื่นเต้นสนุกสนาน เพราะนี่เป็นแนวคิดในการทำงาน และการพัฒนาธุรกิจให้เติบโต โดยเฉพาะแนวคิดสู่ความสำเร็จของคนรุ่นใหม่ เขาย้ำว่า ไม่เคยปิดกั้นเลย


ภารกิจธนาคารในวิถียั่งยืน

    อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องของการทำธุรกิจธนาคารให้มีความยั่งยืนเป็น sustainability banking “UOB ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมาก เราปรับตัวในกระบวนการธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนอย่างเต็มที่เท่าที่สามารถทำได้” เขาหมายถึงการลด carbon emission ไปสู่ carbon neutral ไปจนถือ zero carbon ยูโอบีให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินการเหล่านี้

    “ที่ผ่านมา UOB ปล่อยสินเชื่อที่เป็น green loan ให้กับธุรกิจที่ต้องการปรับระบบ บริการและการทำงานต่างๆ ให้เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมเรื่องของความยั่งยืนเป็น green economy”

    นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน การสร้างธุรกิจที่เป็น circular economy หลายคนจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ องค์กรขนาดใหญ่ เดินหน้าเรื่องการปรับสู่ green และ carbon neutral กันไปมากแล้ว เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ค้าขายกับคนต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกาที่มีมาตรการความร่วมมือป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกด้วยระบบระเบียบต่างๆ ที่จะต้องบ่งบอกการลดปล่อยคาร์บอนทั้งของตัวเองและคู่ค้าในการผลิตสินค้าและบริการที่จะส่งไปขายที่ยุโรป เพราะฉะนั้นบริษัทขนาดใหญ่จึงปรับตัวเรื่องลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการสร้างภาวะเรือนกระจก รวมทั้งมีเป้าหมาย zero carbon ชัดเจน


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'ดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์' ซีอีโอพลังหญิง ขอ 5 ปีปั้น LPN ขึ้น Top 10 อสังหาฯ

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine