นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่ทีมงาน Forbes Thailand ได้สัมผัสบรรยากาศร้านอาหาร Another Hound บนชั้น 5 ของศูนย์การค้า Central Embassy ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญของบริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) หรือ MM ที่มี Nadim Xavier Salhani (นาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี) เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารแล้ว ยังนับเป็นครั้งแรกที่ได้รับฟังเรื่องราวการกอบกู้และสร้างแบรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก จนถึงการแจ้งเกิดร้านอาหารไทยให้ทะยานไกลครองใจนักชิมในต่างแดน
ทว่า จุดเริ่มต้นของมัดแมนต้องผ่านความท้าทายมาไม่น้อย กว่าที่บริษัทจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จนกระทั่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และนำหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 210.98 ล้านหุ้น หรือ 20% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ด้วยมูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้นเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไปภายในเดือนนี้ (เมษายน) นับแต่เจ้าของรายแรกอย่างตระกูลนารูลา ที่เริ่มนำ Dunkin Donuts เข้ามาในเมืองไทยเมื่อกว่า 35 ปีก่อน ซึ่งบริหารโดยบริษัทโกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GDT และต่อยอดไปสู่การนำ Au Bon Pain เข้าประเทศไทยเมื่อราว 21 ปีก่อนในนามของ บริษัท เอบีพี คาเฟ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ABP กระทั่งภายหลังต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้เงินกู้ที่ตั้งใจนำมาขยายธุรกิจแปรสภาพเป็นหนี้ก้อนโตบวกกับกิจการอาคารที่ซบเซา ทำให้ครอบครัวนารูลาตัดสินใจชวน Salhani ให้เข้ามาช่วยหนื้ธุรกิจ ในปี 2546 ด้วยเล็งเห็นถึงประสบการณ์ที่เขาแจ้งเกิดแบรนด์ Starbucks ในเมืองไทยได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในที่สุดจากความเพียรพยายาม Salhani สามารถพลิกฟื้นกิจการที่มีภาระหนี้สูงเกือบ 600 ล้านบาทได้สำเร็จ โดยมีกองทุนไพรเวทอิควิตี้ Navis Capital จากสหรัฐฯ ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ Kuala Lumpur เป็นแรงหนุนช่วยประคับประคองกิจการโดยในปี 2549 Navis Capital เข้ามาซื้อหุ้นที่อัตราส่วน 90% หรือคิดเป็นเงิน 477 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงช่วยให้บริษัทสามารถจัดการแก้ปัญหาหนี้สินได้ แต่ยังมีเงินเหลืออีก 30 ล้านบาทสำหรับใช้ดำเนินธุรกิจต่อไป หลังจากก้าวผ่านบททดสอบอันท้าทาย Salhani สามารถปรับโครงสร้างและจัดตั้งบริษัท มัดแมน จำกัด ในปี 2549 เพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะ holding company หรือการถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักในร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยลงทุนในบริษัทที่บริหารแบรนด์ต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ ภายใต้การจัดตั้งบริษัทโกลเด้น สกู๊ป จำกัด (GS) พร้อมเข้าซื้อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Baskin Robbins และสิทธิในการประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Baskin Robbins แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยเมื่อปี 2555 ถึงแม้ว่า Salhani จะสามารถกอบกู้สถานการณ์ให้แบรนด์ที่เคยโด่งดังในอดีตกลับมาผงาดสร้างชื่อได้อีกครั้ง แต่เขาตระหนักถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่าตัวเลขรายได้ที่เติบโตบนความเสี่ยงที่ต้องพึ่งพิงเจ้าของสิทธิแฟรนไชส์ในต่างประเทศ หลังจากพยายามมองหาโอกาสทางธุรกิจภายใต้แบรนด์ของตัวเอง Salhani ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท เกรฮาวด์ จำกัด (GHF) ซึ่งดำเนินธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ พร้อมทั้งหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ทั้งหมดของบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด (GHC) ที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแบบบริการเต็มรูปแบบ ซึ่งเขายืนยันความแข็งแกร่งของแบรนด์นี้ว่า “เราสามารถพาแบรนด์นี้ไปแจ้งเกิดยังตลาดทั่วโลกในรูปแบบของการขายเครือข่ายแฟรนไชส์ร้านอาหาร Greyhound Café ได้” นอกจากนี้ Salhani ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้วยการเปิดร้าน Au Bon Pain ตามโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมกับเริ่มเปิด M Kitchen ในโรงพยาบาลรามคำแหง ซึ่งมัดแมนตั้งใจจะปรับปรุงและพัฒนาศูนย์อาหารของโรงพยาบาลและดูแลอาหารผู้ป่วยในของโรงพยาบาลให้ดีขึ้น “เป็นธุรกิจที่ดีมากจริงๆ แต่ต้องไปทีละก้าว” ในฐานะผู้นำในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม Salhani ให้ความเห็นถึงปัจจัยที่จะมีผลต่อการแข่งขันในธุรกิจว่า นับจากนี้สื่อสังคมออนไลน์จะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งกลุ่มมัดแมนให้ความสำคัญกับการทำรายการส่งเสริมการตลาด และการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมีแนวโน้มลดการสื่อสารผ่านช่องทางโทรทัศน์และวิทยุลง สำหรับความสำเร็จที่ผ่านมานั้น Salhani ให้เครดิตว่า “ต้องยอมรับว่าทีมบริหารของเราเก่งมาก” พร้อมเปิดเผยถึงหลักการคัดเลือกทีมงานในแบบของเขา ซึ่งให้ความสำคัญกับคนที่มีทัศนคติเชิงบวกมากกว่าวุฒิการศึกษา นอกจากนี้ เขายังให้ความใส่ใจดูแลลูกน้องทุกคนอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่าพนักงานที่มีความสุขจะสามารถทุ่มเทให้กับการทำงานมากกว่า 200% ทั้งยังให้ความเห็นเชิงบวกในการทำงานร่วมกับผู้บริหารหญิงที่มีความสามารถและทำงานละเอียด รวมถึงมีความฉลาดทางอารมณ์สูง ขณะเดียวกันเขายังเลือกเปลี่ยนแปลงความล้มเหลวให้เป็นบทเรียนที่จะไม่พลาดซ้ำ พร้อมริเริ่มและกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่โดยไม่กลัวความล้มเหลว ด้านการแข่งขันในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่มีคู่แข่งจำนวนมาก นอกจากจะไม่ทำให้ Salhani หวั่นเกรงแล้ว เขายังมองเป็นโอกาสและแรงผลักดันให้ต้องคิดค้นพัฒนา รวมถึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการรับมือกับเสียงบ่นของลูกค้าก็เป็นเรื่องสำคัญที่ซีอีโอแห่งบมจ. มัดแมน เน้นย้ำกับพนักงานอย่างมาก โดยเฉพาะยุคที่ข่าวสารหรือกระทู้ต่างๆ บนโลกออนไลน์แพร่กระจายราวกับไฟลามทุ่งเฉกเช่นปัจจุบัน “ผมบอกกับพนักงานเสมอว่า ผมต้องรู้ทุกเรื่องแม้ว่าจะมี complain เพียงเล็กน้อยเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม และที่สำคัญ คือถ้าเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นต้องยอมรับผิดก่อน แล้วรีบจัดการแก้ไขอย่างด่วนที่สุด” โดย Salhani มีนโยบายให้อำนาจการตัดสินใจกับผู้จัดการร้านในการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้ เพราะมองว่าการยอมเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย ย่อมดีกว่าการทำให้ลูกค้าไปตั้งกระทู้ทางออนไลน์จนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น Salhani ทิ้งท้ายเกี่ยวกับสไตล์การบริหารทีมในแบบฉบับของตนเองว่าจะเน้นผลักดันและกระตุ้นทีมงานให้กล้าที่จะทำอย่างเต็มความสามารถ “ผมเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถ แต่ขาดความมั่นใจ จึงเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกน้อง เพราะถ้ามั่นใจแล้วจะทำงานได้ดีมาก ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสพบคนไทยหลายคนมากที่เก่งแต่กลัว” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ความไว้วางใจพนักงานได้ทำหน้าที่ของตนโดยไม่ทำให้รู้สึกเหมือนถูกจับผิดตลอดเวลาทำให้พนักงานของ บมจ. มัดแมนมักจะยินดีเข้ามาพูดคุยกับเขาอย่างเป็นกันเองอยู่เสมอ “ผมไม่ใช่ตำรวจ ผมไม่ชอบจับผิดแต่อยากรู้ว่ามีปัญหาอะไรและต้องการให้ช่วยอะไร ต้องการทำให้ชีวิตการทำงานของทุกคนดีขึ้น”คลิกอ่านฉบับเต็ม "Nadim Xavier Salhani เสิร์ฟแบรนด์ไทยสู่นักชิมทั่วโลก" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine