Jack Dangermond เศรษฐีแสนล้าน สร้างแผนที่อัจฉริยะพัฒนาโลก - Forbes Thailand

Jack Dangermond เศรษฐีแสนล้าน สร้างแผนที่อัจฉริยะพัฒนาโลก

Jack Dangermond เดินเข้ามาในร้าน Ginger บนชั้น 24 ของโรงแรม Centara Grand Sukhumvit ด้วยความกระฉับกระเฉง ไม่แสดงความเหน็ดเหนื่อยใดๆ แม้เพิ่งจะเดินทางข้ามทวีปจาก Los Angeles มาถึงประเทศไทยได้ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการสัมภาษณ์ ชายอเมริกันวัย 70 ปี ผู้ก่อตั้ง Esri บริษัทซอฟต์แวร์เอกชนที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ทักทาย Forbes Thailand ด้วยรอยยิ้มและความเป็นมิตร พร้อมสั่ง S.Pellegrino ดับกระหาย “ผมว่ามันถึงเวลาแล้วนะ ที่เราควรจะ ‘ตื่น’” Jack กล่าวด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบาแต่แฝงด้วยความจริงจังและหนักแน่น “ผมว่าเรากำลังหลงทางกันอยู่ เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันมากเกินไป ทำลายธรรมชาติมากเกินไป ถ้าเราใช้เทคโนโลยีให้เป็น โลกใบนี้ก็จะอยู่ต่อไปได้ ผมประหลาดใจนะที่เห็นว่าหลายคนไม่เข้าใจหรือแคร์ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้”

สีหน้าที่ยิ้มแย้มของชายมหาเศรษฐีของโลกที่ติดอันดับที่ 234 ในทำเนียบ Forbes 400 (มูลค่าทรัพย์สินรวม 2.8 พันล้านเหรียญฯ) คนนี้เริ่มเปลี่ยนเป็นสีหน้าที่แฝงไปด้วยความกังวล อันที่จริงเขาเริ่มกังวลกับสภาวะโลกร้อนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินจำเป็นมากว่า 46 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่เขาเรียนจบคณะภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) จากมหาวิทยาลัย Harvard และเริ่มก่อตั้ง Esri ในเมือง Redlands รัฐ California โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ GIS (Geographic Information System) ในการสร้างและพัฒนาแผนที่แบบดิจิทัล ที่ทับซ้อนด้วยเลเยอร์ข้อมูลเป็น “smart map” ที่มีความถูกต้องและแม่นยำสูง เพื่อเหมาะกับการวิเคราะห์ข้อมูลซับซ้อนต่างๆ GIS เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และ NGO ทั่วโลก เป็นซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่สามารถสนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนและบริหารจัดการ การวางผังเมือง ระบบไฟฟ้า ประปา หรือแม้แต่การวางแผนทางธุรกิจ ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น การวางแผนตั้งสาขาใหม่ขององค์กรต่างๆ การวิเคราะห์ขอบเขตการให้บริการ การวิเคราะห์คู่แข่ง การวิเคราะห์เทรนด์ การบริหารจัดการเส้นทาง การจัดส่งสินค้า การประเมินราคาที่ดินหรือสินทรัพย์ เป็นต้น จากธุรกิจเล็กๆ ที่ก่อตั้งกับภรรยา จนทุกวันนี้ Esri ขยายไปกว่า 178 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานประจำกว่า 9,000 คน ผู้ใช้ซอฟต์แวร์กว่า 350,000 ราย และสร้างแผนที่ใหม่ๆ กว่า 150 ล้านแบบทุกวัน เทคโนโลยีพัฒนาสังคม ธุรกิจขนส่งสินค้าอย่าง UPS ใช้เทคโนโลยีนี้ตั้งแต่ปี 2003 ในการวางแผนเส้นทางในการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละวัน โดย Jack Levis ผู้อำนวยการแผนก Process Management ของ UPS ได้กล่าวไว้บนเวที TED@UPS เมื่อปลายปีที่แล้วว่า การใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี Starbucks กว่าสองหมื่นสาขาทั่วโลกก็ใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อประมวลหาสถานที่เปิดร้านใหม่ที่เหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุด ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยไม่กระทบต่อยอดขายของสาขาใกล้เคียง หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจในประเทศไทยกว่า 80% ต่างใช้ GIS เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ใช้ GIS ในการหาพื้นที่สร้างเขื่อน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ GIS ในการสร้างแผนที่เครือข่ายระบบไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบระบบ เร่งช่วยยามฉุกเฉิน Jack และภรรยาได้แจกจ่ายซอฟต์แวร์ของเขาให้กับ NGO กว่า 11,000 แห่ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งองค์กรเหล่านี้นำ GIS มาพัฒนาแผนที่ดิจิทัลเพื่อสำรวจจำนวนและพันธุ์นก หรือพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำสะอาด ที่ยังหลงเหลืออยู่ พร้อมกับนำซอฟต์แวร์มาใช้เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นทั่วโลกรวมไปถึง เมื่อปีที่แล้วในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล Passion เป็นแรงขับเคลื่อน Esri เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดย ARC Advisory Group รายงานว่า Esri มีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจ GIS กว่า 43% นอกจากนี้ Software Magazine มีการจัด 500 อันดับบริษัทซอฟต์แวร์แห่งปีมากว่า 33 ปีแล้ว ได้จัด Esri ให้อยู่ในอันดับที่ 6 ในบรรดาบริษัทซอฟต์แวร์เอกชนทั้งหมด มีการเติบโต 4.75% เพราะอะไรทำให้อาณาจักร Esri ขยายทั่วโลก โดยเน้นการขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือที่ Jack กล่าวว่า “conservative” ไม่เร่งรีบและไม่มีความคิดในการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น “สิบปีแรกของผมโตช้ามาก แต่ผมยังยืนหยัดที่จะค่อยๆ ทำด้วยตัวเอง ยึดอุดมการณ์และเป้าหมายของเราเป็นหลัก เราไม่ได้อยากกู้เงินเพื่อให้เราโตเร็ว เราไม่ได้อยากรวย แต่เราอยากมีอิสระในการพัฒนา สร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ของเราและดูแลลูกค้าให้ดีโดยไม่ต้องเสียจุดยืนของตัวเอง”   เรื่อง: กฤติยา วงศ์เทววิมาน ภาพประกอบ: สมเกียรติ ศิริวงศ์ศิลป์
คลิ๊ก "Jack Dangermond เศรษฐีแสนล้าน สร้างแผนที่อัจฉริยะพัฒนาโลก" ฉบับเต็มได้ที Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine