Arnaud Bialecki ซีอีโอนักสู้ - Forbes Thailand

Arnaud Bialecki ซีอีโอนักสู้

ตามแบบฉบับฝรั่งพูดไทยได้ทั่วไป และบุคลิกอันนุ่มนวลเรียบร้อยของเขาทำให้ Arnaud Bialecki ประธานบริหาร Sodexo Thailand และ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคกลุ่มลูกค้าองค์กร ประเทศไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ดูเป็นเหมือนซีอีโอฝรั่งใจดีอีกท่านหนึ่งในสายตาของคนทั่วไป

แต่ที่จริงแล้ว Arnaud ซึ่งเพิ่งจะได้รับการอนุมัติเปลี่ยนชื่อและนามสกุล เป็นนาย “อานนท์ เบญญากานต์กุล” เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นคนที่จริงจังกับการทำงานค่อนข้างมาก เขาประสบความสำเร็จในการประมูลได้ลูกค้ารายใหญ่คือกลุ่มโอสถสภามาสมความตั้งใจ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Sodexo Thailand เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนเป็น “ดาว” ของกลุ่ม Sodexo ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยยอดขายรวม 2.02 หมื่นล้านยูโรหรือประมาณเกือบ 8 แสนล้านบาท และจำนวนพนักงาน 425,000 คนใน 80 ประเทศทั่วโลก Sodexo เป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส โดยในไทย Sodexo ให้บริการ outsource ทางด้านการจัดเตรียมอาหาร (catering) ช่างดูแลอาคาร/โรงงาน พนักงานต้อนรับ การรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน บริการเพื่อคุณภาพชีวิตอื่นๆ ให้กับบรรดาโรงงาน โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา โรงเรียนนานาชาติ โรงแรม พนักงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน และองค์กรต่างๆ Arnaud เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า เมื่อไม่นานมานี้เขาได้รับเชิญให้ไปร่วมงานที่สถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งจัดงานใหญ่เพื่อมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (Ordre National de la Légion D’honneur) ชั้นอัศวินแก่ ธีรพงศ์ จันศิริ ซีอีโอไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ซึ่งได้เข้าไปลงทุนซื้อกิจการด้านอาหารทะเลแปรรูปที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในงานนั้นมี เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มโอสถสภาเข้าร่วมงานด้วย ขณะที่ตอนนั้น Sodexo กำลังพยายามเข้าประมูลงานกับโอสถสภาอยู่
ตัวอย่างบริการจัดเตรียมอาหาร (catering) เมนูในโรงพยาบาลของ Sodexo Thailand (Photo Credit: Facebook@SodexoThailandFanPage)
Arnaud ซึ่งสวมหมวกอีกใบในฐานะของ French Foreign Trade Advisor อันเป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งโดยกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส มีความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับท่านทูตฝรั่งเศส Gilles Garachon จึงไม่รอช้ารีบเข้าไปขอให้ท่านทูตช่วยแนะนำตัวเขากับเพชร ปูทางให้ทีมเขาสามารถเข้าถึงทีมงานของโอสถสภาและได้ชนะงานประมูลในเวลาต่อมา “ผมเจอคุณเพชรแต่ไม่สามารถที่จะเข้าได้ เพราะเขาอยู่ในกลุ่มศิลปิน ผมเลยใช้วิธีหาเอกอัครราชทูตให้ช่วยแนะนำคนนี้ให้รู้จัก” เริ่มจากได้งานจัดหาแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่าง และพนักงานต้อนรับให้กับโอสถสภา ที่สำนักใหญ่หัวหมากเพียงแค่ 25 คน แต่พอถึงสิ้นปี 2560 มีพนักงาน Sodexo ทำงานให้กับโอสถสภาเกือบ 300 คน ทั้งในที่สำนักงานหัวหมาก และโรงงาน โกดังต่างๆ ของโอสถสภาทั่วประเทศ Sodexo มีการว่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 750 คนในช่วงเวลา 4 เดือนสุดท้ายของปี 2560 จาก 2,800 คน ณ วันปิดรอบบัญชีของบริษัท 31 สิงหาคม 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3,560 คน เมื่อตอนสิ้นปี ในจำนวนนี้มาจากงานของโอสถสภา 280 คน นอกจากนี้ยังมีลูกค้ารายใหม่อื่นๆ เช่น Huawei และ Holiday Inn Express Sodexo ซึ่งมีบริษัทในเครือ 6 แห่งในไทยปิดยอดรายรับที่ 1.615 พันล้านบาท ในปีงบประมาณที่ผ่านมา (สิ้นสุด 31 สิงหาคม 2560) เติบโต 12% จากปีก่อนหน้า ส่วนปีนี้ Arnaud ตั้งเป้าอย่าง conservative สุดๆ worst case สุดๆ ไว้ที่ 2.1 พันล้านบาท เติบโตประมาณ 27-28% จากปี 2560

เตรียมควบรวม JV กับ อมตะ

อุตสาหกรรมเป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการเติบโตมากในช่วงที่ผ่านมา Sodexo ได้อาศัยพันธมิตรที่เข้มแข็งอย่างกลุ่มอมตะมาช่วยเหลือเกื้อหนุน ซึ่ง วิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน ได้เชิญ Arnaud ให้เข้ามาฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของเขาในเรื่องต่างๆ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและปัญหาจากลูกค้าระดับวีไอพีซึ่งเป็นลูกค้าโรงงานในนิคมอมตะ บริษัท โซเด็กซ์โซ่ อมตะ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นการร่วมทุนระหว่าง Sodexo และกลุ่มอมตะ เพื่อให้บริการแก่โรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ในด้านการบริหารจัดการอาคาร การดูแลและซ่อมบำรุง บริการด้านการรักษาความปลอดภัย และบริการงานทำความสะอาด เนื่องจาก JV นี้ไปได้ดีเมื่อประมาณ 3-4 เดือนก่อน วิกรมจึงได้ชวน Arnaud ให้เข้ามาช่วยการบริการในพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอมตะด้วย ซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบโดย บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด
บริการภูมิทัศน์ของอาคาร (Photo Credit: Facebook@SodexoThailandFanPage)
Arnaud ตั้งเป้าให้การควบรวม Sodexo Amata Services และ อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม 2560 ทำให้รายได้รวมของกลุ่ม Sodexo ในไทยเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 2.1 พันล้านบาทในปีนี้ เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นการเข้าสู่ธุรกิจการให้บริการในพื้นที่ส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรมครั้งแรกของกลุ่ม Sodexo Arnaud จึงตั้งใจที่จะสร้าง expertise ให้เกิดขึ้น โดยจะมีการนำผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้บริหารจัดการพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อาทิ จัดตั้ง command center ขึ้นเพื่อช่วยดูแลระบบความปลอดภัย อาจไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลตลอด 24 ชั่วโมงอีกต่อไป เพราะ command center จะมีผู้เชี่ยวชาญควบคุมดูแลจากส่วนกลาง และทำงานเชื่อมโยงทางไกลกับระบบต่างๆ ของโรงงานในนิคมฯ รวมทั้งระบบกล้อง CCTV เพื่อดูแลความเรียบร้อย

วิกฤตน้ำมัน

ก่อนจะถึงยุคเติบโตในวันนี้ หนทางของ Arnaud ไม่ได้ราบรื่นเหมือนกลีบกุหลาบ ในช่วงปี 2557-2558 เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันในตลาดโลกลดฮวบ ส่งผลกระทบต่อบริษัทขุดเจาะสำรวจน้ำมันซึ่งมีสัดส่วน 35% ของรายได้รวมของ Sodexo ในประเทศไทย ในขณะนั้นบริษัทน้ำมันพากันปิดและย้ายแท่นขุดเจาะน้ำมันออกจากประเทศไทย ทำให้รายได้ของ Sodexo หายวับไป 300-400 ล้านบาท จาก 1.689 พันล้านบาทในปี 2557 เหลือ 1.513 พันล้านบาท และ 1.450 พันล้านบาทในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ เพิ่งจะปีที่ผ่านมานี่เองที่ Sodexo สามารถฟื้นคืนรายได้กลับมาเกือบเท่าเมื่อ 4 ปีก่อน จากการเติบโตของธุรกิจอื่นๆ ที่เข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปจากธุรกิจน้ำมัน และตั้งเป้าหมาย เติบโตหนึ่งเท่าตัวภายใน 5 ปีจากนี้ หรืออาจจะบรรลุได้เร็วกว่านั้น  

มุมส่วนตัว

Arnaud อยู่ประเทศไทยมาแล้ว 22 ปีตั้งแต่อายุเพียง 24 ปี หลังจากเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์จากฝรั่งเศส และฝึกงานที่นั่นเป็นเวลา 6-7 เดือน เขาได้รับมอบหมายจาก Safran S.A. (ในขณะนั้นรู้จักกันในนามของ SAGEM) ให้เข้ามาติดตั้งเครื่องชุมสายเทเล็กซ์ให้ กสท โทรคมนาคม แต่เมื่อโปรเจกต์เสร็จสิ้นในเวลา 1 ปีครึ่งตามสัญญา Arnaud ปฏิเสธที่จะกลับฝรั่งเศส โดยเขายอมลาออกจากบริษัทเพื่อที่จะขออยู่ประเทศไทยต่ออีก 1 ปี ในเดือนมิถุนายน 2540 เขาบินกลับไปพักร้อนที่ฝรั่งเศส 2 อาทิตย์ก่อนกลับมาหางานในประเทศไทย เขาคิดว่าคงหาได้ไม่ยากเพราะมีหลายบริษัทที่สนใจติดต่อกันไว้ แต่เมื่อบินกลับมาในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2540 รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทพอดี เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทที่ติดต่อกันไว้ต่างพากันเลิกจ้างพนักงาน Arnaud ตัดสินใจสู้อยู่หางานต่อในไทย เขาใช้เวลา 4-5 เดือนก็ได้งานกับ Thomson-CSF (ปัจจุบันคือ Thales Group) ก่อนที่จะมาร่วมงานกับ บริษัท พรอพเพอร์ตี้ แคร์เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และ Sodexo ตามลำดับ ถึงแม้ว่าจะจริงจังกับการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ Arnaud ก็ให้ความสำคัญกับ work-life balance อย่างมาก เขาปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งในระดับภูมิภาคโดยต้องการที่จะสร้างการเติบโตให้กับ Sodexo ในประเทศไทยมากกว่า เพราะไม่อยากมีวัฏจักรชีวิต อาทิตย์เย็นไปสนามบิน นั่งไฟลท์ไป Mumbai อยู่ถึงศุกร์ กลับบ้านตีสองตีสาม อาทิตย์ต่อไป...ยุโรป แต่เขาตั้งใจที่จะเอาชนะ เติบโตมากกว่านั้น พร้อมๆ กับเปิดโอกาสของความก้าวหน้าให้กับทีมงานของ Sodexo ในไทยทุกคน  ในฐานะซีอีโอนักสู้ Arnaud ยังหิวกระหายความเติบโต ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเขาอยู่เสมอ   เรื่อง: พิชญ ช้างศร ภาพประกอบ: มังกร สรพล
คลิกอ่าน "Arnaud Bialecki ซีอีโอนักสู้" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ กุมภาพันธ์ 2561 ในรูปแบบ e-Magazine