ตลาดไก่ทอดในประเทศไทยโดยเฉพาะร้านอาหารเชนแบบเสิร์ฟด่วนนั้น ได้รับการคาดการณ์ว่ามีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท และยังคงมีอนาคตที่สดใสต่อเนื่อง การเติบโตอันหอมหวลของตลาดดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งกระโดดลงมาแย่งชิงเค้กชิ้นใหญ่นี้ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ปตท. ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ที่ซื้อแฟรนไชส์ไก่ทอดแบรนด์ “Texas Chicken” สัญชาติอเมริกันและเปิดตัวในปีที่ผ่านมา หรือบริษัท แมคไทยจำกัด ผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์ที่มีชื่อเสียงด้านเมนูเบอร์เกอร์ ก็อดไม่ได้ที่จะเพิ่มเมนูไก่ทอดอย่างจริงจังเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า
ทว่า คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด เพราะร้านไก่ทอดยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างแบรนด์เคเอฟซี (KFC) จากเมืองลุงแซม ภายใต้การบริหารของ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้วางรากลึกลงในตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยครองสัดส่วนทางการตลาดราว 65% ดังนั้น ทั้งผู้มาใหม่และผู้ที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว คงต้องเหน็ดเหนื่อยไม่น้อยที่จะแย่งชิงลูกค้าให้เข้าร้านตนเอง แม้จะเป็นผู้นำตลาดแต่ แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไปแบรนด์เคเอฟซีในประเทศไทย ไม่เคยหลงระเริงกับสถานภาพที่เป็นอยู่ ในทางตรงกันข้ามเธอยังทำงานหนักเพราะตระหนักดีว่า การแข่งขันในตลาดไก่ทอดนี้ดุดันขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เคเอฟซีจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองในทุกๆ ด้านเพื่อรักษาฐานลูกค้าให้ยั่งยืน พวกเรา Forbes Thailand นัดพบแววคนีย์ ที่ Pacific Club ชั้น 28 ย่านสุขุมวิท เธอเลือกที่นี่เนื่องจากมีหมายประชุมในตึกเดียวกันนี้ในช่วงบ่าย พวกเราเลือกรับประทานติ่มซำเป็นอาหารเที่ยงในวันนั้น แต่ทีมงานเธอก็อดไม่ได้ที่จะสั่งไก่ทอดเคเอฟซีถังใหญ่จากสาขาใกล้เคียงพร้อมกับข้าวไก่เขียวหวานโบว์ลมาให้พวกเราชิมเพื่อเพิ่มอรรถรสในการสนทนาแววคนีย์บอกเราว่า ทุกวันนี้ตลาดแข่งขันกันสูง ทำให้เคเอฟซีไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะเมนูอาหารที่จะเปิดใหม่ออกมาเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นนักชิมให้มาลิ้มลอง “เรามีคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งก็กังวลนะ แต่เราต้องมีแผน โจทย์แรกคือทำอย่างไรให้เป็น‘quality เคเอฟซี’ และทำอย่างไรให้ core product ของเราเจ๋งที่สุด” เธอกล่าวประสบการณ์สร้างคนแววคนีย์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการตลาดจาก Yokohama National University ประเทศญี่ปุ่นและระดับปริญญาโทด้าน International Marketing จาก California State University ซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เธอผ่านงานจากบริษัทชั้นนำของโลกที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรวมไปด้วยพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี) ที่เธอใช้เวลาถึง 7 ปี ดูผลิตภัณฑ์ยาสระผม นอกจากนี้เธอยังร่วมงานกับจอห์นสัน แอนด์ จอนห์สัน และคาโอจากญี่ปุ่น รวมแล้วสะสมประสบการณ์ทั้งหมดนับ 10 ปี เธอร่วมงานกับเคเอฟซีเมื่อ 14 ปีที่แล้วเนื่องจากรู้สึกอิ่มตัวจากการทำงานกับบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งกำลังเปลี่ยนนโยบายการผลิตเป็นการสร้างฐานการผลิตในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งทำให้แววคนีย์ ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพียงลำพังอยู่เนืองๆ จนเธอเปรียบเปรยว่า เธอมีชีวิตราวกับ “นกนางแอ่น” ที่บินไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่เธอไม่ประทับใจนักและหลังจากที่มีคนรู้จักแนะนำงานที่บริษัทยัม เธอจึงให้ความสนใจ และด้วยประสบการณ์ที่เปี่ยมล้น แววคนีย์จึงผ่านการคัดเลือกจากบริษัทให้เข้ามาดูแลแบรนด์เคเอฟซีในตำแหน่งรองผู้อำนวยทางการตลาด ช่วงนั้น เคเอฟซีขึ้นแท่นเป็นผู้นำทางการตลาดร้านอาหารเชนไก่ทอดแล้ว อย่างไรก็ตาม เธอพบว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เคเอฟซีต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำวิจัยตลาดเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค พร้อมกับหาข้อมูลทางการตลาดจากเอเยนซี่ต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม “เราทำวิจัยเพื่อจะได้รู้ consumer insight เราจะได้รู้จักลูกค้าและเข้าใจเขา เพื่อการสร้างแบรนด์ และมันจะช่วยด้านการวางแผนพร้อมกับคาดการณ์ความสำเร็จได้” แววคนีย์กล่าวพร้อมย้ำว่า เธอสนุกกับงาน โดยเฉพาะการที่ต้องคิดเร็วทำเร็วเนื่องจากที่มีการแข่งขันสูง ผลงานที่เธอทำได้ส่งให้เธอขึ้นสู่ตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทั่วไปของเคเอฟซี ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556สูตรสำเร็จเคเอฟซี
แววคนีย์ กล่าวถึงความสำเร็จ ทุกวันนี้ที่ทกให้เคเอฟซีเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในไทยเกิดจาก 3 ส่วนคือ เมนูอาหาร ราคาเหมาะสม และประสบการณ์ที่ดีของผู้บริโภคต่อร้านอย่างเมนูอาหาร บริษัทจะมีการคิดค้นเมนูใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นความอยากกินของลูกค้า เช่นไก่ทอดที่เป็นสินค้าหลักของเคเอฟซี ได้มีการดัดแปลงไปเป็นเมนูอื่นๆ อาทิ เบอร์เกอร์ไก่ สแนค ข้าวยำไก่แซ่บ ด้วยเหตุที่ว่า ถ้าไม่มีการคิดค้นเมนูใหม่อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ร้านไม่มีแรงดึงดูดเราไปถึงประสบการณ์ในร้าน ซึ่งเป็นหนึ่งใน “หัวใจ”ของการขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคนี้ รวมไปถึงจำนวนสาขาที่ปัจจุบันเคเอฟซีมีร้านทั้งสิ้น 570 ร้านทั่วประเทศ ทั้งลงทุนเองและผ่านระบบแฟรนไชส์ โดยเธอหวังว่าจะเพิ่มจำนวนร้านเป็น 800 ร้านภายในปี 2563 แต่จะเน้นร้านระบบแฟรนไชส์เพื่อให้บริษัทมีเวลาทุ่มเทกับการวางยุทธศาสตร์ธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระทางการเงินของบริษัทอีกด้วย ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบริษัทประกาศเลือก บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เข้าเป็นพันธมิตรรายใหม่ในรูปแบบแฟรนไชส์ หลังจากที่มีพันธมิตรธุรกิจเพียงแห่งเดียวมากว่า 30 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด โดยพันธมิตรใหม่นี้จะเข้าร่วมบริหารและปรับโฉมร้านเคเอฟซี 130 สาขาที่มีอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมถึงภาคใต้ พร้อมทั้งจะร่วมลงทุนเปิดร้านใหม่อีก 100 ร้านในอนาคต ทุกวันนี้ แววคนีย์ดูแลคนนับหมื่น ซึ่งคนอื่นอาจมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่เธอกลับมองว่าเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย เพราะการบริหารคนได้ถูกวิธีนั้นจะสามารถดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้อย่างชัดเจนและประโยชน์ก็จะตกอยู่กับบริษัทในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า “2-3 ปีข้างหน้า คิดว่าเคเอฟซีจะเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งต่อไป เน้นการขยายสาขาแบบเชิงรุกต่อไป จะมีการพัฒนาต่อไปสำหรับเรื่องของพาร์ทเนอร์แฟรนไชส์เพิ่มเข้ามา ทำอย่างไรให้ตัวแบรนด์ทำงานเป็นระบบและถ่ายทอดความใหม่ทั้งหลาย หรือสิ่งที่ลูกค้า happy ไปสู่พาร์ทเนอร์แฟรนไชส์เพื่อพัฒนาประสบการณ์ที่ดีขึ้น เป็นการตอบโจทย์ลูกค้า” เธอกล่าวทิ้งท้ายคลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล สยายปีกร้านเคเอฟซี รักษาแชมป์ไก่ทอด" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559