การจราจรหลังเลิกงานในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะวันฝนกระหน่ำหนัก มักเสี่ยงต่อการทำให้ตารางพบปะต้องล่าช้าออกไป แต่ไม่ใช่สำหรับผู้บริหาร “เบอร์ 1” ของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ในไทย ซึ่งเดินทางมายังร้าน Pirate Chambre ใกล้สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบก่อนเวลาถึงครึ่งชั่วโมง
“ผมเป็นคนพูดไม่เก่งครับ” อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก เอ่ยกับ Forbes Thailand พลางจิบชาเป๊ป-เปอร์มินท์ บุคลิกของอัษฎาเงียบขรึม ทว่าก็ดูผ่อนคลายไปด้วยในเวลาเดียวกัน และแม้จะออกตัวว่าไม่ถนัดในการพูดคุย แต่ประสบการณ์การทำงานอันช่ำชองของเขา การเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นผู้บริหารของเชลล์ระดับโลก บวกกับการเป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรที่สร้างรายได้รวมกว่าแสนล้านบาทต่อปี ย่อมเป็นหัวข้อที่เอื้อต่อการสนทนาอย่างแน่นอน อัษฎา ผูกพันกับเชลล์มาเกือบทั้งชีวิต หลังจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จาก University of Michigan สหรัฐอเมริกา เขาก็ทำงานใน Silicon Valley อยู่ครึ่งปี ก่อนเรียนต่อปริญญาโทสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยเดิม และ เลือกร่วมงานที่ “เชลล์” ในปี 2528 และไม่คิดจะเปลี่ยนใจโยกย้ายไปไหน ความรู้ความสามารถของอัษฎา ส่งให้เขาโลดแล่นในหลายบทบาทหน้าที่ ทั้งภายในและต่างประเทศ แม้เข้าสู่วัย 55 ปี ทว่าอัษฎากลับดูอ่อนกว่าวัย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิธีการมองโลกของเขาที่ไม่จมกับปัญหานานนัก และมักพลิกจุดดิ่งให้เป็นจุดเด่นอยู่เสมอ ครั้งหนึ่ง อัษฎาได้รับงานหินเมื่อต้องดูแลธุรกิจยางมะตอย ในช่วงที่เชลล์เริ่มขายโรงกลั่นในยุโรป “ทุกคนช็อค เพราะถ้าไม่มียางมะตอยก็ต้องปิดธุรกิจ เจ้านายให้เวลาผมแก้ปัญหา 1 ปี ปรากฏว่าผมทำให้บริษัทมีกำไรเกือบเท่ากับก่อนจะขายโรงกลั่น จุดนั้นผมเปลี่ยนวิธีการมอง แทนที่จะคิดว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโรงกลั่น ก็เอาการไม่มีโรงกลั่นมาเป็นจุดแข็งแทน” ปี 2555 อัษฎา ก็ย้ายจากสิงคโปร์มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของเชลล์แห่งประเทศไทย เพิ่มเติมจากการเป็นกรรมการบริหาร ธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก ดูแลปั๊มน้ำมันในโอมาน อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ เขาตั้งใจจะพลิกสถานการณ์ขององค์กรเชลล์แห่งประเทศไทย จาการเสียส่วนแบ่งการตลาดของเชลล์ที่ลดฮวบจาก 30% เหลือ 12% และจำนวนปั๊มที่ลดลงเหลือ 500 แห่งทั่วประเทศ อัษฎา ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะพนักงานในสำนักงาน แต่ยังครอบคลุมถึงพนักงานประจำปั๊มน้ำมันด้วย “ถ้าเราดูแลเขาไม่ดี เขาก็ดูแลลูกค้าไม่ดี” ผู้บริหารใหญ่กล่าว ปีที่แล้ว อัษฎาใช้เวลา 1 วัน สลัดชุดสูทไปสวมยูนิฟอร์มปฏิบัติหน้าที่พนักงานประจำปั๊มน้ำมันสาขาลาดกระบัง ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ทำทั้งเติมน้ำมัน แคชเชียร์ ฯลฯ นำสิ่งที่เห็นมาปรับปรุงเพื่อจะได้ให้บริการที่ดีขึ้น และเป็นการสำรวจความต้องการของลูกค้าไปด้วยในตัว เมื่อพนักงานเห็นว่านายใหญ่ลงพื้นที่ จึงกระจายกันไปปฏิบัติงานตามปั๊มน้ำมันสาขาต่างๆ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ อัษฎาจึงวางไว้ว่าต่อไปจะให้พนักงานทุกฝ่ายต้องฝึกปฏิบัติงานในปั๊มน้ำมัน เพื่อให้เห็นภาพรวมธุรกิจ ผลของการรวมพลังระดมความคิด ทำให้ปีที่ผ่านมา จากบทสนทนาที่ดำเนินไปเกือบ 3 ชั่วโมง นี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวการทำงานอันเข้มข้นและไม่ย่อท้อของ อัษฎา ที่ทำให้ผู้ฟังเห็นภาพของเชลล์ไทยในอนาคตได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น คำถามสุดท้ายของเราคือนิยามความสำเร็จ หลายคนวัดจุดสูงสุดในชีวิตด้วยตำแหน่งการงาน แต่นั่นดูเหมือนจะไม่ใช่สำหรับอัษฎา “ผมมองว่าทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเอง และจะดีใจถ้าได้มีส่วนช่วยให้คนอื่นได้ทำในสิ่งที่เขาคิดว่าทำไม่ได้ ผมวัดความสำเร็จของผมจากตรงนั้น” เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพประกอบ: สมเกียรติ ศิริวงศ์ศิลป์คลิ๊กอ่าน ฉบับเต็ม "อัษฎา หะรินสุต อาสาสร้างความสดใสให้ “เชลล์”" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016