สุภศักดิ์ กฤษณามระ ปรุงธุรกิจไทยสู่โลกใหม่ - Forbes Thailand

สุภศักดิ์ กฤษณามระ ปรุงธุรกิจไทยสู่โลกใหม่

ประวัติศาสตร์ความเป็นมา 80 ปีของสำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งแรกของคนไทยกำลังจะได้รับการบอกเล่าจากปากคำของ สุภศักดิ์ กฤษณามระ หลานปู่พระยาไชยยศสมบัติ ผู้ก่อตั้ง ตามการนัดหมายของเราที่ตกลงใช้ห้องประชุมของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ บนชั้น 27 อาคาร เอ ไอ เอ สาทร เป็นที่พบปะสนทนา เราเดินผ่านโถงด้านหน้าของสำนักงานที่โอ่โถง ตกแต่งทันสมัยตัดกับรูปภาพสีขาว ดำ ที่ใส่กรอบไว้อย่างสวยงามบนพื้นผนังสีขาวสว่าง ช่วยเกริ่นเรื่องราวในอดีตของบริษัทที่ปรึกษา “บิ๊กโฟว์” แห่งนี้ ก่อนเข้าสู่ห้องประชุมเพื่อพบกับ สุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย วัย 54 ปี พร้อมทีมงานที่นั่งรออยู่ก่อนแล้ว จากนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินประวัติศาสตร์และเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคของบริษัทแห่งนี้พรั่งพรูมาจากปากของเขา ผู้ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดคนไทยคนที่ 3 นับจากพระยาไชยยศสมบัติ ผู้ก่อตั้งบริษัท และศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้นำรุ่น 2 และบิดาของเขา แม้จะเป็นทายาทของตระกูลผู้ก่อตั้งบริษัท สุภศักดิ์ใช้เวลาฝึกปรือฝีมือถึง 13 ปีโดยต้องผ่านยุคของกรรมการผู้จัดการชาวต่างชาติถึง 2 สมัย ก่อนจะได้ขึ้นมากุมบังเหียนในปี 2545 สุภศักดิ์เข้ามารับไม้ต่อจาก Andrew C. Burns พาร์ทเนอร์จากแคนาดา ที่เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการต่างชาติคนที่ 2 ของบริษัทในระหว่างปี 2541-2545 ในห้วงจังหวะสำคัญที่ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ได้รับมอบหมายจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ให้เข้าไปทำงานชำระบัญชีสถาบันการเงินจำนวน 22 แห่งจาก 56 แห่งที่ถูกสั่งปิดกิจการ

การหลั่งไหลเข้ามาของผู้เชี่ยวชาญ

ต่างชาติจากทีมงานของดีลอยท์ในประเทศต่างๆ เพื่อเข้ามาทำงานชิ้นสำคัญที่ดีลอยท์เชือดเฉือนได้ส่วนแบ่งเค้กมามากกว่าบิ๊กโฟว์รายอื่นๆ ส่งผลให้ดีลอยท์ ประเทศไทย มีทรัพยากร ทุน และผลงาน ที่จะไปลงทุนเพิ่ม เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรและขยายกิจการขยับเข้าสู่ธุรกิจที่ปรึกษาและให้บริการวิชาชีพ (professional service) อย่างครบวงจร และเข้าสู่ช่วงของการเติบโตเมื่อสุภศักดิ์ก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการในเวลาต่อมา “ต้มยำกุ้งก็เป็นไดรเวอร์อย่างหนึ่ง จริงๆ มีโอกาสจากทุกวิกฤต วันนั้นที่เรามีโอกาสเข้าไปทำหลายงาน ทำให้เรามีความสามารถ มีทุน ผลงานจากตรงนั้นที่จะไปลงทุนเพิ่ม” สุภศักดิ์กล่าว

วิกฤต Lehman จุดเปลี่ยนโลกธุรกิจ

ขณะที่วิกฤตต้มยำกุ้งนำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตและทรานส์ฟอร์มเปลี่ยนจากการเป็นบริษัทที่เน้นด้านการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีไปสู่การเป็นบริษัทที่ให้บริการปรึกษาการจัดการและบริการอื่นๆ ครบวงจร วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่จุดชนวนจากการล้มละลายของ Lehman Brothers วานิชธนกิจอันดับ 5 ของโลกเมื่อปี 2551 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญในธุรกิจบริการวิชาชีพเช่นกัน เนื่องจากปริมาณงานที่ลดลง และการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้อัตราส่วนกำไรจากธุรกิจบริการวิชาชีพตกต่ำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน “ยกตัวอย่างเช่น สมมติเคยมีมาร์จิ้น 65% พอเกิดวิกฤต Lehman ก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนวันนี้เหลือ 50% กว่าๆ ลดลงมาเกือบ 10%” เขากล่าว แรงกดดันจากอัตราส่วนกำไรและอัตราค่าธรรมเนียม (fee rates) ที่ลดลงเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้บริษัทผู้ให้บริการวิชาชีพอย่างดีลอยท์ต้องปรับเปลี่ยน หรือ “ดิสรัปต์” วิธีการทำงานของตัวเองเพื่อนำอัตราส่วนกำไรในอดีตกลับคืนมา หรืออย่างน้อยรักษาระดับไว้ไม่ให้ลดลงไปอีก ด้วยเหตุนี้เอง สุภศักดิ์จึงเชื่อว่าการบริหารคนในอนาคตจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะองค์กรไม่สามารถเพิ่มคนได้ในอัตราเร่งเดียวกับการเติบโตของธุรกิจได้อีกต่อไป รูปแบบการจ้างงานแบบเดิมๆ ที่องค์กรจะจ้างพนักงานทุกคนเป็นฟูลไทม์ทำงานในออฟฟิศเต็มเวลา จะต้องปรับไปอยู่ในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ใช้ AI สร้างมูลค่าเพิ่ม

ทางดีลอยท์เองได้มีการจัดตั้งศูนย์กลาง หรือ delivery center ในการทำงานบางขั้นตอนให้กับดีลอยท์ทั่วโลกขึ้นที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งจะทำให้รูปแบบการทำงานในแต่ละประเทศเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องมีทักษะด้านเทคนิคไว้ในทุกประเทศ ต่อไปสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นจะเป็นซอฟต์สกิล เช่น ทักษะการบริหารและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า “ในอนาคตคนมาทำแทนเราอาจจะเป็นโรบอทก็ได้…อาจตัดสินใจได้ดีกว่าผมอีก เพราะเราใช้ประสบการณ์ใช่ไหม ว่าเราเห็นอะไรมา คุ้นเคยกับอะไรมา ใช้ตรงนั้นมาเป็นฐานในการตัดสินใจของเรา แต่ถ้าเผื่อ AI เห็นที่คนอื่นทำมาแล้ว 10 ล้านคน มันก็ตัดสินใจได้ เหมือนวอร์เกมสงครามปรมาณูที่เขาทำ scenario มันก็คิดทุก scenario ให้ได้” สุภศักดิ์กล่าว

ดิสรัปชั่น โจทย์หลักจากลูกค้า

สุภศักดิ์กล่าวว่าปัจจุบันโจทย์ที่ดีลอยท์ได้รับมากที่สุดจากลูกค้าคือเรื่องที่เกี่ยวกับดิสรัปชั่น เช่น การทรานส์ฟอร์มองค์กร เปลี่ยนวิธีทำงาน ปรับคน กลยุทธ์ด้านดิจิทัล ฯลฯ อย่างไรก็ตามอยากจะมองในมุมบวกว่า สุดท้ายแล้วดิสรัปชั่นน่าจะทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น “อย่างตอนคอมพิวเตอร์มาแรกๆ เราคิดว่ามันจะแทนที่ทุกคน สุดท้ายมันก็มาเป็นตัวเสริมของคนที่จะทำให้งานดีขึ้น ชีวิตดีขึ้น หรือหุ่นยนต์เข้ามาในโรงงานรถยนต์ มันก็มาแทนที่คนที่ต้องทำงานซ้ำๆ อยู่แล้ว ก็ต้องดูว่าแล้วคนไปทำอย่างอื่นได้ไหม ผมว่าในอนาคตมันอยู่กับว่าทางเลือกจะมีอะไรบ้าง ทางเลือกอาจไม่ใช่การจ้างงานเต็มเวลาก็ได้ แล้วคนอาจจะต้องการอย่างนั้น” ถามว่าองค์กรไทยพร้อมหรือไม่ในการรับมือดิสรัปชั่น เขาขอ “ตอบแบบกลางๆ” ว่า “Not too late เพราะว่า สำหรับดิสรัปต์ฯ ที่เวิร์ก เช่น Uber ที่กลายมาเป็นอะไรอย่างนี้ แต่มีอีกกี่รายที่ไม่เวิร์ก คือไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ยูทำอย่างนี้แล้วมันจะเวิร์กเลย หรืออิมพลีเมนต์ปั๊บมันจะได้ผล แต่ผมว่ามันจะต้องเปลี่ยน”
คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็ม “สุภศักดิ์ กฤษณามระ ปรุงธุรกิจไทยสู่โลกใหม่” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine