สิทธิเดช มัยลาภ มองว่าธุรกิจไอทีคือซันไรส์ เป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต ไม่ว่าองค์กรรัฐหรือเอกชนล้วนต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านไอที ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไอทีมีความจำเป็น และจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นโอกาสที่ชัดเจนของสกาย ไอซีทีที่ทำให้ผลประกอบการบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด
สิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ทัพคนสำคัญที่ช่วยผลักดันสร้างการเติบโตให้สกาย ไอซีที ก้าวสู่แถวหน้าธุรกิจบริการด้านไอที โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที “IT คือ sunrise ในขณะที่หลายเซกเตอร์ไม่เติบโตมาก และ IT ในวันนี้ไม่ใช่แค่ IT แต่เป็น ICT ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระบบ IT เข้าด้วยกัน” สิทธิเดชเริ่มต้นด้วยมุมมองเรื่องโอกาสธุรกิจที่ทำให้สกาย ไอซีที มุ่งมั่นขยายตลาด โดยเฉพาะการนำระบบไอซีทีเข้ามาบริการด้านความปลอดภัย ซึ่งเขาบอกว่า ในบ้านเราเพิ่งเริ่มต้นระบบรักษาความปลอดภัยด้วยไอที ทำให้การเติบโตของธุรกิจนี้มีกว่า 20% ต่อปี เม็ดเงินในธุรกิจไอทีเริ่มแรกมาจากการใช้เงินของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการทำสำรวจความพร้อม และเม็ดเงินด้านไอทีที่เติบโตในภาครัฐมาจากการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีกว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นฐานใหญ่ที่สกาย ไอซีที ให้บริการและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง- โตด้วยงานไอทีภาครัฐ -
“เราเข้ามาในโอกาสเติบโต ตอนนั้นโฟกัสงานภาครัฐซึ่งเขาต้องการคนเชี่ยวชาญมาเคลียร์ระบบ infrastructure ของภาครัฐ เป็น IT infrastructure งานใหญ่ๆ อินเทอร์เน็ต เน็ตประชารัฐ ตอนนั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยน้อยมาก แต่มาช่วง 5 ปีหลังนี้กลายเป็นคนไทยเข้าถึงเน็ตในอันดับต้นๆ ของอาเซียน” นั่นคืองานในยุคแรกๆ ของสกาย ไอซีที คือการขยายพื้นที่บริการเน็ตประชารัฐในพื้นที่ห่างไกลที่เรียกว่า โซนซี ซึ่งหมายถึงพื้นที่ชนบทรอบนอกเขตเมือง สกาย ไอซีที ได้ไปติดตั้งเสาดึงสัญญาณร่วมกับ กสท. (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยเป็นผู้รับเหมาร่วมในการก่อสร้าง ดึงสายเข้าพื้นที่ห่างไกล “5 ปีมานี้เราโตอย่างรวดเร็ว และธุรกิจ IT เติบโตมากกลายมาเป็น ICT หรือ Information and Communication Technology การเติบโตของ ICT เม็ดเงินเยอะมาก และที่โตมากคือด้าน security เช่น ระบบกล้องวงจรปิด ระบบการเตือนอัคคีภัย ซึ่งเราเป็น total solution ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วประเทศนับหมื่นกล้อง” สิทธิเดชอธิบายพร้อมยกตัวอย่างงานหลักๆ เช่น โครงการสนามบิน 6 ท่าอากาศยานของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย “สนามบินติดกล้องใหม่ไม่ต่ำกว่า 6,000 ตัว มีทั้งสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ และติดตั้งที่กรมศุลกากรทั่วประเทศ 2,400 กล้องเสร็จไป 2 ปีแล้ว” นอกจากนี้ ยังมีงานที่ทำให้สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กำลังส่งมอบงาน 2,200 กล้องทั่วประเทศ ส่วนใน กทม. ติดตั้งไปแล้ว 2,000 กว่ากล้อง เป็นงานเฟสเล็ก 500-600 กล้อง โดยสกาย ไอซีที เป็นหนึ่งในผู้ที่ชนะงาน ซึ่งสิทธิเดชบอกว่าเขาเน้นงานภาครัฐตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สะสมประสบการณ์ด้านซีเคียวริตี้ เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องกล้องวงจรปิด โดยใช้ซอฟต์แวร์ VMS: Video Management System “เราเป็นพาร์ตเนอร์หลักกับเวอเรียนท์ เป็น VMS ของอเมริกา อันดับต้นของโลก” เป็นอีกจุดแข็งที่ทำให้สกาย ไอซีที ได้รับงานอย่างต่อเนื่อง สิทธิเดชอธิบายว่า กล้องวงจรปิดที่มาจากหลากหลายยี่ห้อมีปัญหาว่าแต่ละกล้องแต่ละยี่ห้อไม่คุยกัน สกาย ไอซีที เข้าไปบริการในส่วนนี้โดยบริษัทลูก “จีฟินน์” ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์อินทิเกรตให้หลายกล้องหลายยี่ห้อมาคุยกัน “ใน กทม. มีทั้งหมด 60,000 กล้อง เราใช้จีฟินน์เป็นตัว integrate มี system integrated เอา AI ไปใส่ โดยมีพาร์ตเนอร์ SenseTime จากจีน เราใช้ของจีนเพราะการทำ AI คือ machine learning ยิ่งทำบ่อยยิ่งเก่ง เรียนรู้มาก จีนประชากรพันกว่าล้านคน เขาใช้กว่า 30 มณฑล ประชากร 2-3 ล้านคน/มณฑล Beijing, Shanghai, Shenzhen ดังนั้น SenseTime ของจีนจึงมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้” “ระบบของจีน match กับคนเอเชีย ผมดำ ผิวเหลือง คุ้นชินอัตลักษณ์เอเชียนแม่นยำสูงกว่าที่จะไปเอาของ Facebook หรือ Google ซึ่งเป็นระบบจากฝั่งตะวันตกไม่ match กับคนไทย” สิทธิเดชบอกว่า เมื่อสกาย ไอซีที มาเน้นเรื่องซีเคียวริตี้ โดยใช้เทคโนโลยีนำเอไอเข้ามาใส่และทำแมชชีนเลิร์นนิ่ง ทำให้สกาย ไอซีที เติบโตในเซกเตอร์นี้มาตลอด 4 ปี โดยให้บริการภาครัฐเป็นหลัก- เทกโอเวอร์ซีซีเอ็น-เทค เข้าตลาดฯ -
หลังจากเติบโตตั้งแต่ขวบปีแรก สกาย ไอซีที ได้มองโอกาสที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กร ดังนั้น ในปี 2560 ในเดือนมีนาคมจึงได้เทกโอเวอร์ บริษัท ซีซีเอ็น-เทค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทด้านไอทีที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งเดิมบริษัทนี้ทำธุรกิจให้เช่าคอมพิวเตอร์ มีลูกค้าจำนวนหนึ่ง สิทธิเดชเล่าว่า ในช่วงนั้นทางกลุ่มต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้เจรจาซื้อหุ้นซีซีเอ็น-เทค ในเดือนมีนาคม 2560 เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ตอนนั้นซีซีเอ็น-เทคมี 60 คน สกายมี 20 คน นำมารวมกัน และในเดือนกรกฎาคม ปี 2560 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากซีซีเอ็น-เทค มาเป็นสกาย ไอซีที ปีนั้นบริษัททำรายได้ 540 ล้านบาท มาจากโครงการย่อยซีซีทีวีและรถเข็น ต่อมาในปี 2561 สกาย ไอซีที ทำรายได้ 980 ล้านบาท ปี 2562 รายได้กระโดดมาเป็น 3,971 ล้านบาท ขึ้นมา 300% เนื่องจากได้งานวิทยุตำรวจที่เปลี่ยนจากระบบวอแบบเดิมมาเป็น trunked radio จากระบบ 2G มาเป็นแอลทีอี เหมือนสมาร์ทโฟน คอลได้ วิดีโอคอลได้ และอัดเสียงได้ ฟีเจอร์เหมือนสมาร์ทโฟน แต่หน้าตาเหมือนวิทยุตำรวจที่แข็งแรง โดยใช้คลื่นความถี่ 800 ย่านความถี่เพื่อความมั่นคงโดยเฉพาะ งานวิทยุตำรวจนี้ใช้ระบบปิดของ กสท. คลื่น 800 ดักฟังไม่ได้ ทำมาตั้งแต่ปี 2561 และส่งมอบเครื่องวิทยุตำรวจ 35,000 เครื่อง ใช้ในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เช่น หัวหิน โคราช เชียงใหม่ พัทยา และได้สร้างเบสสเตชั่นแอลทีอี ไป 350 สเตชั่น เสาสัญญาณ ส่งงานปี 2563 ส่งครบในเดือนเมษายน โครงการนี้ต้องทำต่อขยายเฟส ทำคอมมานด์เซ็นเตอร์ เป็นวอร์รูมในการปฏิบัติการที่กรุงเทพฯ สนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ “เราเชี่ยวชาญ CCTV security command center เชื่อมระบบ access control ในการจดจำใบหน้า และมั่นใจว่าเชี่ยวชาญที่สุดของประเทศ” ระบบซีซีทีวี ซีเคียวริตี้ มีความต้องการสูงล่าสุดสกาย ไอซีที จึงหันมาขยายกลุ่มลูกค้าเอกชน ซึ่งสิทธิเดชบอกว่า ตลาดยังเป็นบลูโอเชียน โดยสกาย ไอซีที ใช้กลยุทธ์ลงทุนให้เอกชน ทั้งการติดตั้งระบบและทำคอมมานด์เซ็นเตอร์ โดยเอกชนไม่ต้องเสียเวลามาทำเอง จากนั้นจึงคิดค่าบริการเป็นรายเดือน นอกจากนี้ ยังมีงานติดตั้งและบริการไวไฟสนามบินหลักๆ เช่น สนามบินเชียงใหม่สุวรรณภูมิ ภูเก็ต สัญญา 10 ปี ล่าสุดเริ่มขยายงานสู่ลูกค้าเอกชน เช่น คอนโดมิเนียม โดยเสนอการออกแบบลงทุนให้ดูแลทั้งระบบตั้งแต่ต้น ครอบคลุมการดูแลความปลอดภัย โดยสกาย ไอซีทีเสนอลงทุนให้ และดึงภาพมารวมที่คอมมานด์เซ็นเตอร์ เก็บค่าบริการเป็นรายเดือน ตลาดตอบรับดีมาก ยิ่งทุกวันนี้คนไม่อยากสัมผัสเพื่อป้องกันโรคระบาด เชื่อว่าตลาดจะเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว สิทธิเดชมั่นใจว่า ภายใน 3 ปีพอร์ตของสกาย ไอซีที ซึ่งโตมาจากงานภาครัฐ โดยก่อนหน้านี้ชนะงานระดับร้อยล้านมาจนถึงระดับพันล้านบาท ส่วนงานเอกชนค่อยๆ เริ่มโดยจะมีรายรับเป็นรายเดือน โตแบบ recurring แบบน้ำเซาะทรายจำนวนเป็นแมส แม้รายได้ต่อแอ็กเคานต์จะน้อยแต่ได้จำนวน และมั่นใจว่าภายใน 3 ปีรายได้จากงานเอกชนจะมีสัดส่วน 15-20% นอกจากสัดส่วนงานเอกชนดังกล่าว สิทธิเดชบอกว่า สกาย ไอซีที ยังมี backlog รอรับรู้รายได้ทั้งหมด 19,500 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปีนี้ 3 พันล้านบาท เป็นงานเดิมทั้งหมด และปีนี้สกาย ไอซีที จะเทิร์นบริษัทเป็นเทคคอมปานี โฟกัสงานโททัล โซลูชั่นโพรวายเดอร์ สร้างแพลตฟอร์มเอง เช่น AOT Airports แอปรับนักท่องเที่ยวจะกลับมาภายใน 120 วัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางตุลาคมปีนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป สกาย ไอซีที มีแอปพลิเคชันที่เก็บดาต้าเบสนักเดินทางทั่วโลก โดยร่วมมือกับ ทอท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับมือเปิดประเทศ มีระบบฐานข้อมูลการจัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวและผู้ใช้สนามบินทั่วประเทศ อีกแพลตฟอร์มที่เปิดตัวคือ สมาร์ทซีเคียวริตี้ เป็นการลงทุนเทคโนโลยี ให้ทุกคนแอ็กเซสดูกล้องผ่านแอปพลิเคชันของสกาย ไอซีทีได้ และยังได้พัฒนาลีฟวิ่งแอปพลิเคชันสำหรับให้บริการโครงการที่อยู่อาศัย ด้วยการจับข้อมูลพฤติกรรมลูกบ้านและให้บริการได้ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาความต้องการของคนในเรื่องสุขภาพ และมีการซอสซิ่งอาหาร มีเรื่องประกันด้วย กำลังศึกษาและเตรียมเปิดให้บริการต่อไป “ความฝันคือ ต้องการสร้าง SKY ให้ยั่งยืน เป็น top of mind ด้านเทค เป็นบริษัทไทยที่มี standard ระดับโลก” สิทธิเดชกล่าวสรุป ภาพ: API อ่านเพิ่มเติม:- RAFAŁ BRZOSKA พลิกเกมธุรกิจรับส่งพัสดุของโปแลนด์พร้อมนั่งแท่นเศรษฐีพันล้าน
- ลงทุนใน ‘การแข่งทางอวกาศ’ ดีหรือไม่ แล้วต้องทำอย่างไร
- STARTDEE ขวบปีแรก รุกตลาด EDTECH เติบโตแบบก้าวกระโดด
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine