วิพล วรเสาหฤท พลิก กรุงเทพประกันชีวิต คืนตำแหน่ง TOP 5 - Forbes Thailand

วิพล วรเสาหฤท พลิก กรุงเทพประกันชีวิต คืนตำแหน่ง TOP 5

ยามบ่ายที่สายฝนพรำมิได้เป็นอุปสรรคสำหรับการนัดหมายครั้งนี้ วิพล วรเสาหฤท วัย 52 ปี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำ กัด (มหาชน) หรือ BLA ยังคงมาถึงร้านกาแฟซึ่งเป็นสถานที่พบปะตรงตามเวลา

วิพล ที่ขอตัวจิบกาแฟก่อนเป็นฝ่ายเริ่มเปิดฉากสนทนากับ Forbes Thailand ณ โต๊ะตัวเล็กซึ่งตั้งอยู่มุมคาเฟ่สไตล์วินเทจ Bar Storia Del Caffe ชั้นล่างของโรงแรม Salil Hotel ในซอยสุขุมวิท 57 เสียงเพลงแผ่วคลอเบาๆ ช่วยให้บรรยากาศการสนทนาของเราเป็นกันเองมากขึ้น จากผู้มีประสบการณ์คร่ำหวอดด้านการวางกลยุทธ์การตลาดและการบริหารงานขายในธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคร่วม 20 ปี วิพลเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเติบโตให้บริษัทข้ามชาติชั้นนำหลายแห่ง วิพล ขึ้นแท่นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ BLA เมื่อ 1 มีนาคม ปีนี้พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ 3 ประการ ได้แก่การสร้างรากฐานเพื่อการเติบโตในอนาคต การ Re-train ปรับปรุงหลักสูตรอบรมพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพคนในองค์กรให้สูงขึ้น 20-30% รวมทั้งการผลักดันธุรกิจประกันชีวิตผ่านดิจิทัล “กรุงเทพประกันชีวิต ต้องกลับขึ้นมาติด Top 5 ให้ได้ด้วยการผลักดันให้องค์กรมี dynamic มีความ active ที่จะวิ่งไปข้างหน้า การผลักดันจะเกิดได้ต่อเมื่อมีความเข้าใจถ่องแท้ในตัวบริษัท วัฒนธรรมและบุคลากรในองค์กรมากเพียงพอ” วิพลกล่าว พร้อมยอมรับว่าที่ผ่านมา แม้บริษัทยังรักษาตำแหน่งผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมไว้ได้แต่การหล่นจากตำแหน่ง Top 5 ทำให้หลุดจากสถานะที่สำคัญไป เพราะธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทยมีผู้เล่นหลัก 7-8 รายที่ครองส่วนแบ่งการตลาดรวม 90% จากผู้เล่นทั้งหมด 23 บริษัท กว่า 6 เดือนที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำเขาเชื่อว่ามีความเข้าใจองค์กรและวัฒนธรรมภายในมากเพียงพอที่จะผลักดันให้เกิดการก้าวไปข้างหน้า โดยที่ผ่านมากรุงเทพประกันชีวิตนับเป็นบริษัทรายแรกที่ได้รับอนุมัติให้ขายประกันออนไลน์เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแนวคิดใหม่และพัฒนาผลิตภัณฑ์บางประเภทให้เป็น one-side-fit-all ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะหลากหลายด้าน (multi-skills) เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รอดพ้นจากการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี “การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในธุรกิจประกันหรือที่เรียกว่า InsurTech มีบทบาทสูงขึ้นสำหรับประกันภัย แต่สำหรับประกันชีวิตยังไม่ตอบรับ InsurTech มากนัก เพราะยังไม่ถึงจุดที่ผู้บริโภคเสิร์ชหาข้อมูลประกันทางออนไลน์ ดิจิทัลจะทดแทนการขายได้ยาก แต่ช่วยทดแทนบริการได้เร็ว การนำเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นไปในลักษณะที่ให้ตัวแทนประกันใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการให้บริการ (service platform) การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (customer relationship) และเครื่องมือนำเสนอการขาย (offering) มากกว่านำมาใช้นำเสนอผลิตภัณฑ์แทนตัวแทนขาย อย่างไรก็ตามตัวแทนที่จะอยู่รอดได้ในอนาคตจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพ มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นด้วย” วิพล มั่นใจว่ากรุงเทพประกันชีวิตจะเป็นผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นในชีวิตการทำงานก่อนเกษียณ ที่มีความภูมิใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลงานชิ้นเอกสองชิ้นแรกซึ่งเขาเข้ารับตำแหน่งสูงสุดในช่วงที่บริษัทเผชิญกับวิกฤตอย่าง บีพี คาสตรอล ประเทศไทย และไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ช่วงที่เข้ารับตำแหน่งในบีพี คาสตรอล ประเทศไทย ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2551 พุ่งขึ้นถึง 140 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศแตะลิตรละ 40 บาท จากบริษัทที่เคยกำไร 20 ล้านเหรียญ ลดเหลือ 1 ล้านเหรียญ เขาสามารถพลิกสถานการณ์ในช่วง 6 ปี ให้กำไรกลับขึ้นมาที่ 27 ล้านเหรียญ ส่วนการเข้าสู่ธุรกิจประกันชีวิตนั้นเกิดขึ้นโดยความบังเอิญ วิพลเล่าปนเสียงหัวเราะในบางครา เมื่อย้อนถึงอดีตครั้งที่เขาเซ็นสัญญาเข้าทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ในตำแหน่งผู้บริหารที่ดูแลช่องทางจัดจำหน่าย แต่คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการ บริษัทไทยพาณิชย์ ประกันชีวิตในขณะนั้น กลับเชิญเขาไปสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้งเพียง 5 วันก่อนเริ่มงานเพื่อรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้บริษัทซึ่งเผชิญหน้ากับวิกฤตบุคลากร ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานลาออกถึง 30% “ผมตอบท่านสามประการ คือ หนึ่ง-ไม่ชอบประกันเลย สอง-ไม่ชอบตัวเลข สาม-มีความรู้ด้านประกันน้อยมาก ท่านตอบว่าที่ธนาคารมีคนเก่งที่รู้เรื่องนี้เต็มไปหมด ขาดเพียงแค่ผู้ที่จะมาสร้าง “คน” และ “โมเดลธุรกิจ” ซึ่งยังไม่มี ขอให้มาทำงานที่ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต มาทำงานด้วยใจได้ไหม” ด้วยนิสัยส่วนตัวที่ไม่เกี่ยงงาน ยินดีเรียนรู้เสมอแม้ไม่มีคนเห็นความสำคัญ เชื่อว่าการเรียนรู้และประสบการณ์เป็นคุณสมบัติติดตัวที่ช่วยให้เติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ว่าองค์กรใด วิพลจึงตัดสินใจเปิดประสบการณ์ใหม่ในธุรกิจการเงินที่ SCB LIFE กับก้าวแรกที่เดินตามลำพัง หลังประกาศนโยบายธุรกิจชัดเจน เขาร้องขอให้บุคลากรผู้พร้อมก้าวเดินไปด้วยกันเริ่มต้นทำงาน ส่วนผู้ที่ไม่พร้อมเดินหน้าขอให้ยุติด้วยการยื่นใบลาออกตรงนี้ เพื่อบริษัทจะได้ทราบจำนวนพนักงานที่พร้อมก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งนอกจากเลือดหยุดไหลแล้ว ยังมีพนักงานบางคนที่ลาออกไปขอกลับเข้าทำงานอีกครั้งด้วย วิพลเริ่มต้นเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจประกันชีวิต ไม่เกิน 1 ปี จากผู้ที่มีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับประกันชีวิต ทุกอย่างก็เริ่มลงตัว เขาใช้จุดแข็งและความชำนาญด้านการวางกลยุทธ์การตลาดและบริหารงานขาย บุกตะลุยให้องค์กรเดินหน้า ราคาหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในวันที่เริ่มต้นทำงานอยู่ที่ 290 กว่าบาท ค่อยเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 1,200 บาท ส่วนกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากกว่า 1.2 พันล้านบาท เป็นเกือบ 4 พันล้านบาทในปีที่สามนับจากวันแรกที่เขาเริ่มทำงาน เป็นเหตุให้ถูกดึงกลับมาที่ธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อบุกตะลุยด้านสินเชื่อแล้วหวนคืนสู่วงการประกันชีวิตอีกคราเพราะเสน่ห์ที่ไม่มีธุรกิจใดเหมือน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการเป็นผู้นำที่กรุงเทพประกันชีวิตในปัจจุบันมีความแตกต่างจากผลงานที่ผ่านมามากพอควรเพราะต้นทุนความรู้ของผู้นำองค์กรไม่ได้เริ่มจากศูนย์อีกต่อไป นอกจากนี้องค์กรก็มิได้เผชิญกับวิกฤต หากต้องการก้าวข้ามบางสิ่งบางอย่างเพื่อทะลุขีดจำกัดบางประการซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากกว่าการบริหารจัดการในช่วงวิกฤต แต่วิพลเชื่อว่าเขาสามารถใช้คุณลักษณะเด่น คือ super people-oriented ที่มุ่งมั่นในตัวคนจะเป็นเครื่องมือรังสรรค์อีกหนึ่งผลงานชิ้นเอก แม้วิพลยังมั่นใจในเป้าหมายการเติบโตเบี้ยประกันรับที่ 17% แต่มองว่าธุรกิจประกันชีวิตในปี 2561 ในภาพรวมแม้ยังมีการเติบโต แต่ขยายตัวในอัตราลดลงเหลือเพียงตัวเลขหนึ่งหลัก จะเห็นแนวโน้มการปรับตัวของบริษัทประกันที่หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองยิ่งกว่าเดิมและมุ่งสู่การตลาดดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ความใฝ่ฝันสูงสุดที่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ “ผู้เล่นทั้งอุตสาหกรรมร่วมมือกันผลักดันประกันชีวิตภาคบังคับให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มครองซึ่งช่วยลดภาระให้กับประเทศไทยซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย”   เรื่อง: ดรณ์ มาลัยธรรม ภาพประกอบ: มังกร สรพล
คลิกเพื่ออ่าน "วิพล วรเสาหฤท พลิก กรุงเทพประกันชีวิต คืนตำแหน่ง TOP 5" ฉบับเต็ม จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine