การนัดสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ด้วยการพูดคุยแบบสบายๆ กับ ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC
ท่ามกลางบรรยากาศท้องฟ้ามัวฝน และตลาดหุ้นดิ่งตัวลงแรง เนื่องจากเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศจ่ายเงินปันผลงวดระหว่างกาล เพื่อสำรองเงินไว้รองรับวิกฤตจากโควิด-19 ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องของ ธปท. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อพยุงสถาบันการเงิน รวมถึงมาตรการให้ปรับลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
“เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำธุรกิจใหม่เศรษฐกิจเริ่มไม่ดีมาตั้งแต่ปีที่แล้วและไม่ดีค่อนข้างมาก วิกฤตโควิด-19 กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และกระทบในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงลูกค้าของเราด้วย เราจะอยู่ในธุรกิจแบบเดิมไม่ได้" ซีอีโอหนุ่มย้ำหนักแน่นหลังจากเขาได้รับความไว้วางใจให้เป็นแม่ทัพใหญ่นำพา KTC ต่อไปข้างหน้าอีก 3 ปี นับจากธันวาคม 2562 เขาเข้ามานั่งบริหาร KTC ก่อนหน้านี้หลายปี ผลงานที่ผ่านมาถือว่าโดดเด่นพลิกฟื้นบริษัทให้กลับมามีกำไรอย่างต่อเนื่อง กระทั่งจัดเป็นหุ้นขวัญใจมหาชนตัวหนึ่ง
ในปี 2562 ระเฑียรได้รับรางวัลผู้บริหารสูงสุดยอดเยี่ยม (Best CEO Awards) และรางวัลบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น (Outstanding Company Performance Awards) เป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือการบริหารของเขา
- 3 ปีนับจากนี้ทำธุรกิจไม่ง่าย
ภายใต้สภาพแวดล้อมปัจจุบันระเฑียรมองว่า การทำธุรกิจ 3 ปีนับจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าจะมีเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าจะนำพาธุรกิจไปอย่างไร เพราะ vision คือสิ่งที่คิดไว้ แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการทำให้ได้ตามที่คิด และทำให้คนเดินตามในสิ่งที่เขาต้องการ แม้ที่ผ่านมาทำได้แต่ก็ต่างกรรมต่างวาระ เขามองว่าขณะนี้มีความยากมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า KTC ไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤตและช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยมานาน ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าไปต่อได้ และต้องให้คนรุ่นใหม่มานำทีมเพื่อนำพาองค์กรก้าวต่อไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจัยที่มีผลกระทบอย่างมากและรุนแรงต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ อีกทั้งเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในปัจจัยเสี่ยงที่นำมาคำนึงในการทำแผนธุรกิจคือ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังรุนแรงทั่วโลก
“business model ของเราทำได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ผ่านมาไม่ว่าเศรษฐกิจจะโตหรือชะลอตัว แต่ก็เกิดในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเราสามารถทำนายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน เราไม่เคยคิดว่าจู่ๆ จะมีการปิดบ้านปิดเมือง ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักยาวนานขนาดนี้” ซีอีโอบัตรเครดิตสัญชาติไทยออกตัว และว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ทุกประเทศต้องออกมาตรการปิดเมืองเพื่อชะลอการระบาด เมื่อมีการปิดเมืองทำให้การเคลื่อนย้ายคนหยุดชะงักธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกระทบหมด
- โควิด-19 กระทบคุณภาพสินทรัพย์
แม่ทัพ KTC เผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นกระทบต่อคุณภาพของสินทรัพย์ เนื่องจากเป็นธุรกิจการเงินซึ่งลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดาที่เมื่อมีรายได้ประจำก็สามารถคืนเงินได้ แต่เมื่อไม่มีรายได้ก็มีปัญหาการคืนเงิน “จริงอยู่เศรษฐกิจชะลอทำให้คุณภาพของสินทรัพย์เราด้อยลงมากแต่ก็เป็นการด้อยค่าลงที่เราประเมินได้ และดำเนินการป้องกันไม่ให้เสื่อม ด้วยการตั้งสำรองให้เพียงพอ” ระเฑียรเผยแนวทางรับมือก่อนจะอธิบายต่อไปว่า เมื่อมีการปิดเมืองในช่วงเดือนมีนาคมได้เห็นผลกระทบในจำนวนที่มากขึ้น ถัดมาในเดือนเมษายนยังเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นที่มาของการออกมาตรการประกาศผ่อนปรนการตั้งสำรองหรือการรับรู้ NPL ของทั้งระบบ เพื่อให้สถาบันการเงินทั้งระบบช่วยเหลือลูกค้า
“รอบนี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักมาก คนว่างงานมากขึ้น และผลกระทบมีมากความสามารถในการชำระเงินของลูกค้าลดลง คุณภาพพอร์ตลดลง แม้ในวิกฤตมีโอกาสก็จริงแต่ก็ต้องแน่ใจว่า เราผ่อนปรนแล้วลูกค้าทำได้ ถ้าไม่ไหวจริงต้องยอมรับความจริง” ซีอีโอบัตรกรุงไทยย้ำและว่า การทำธุรกิจของ KTC ถ้าเป็นลูกค้าบริษัทแม้จะเห็นว่าอยู่ในธุรกิจที่กระทบรุนแรงก็ไม่ตัดวงเงิน เพราะรู้ว่าลูกค้าจะไม่หยุดพยายามดิ้นรนหางานใหม่ เขาบอกว่านี่คือจรรยาบรรณทางธุรกิจ “เราเคยได้รับประโยชน์จากลูกค้า ยามเขาได้รับผลกระทบเราก็ต้องดูแล”
ในแง่การทำธุรกิจ KTC ยังคงตั้งสำรองตามเกณฑ์ปกติเพราะอยากรู้ข้อเท็จจริง “มาตรการผ่อนปรนกับคุณภาพสินทรัพย์จะสร้างความสงสัยแก่นักลงทุน ดังนั้นจึงใช้มาตรการปกติทำให้เห็นว่าผลดำเนินงานงวดเดือนเมษายนเรากระทบเยอะ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นเดือนมิถุนายน คุณภาพสินทรัพย์ก็ดีขึ้น แต่เมื่อทางการประกาศลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เหลือ 16% ลดเพดานสินเชื่อบุคคลจาก 28% เหลือ 25% ก็กระทบกับเรา เพราะว่าการลดดอกเบี้ย ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างเท่าเดิมหรืออาจสูงขึ้น เพราะว่าจะต้องมีมาตรการดูแลไม่ให้คุณภาพสินทรัพย์เสื่อมลง แต่รายได้จากดอกเบี้ยลดลงย่อมกระทบกับกำไร” ซึ่งเห็นได้ชัดเจน
ผลดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2563 และงวดครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,149 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 1,232 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,790 ล้านบาท หดตัว 4% (ตามลำดับ)
- ปรับโมเดลเน้นสินเชื่อมีหลักประกัน
ธุรกิจเดิมของ KTC คือ บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ซึ่งระเฑียรยอมรับว่า เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก จึงเป็นการตอกย้ำว่า business model เดิมไม่น่าสนใจในสถานการณ์ขณะนี้ เขาจึงมองหา business model ใหม่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปการจะหลุดออกจากวงจรผลกระทบนี้ได้จำเป็นต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่ให้เหมาะสม
แนวทางของแม่ทัพ KTC คือ จะมุ่งไปสู่การทำธุรกิจ “สินเชื่อที่มีหลักประกัน” เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียน คือ “พี่เบิ้ม” ซึ่งได้เริ่มขยายตลาดไปเมื่อเดือนกรกฎาคม หลังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีฐานลูกค้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศตลาดนี้ถือว่ายังมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงมาก
ล่าสุดเมื่อช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 2563 บัตรกรุงไทยได้เปิดตัวธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ภายใต้ชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” อย่างเป็นทางการ หลังจากได้ทดลองตลาดมาก่อนหน้า ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี เพราะสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 100 ล้านบาท ก่อนสิ้นปีน่าจะปิดเป้าได้ที่ 200 ล้านบาท ส่วนปี 2564 จะขยับเป้าหมายขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท
เคทีซี พี่เบิ้ม มุ่งเน้นให้บริการรับสมัครและอนุมัติสินเชื่อถึงที่ หรือพี่เบิ้ม ดิลิเวอรี่ ลูกค้าสามารถทราบผลการอนุมัติและได้รับเงินเข้าบัญชีภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ แผนการตลาดระยะแรกจะเน้นเข้าถึงสมาชิกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
นอกจากนี้ ยังได้ขยายไปสินเชื่อประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่สามารถทำกำไรได้ในอนาคต เพียงแต่ต้องศึกษาตลาดเหล่านี้ให้ดีก่อน ส่วนธุรกิจเดิมคือ บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกันในอนาคตไม่ได้หายไปไหนแต่จะค่อยๆ มีสัดส่วนที่เล็กลง หรือเติบโตช้าลง ซึ่งตอนนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญและจะต้องมีกลยุทธ์เสริมเพื่อบาลานซ์ภาพรวม
ส่วนภายในองค์กรเองบริษัทยังได้มีการปรับขบวนการทำงานภายในเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก็พบว่าการทำในเรื่องดังกล่าวทำให้สามารถประหยัดต้นทุน และค่าใช้จ่ายได้มากถึง 30% อีกทั้งมีการขยับทีมงานและนำไปใช้ในงานที่ต้องการขยายได้
รวมทั้งมีการปรับปรุงระบบด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งระเฑียรบอกว่าเป็นสิ่งที่คิดมาหลายปีแล้ว และวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้เร่งตัวเร็วขึ้น โดยเริ่มนำเทคโนโลยีมาผนวกใช้กับคน เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคนยังสำคัญกว่านั้นเอง
เรื่อง: ยินดี ฤตวิรุฬห์ ภาพ: API
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ระเฑียร ศรีมงคล ปรับโมเดลธุรกิจ KTC ฝ่าวิกฤตโควิด-19" และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine