จักรพงษ์ ศานติรัตน์ เร่งสปีด Triumph สู่เส้นชัย - Forbes Thailand

จักรพงษ์ ศานติรัตน์ เร่งสปีด Triumph สู่เส้นชัย

เมื่อมอเตอร์ไซค์ “บิ๊กไบค์” ไม่ได้เป็นเพียงพาหนะ แต่เป็นการประกาศก้องถึงไลฟ์สไตล์ ตัวตน และรสนิยมการขับขี่ของผู้เป็นเจ้าของได้อย่างชัดเจน ตลาดบิ๊กไบค์ในไทยจึงอ้าแขนต้อนรับบิ๊กไบค์แบรนด์ระดับโลกหลายรายซึ่งแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ

“ผมอยากทำธุรกิจที่ตอบสนอง passion และ emotion ของลูกค้า ซึ่งพรีเมียม บิ๊กไบค์ตอบโจทย์ตรงนี้ได้” จักรพงษ์ ศานติรัตน์ วัย 35 ปี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หนึ่งในผู้เล่นสำคัญในตลาดบิ๊กไบค์เมืองไทย เปิดฉากบทสนทนากับ Forbes Thailand ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นชัดเจน สำหรับประเทศไทย Triumph Motorcycles ก่อตั้งโรงงานผลิตมอเตอร์ไซค์เต็มรูปแบบแห่งที่ 2 ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครในปี 2542 และดำเนินการผลิตในราวปี 2545 ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี ปัจจุบันโรงงานในไทยมีกำลังการผลิต 65-70% ของยอดการผลิตทั่วโลก ซึ่งกำลังการผลิตสูงสุดในไทยอยู่ที่ 60,000 คันต่อปี

ดีเอ็นเอนักบิด

“คงเป็นเพราะคุณพ่อของผมชอบรถเลยถ่ายทอดดีเอ็นเอด้านนี้มาให้ผม” จักรพงษ์เล่าถึงแรงบันดาลใจในวัยเยาว์เขาเรียนสายวิชาชีพด้านเครื่องยนต์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ก่อนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเดียวกันได้งานแรกเป็นวิศวกรดูแลด้านไฟเบอร์ออพติคในกลุ่มบริษัท Fujikura ใน จ.ลำพูน แล้วมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ทำงานที่ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนเบนเข็มไปสู่สายงานที่เนื้องานเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ปี 2550 จักรพงษ์ทำงานใน บริษัท วอลโว่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจรถบรรทุก เริ่มจากวิศวกรฝ่ายขาย ก่อนเป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาด ช่วยวางแผนให้การขนส่งสินค้าของลูกค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประหยัดต้นทุน และได้กำไรมากที่สุด หลังสั่งสมประสบการณ์ได้ 4 ปี ก็ขยับเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ ดูแลกลุ่มประเทศ CLMV และฟิลิปปินส์ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไปในอีก 1 ปีถัดมา จนได้คุยกับ Triumph Motorcycles ที่กำลังมาเปิดสำนักงานในไทย “มอเตอร์ไซค์น่าจะเติมเต็มในส่วนที่ผมขาดไปเรื่องธุรกิจ B2C ซึ่งผมน่าจะได้ใช้ประสบการณ์ที่มีมาช่วยให้ตลาดโตไปได้”

แซงโค้งสู่เจ้าตลาด

“พรีเมียม บิ๊กไบค์” แต่เดิม Triumph Motorcycles มีผู้จัดจำหน่ายในไทยคือ บริษัท บริทไบค์ จำกัด ซึ่งได้รับสิทธิอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2551 ต่อมาเมื่อตลาด “พรีเมียม บิ๊กไบค์” ซึ่ง Triumph ให้นิยามว่าคือมอเตอร์ไซค์จากค่ายยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีเครื่องยนต์ขนาดความจุ 500 ซีซีขึ้นไปได้รับความนิยมมากขึ้น ปี 2558 Triumph Motorcycles จึงเข้ามาสร้างแบรนด์และวางกลยุทธ์การตลาดเอง ด้วยการปรับโครงสร้างของไทรอัมพ์ มอเตอร์ ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) ให้มีฝ่ายคอมเมอร์เชียลซึ่งจักรพงษ์เป็นผู้ดูแล เห็นได้จากบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2559 ซึ่งระบุว่าภาพรวมตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนั้นน่าจะมียอดขาย 1.64-1.67 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่า 1.01 แสนล้านบาท มอเตอร์ไซค์ขนาดความจุ 151-400 ซีซี มีส่วนแบ่งตลาด 64% ส่วนมอเตอร์ไซค์ความจุ 400 ซีซีขึ้นไป หรือ “บิ๊กไบค์” มีส่วนแบ่งตลาด 36% ถึงราคาโดยรวมของบิ๊กไบค์ฝั่งตะวันตกจะสูงกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นกว่า 60% “ถ้าดูจากยอดการจดทะเบียนก็ถือว่า Triumph เป็นเบอร์ต้นในตลาดพรีเมียมบิ๊กไบค์ เรามาถึงตรงนี้ได้ก็ด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่ง พนักงานทุกคนและดีลเลอร์ทุกราย” หัวเรือใหญ่ฝั่งคอมเมอร์เชียลเอ่ยอย่างภาคภูมิใจ และเผยว่า Triumph ในไทยมีปริมาณจำหน่ายมากสุดเมื่อเทียบกับประเทศในทวีปเอเชียอย่างญี่ปุ่นและอินเดียที่บริษัทเข้าไปทำตลาดโดยตรง

เจาะกลยุทธ์ครองใจนักขับ

สิ่งที่ทำให้ Triumph ครองความนิยมในหมู่นักขับได้นั้น จักรพงษ์กล่าวว่ามีด้วยกัน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ สถานที่ และคนปัจจุบันพรีเมียมสำหรับการจัดตั้งโชว์รูมทุกแห่งของ Triumph มีมาตรฐานเดียวกันกับทั่วโลกด้วยการจัดแสดงพรีเมียม บิ๊กไบค์ ทุกรุ่นและเกือบทุกสี นำเสนออุปกรณ์ตกแต่งรถและเครื่องแต่งกาย ให้ลูกค้าได้ทดลองขับขี่พร้อมสร้างบรรยากาศให้โชว์รูมเป็นชุมชนของผู้รักการขับขี่ เสนอให้ดีลเลอร์ของTriumph ทั้ง 11 รายในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจัดวันเดย์ทริปให้ลูกค้าทุกเดือน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและร่วมขับขี่ไปด้วยกัน “ซื้อรถแล้วต้องมีกิจกรรม นี่คือการพัฒนาเรื่อง premium riding experience” จักรพงษ์ย้ำ สุดท้ายเป็นเรื่องคน พนักงานต้องมีใจรักในงานบริการ เข้าใจความต้องการของลูกค้าระดับบน แม้ Triumph จะเดินเกมไปข้างหน้าแต่แบรนด์อื่นก็พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อก้าวสู่ความเป็นที่หนึ่งในธุรกิจพรีเมียมบิ๊กไบค์ ด้วยเช่นกัน เป้าหมายของจักรพงษ์ต่อไปนี้คือการรักษาตำแหน่งเจ้าตลาดพรีเมียม บิ๊กไบค์เขามองการเติบโตของตลาดว่าปีนี้น่าจะมียอดจดทะเบียนสูงขึ้น 10% เป็นราว 6,600 คัน แบรนด์ Triumph ก็น่าจะโตด้วยตัวเลข เดียวกันสู่ยอดจดทะเบียนราว 2,800 คัน ซึ่ง 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 43% ของตลาดแล้ว “การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ และต่อไปก็จะเข้มข้นขึ้น แต่ผมมองเป็นความท้าทายมากกว่าจะมองเป็นปัญหา เพราะท้ายสุดประโยชน์ก็จะตกกับลูกค้าอย่างแท้จริง” แม้ทีมงานของจักรพงษ์จะมีเพียง 14 คน ขณะที่ฝ่ายการผลิตมี 1,200 คน แต่เขาก็ยึดหลักวัฒนธรรมองค์กร 4 ข้ออย่างเคร่งครัดคือ “Respectful” เคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกัน เพราะบริษัทมีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ความคิด ฯลฯ ซึ่งช่วยให้เกิดความคิดใหม่ๆ “Open” เปิดให้พนักงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันหรือกับผู้บริหาร “Partnership” ทั้งความสัมพันธ์อันดีภายในทีมงานที่ถึงจะมีจำนวนไม่มาก แต่ทุกคนล้วนมีบทบาทขับเคลื่อนธุรกิจในประเทศนั้นๆ และกับดีลเลอร์ที่ต้องเติบโตไปพร้อมกับบริษัท สุดท้ายคือ “Efficient” ทำางานอย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมยืดหยุ่น เรียงกันเป็นคำาว่า “ROPE” คือเชือกที่ร้อยทุกคนไว้ด้วยกันและพาองค์กรก้าวไปข้างหน้า
คลิกอ่าน "จักรพงษ์ ศานติรัตน์ เร่งสปีด Triumph สู่เส้นชัย” โฉมใหม่ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine