คณิสสร์ ศรีวชิระประภา ขับเคลื่อน “NEX” รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์อันดับ 1 อาเซียน - Forbes Thailand

คณิสสร์ ศรีวชิระประภา ขับเคลื่อน “NEX” รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์อันดับ 1 อาเซียน

ผู้บริโภคไทยตอบรับยนตรกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ยืนยันได้จากยอดขายในงาน Motor Expo 2023 รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ก็เช่นเดียวกัน กระแสตอบรับดี แต่สนามแข่งนี้ยังมีผู้เล่นน้อยราย


    งาน Motor Expo 2023 เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ทะลุเป้าถึง 53,248 คัน (ข้อมูลโดยผู้จัดงาน) ในจำนวนนี้มีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) มากถึง 38.4% หรือราว 20,447 คัน สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

    แน่นอนในจำนวนนี้เป็นรถ EV ในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (passenger car) เป็นหลัก ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ (commercial EV) ยังเป็นส่วนน้อยเนื่องจากมีผู้เล่นน้อยราย แต่ก็สามารถทำยอดขายในงานได้ 229 คัน

    “NEX ไปออกบูธในงาน Motor Expo 2023 มียอดขายน่าพอใจ กระแสตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ถือว่าดีทีเดียว” คณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เริ่มต้นบทสัมภาษณ์กับทีมงาน Forbes Thailand ในช่วง 4 วันสุดท้ายของงาน Motor Expo 2023 ซึ่งตอนนั้น NEX มียอดจองรถในงานแล้ว 181 คัน เป็นสัญญาณแห่งการตอบรับที่ดี


สบช่องตลาด EV มาแรง

    สิ่งที่คณิสสร์บอกเล่าสอดคล้องกับภาพที่เกิดขึ้น “งาน Motor Expo ครั้งนี้รถไฟฟ้าจีนมาแรงมาก บูธใหญ่กว่า 90% เป็นรถจีนทั้งหมด ทำยอดขายแซงเจ้าตลาดเดิมทั้ง Toyota, Honda แม้กระทั่งแบรนด์จีนเข้าใหม่อย่าง CHANGAN ก็ขายดี” คณิสสร์ย้ำด้วยรอยยิ้มที่บ่งบอกความเชื่อมั่นว่าตลาดเปิดรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากขึ้น แม้เขาจะไม่ใช่ผู้นำเข้ารถไฟฟ้าแบรนด์จีนในกลุ่มรถนั่งส่วนบุคคล แต่เขาทำธุรกิจผลิตนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์จากจีน

    และล่าสุดยังได้เปิดตัวรถพิกอัปไฟฟ้า 100% ในแบรนด์ของตัวเองคือ NEX ซึ่งเป็นรถพิกอัปขนาด 2.5 ตันรายแรกและรายเดียวในไทยผลิตที่โรงงานเน็กซ์ พอยท์ เพิ่งนำมาเปิดตัวพร้อมขายในงาน Motor Expo ครั้งล่าสุด โดยลูกค้าที่จองซื้อจะต้องรอส่งมอบรถเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อให้โรงงานที่ฉะเชิงเทราทำการผลิตตามคำสั่งซื้อที่ได้มา

    การเปิดตัวรถพิกอัปไฟฟ้าในงานนี้เป็นไปตามเป้าหมายของ NEX ที่ต้องการขยายฐานกลุ่มสินค้ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ จากเดิมที่ทำเฉพาะรถบรรทุก-รถหัวลาก และรถบัสเป็นหลัก แต่การพัฒนาไม่ได้หยุดนิ่ง เขาทดลองทำรถพิกอัปออกมาใช้ราว 6 เดือนจนมั่นใจในสมรรถนะก่อนเปิดตัวสู่ตลาดและกวาดยอดขายมาได้จำนวนหนึ่ง


    คณิสสร์ หรือชื่อเดิมคือ Lin Kenuo (หลิน เข่อนั่ว) มาจากตระกูลลิ้ม เป็นชาวจีนโดยกำเนิด บิดาและมารดาเป็นชาวจีน บ้านเกิดอยู่ที่ Shantou แต่มาเรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาดและภาษาที่ Beijing เขาเลือกเรียนภาษาไทยควบคู่ไปด้วยจึงสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี และมีโอกาสได้มาทำงานที่ประเทศไทยจนกระทั่งได้สัญชาติไทย

    การทำงานในไทยเหมือนเปิดโลกใบใหม่ให้บัณฑิตหนุ่มจาก Beijing ผู้ซึ่งมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างอัตคัด บิดาเขาป่วยต้องผ่าตัดสมอง มารดาไม่ได้ทำงาน เขาเป็นบุตรเพียงคนเดียวจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัว

    ก่อนจะก้าวสู่การเป็นเจ้าของกิจการ NEX คณิสสร์เคยทำงานให้กับบริษัทนำเข้าส่งออกรายหนึ่งซึ่งได้ออฟเฟอร์การทำงานในไทยให้เขาถึง Beijing ด้วยข้อเสนอเงินเดือน 25,000 บาท แต่พอมาทำจริงเขากลับได้เงินเดือนเพียง 7,000 บาท

    “ตอนนั้นทองคำ 1 บาทประมาณ 7,000 ทำงานทั้งเดือนซื้อทองได้บาทเดียว แต่ผมไม่โกรธนะ ต้องขอบคุณเจ้านายเก่าด้วยซ้ำ ถ้าเขาเลี้ยงดูอย่างดีป่านนี้ผมคงยังเป็นลูกจ้างอยู่” เขาเผยด้วยท่าทางจริงจังก่อนจะเล่าต่อไปว่า เมื่อรายได้ไม่พอใช้ เขาจึงดิ้นรนหางานอื่นทำเพื่อให้มีรายได้มากพอสำหรับส่งเสียครอบครัว

    เริ่มต้นจากการขายแบตโทรศัพท์มือถือและนำเข้าสินค้าอื่นๆ แบบซื้อมาขายไป กระทั่งเขาได้พบกับบริษัทรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าจากจีนที่ต้องการมาขยายตลาดในไทยแต่เจรจากับพาร์ตเนอร์เป้าหมายไม่สำเร็จ จึงหันมาถามคณิสสร์ว่า “คุณจะทำไหม” ช่วงนั้นเขาเริ่มมีเงินเก็บจึงตัดสินใจรับข้อเสนอทั้งที่รู้ว่าเสี่ยง

    “เถ้าแก่จีนมา survey เปิดตลาดรถ Golden Dragon แล้วกลับไปตั้งโรงงานอีกแห่งที่ Shanghai ทำรถ Sunlong นี่เป็นจุดเริ่มต้นในวงการถยนต์ โดยผมเป็นตัวแทนทำตลาดที่เมืองไทย” คณิสสร์เล่าย้อนที่มาของการเข้าสู่วงการรถยนต์ด้วยโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะความเป็นรถยนต์แบรนด์จีน การเปิดตลาดในไทยยุคนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ใช้แบรนด์ญี่ปุ่นและยุโรปเป็นหลัก


จากรถบรรทุกสู่พิกอัป NEX

    “ผมต้องใช้เวลากว่าจะสร้างการยอมรับ คนไม่มั่นใจรถจีน ผมจึงประกาศเลยว่า หากรถเสียจะเปลี่ยนคันใหม่ให้ไม่ต้องซ่อม โปรแรงขนาดนี้ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 3 ปีในการสร้างความเชื่อมั่น” ซีอีโอ NEX เผยและว่า ราคารถบรรทุกจีนยุคนั้นห่างจากรถญี่ปุ่นไม่ถึง 15% แต่คนไม่รู้จักมาก่อนจึงไม่มั่นใจ

    เขาสร้างความเชื่อมั่นด้วยการทำจริงอย่างที่ประกาศคือ เปลี่ยนรถคันใหม่ให้เมื่อรถเสีย ทำให้ได้การยอมรับมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันเขาขายรถบรรทุกและรถบัสไฟฟ้าจีนในไทยไปมากกว่า 10,000 คัน ในระยะ 5-6 ปี และมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องทั้งรถบรรทุกและรถบัส จนกระทั่งผลิตส่งแทบไม่ทัน รวมถึงรถเมล์ไฟฟ้าของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สั่งซื้อไปกว่า 3,000 คัน

    “ด้วยสมรรถนะของรถและจุดขาย ผมเชื่อว่าตลาดพิกอัปไฟฟ้าน่าจะไปได้ดี” คณิสสร์ย้ำและว่า รถพิกอัปไฟฟ้ารุ่นนี้ถือเป็นแบรนด์ไทย 100% ผลิตในโรงงานหลักของบริษัทที่บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา เช่นเดียวกับรถบรรทุกและรถบัส


    ที่สำคัญการเป็นผู้ผลิตเองย่อมมีความพร้อมด้านบริการและอะไหล่ ลูกค้ามั่นใจได้ว่าซื้อรถพิกอัป NEX ไม่ต้องกลัวเรื่องการซ่อม และที่สำคัญเรื่องแบตเตอรี่ที่ NEX มีโรงงานผลิตด้วย ยิ่งทำให้การซ่อมแซมแบตสามารถทำได้ด้วยการแยกโมดูลออกมาซ่อมตามการชำรุด ไม่ต้องจ่ายเงินเปลี่ยนแบตทั้งก้อนซึ่งแพงมากและถือเป็นจุดอ่อนของรถไฟฟ้าที่ขายอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

    คณิสสร์ยังเผยมุมมองที่มีต่อตลาดรถพิกอัปไทยด้วยว่า รถพิกอัปหรือรถกระบะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญของไทย ปีหนึ่งผลิตกว่า 500,000 คัน ส่งออกและขายในประเทศอย่างละครึ่ง มีผู้เล่นหลักเพียง 3 ยี่ห้อคือ Isuzu, Toyota และ Ford

    ดังนั้น ตลาดรถรถพิกอัปถือเป็นตลาดใหญ่ที่ NEX โฟกัสเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันรถพิกอัปไฟฟ้าญี่ปุ่นในไทยยังไม่มี ส่วน Isuzu เตรียมจะมาในปี 2567 แต่ซัพพลายเชนญี่ปุ่นยังสู้จีนไม่ได้เพราะวอลูมยังน้อย เหตุผลเพราะญี่ปุ่นทำรถเครื่องยนต์สันดาปอยู่ก่อนย่อมไม่อยากตีตลาดตัวเอง

    “ลองดูการเปลี่ยนแปลงจากกรณี Kodak ที่เป็นเบอร์ 1 ของโลกด้านกล้องและฟิล์ม ยอม disrupt ตัวเองออกมาผลิตกล้องดิจิทัล แต่ก็ลังเลไปมาจนถูก disrupt ออกจากตลาด”

    เขามองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังเดินไปจุดเดียวกับ Kodak เพราะญี่ปุ่นแม้จะทำรถไฟฟ้าแต่ก็ไม่ทุ่มเต็มที่ เช่น Nissan Leaf เปิดตัวในไทยมาหลายปียังไม่ติดตลาด เพราะมีความกังวลว่าจะแข่งกับตลาดรถยนต์สันดาปที่ตัวเองทำอยู่ ดังนั้น อนาคตรถยนต์ญี่ปุ่นอาจถูกชดเชยด้วยรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนซึ่งพัฒนามานานและเทคโนโลยีก้าวล้ำไปมาก


ร่วมทุนจีนตั้งโรงงานแบตในไทย

    เนื่องจากรถไฟฟ้าหัวใจหลักคือแบตเตอรี่ การจะทำให้ธุรกิจนี้ครบไลน์การผลิตจึงจำเป็นต้องมีโรงงานแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบในระบบนิเวศด้วย ซึ่งปัจจุบัน NEX และ EA (Energy Absolute Public Company Limited) หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NEX อยู่แล้ว ได้จับมือกับ บริษัท อีวีอี (EVE Energy) บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีน เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ ที่ฉะเชิงเทรา (นิคมฯ ของ EA) ซึ่งจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ฮาว รองรับแบตเตอรี่รถไฟฟ้าได้ทุกยี่ห้อ

    “รถบรรทุกตอบรับดีมาก ปัจจุบันเราได้ออร์เดอร์รถหัวลาก 1,000 กว่าคันเข้ามาแล้ว รถเทลเลอร์หัวลากทั้งตลาดมีประมาณ 2,000 คัน ปิดการขายไปพันกว่าคัน ถ้าปีนี้ขายได้ 2,000 คัน เท่ากับเราได้ทั้งหมด” เป็นสถานการณ์ตลาดที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งคณิสสร์ค่อนข้างมั่นใจเนื่องจากมีปัจจัยเสริมหลายอย่าง โดยเฉพาะการที่กลุ่มบริษัทผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามนโยบายเรื่องความยั่งยืนเพื่อจะขายสินค้าเข้าไปยังยุโรป โดยรถยนต์ที่ใช้ขนส่งนั้นเป็นสโคป 3 ที่ผู้ส่งออกต้องทำ




เป้าหมายที่ 1 ในอาเซียน

    “เป้าหมาย NEX ต้องมียอดขายอันดับ 1 ของรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในอาเซียนได้ภายใน 3 ปี โดยคู่แข่งยังเป็นรถน้ำมันจากญี่ปุ่น แม้จะเรียกว่าคนละเวที แต่เขาเป็นเจ้าตลาดอยู่ เราต้องบุกมากขึ้น” คณิสสร์เผยเป้าหมายที่อยู่ในใจหลังประเมินสถานการณ์ตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ในภาพรวมทั้งอาเซียน

    การที่ NEX มีโรงงานผลิตรถยนต์เอง รวมถึงมีโรงงานแบตเตอรี่และอุปกรณ์อื่นๆ อย่างครบวงจรทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง เพราะสามารถส่งรถที่ผลิตไปขายในอาเซียนโดยปลอดภาษี ซึ่งหากจีนจะนำรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์มาขายในประเทศอาเซียนยังคงต้องเสียภาษี และปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของจีนยังไม่มีฐานผลิตในไทย

    NEX กำลังขยายตลาดในอาเซียนด้วยการตั้งตัวแทนจำหน่ายที่เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งนำรถบรรทุกกับรถบัสไปขาย โดยอยู่ในช่วงขอจดทะเบียนที่ประเทศเหล่านั้น ซึ่งได้สิทธิพิเศษสำหรับรถยนต์ที่ประกอบในไทยส่งไปขายภาษี 0% “โดยเฉพาะเวียดนาม ไทย ได้เปรียบมากเพราะภาษี 0% แต่หากเป็นรถที่ผลิตมาจากจีนต้องเสียภาษีถึง 70% ต่อให้เราบวกราคา 20-30% ก็ยังถูกว่ารถที่มาจากจีน” เขาเผยด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าอนาคตตลาดในเวียดนามสดใสแน่นอน


    ตลาดอาเซียนเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน ในขณะที่ตลาดในประเทศก็เติบโตสูงเช่นกัน ดูจากผลประกอบการบริษัทใน 3 ไตรมาสของปี 2566 NEX มีรายได้กว่า 7 พันล้านบาท ยอดถึงสิ้นปี 2566 รายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน เพราะยังมีรถเมล์รอส่งมอบอีก 1,000 คัน รถหัวลากอีกกว่า 1,000 คัน ออร์เดอร์เข้ามากจนทำให้โรงงานต้องเพิ่มกะผลิตเป็น 2 เท่า

    “ความเสี่ยงในธุรกิจเองไม่มี แต่เนื่องจากคนที่หันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเปรียบการใช้งานเทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมันราคาน้ำมันเป็นตัวแปรสำคัญ ยิ่งแนวโน้มสงครามและการเมืองภูมิภาคทำให้ต้นทุนแพง”

    เขาอธิบายว่า ทิศทางราคาน้ำมันทั้งในระยะสั้นระยะกลางจะไม่ถูกลงแน่นอน เป็นปัจจัยบวกให้คนหันมาเลือกรถยนต์ไฟฟ้า เห็นได้ชัดจากงานขายรถยนต์ที่ผ่านมาที่พบว่า รถไฟฟ้าได้รับความนิยมมาก

    นอกจากนี้นโยบายรัฐบาลยังให้การส่งเสริมด้วยส่วนลด และที่สำคัญนโยบายของภาคพื้นยุโรปในปี 2573 รถทุกคันที่วิ่งเข้ายุโรปต้องจดทะเบียนเป็นรถไฟฟ้า จะเห็นว่าทั้งนโยบายภาครัฐและความเสี่ยงราคาน้ำมันล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า


    “เทรนด์รถไฟฟ้ามาแล้ว” คณิสสร์ย้ำว่า เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาแรงอย่างไม่ต้องสงสัย เทียบจากการเติบโตของ NEX ช่วงปลายปี 2566 มีการประชุมดีลเลอร์ทั่วประเทศที่ขายรถให้บริษัทมีอยู่ 15 แห่ง แต่ในปี 2567 จะเพิ่มเป็น 30 แห่ง อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่า การขยายดีลเลอร์จะทำแบบพอดี โดยการบาลานซ์ให้รองรับได้ทุกจังหวัด แต่ไม่มากเกินไป และจะไม่ทำให้คู่ค้าลำบาก

    “ผมคิดว่าขณะนี้ไม่ควรลังเลการใช้ ยุคของรถไฟฟ้ามาถึงแล้ว ถ้าคุณตามยุคนี้ไม่ทัน ตกรถเลย เหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามไม่ทันจะเสียโอกาสตกขบวน เพราะฉะนั้นไม่ควรลังเลแต่ควรวิ่งเข้าหาด้วยซ้ำ” คณิสสร์ย้ำหนักแน่นถึงเทรนด์การใช้รถไฟฟ้าในไทยว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับสโลแกนที่ NEX ประกาศไว้ว่า “Drive The Better Future Drive EV”


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : VinFast อีวีเวียดนามที่ขอทะยานฝัน สู่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในรูปแบบ e-magazine