บทพิสูจน์ฝีมือคนไทยกับการแจ้งเกิด mPOS ครั้งแรกในเอเชีย พร้อมต่อยอดสมาร์ทโฟนให้เป็นมากกว่าเครื่องรูดบัตรเครดิตรุกหน้าตอบโจทย์ความต้องการด้านการเงินข้ามพรมแดน
เมื่อสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตสามารถแปลงร่างเป็นช่องทางการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เพียงแค่ใช้เครื่องอ่านการ์ดขนาดเล็กเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สื่อสารในมือโดยตรง ด้วยค่าใช้จ่ายเพียง 2.75% ธุรกรรมทางการเงินก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเวลา ภายใต้แนวคิดเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายของ Jack Dorsey ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ ซึ่งต้องการช่วยแก้ปัญหาให้กับเพื่อนศิลปินของเขาที่ไม่สามารถรับชำระบัตรเครดิตจำหน่ายผลงานมูลค่า 2,000 เหรียญสหรัฐฯ ได้ทันทีที่ “Square” แจ้งเกิดโดย Jack Dorsey ในปี 2553 ความเปลี่ยนแปลงในโลกการเงินและระบบการชำระเงินของสหรัฐอเมริกาก็ได้รับการจับตา พร้อมส่งแรงบันดาลใจผลักดันให้ นพพร ด่านชัยนาม ชายหนุ่มวัย 27 ปีทิ้งเก้าอี้ Solution Architect และยื่นใบลาออกจากบริษัท Freewill FX ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง เพื่อทุ่มเทให้กับการพัฒนา Square ในแบบฉบับของคนไทย พร้อมเปิดมิติการทำธุรกรรมใช้บัตรเครดิตชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนครั้งแรกในโซนเอเชีย นพพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด (Digio) ให้คำตอบง่ายๆ ของการตัดสินใจครั้งใหญ่ในครั้งนั้นกับ Forbes Thailand ว่า “ไม่สนุก” เมื่อบริษัทที่ปลุกปั้นมากับมือ ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและเครื่องวัดสัญญาณมือถือให้กับ operator ในประเทศและกลุ่มบริษัทเทเลคอมทั่วโลก ได้รับการร่วมทุนจากบริษัท Freewill Solution จำนวน 51% และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท Freewill FX พร้อมปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้เป็นรูปแบบขององค์กรมากขึ้น “สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า ‘สตาร์ทอัพ’ และ Freewill FX กลายเป็นบริษัทในเครือที่ต้องทำงานตามระบบระเบียบในรูปแบบบริษัทซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กร เรารู้ว่าตัวเองไม่เหมาะคำเดียวเลยคือ ‘ไม่สนุก’ เราจึงมองหาธุรกิจใหม่ โดยช่วงนั้นได้เห็นระบบการชำระเงินของ Square เรามั่นใจว่า ไม่ใช่เรื่องยากและทำได้แน่นอน” นพพรเล่าถึงความเชื่อมั่นในการตั้งต้นบริษัท Digio เมื่อปี 2555 พร้อมเดินหน้าติดต่อธนาคารใหญ่ เพื่อนำเสนอโปรเจกต์เครื่องรูดบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟนหรือ mobile POS (mobile point of sale หรือ mPOS) ในยุคที่ฟินเทคยังเป็นเพียงหมอกควันอันรางเลือน โปรเจกต์ของนพพรก็ไม่ต่างจากการขายฝันที่ธนาคารมองไม่เห็นภาพ หากแต่การโดนปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ทำให้เขาถอดใจ เพียงแค่รอเวลาให้กระแสของฟินเทคและระบบการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนเดินทางถึงประเทศไทย ซึ่ง Digio ก็ได้รับเทียบเชิญจากธนาคารใหญ่ให้ร่วมประมูลโครงการแข่งกับบริษัทสิงคโปร์ “เราแพ้ประมูล แต่หลังจากนั้น 6 เดือนธนาคารติดต่อให้เราทำโปรเจกต์ให้เสร็จภายใน 1 เดือน เพราะสิงคโปร์ไม่สามารถส่งงานได้ตามสัญญา เราไม่มีทางเลือกถ้าอยากได้ลูกค้าก็ต้องวางเดิมพัน เรานำคนทั้งหมดที่มี 8 คน กินนอนที่ธนาคาร 24 ชั่วโมงทุกวัน ในที่สุดเราก็ทำได้ นับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เราสามารถทำสำเร็จภายในเดือนเดียว” ความสำเร็จกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยเป็นก้าวแรกของ Digio ที่แจ้งเกิดได้อย่างสง่างาม โดยสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเฉลี่ย 300% ทุกปี ด้วยรายได้ประมาณ 200 ล้านบาทในปัจจุบันพร้อมครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า80% ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งโดยมีปริมาณธุรกรรมผ่าน mPOS จำนวน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี “เราต้องไม่หยุดพัฒนา ในวันที่ปริมาณการทำธุรกรรมจำนวนมากจนธนาคารเริ่มมองหาทางเลือกอื่น เราต้องกลับมาทบทวนว่าเราสร้างคุณค่าให้กับธนาคารเพียงพอหรือไม่และมีบริการใดที่เราต้องต่อยอดเพิ่ม เช่น ระบบ mPOS ซึ่งเรากำลังพัฒนาเป็นเวอร์ชั่น 4 วันนี้เราไปไกลกว่าเรื่องการรับบัตรเครดิตเพื่อชำระเงินมาก” นพพร กล่าวถึงคีย์ความสำเร็จที่มุ่งมั่นต่อยอดอย่างต่อเนื่องพร้อมโชว์เครื่องรับบัตรเครดิตผ่านสมาร์ทโฟนและแท็ปเล็ตโมเดลล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาทั้งฟังก์ชั่นการใช้งาน ความปลอดภัย และรองรับระบบ PIN ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจ่ายเงินแบบใหม่ในอนาคต Digio ยังต่อยอดการบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินในอนาคต ได้แก่ บริการTap2Pay ซึ่งเป็นระบบ mobile application ช่วยร้านค้าในการบริหารงานและจัดการร้านค้า เช่น ระบบบริหารการขายของหน้าร้าน การจัดการสินค้า รายงานการขาย และระบบการบริหารจัดการดูแลลูกค้า รวมถึงบริการ printable signature ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อเสริมระบบการชำระเงินให้ครบวงจรยิ่งขึ้น และ บริษัทยังพัฒนาการให้บริการด้าน e-wallet หรือกระเป๋าเงินออนไลน์เพื่อให้ร้านค้าสามารถรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมใช้ e-wallet มากกว่าบัตรเครดิต จากจำนวนผู้ใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ผ่าน Allipay กว่า 600 ล้านคน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันนพพรยังมองหาโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากครองส่วนแบ่งทางการตลาดกลุ่มลูกค้าธนาคารในประเทศจำนวนมากกว่า 80% Digio ยังเดินหน้าขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา เมียนมาและเวียดนาม ซึ่งบริษัทได้เตรียมความพร้อมด้านกำลังคน และจัดตั้งสำนักงานในประเทศเมียนมาเป็นเวลาปีกว่า รวมถึงดำเนินการติดต่อเจรจากับธนาคารใหญ่ในประเทศเมียนมาแล้วทั้งหมด “ความน่าสนใจอยู่ที่ประเทศไทยมีแรงงานเมียนมาอยู่ประมาณ 6-7 ล้านคนแต่ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงบริการการโอนเงินหรือช่องทางการเงินของธนาคาร แม้แต่ในเมียนมายังมีสาขาธนาคารอยู่จำนวนไม่มาก ซึ่งบริการของเราจะช่วยให้คนเมียนมาสามารถโอนเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าธนาคาร เพียงแค่หาตัวแทนที่มีอุปกรณ์หรือระบบของเราได้” จากแผนสร้างการเติบโตทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในอนาคต ทำให้นพพรเริ่มมองหาผู้ร่วมลงทุน หรือ VC ที่มีความเข้าใจในธุรกิจและสามารถสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากกว่าการพิจารณาเฉพาะเงินทุนที่ได้รับ “เมื่อก่อนเราไม่เคยระดมทุน เพราะไม่รู้จะนำเงินไปทำอะไร เราสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก และธุรกิจซอฟต์แวร์ไม่ต้องการเงินมากในช่วงเริ่มต้น ผมไม่ได้มาจากบ้านมีฐานะ แต่เราสามารถใช้ทรัพยากรจำกัดเกิดประโยชน์เต็มที่ ผมเชื่อว่า การทำธุรกิจต้องพยายามอยู่รอดให้ได้ด้วยตัวเอง การนำเงินคนอื่นมาลงทุนมักจะมาพร้อมกับความคาดหวัง ทำให้การทำงานไม่สนุก ผมทำงานเพราะชอบและสนุก ไม่ใช่เพราะอยากเป็น billionaire” บนเส้นทางการเติบโตของ Digio ที่ไม่ได้โฟกัสเพียงรายได้หรือผลกำไรเป็นหลัก นพพรวางหมุดหมายให้ Digio เป็นบริษัทไอทีแห่งแรกของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศภายใน 5 ปีเพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ และเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ “ผมแคร์ลูกค้า และพนักงานบริษัทที่อยู่เคียงข้างเรา จาก 8 คนเป็น 42 คนในปัจจุบัน ซึ่งการขยายธุรกิจของเราไม่ใช่เพื่อผลกำไร แต่เพื่อให้พนักงานทุกคนได้ทำงานในธุรกิจที่มีอนาคต และมีชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้เป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจที่สามารถช่วยเศรษฐกิจและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ”คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "Digio พลิกมิติชำระเงินผ่านมือถือ" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine