การบรรจบกันระหว่างโลกคู่ขนานของผลกำไรทางธุรกิจและประโยชน์เพื่อสังคมสะท้อนชัดในอาณาจักรแสนล้านของมิตรผลที่สามารถสร้างการเติบโตจากไร่อ้อยถึงพลังงานสีเขียวด้วยความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจบนแนวทาง “From Waste to Value” สู่ต้นแบบองค์กรแห่งความยั่งยืน
เครื่องหีบอ้อยโบราณขนาดราว 2 เมตรตั้งตระหง่าน ณ โถงด้านหน้าของบริษัทผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 5 ของโลกเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงปฐมบทเริ่มต้น และเจตนารมณ์ของกลุ่มมิตรผลซึ่งมีอ้อยเป็นแก่นแกนของการเป็นบริษัทน้ำตาลระดับโลกและผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของเอเชีย แม้สกุล “ว่องกุศลกิจ” จะเป็นลูกหลานชาวจีนอพยพ แต่ก็สามารถก่อร่างสร้างตัวจนขึ้นแท่นหนึ่งในตระกูลเจ้าสัวไทย ด้วยความมุ่งมั่นขยายฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้การขับเคลื่อนของทายาทรุ่นสอง อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล มหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 22 จากการจัดอันดับของ FORBES ในปี 2560 ซึ่งมีทรัพย์สินรวม 1.36 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4.69 หมื่นล้านบาท ผู้นำอาณาจักรวัย 68 ปีพร้อมย้อนถึงจุดเริ่มขององค์กรสีเขียว จากเครื่องหีบอ้อยโบราณด้วยความภาคภูมิใจ นับตั้งแต่ “ว่องจื้อไฉ่” และ “ฉินเหน่าฟ้า” บิดาและมารดาหอบเสื่อผืนหมอนใบล่องสำเภาจากมณฑลกวางตุ้งเทียบท่าที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีในช่วงประเทศเปลี่ยนระบอบการปกครองปี 2475 โดยร่วมกับพี่ชายและน้องชายทำธุรกิจกงสีไร่ยาสูบ ปลูกข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง จนกระทั่งสามารถเก็บหอมรอมริบและสั่งสมที่ดินเพื่อทำไร่อ้อยของตนเองกว่า 7 ไร่ และเริ่มต้นอุตสาหกรรมครัวเรือนขนาดเล็กในชื่อ “บ้านเซี่ยงหว่อง” ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่โรงงานที่สามารถทำไร่ควบคู่กับการเปิดบ้านทำโรงหีบเคี่ยวน้ำเชื่อมในสมัยนั้น ภายใต้การผนึกกำลังของทายาทรุ่นสองพี่น้องตระกูลว่องทั้ง 8 ร่วมแรงผลักดันกิจการน้ำตาลให้เติบโตรุดหน้าได้อย่างรวดเร็วในฐานะบุตรชายคนที่ 7 ซึ่งเกิดและเติบโตพร้อมธุรกิจ อิสระในวัย 24 ปี พร้อมนำความรู้ด้านภาษาอังกฤษและการบริหารจัดการจาก North Carolina University สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจครอบครัวจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการดูแลโรงแรมเชียงอินทร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งนั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการของมิตรผลในช่วงเวลาที่บริษัทขยับขยายจากราชบุรีไปยังโรงงานมิตรสยามที่จังหวัดกำแพงเพชร (ปัจจุบันย้ายไปอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงงานมิตรกาฬสินธุ์ตั้งแต่ปี 2540) “ปี 2522 ในยุคที่เหมืองแร่ดีบุกภาคใต้กำลังรุ่งเรือง ญาติส่วนใหญ่ลงไปภูเก็ต ผมจึงอาสาเข้าไปดูแลโรงงานมิตรสยามเพราะไม่มีใครดูแล ผมเข้าโรงงานสัปดาห์ละ 3 วัน ทำให้เห็นปัญหาตอนนั้นว่า ทำไมเราจึงผลิตสู้คนอื่นไม่ได้” อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าว อิสระค้นพบความจำเป็นในการปรับปรุงความรู้และเทคโนโลยีเดิม โดยกลุ่มมิตรผลนับเป็นธุรกิจน้ำตาลรายแรกๆ ที่มีการจัดโครงสร้างองค์กร รวมถึงระบบการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน ด้วยการศึกษาจากโรงงานน้ำตาลยักษ์ใหญ่ของไต้หวันและนำทีมวิศวกรไทยไปศึกษาดูงานที่แอฟริกาใต้พร้อมทั้งการร่วมทุนกับชาวต่างชาติ ทำให้บริษัทได้รับองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มและช่วยพัฒนาด้านระบบบัญชีการเงิน ตลอดจนการจัดทำงบประมาณตามมาตรฐานสากล “ในปี 2531 ผมเข้ามาดูแลธุรกิจน้ำตาลเต็มตัวในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ส่วนพี่ชาย (วิฑูรย์) ไปดูแลโครงการอัมรินทร์พลาซ่าแทนผม ซึ่งในช่วงนั้นธนาคารส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าธุรกิจอ้อยและน้ำตาลเป็นธุรกิจ sunset ไม่มีอนาคต เพราะราคาไม่ดีและเราผลิตไม่เก่ง แต่ผมยังมองเห็นโอกาสการสร้างมูลค่า เพราะทำงานในโรงงานและค้ากากน้ำตาลมานาน” อิสระโดยกำหนดพันธกิจให้มิตรผลเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำตาลและผลผลิตต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านผลผลิตที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ ด้วยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการภายใต้ปรัชญาการทำงาน จนกระทั่ง วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ภาระหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 8 พันล้านบาทเป็น 1.4 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ยเพิ่มจาก 12% เป็น 25% ทำให้บริษัทตัดสินใจลดเงินเดือนผู้บริหารลง 10% พร้อมสื่อสารให้พนักงานรับรู้สถานการณ์ของบริษัทผ่านสาส์นกรรมการผู้จัดการและแจ้งให้ธนาคารเจ้าหนี้ทราบผลการดำเนินงานของบริษัททุก 3 เดือน ในวิกฤตก่อเกิดเป็นโอกาส อิสระก่อตั้ง บริษัทมิตรผลวิจัยพัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ในปี 2540 เพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาผลผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการในไร่อ้อย และให้ความสาคัญกับการถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถปรับใช้ในแต่ละชุมชน ซึ่งนำไปสู่การทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืน และได้กลายเป็นรากฐานสาคัญของการพัฒนาองค์กรสีเขียวในเวลาต่อมา “เราสร้างสถาบันวิจัยและส่งเสริมเรื่องอ้อยโดยเฉพาะ ทาให้ชาวไร่เกิดความมั่นใจในการปลูก และเรามีอ้อยซึ่งทำให้ผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกและได้ราคาตามค่าเงินในช่วงนั้น ทำให้เราสามารถฟื้นจากวิกฤตภายใน 3 ปี ที่สาคัญคือ เราสามารถเปลี่ยน mindset ของพนักงานได้ทั้งหมด ทำให้ทุกคนต้องการพัฒนาและตื่นตัวเรื่องนวัตกรรม” ในปัจจุบันกลุ่มมิตรผลก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ในประเทศ พร้อมเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 5 ในโลก ด้วยผลผลิตน้ำตาลรวมในประเทศและต่างประเทศกว่า 4 ล้านตันต่อปี โดยมาจากโรงงานน้ำตาล 6 แห่งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ กำลังการผลิต20 ล้านตันต่อปี สร้างผลผลิตน้ำตาล 2.4 ล้านตันต่อปี ไม่เพียงสร้างการเติบโตในประเทศ กลุ่มว่องกุศลกิจยังเล็งเห็นโอกาสในต่างประเทศโดยจัดตั้งบริษัท แปซิฟิค ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขยายอาณาจักรไปยังประเทศจีนด้วยการเข้าซื้อหุ้นโรงงานน้ำตาลในมณฑลกวางสี โดยปัจจุบันมีจำนวนโรงงาน 7 แห่ง กำลังการผลิต 10 ล้านตันต่อปี สร้างผลผลิต 1.3 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้กลุ่มมิตรผลขึ้นแท่นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 2 ในแดนมังกร นอกจากนั้น บริษัทยังสร้างฐานธุรกิจน้ำตาลใน สปป.ลาวและออสเตรเลียได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 3 ในประเทศออสเตรเลีย ด้วยกำลังการผลิต 4.7ล้านตันต่อปี ผลผลิต 500,000 ตันต่อปี แม้มิตรผลจะสามารถสร้างอาณาจักรน้ำตาลได้อย่างแข็งแกร่งในระดับโลก แต่ด้วยแนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ระหว่างโรงงานและชุมชน ซึ่งบริษัทยึดมั่นในพันธสัญญาดูแลชาวไร่อ้อยร่วม 2 ล้านไร่ที่มากกว่าผลกำไรหรือรายได้มหาศาล อิสระให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยต่อยอดผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากชานอ้อยให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ภายใต้แนวคิดการจัดการลักษณะ “From Waste to Value” หรือ zero waste (ระบบการผลิตให้ปลอดวัสดุเหลือใช้) พร้อมต่อยอดธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยตามสูตรที่เกษตรกร การสร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการผลิตเอทานอล, ยีสต์ ธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล ในปัจจุบันมิตรผลเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่อันดับ 1 ในไทยและเอเชีย “แม้จะเป็นบริษัทครอบครัว แต่เราให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีองค์กรภายนอกช่วยประเมินและวิเคราะห์การดำเนินงานของเรา เช่น ทริสเรทติ้ง ซึ่งจัดอันดับเครดิตให้เราที่ A+ และการที่เราได้รับมาตรฐาน Bonsucro รายแรกของประเทศเราไม่ได้ทำเพียง CSR แต่เรา Beyond CSR โดยการดูแลชุมชน ชาวไร่ และประเทศด้วยความจริงใจ” อิสระกล่าวถึงความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายแรกในประเทศและรายที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro Sustainability Award 2015 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ก้าวต่อไปของอาณาจักรมิตรผลพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจตามแผนการลงทุนในประเทศ 5 ปี (2560-2564) ยกระดับธุรกิจรับเทรนด์โลก ภายใต้งบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานน้ำตาลแห่งละ 5 พันล้านบาทบนพื้นที่ 1,000 ไร่ กำลังการผลิต 20,000 ตันต่อวันต่อโรงงาน การร่วมทุนกับ Dynamic Food Ingredients (DFI) สหรัฐอเมริกาในการวิจัยสารให้ความหวานจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพ ได้แก่ erythritol และ xylitol “เราทุ่มเทพัฒนาผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง โดยเราสู้กับบราซิลเป็นหลักทั้งด้านประสิทธิภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุดตามเทรนด์ในอนาคต” ด้วยความมุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่เหลือใช้ (From Waste to Value) โดยพยายามนำวัตถุดิบการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาใช้ให้เกิดคุณค่าสูงสุดด้านพลังงาน ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผลิตจากแกลบ กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเป็นบริษัทแรกที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากไม้ยางพาราเป็นโรงแรกที่จังหวัดสงขลา กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลอันดับหนึ่งของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อิสระกล่าวถึงกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจยกระดับ “New S-Curve” สู่ “Bio Economy” หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน โดยเน้นใช้การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตรตามแนวนโยบายการมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต เทคโนโลยีและช่องทางการจำหน่าย ซึ่งทุกภาคส่วนในประเทศควรร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตในระยะยาว “ทิศทางในอนาคตช่วง 5-10 ปีนี้ เราเน้นขยายธุรกิจที่เราถนัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และช่องทางการจำหน่าย ซึ่งเรายังมีโอกาสเติบโตได้จากพื้นที่เพาะปลูกในประเทศและโรงงานที่ออสเตรเลีย รวมถึงการมุ่ง Bio Technology ในช่วงเปลี่ยน mindset เพิ่มมูลค่าตามเทรนด์ของโลก โดยรายได้รวมสิ้นปีของกลุ่มมิตรผลน่าจะอยู่ที่แสนล้านบาทตามราคาตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น” อิสระปิดท้ายถึงเป้าหมายอาณาตจักรแสนล้านอย่างมั่นใจ เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ และ ศรีวิภา สิริปัญญาวิทย์ ภาพ: Benya Hegenbarthคลิกอ่าน "อิสระ ว่องกุศลกิจ ทางสีเขียวแห่ง “มิตรผล” ความมั่งคั่งสู่ความมั่นคง” โฉมใหม่ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ กรกฎาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine