อาลีบาบากับโจร 40,000 คน - Forbes Thailand

อาลีบาบากับโจร 40,000 คน

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Apr 2016 | 01:00 PM
READ 16119

กระแสการนำสินค้าปลอมหรือของลอกเลียนแบบมาขายผ่านตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Alibaba ระบาดหนักอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็แทบไม่มีใครในโลกนี้ที่จะจัดการอะไรกับปัญหานี้ได้ แม้นักธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในเอเชียอย่าง Jack Ma จะทำได้ แต่การไล่ปิดร้านขายสินค้าปลอมก็ไม่ต่างอะไรกับการทุบหม้อข้าวอาณาจักรออนไลน์ของตัวเอง

เมื่อตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเขา มูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ กำลังถูกพวกทนายระดับแนวหน้าของ New York อาทิ ตัวแทนของ Kering เจ้าของแบรนด์หรูจากฝรั่งเศสอย่าง Gucci และ Yves Saint Laurent ฟ้องร้องดำเนินคดี โดย Ma ยืนยันว่าไม่มีทางที่เขาจะยอมประนีประนอมนอกศาลอย่างเด็ดขาด “ผมขอเลือกที่จะแพ้คดีและเสียเงิน...แต่เราต้องรักษาศักดิ์ศรีและความน่าเคารพนับถือของเราเอาไว้” Maบอก สำหรับ Ma แล้ว ผู้ค้ารายย่อยชาวจีนเหล่านี้คือผู้มีส่วนสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจของเขาให้เติบโตอย่างเช่นทุกวันนี้ โดยปริมาณการซื้อขายสินค้าจิปาถะทุกประเภทผ่านร้านค้าออนไลน์เหล่านี้มีจำนวนสูงกว่า eBay ถึงห้าเท่า โดยปีที่แล้วมีมูลค่าสูงถึง 3.94 แสนล้านเหรียญ ส่วนในมุมมองของผู้ค้าเหล่านี้ Ma เป็นเหมือนวีรบุรุษแห่งทุนนิยม ซึ่งเปิดช่องทางทำกินให้พวกเขาสามารถยกระดับฐานะตนเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้ เมื่อปีที่แล้ว Ma สามารถระดมทุนได้ถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญด้วยการนำหุ้น Alibaba เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York City ซึ่งนับเป็นการขายหุ้น IPO ดีลใหญ่ที่สุดในโลก รายได้ของ Alibaba โตขึ้นกว่าเท่าตัวในรอบสองปีที่ผ่านมาเป็น 1.23 หมื่นล้านเหรียญ ในขณะที่กำไรสุทธิโตถึงเกือบสามเท่าเป็น 3.9 พันล้านเหรียญ โดยทรัพย์สินส่วนตัวของ Ma คิดเป็นมูลค่าถึง 2.18 หมื่นล้านเหรียญ ถ้าหาก Alibaba ลุกขึ้นมากำจัดร้านค้าที่ขายของปลอมออกไปจนหมดเกลี้ยงแล้วธุรกิจของพวกเขาจะเป็นยังไงต่อไป Harley Lewin ทนายด้านทรัพย์สินทางปัญญาของ McCarter & English เห็นว่า “พวกนั้นก็ต้องเจ๊งกันหมด” เรื่องที่ Ma ต้องคิดหนักคือ เขาจะจัดการปัญหาเรื่องการขายสินค้าปลอมอย่างไรเพื่อให้โลกมองว่าเขาให้ความสำคัญกับบรรดาแบรนด์ที่ขายสินค้าบนเว็บไซต์ของเขา แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทุบหม้อข้าวตัวเองด้วยการทำให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อยที่ค้าขายอยู่บนเว็บไซต์ของเขาอยู่ไม่ได้ ยิ่งคุยกับ Ma นานขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นท่าทีของเขาชัดเจนมากขึ้น อภิมหาเศรษฐีอันดับสองของจีนผู้นี้คิดว่าการที่สินค้าอย่างเข็มขัดแบรนด์หรู หรืออะไรพวกนี้ขายกันแพงถึงเป็นพันเหรียญนั้นเป็นเรื่องที่ไร้สาระมาก “คุณขายกระเป๋า Gucci หรือกระเป๋าแบรนด์ดังๆ ประเภทนั้นแพงขนาดนั้นอยู่ได้ยังไง? มันน่าขำจริงๆ” Ma บอกและเสริมว่า “ผมเข้าใจนะว่าพวกบริษัทเจ้าของแบรนด์ไม่พอใจ แต่ผมก็คิดว่านั่นเป็นโมเดลธุรกิจของเขา คุณก็ต้องตรวจสอบโมเดลธุรกิจของคุณด้วย” ความรุ่งเรืองของ Jack Ma กับของประเทศจีนมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก โดยธุรกิจแรกของเขาก็คือเว็บไซต์ Alibaba.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์แบบ business-to-business ที่ช่วยให้บริษัทในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ทั่วโลกสามารถติดต่อกับซัพพลายเออร์ในประเทศจีนได้ ต่อมาในปี 2003 เขาก็ได้เปิดตัว Taobao ขึ้นมา และเมื่อจีนขยายตัวจนมีเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลก Taobao ซึ่งมีความหมายว่า “หาสมบัติ” ก็กลายมาเป็นแหล่งช็อปปิ้งทางอินเทอร์เน็ตอันดับหนึ่งของจีน ทั้ง Alibaba และ Taobao ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการจำหน่ายสินค้าปลอมมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นแล้ว โดย Ma ก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าเขาเอาจริงกับปัญหาสินค้าปลอม แต่ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายผ่านเว็บไซต์โตขึ้นเรื่อยๆ จำนวนข้อร้องเรียนจากบรรดาเจ้าของแบรนด์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ปี 2008 สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ก็จัดให้ Taobao อยู่ในรายชื่อของตลาดที่มีชื่อเสียงไม่ดี เช่นเดียวกับเว็บไซต์อย่าง Baidu และ Piratebay Ma จึงตั้งศูนย์บัญชาการแบบ war room ขึ้นมาที่สำนักงานใหญ่ของ Alibaba ที่เป็นอาคารที่สร้างจากเหล็กและกระจกในชานเมือง Hangzhou ซึ่งมีพนักงานทำงานอยู่ถึง 16,000 คน โดย war room นี้ตั้งอยู่ต่ำกว่าออฟฟิศของ Ma สามชั้น และมีจอภาพขนาดใหญ่ซึ่งแสดงแผนที่ของประเทศจีน ซึ่งทุกวินาทีจะมีไฟกระพริบที่จุดต่างๆ ที่นี่ถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการเพื่อจัดการกับปัญหาสินค้าปลอมในภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Alibaba ได้ทุ่มงบประมาณในด้านนี้ลงไปถึง 160 ล้านเหรียญในปี 2013 และ 2014 และได้จ้างพนักงานถึงกว่าสองพันคนมาทำหน้าที่นี้ Duan Gang ผู้ช่วย CEO ของ Trendy International Group ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องแต่งกายของจีนบอกว่าจำนวนร้านค้าที่ขายเสื้อผ้าปลอมของแบรนด์ Orchirly ของบริษัทลดลงถึงสองในสามเหลือแค่ 5,000 ร้าน ตั้งแต่บริษัทเริ่มเข้าทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับ Alibaba ในเดือนตุลาคม 2014 มีคนสามกลุ่มที่ Alibaba จำเป็นต้องดีลด้วย นั่นคือ แบรนด์สินค้า ผู้ขายสินค้า และผู้ซื้อสินค้า “สินค้าปลอมหนึ่งชิ้นจะทำให้เราเสียลูกค้าไปห้าคน” Ma กล่าว และเสริมว่า “ถ้าเราไม่คุมเรื่องนี้ให้ดี เราก็จะยิ่งเสียลูกค้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ” พ่อค้าชาวจีนที่ขายสินค้าปลอมบนแพลตฟอร์มของ Alibaba หลายรายยอมรับว่าบริษัทเข้มงวดมากขึ้นจริง แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้พวกเขาเลิกขายสินค้าปลอม โดยพวกเขายังคงเดินหน้าขายสินค้าผิดกฎหมายต่อไปโดยแทบไม่เคยต้องถูกลงโทษเลย ยกตัวอย่างเช่น S. Zhai แม่ค้าวัย 30 ปีที่เปิดร้านออนไลน์สองร้านบน Taobao ซึ่งขายกระเป๋าและเสื้อผ้าปลอมของแบรนด์อย่าง Prada, Fendi และ Balenciaga เชื่อหรือไม่ว่าสินค้าของเธอมาจากโรงงานในเมืองจีนที่ผลิตสินค้าของจริงให้กับแบรนด์เหล่านั้น แต่ด้วยกระบวนการควบคุมคุณภาพที่เข้มงวดทำสินค้ามีตำหนิที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจคุณภาพถูกขายผ่านหลังโรงงานมาให้ร้านของ Zhai Alibaba ปิดร้านแรกของเธอไป แต่แค่สองสามเดือนต่อไปเธอก็สามารถกลับมาเปิดร้านได้อีกครั้งโดยใช้ชื่อเดิมในการลงทะเบียนและใช้ชื่อร้านเดิมของเธอ โดยเธอแค่พาเจ้าหน้าที่ของ Alibaba ไปเลี้ยงข้าวดีๆ มื้อหนึ่งและแถมของขวัญอีกสักหน่อย เท่านี้เธอก็สามารถกลับมาเปิดร้านและกลับไปขายสินค้าปลอมได้เหมือนเดิมแล้ว สำหรับ Ma แล้ว ความภาคภูมิใจของเขาคือการเปิดโอกาสให้ชาวจีนที่ยากจนจำนวนนับล้านคนได้เริ่มธุรกิจของตัวเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  เขารู้สึกมีส่วนรับผิดชอบต่อบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของผ่าน Taobao บรรดาคนเล็กๆ ที่พยายามสร้างฐานะในประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนอย่างประเทศจีน และถ้าการป้องกันลิขสิทธิ์ทางปัญญาจะเป็นเรื่องรองลงไปก็ต้องปล่อยให้มันเป็นไปเช่นนั้น “มันไม่ใช่ขาวกับดำ” Ma กล่าว และเสริมว่า “ถ้าคุณแค่บอกว่า ‘ปิดร้านนั้น’ มันก็ไม่แฟร์กับคนๆ นั้น (ผู้ขาย) เราต้องคุ้มครองพวกเขาด้วย ไม่ใช่คุ้มครองแต่ธุรกิจของเจ้าของแบรนด์ คุณต้องแคร์คนทุกคน และแคร์สิทธิ์ของพวกเขาด้วย” ซึ่งทัศนคติแบบนี้สะท้อนอยู่ในเอกสารที่ Alibaba ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ตอนที่บริษัทจะขายหุ้น IPO ในปี 2014 ซึ่ง Alibaba ยืนยันว่า “เรามีนโยบาย ‘no tolerance’ ต่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและขายสินค้าปลอม” แต่ในประโยคถัดไปก็เขียนไว้ว่า “เนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ค้าหลายรายที่ขายของอยู่บนตลาดออนไลน์ของเราขึ้นอยู่กับเรา ดังนั้นที่ผ่านมาเราจึงหลีกเลี่ยงที่จะใช้นโยบายประเภท ‘ยิงก่อน สอบสวนทีหลัง’ ในการดำเนินการกับข้อร้องเรียน” ของบรรดาแบรนด์ต่างๆ ยังจำตำนานเรื่อง Ali Baba กับการเปิดประตูหินด้วยการใช้รหัส “open sesame” กันได้ไหม ในเรื่องนั้น อาลีบาบา ก็มีปัญหากับกลุ่มโจร และก็ต้องจัดการกับกลุ่มต่างๆ ที่มีผลประโยชน์ขัดกัน ทั้งน้องชายผู้ละโมบ ทาสผู้ซื่อสัตย์ และเหล่าโจรผู้เกรี้ยวกราด แต่ในตอนจบ ก็มีแต่ Ali Baba คนเดียวนั่นแหละที่ได้ทองคำไปทั้งหมด เรื่อง: Michael Schuman และ Jane Ho เรียบเรียง: พิษณุ พรหมจรรยา
คลิ๊กอ่าน "อาลีบาบากับโจร 40,000 คน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JANUARY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine