สมโภชน์ อาหุนัย ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีที่สร้างตัวจาก “แดดและลม” เมื่อธุรกิจสัมปทานโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของเขาสร้างผลกำไรมหาศาลจากคลื่นการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน (energy transition) วันนี้เขาหวังที่จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์นี้อีกครั้งด้วยเดิมพันกับโครงการผลิตแบตเตอรี่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ โรงไฟฟ้าไฮบริด สมาร์ทกริด ยานยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รวมทั้งธุรกิจ oleochemicals ที่วัตถุดิบตั้งต้นมาจากปาล์มน้ำมัน
เปรียบเทียบตัวเลขสินทรัพย์ที่สมโภชน์บอกกับ Forbes Thailand ระหว่างการให้สัมภาษณ์หลังเทศกาลสงกรานต์ ที่ผ่านมาว่ามีเพียง “100 กว่าล้านบาท” เมื่อตอนเขาทำโครงการไบโอดีเซล เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน กับมูลค่าทรัพย์สินที่เขาได้รับการจัดอันดับ 10 ในรายงาน Thailand’s 50 Richest List ของ Forbes ที่ประกาศในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมากว่า 9 หมื่นล้านบาท (ส่วนใหญ่มาจากมูลค่าหุ้นที่เขาและครอบครัวถืออยู่รวมประมาณ 44% ใน บมจ.พลังงานบริสุทธ์ ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 2.02 แสนล้านบาท ณ วันที่ 27 เมษายน 2562) อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2562 นับได้ว่าอดีตเอ็มดีบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ผู้นี้สามารถเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของเขาได้ หลายร้อยเท่าตัวภายในเวลาเพียง 1 ทศวรรษแหล่งกำเนิดพลังงาน
สมโภชน์ก่อตั้ง บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จากการเข้าซื้อกิจการบริษัท ซันเทคปาล์ม-ออยล์ จำกัด ที่ทำธุรกิจโรงงานผลิตไบโอดีเซล แล้วเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อเดือนมกราคม 2556 โดยนอกจากโรงงาน (B100) (ที่ภายหลังเขาต้องสร้างโรงงานใหม่ทดแทนเกือบทั้งหมด เนื่องจากโรงงานเก่าที่ซื้อมาประสิทธิภาพไม่ดี) มีเพียงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังผลิตเพียง 8 เมกะวัตต์ ที่ จ.ลพบุรี ที่เพิ่งเปิดดำเนินการผลิตได้ไม่กี่เดือนเป็นตัวสร้างรายได้ อย่างไรก็ตามด้วยใบอนุญาตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถืออยู่ในมืออีก 3 โรง ทำให้หุ้นของบริษัทได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ช่วง 6 ปีที่ผ่านมาพลังงานทดแทนยังมีต้นทุนสูงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติถ่านหิน และน้ำมัน รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ออกนโยบายให้การส่งเสริมพร้อมกับให้การอุดหนุนค่าไฟส่วนเพิ่มที่เรียกว่า “Adder” ในขณะที่ต้นทุนโครงการพลังงานทดแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาแผงโซลาร์ได้ลดลงอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้ผลิตพลังงานทดแทนที่ได้รับใบอนุญาตพร้อมการอุดหนุนในรุ่นแรกๆ อย่าง EA ได้รับประโยชน์เป็น 2 เด้งจึงเป็นที่มาของการเติบโตอย่างรวดเร็วของ EA สมโภชน์ยอมรับว่ากำไรของบริษัทจะลดลงไปอย่างมากจากการสิ้นสุดของ Adder ที่จะทยอยหมดไปเริ่มจากปี 2565 หากไม่มีรายได้จากแหล่งใหม่มาทดแทน โดยบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ บอกว่ารายได้จากโรงไฟฟ้าพลังลมที่สุดแล้วจะหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่รายได้จากโรงโซลาร์จะหายไปประมาณ 2 ใน 3 แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมายของเขาแต่อย่างใด “ดูจากภาพแล้วก็ยังมีอีก 3 ปี ถึงจะเห็นการ decline แล้วมันจะค่อยๆ ลง แต่ก็ยังเป็น cash cow ที่ดี และสิ่งที่ผมทำไม่ใช่เพราะเห็นว่านิ่งแล้วถึงค่อยทำ คุณจะเห็นได้ว่ารถกำลังจะอยู่บนถนน เรือกำลังจะอยู่ในแม่น้ำ โรงแบตเตอรี่กำลังจะเสร็จ โรงงาน PCM (phase change material) ที่เป็นเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่คอนเซปท์ กำลังก่อสร้าง” สมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการบริหาร EA กล่าวถึงโครงการใหม่ๆ ที่บริษัทกำลังผลักดันให้เป็นแหล่งรายได้ทดแทนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเดิมพันกับแบตเตอรี่
สมโภชน์กล่าวว่า เขาได้คิดและเตรียมการล่วงหน้ามาเป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 ปีในการแสวงหาธุรกิจใหม่ (new S-curve) และได้พบแบตเตอรี่เป็นคำตอบแรกๆ สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่เลือกแบตเตอรี่หรือเทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน (energy storage) เพราะมองว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยพลิกเกมทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแปรสภาพจากการเป็น “พลังงานทางเลือก” มาสู่สถานะของการเป็นโรงไฟฟ้า “หลัก” ได้ กระบวนการค้นหาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มาลงเอยที่ Amita Technologies Inc. บริษัทวิจัยและผลิตแบตเตอรี่ Lithium-Ion Polymer เทคโนโลยี STOBA สำหรับใช้ในโรงไฟฟ้า รถยนต์ จักรยานยนต์ และเครื่องสำรองไฟ (UPS) สมโภชน์เน้นไปที่บริษัทที่มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมเพราะเชื่อว่าอนาคตจะมาทางนี้ โดยพบว่าผู้ก่อตั้งคือ Dr. Jim Cherng เป็นผู้บุกเบิกงานทางด้านนี้ตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว สามารถเริ่มต้นผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมได้หลัง Sony เพียงไม่กี่ปี โดยมี “จิตวิญญาณ” ที่จะทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง “ผมไปดูก็เห็นว่า Amita ขายของไม่ค่อยได้เลย แต่ทำของแปลกๆ miracle หลายอย่าง คุณเชื่อไหมว่า Amita กำลัง supply แบตเตอรี่ให้กับเรือดำน้ำ คิดดูสิ มีคนให้เขาผลิตของที่ต้องใช้จริงและต้อง high safety ด้วย...ทำไมบริษัทเล็กๆ นี้ถึงได้ทำ หรือบริษัทลูกของ Mercedez ถึงยอมมารับรองให้บริษัทนี้...หรือทำไมบริษัท Kaneka ของญี่ปุ่นที่ทำงานวิจัยเยอะมากและไม่มีใครในญี่ปุ่นไม่รู้จัก ถึงร่วมทำงานวิจัยกับที่นี่ ทำไม ITRI (Industrial Technology Research Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระดับโลกของไต้หวัน มีวัสดุใหม่ๆ ทีไร ถึงต้องให้ที่นี่ลอง” EA จึงได้เริ่มเข้าไปลงทุนใน Amita ซึ่งจดทะเบียนใน Taiwan Emerging Stock Market ในสัดส่วน 35.20% เมื่อเดือนธันวาคม 2559 (และทยอยซื้อเพิ่มทุกปีจนมีหุ้น 77.2% ในปัจจุบัน) พร้อมประกาศแผนการลงทุนโครงการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-Ion Polymer ขนาดกำลังผลิต 50 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (Gigawatt-hour: GWh) เมื่อเดือนเมษายน 2560 (หลังจากย้ายจาก mai เข้า SET ได้เพียง 3 เดือน) ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทชี้แจงว่าการลงทุนจะเริ่มจากงบ 5 พันล้านบาท ในเฟสแรกขนาด 1 กิกะวัตต์ ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนซึ่งกำหนดการเปิดดำเนินการล่าสุดได้เลื่อนจากในปีนี้เป็นต้นปี 2563 สมโภชน์ชี้ว่าโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ 50 กิกะวัตต์ ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนของ EA ไม่ได้เป็นความเพ้อฝัน เพราะหากมองจากขนาดของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ปัจจุบันเป็นฮับของอาเซียนและมีกำลังผลิตทั้งสิ้น 2 ล้านคันต่อปี หากรถแต่ละคันเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าสัก 50 กิโลวัตต์จะหมายถึงอุปสงค์พลังงานแบตเตอรี่สูงถึง 100 กิกะวัตต์ มากกว่าขนาดโรงงานในแผนการของบริษัทเท่าตัว ยังไม่รวมภาคการผลิตไฟฟ้าซึ่งขนาดกำลังผลิตแบตเตอรี่ 50 กิกะวัตต์ จะสามารถรองรับโรงไฟฟ้าได้เพียงไม่กี่โรงเท่านั้น ในส่วนของโครงการโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทยนั้น EA ยึดหลัก “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” จึงได้มีการตัดสินใจลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า และเรือไฟฟ้าต่างๆ เพื่อสร้างอุปสงค์การใช้แบตเตอรี่จากภายในกลุ่มเอง และพิสูจน์ให้ลูกค้าภายนอกเห็นว่าแบตเตอรี่ของบริษัทสามารถใช้งานได้จริง ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น บริษัทย่อยของ EA จึงถึงกำเนิดและประกาศ “ความสำเร็จ” ด้วยยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท MINE SPA1 ที่ได้รับในระหว่างการเปิดตัวในงาน Bangkok International Motor Show 2019 จำนวนรวม 4,558 คัน อย่างไรก็ตามสมโภชน์ยอมรับว่ายอดจองนี้เป็นเพียงการแจ้งความจำนงที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินมัดจำ และรวมยอดจองแท็กซี่ 3,500 คันจากเอ็มโอยูที่ได้เซ็นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนสุวรรณภูมิพัฒนาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยบริษัทจะทยอยส่งมอบรถทั้งหมดในปีหน้า เพื่อสร้างระบบนิเวศรองรับยุคยานยนต์ไฟฟ้า EA ยังได้รุกเข้าสู่ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในส่วนโครงการเรือไฟฟ้าที่ EA ได้ประกาศแผนการลงทุนสร้างเรือไฟฟ้าทั้งสิ้น 54 ลำ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1 พันล้านบาท โดย จะเริ่มเปิดให้บริการใช้ได้ในช่วงปลายปี 2562 “ดูสิว่าอุตสาหกรรมเรือวิ่งแบบนี้มากี่ปี เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ คุณสามารถทำเรือที่ทันสมัยกว่า ปลอดภัยกว่าได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จึงสามารถทำในสิ่งที่ไม่ feasible ให้ feasible ได้...เมื่อเรือไม่ใช้ น้ำมัน แต่ใช้ไฟฟ้าแทน ต้นทุนพลังงานจะหาย ไปอย่างน้อย 4 ใน 5 หรือ 5 ใน 6 cost saving ตรงนี้ไฟแนนซ์เรือได้เลย และไม่กระทบ ผู้บริโภคด้วย มันแค่เปลี่ยนค่าใช้จ่ายที่ variable มาเป็น fixed แล้วเอา saving นี้ไปไฟแนนซ์ fixed” ภาพ: ฐิระวิชญ์ ล้อเลิศรัตนะ และ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ อ่านเพิ่มเติม: "แบตเตอรี่ : “The Next Big Thing”"คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “สมโภชน์ อาหุนัย “GIGA” ดรีม” ในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2562 ในรูปแบบ e-magazine