ก่อนจะมาเป็นนักธุรกิจเจ้าของกิจการห้องเย็นรายใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร จนกระทั่งขยายกิจการเข้าเป็นบริษัทอาหารแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงในนาม "ASIAN" ที่ผลิตอาหารส่งไปจำหน่ายทั่วโลก "สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล" เคยเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวและนักศึกษาในยุค 14 ตุลาฯ
"เราเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 16 ร่วมเดินขบวนเข้าหอประชุมธรรมศาสตร์ ฟังเพลงเพื่อชีวิต รอดมาได้ทุกวันนี้ยังคงสนใจเรื่องการเมือง แต่ไม่คิดเป็นนักการเมือง” สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล แม่ทัพใหญ่เอเชี่ยนซีย้อนอดีตวัยหนุ่มของเขาให้ฟังว่า มีแนวคิดและความคาดหวังทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน และยอมรับว่าทุกวันนี้เขายังคงสนใจเรื่องการเมือง แต่ไม่คิดจะเป็นนักการเมืองเพราะไม่ต้องการเป็นคนสาธารณะ และไม่ต้องการอยู่ในเกมที่ส่วนใหญ่นักการเมืองมักถูกขุดคุ้ยประวัติมาโจมตี โดยเฉพาะประวัติในเรื่องที่ไม่ดี สมศักดิ์อธิบายเรื่องนี้เมื่อทีมงานถามว่า ทำไมชอบฟังเพลงเพื่อชีวิต เขาอธิบายว่า นั่นคือความทรงจำและแนวร่วมความคิดที่มีในวัยหนุ่มของเขา เพลงเพื่อชีวิตมีที่มาจากกลุ่มคนเดือนตุลาฯ ซึ่งเขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนั้นแม้ไม่ใช่แกนนำ เป็นเพียงคนที่อยู่ในเหตุการณ์ร่วมเดินประท้วง ร่วมเดินขบวนและมีแนวคิดร่วมทางการเมืองยุคนั้น ทำให้เขาซึมซับความทรงจำผ่านถ้อยคำและทำนองเพลงอันไพเราะเปี่ยมไปด้วยความหมาย บิ๊กบอสเอเชี่ยนซีในวัย 63 ปียังแข็งแรงก้าวย่างคล่องแคล่ว ตอบคำถามฉะฉานตรงไปตรงมา เขายังมีลูกเล่นจากคำกล่าวบางช่วงของการสัมภาษณ์ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ เมื่อพูดถึงหลักการบริหารว่า “ผมเป็นคนยึดหลักคุณธรรม” ตามความเข้าใจของทีมงานเมื่อได้ยินครั้งแรกคิดว่าหมายถึงคุณธรรม แต่เขากลับอธิบายว่า หลักการของเขาคือ “คุณ นะ ทำ” หมายความว่าให้ลูกน้องเป็นคนทำ ส่วนเขาเป็นคนตัดสินใจ โดยเขาอธิบายเรื่องนี้ด้วยสีหน้าราบเรียบเหมือนไม่ใช่มุกตลก แต่เป็นวิธีคิดจริงๆ ของเขา- หลักคิดสนุกแต่จริงจัง -
อีกเรื่องที่สมศักดิ์ตอบคำถามทีมงานเกี่ยวกับหลักการบริหารและสามารถเรียกรอยยิ้มได้จากหลายคนในวันนั้นคือ เรื่องหลักปฏิบัติที่เขาบอกว่า สำหรับผมการทำงานต้อง “ททท” ในที่นี้หมายถึงต้อง “ทำทันที” ไม่ใช่ชื่อย่อของหน่วยงานด้านท่องเที่ยวอย่างที่คาดกัน และเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากทีมงานเอเชี่ยนซีที่เข้าร่วมรับฟังการสัมภาษณ์ในวันนั้นว่า เป็นตามที่บิ๊กบอสพูด เพราะทุกครั้งที่สั่งการอะไรลงมาพนักงานทุกคนจะรู้ว่าเรื่องนั้นต้องทำในทันทีต้องเห็นความเคลื่อนไหวและมีความคืบหน้าที่รวดเร็ว ทั้งสองเรื่องที่ยกมาในการบริหารดูเหมือน สมศักดิ์เป็นคนใจร้อน แต่เจ้าตัวบอกว่าก็มีบ้างอาจใจร้อนในบางกรณี แต่เขาก็ให้โอกาสและรับฟังทีมงานเสมอ เช่น เรื่องการลงทุนซึ่งเขามักเปิดกว้าง เช่น หากมีแผนจะลงทุนเครื่องจักรมูลค่า 10 ล้านบาท เมื่อทีมงานเสนอว่าควรลงทุนมากกว่านั้นเป็น 50 ล้านบาท โดยมีเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจน มีตัวเลขเปรียบเทียบได้ว่าทำไมต้องลงทุนเพิ่ม ลงเพิ่มแล้วจะได้อะไรกลับคืนมาเป็นตัวเลขผลตอบแทนอย่างไร หากมีรายละเอียดที่ชัดเจนเขาก็พร้อมเพิ่มการลงทุนตามข้อเสนอ

- แบ่งปันตลอดเส้นทางเดิน -
อีกบริบทที่ชัดเจนของสมศักดิ์คือ “การแบ่งปัน” ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิที่เขาเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในปี 2564 ด้วยเงินทุนส่วนตัวถึง 100 ล้านบาทและการบริจาคส่วนตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาได้นำเงินส่วนตัวบริจาคและแบ่งปันให้ทั้งกับผู้ด้อยโอกาส เยาวชนที่ประพฤติดีหน่วยงานราชการต่างๆ และแม้กระทั่งกิจกรรมที่เขาเห็นว่าเป็นประโยชน์ เช่น โครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม เขาก็ควักกระเป๋า 10 ล้านบาทบริจาคที่เชียงราย การบริจาคเป็นอีกหนึ่งวิถีในการตอบแทนสังคมของสมศักดิ์ เขาพูดว่า สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากความแข็งแรงของตัวเราก่อน ถ้ากิจการยังไม่แข็งแรงก็ต้องพัฒนาให้แข็งแรงก่อน ดูแลคนในองค์กรให้อยู่ดีกินดี แข็งแรง และมีอนาคตที่ดี จากนั้นก็มองออกไปข้างนอกมองเรื่องสังคม ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และช่วยเหลือเพื่อช่วยพัฒนาสังคม ที่ผ่านมาสมศักดิ์มักใช้เงินทุนส่วนตัวของเขาในการบริจาคต่างๆ ตามความตั้งใจ ไม่ได้มีเงื่อนไขผูกมัดใดๆ ดังเช่นการมอบทุนให้กับเด็กที่สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีอยู่ 3 อำเภอ เขาให้ทุนแก่เยาวชนเพื่อไปศึกษาต่อ หรือเพื่ออุปการะบิดามารดา หรือจะใช้เป็นทุนตั้งต้นใดๆ ก็ตามแต่ความพอใจ เพราะนี่คือการให้เปล่าเป็นการตอบแทนสังคมอีกรูปแบบของเขาด้วยการให้ทุนปีละ 1 ล้านบาทแก่เยาวชนที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในจังหวัดสมุทรสาคร คนละ 10,000 บาท จำนวน 100 ทุน ซึ่งโครงการนี้ต่อไปจะนำเข้ามาเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมของเอเชี่ยนซี “ผมเคยจนมาก่อน ครอบครัวเราก็เป็นเพียงแม่ค้าขายปลาในตลาด ก่อนจะก่อร่างสร้างตัวมาได้เรารู้ว่าความจนมันลำบากอย่างไร เงินที่เราให้เป็นทุนหากผู้รับนำไปใช้ประโยชน์ได้ก็ถือว่าดี ไม่จำเป็นต้องเอาไปเพื่อเรียนต่อเสมอไป” เป็นแนวคิดในการให้เสมือนการตอบแทนให้กับแผ่นดินในพื้นที่ทำกิน ถิ่นที่ทำให้เอเชี่ยนซีสร้างรายได้และกิจการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
- GIUSEPPE CRIPPA มหาเศรษฐีวัย 87 ปี ผู้ก่อตั้ง TECHNOPROBE
- พจนา พะเนียงเวทย์ นำทัพ “มาม่า” เสิร์ฟลูกค้าทั่วโลก (VIDEO)
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine
