การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 สร้างความสูญเสียมหาศาลทั่วโลกต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2 ปี เป็นจุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขของนานาประเทศรวมถึงธุรกิจโรงพยาบาล อันเป็นช่วงเวลาที่ MedPark เปิดตัวและให้บริการทางการแพทย์
วันที่ทีมงาน Forbes Thailand จะเข้าสัมภาษณ์และบันทึกเทปคณะแพทย์ผู้เป็นเจ้าของและผู้บริหารโรงพยาบาลเมดพาร์คนำโดย ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการ และ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ผู้บริหารหลักที่ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand หลังจากการนัดสัมภาษณ์เลื่อนกำหนดมาจากช่วงไตรมาส 2 ด้วยเหตุผลจากสถานการณ์ต่างๆ ที่ยังไม่ลงตัว ประกอบกับเป็นช่วงเริ่มต้นที่โรงพยาบาลเมดพาร์คได้อาสาเข้าช่วยงานภาครัฐในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 การนัดสัมภาษณ์จึงเลื่อนมาเป็นไตรมาส 3 เมื่อทางโรงพยาบาลมีความพร้อมมากขึ้น หลังเปิดบริการมาราว 10 เดือน ระบบต่างๆ เริ่มลงตัว และชื่อเสียงของเมดพาร์คก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น “ผมเห็นว่าประเทศเรามีความสามารถด้านการแพทย์มาก ก็อยากสร้างเสริมการแพทย์ที่ดีที่สุดใน Southeast Asia ตั้งแต่การดูแลรักษาคนไข้ การสอนแพทย์ฝึกหัด และการทำงานวิจัย ซึ่งทำให้เราสามารถสอนคนรุ่นใหม่ให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืนตลอดไป” ศ.นพ.สิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเริ่มต้นบอกเล่าที่มาของเมดพาร์คโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่แห่งใหม่ล่าสุดบนทำเลใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการ ร่วมทุนกันในกลุ่มแพทย์วิชาชีพทั้งหมด โดยเฉพาะ นพ.พงษ์พัฒน์ เจ้าของและผู้บริหารโรงพยาบาลมหาชัย, โรงพยาบาลเจ้าพระยา และโรงพยาบาลในกลุ่ม 6 แห่ง ได้หารือกันมากว่า 3 ปีเพื่อเตรียมสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ ให้เป็นศูนย์การแพทย์ที่เน้นรักษาโรคยาก โรคซับซ้อน เพื่อเป็นจุดเด่นที่ต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป “อาจารย์พงษ์พัฒน์ทำงานได้เร็วมากคุยกันมา 3 ปีหลังจากนั้นใช้เวลาเพียง 2 ปี 2 เดือนก็สร้างเสร็จ โรงพยาบาล MedPark เปิดเสร็จมาครึ่งปีแล้ว” ศ.นพ.สิน ย้อนไทม์ไลน์อันรวดเร็วของการก่อสร้างโรงพยาบาลเมดพาร์คให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในไทย ด้วยจำนวนเตียง 550 เตียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงเปิดดำเนินการเริ่มต้นให้บริการ 205 เตียง ยังไม่ถึงครึ่งของแผนงานหลัก แต่ส่วนบริการที่สำคัญและอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ที่ทันสมัยทุกอย่างพร้อมให้บริการ แม้ได้เตรียมแผนมาเป็นอย่างดี แต่ทว่ากิจกรรมช่วงเปิดตัวเมดพาร์คเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก ภารกิจอาสาช่วยภาครัฐกระจายวัคซีนโควิด-19 กลายเป็นกิจกรรมหลักที่สร้างการรับรู้แบรนด์ “เมดพาร์ค” สู่สาธารณชน เนื่องจากให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มต่างๆ มาตั้งแต่ช่วงแรก โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ตามคลินิกอิสระที่ไม่ได้สังกัดกับโรงพยาบาลซึ่งมีอยู่กว่า 2,000 แห่ง เป็นกลุ่มทัพหน้าด้านบริการสุขภาพที่ไม่มีโควตาวัคซีนชัดเจน เมดพาร์คจึงอาสาปูพรมฉีดวัคซีนให้กับแพทย์กลุ่มนี้จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายโควิด-19 เร่งแผนปรับตัว
ไม่เพียงกลุ่มแพทย์แต่ประชาชนทั่วไปที่จองวัคซีนจากระบบ “หมอพร้อม” ก็ได้รู้จักเมดพาร์คมากขึ้น เพราะมีชื่อในทำเนียบบริการวัคซีนฟรีในระบบของรัฐ ทำให้โรงพยาบาลใหม่แห่งนี้เป็นที่รู้จักภายในเวลาอันรวดเร็ว หรืออาจกล่าวได้ว่าภารกิจอาสาในสถานการณ์โควิด-19 มีส่วนในการสร้างให้คนรู้จักเมดพาร์คได้เร็วและกระจายวงกว้างมากขึ้น “เราเป็นโรงพยาบาลเปิดใหม่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก แต่การมีส่วนร่วมในการรับมือกับโควิด-19 ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ประกอบกับเรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายโรคมีทีมแพทย์กว่า 200 คน โดยเฉพาะทีมแพทย์ด้านการติดเชื้อของเราเข้มแข็งมาก ทำให้เรามีความพร้อม” ศ.นพ.สิน ย้ำและว่าทีมแพทย์ของเมดพาร์คมีวิสัยทัศน์คล้ายๆ กันคือ ให้ความสำคัญเรื่องวัคซีน เมื่อการระบาดแพร่กระจายอีกรอบเมดพาร์คเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ตรวจโควิดให้คนไข้และตรวจเช็กโดยละเอียดตลอดมา เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแบรนด์ด้วยภารกิจในฐานะทัพหน้าด้านสุขภาพ การเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ ทำให้ชื่อโรงพยาบาล “เมดพาร์ค” ถูกกล่าวถึงมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับถึงขั้นมีผู้ป่วยที่แอดมิทอยู่โรงพยาบาลอื่นเรียกร้องขอมารักษาโควิด-19 ที่เมดพาร์ค เนื่องจากมั่นใจในความพร้อมและความตั้งใจให้บริการของทางโรงพยาบาล ด้วยเหตุนี้สิ่งที่โรงพยาบาลเมดพาร์คทำมาตั้งแต่ต้นคือ การเดินเข้าหาวัคซีน และพยายามฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งญาติของบุคลากรเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด “เราดูแลพนักงานของเรากับครอบครัวของเขาอย่างดี ทุกคนได้รับวัคซีนหมด เราพยายาม manage วัคซีน จะเห็นว่าคิวที่มาต่อฉีดวัคซีนของเราสั้นมาก เราทำเรื่องนี้ได้ดี ในขณะที่เอกชนอื่นยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัญหาจึงไม่ได้เตรียม” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมดพาร์คย้ำและว่า ช่วงที่ผ่านมามีโรงพยาบาลอื่นอยากมาขอฉีดวัคซีนที่เมดพาร์ค นับเป็นการสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร “เรื่องนี้ต้องให้เครดิตอาจารย์พงษ์พัฒน์ ผมทีแรกคิดว่าเป็นประเด็นไม่ใหญ่ แต่อาจารย์พงษ์พัฒน์มั่นใจว่าน่าจะเป็นเรื่องใหญ่จึงเตรียมพร้อมที่สุด” นับเป็นวิชั่นจากประสบการณ์แพทย์มืออาชีพ อย่างก็ตาม ศ.นพ.สินกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลต้องโฟกัสพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดก่อน ส่วนการย้ายผู้ติดเชื้อออกไปสถานที่ต่างๆ ประชาชนต้องมีวินัย ไม่ใช่เป็นการหนีออกไปและนำเชื้อไปติดที่บ้าน เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ไม่มีงานทำก็หนีกลับบ้าน “ผมว่าในอนาคตการแพร่กระจายจะเป็นวงกว้างขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีการเคลื่อนย้ายผู่ป่วยจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดต่างๆ จำนวนมากเป็นสิ่งที่แพทย์กังวล” เมื่อถามถึงบทบาทของโรงพยาบาลเอกชนต่อการรับมือสถานการณ์โควิด ศ.นพ.สินกล่าวว่า ภาคเอกชนช่วยลดภาระงานของรัฐได้บางส่วน “หลายอย่างที่โรงพยาบาลทำไป บางเรื่องเป็นการช่วยคนไข้ไม่ได้ผลด้านการเงินหรืออะไร ทีมดูแลโควิด-19 ตอนนี้กิจกรรมวอร์ดเป็นการให้ความรู้การป้องกัน มีการใช้สื่อผ่านหนังสือพิมพ์เพื่อให้คนไข้รู้เรื่องโควิด-19 ช่วยป้องกันการติดเชื้อซึ่งคนไข้หวาดกลัวมาก แต่ละวันมีความต้องการฉีดวัคซีนหลายร้อยคน ทีมแพทย์พยายามให้บริการ ไม่ว่าจะลงทะเบียนมาหรือไม่เราฉีดให้ และเปิดคลินิกถึงเที่ยงคืนทำให้ฉีดได้เยอะ” เหตุผลหลักที่คณะแพทย์ผู้บริหารเมดพาร์คให้ความสำคัญกับสถานการณ์โควิด-19 เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่จบลงง่ายๆ “เราคงจะอยู่กับโควิดไปอีกพักหนึ่ง เพราะเชื้อมีการกลายพันธุ์เรื่อยๆ แต่ขอแนะนำว่า แม้เชื้อจะกลายพันธุ์หากฉีดวัคซีนแล้วติดอาการก็จะน้อยลงมาก” ศ.นพ.สินยังย้ำด้วยว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดคือ วัคซีนที่หาได้ ได้ที่ไหนเอาที่นั่น ถ้ามีวัคซีนเพียงพอเชื่อว่าจะช่วยได้ การกระจายวัคซีนที่ดีรัฐบาลอาจต้องปล่อยผ่านในหลายๆ ขั้นตอน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมดพาร์คบอกว่า อีก 6 เดือน ความรู้เรื่องวัคซีนแต่ละตัวน่าจะดีขึ้น ประสิทธิภาพในการต่อสู้ไวรัสที่กลายพันธุ์ได้มากขึ้น แต่ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดและไม่เพียงพอเป้าเติบโต 2 หลักทุกปี
การเปิดตัวท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดและการอาสาเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระจายวัคซีน ถือเป็นแนวทางที่เดินมาตรงเป้าทำให้คนรู้จักเมดพาร์คเร็วขึ้น นอกจากรู้จักในฐานะโรงพยาบาลที่ช่วยกระจายวัคซีนแล้ว ยังรับรู้ถึงควาพร้อมในฐานะโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งเปิดตัวมาเพื่อรองรับการรักษาโรคเฉพาะทาง โดยเฉพาะกลุ่มโรคยากและโรคซับซ้อน เป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ดังนั้น โอกาสในการเติบโตตามแผนที่ทีมบริหารวางไว้จึงมีความเป็นไปได้สูง “เราตั้งเป้าว่าจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่าปีละ 10% ใช้ตัวเลขจากโรงพยาบาลที่เคยทำมาก่อน ในช่วงที่เศรษฐกิจดีคนไข้มาเพิ่มโดยเฉลี่ย 10% สิ่งที่เราต้องเตรียมคือ บุคลากรและสถานที่ต้องเตรียมให้พร้อม ถ้าเปิดเต็มที่ เราจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนใหญ่สุดในไทย มีจำนวน 550 เตียง รองรับคนไข้นอกด้วยห้องตรวจ 300 ห้อง และจะมีแพทย์ประจำไม่ต่ำกว่า 500-600 คน” ศ.นพ.สินบอกว่า โรงพยาบาลขนาด 550 เตียงถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และการให้บริการผู้ป่วยนอก 3,000 โอพีดีต่อวันถือว่าเยอะมาก ด้วยประสบการณ์ของกลุ่มแพทย์ที่ดำเนินกิจการโรงพยาบาลมาโดยตลอดทำให้เมดพาร์คได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพที่ยังมีช่องว่างคือ บริการรักษาพยาบาลโรคยากและโรคซับซ้อน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์หลักในการก่อตั้งเมดพาร์ค “เราทำโรงพยาบาลมหาชัยมาตั้งแต่ปี 2532 มีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 6 แห่งหลังจากนั้นเข้ามาทำโรงพยาบาลเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ก็เห็นว่าระบบสาธารณสุขทั้งประเทศมีความต้องการโรงพยาบาลที่เป็นเรือธงที่มีความสามารถ และเป็นที่พึ่งให้โรงพยาบาลลูกข่ายได้” นพ.พงษ์พัฒน์ กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค ย้อนอดีตกว่า 30 ปีในการทำโรงพยาบาลเอกชน ก่อนขยายมาลงทุนเมดพาร์คเป็นโรงพยาบาลเรือธงที่ดีมีความสามารถสูง และอยู่กลางกรุงเทพฯ “โรงพยาบาลเรือธงต้องรองรับตลาดบน เราจึงดีไซน์ให้แตกต่าง ลงทุนบุคลากรและเงินทุนต่างๆ ให้เพียงพอเพื่อเกิดเป็นโครงการนี้ เมื่อมีโอกาสได้พื้นที่จากทีซีซี แลนด์มาให้เลือกถือเป็นจังหวะที่ดี” ในมุมมองของ นพ.พงษ์พัฒน์มั่นใจว่า ทำเลดีช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจได้ ยิ่งอยู่กลางเมืองในย่านพระราม 4 คือข้อได้เปรียบ โรงพยาบาลที่มาทีหลังทำเลสำคัญมากที่จะทำให้คนเลือก เพราะการเปิดตัวทีหลังย่อมเสียเปรียบ ด้วยความที่โรงพยาบาลมหาชัยจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การจะขยายลงทุนขนาดใหญ่จึงต้องขออนุญาตผู้ถือหุ้นและ ก.ล.ต. “เมื่อทำโครงการจากทุนจดทะเบียน 2.5 พันล้านบาท กว่าจะรันโครงการได้สำเร็จใช้ทุนไป 7 พันกว่าล้านบาท” นพ.พงษ์พัฒน์บอกว่า นอกจากทำเลสถานที่แล้วคอนเซ็ปต์โรงพยาบาลถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การเปิดโรงพยาบาลใหม่ ต้องหาคอนเซ็ปต์เงื่อนไขยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลให้ได้ว่า จะทำโรงพยาบาลอย่างไร หลังจากประเมินสถานการณ์จากสาธารณสุขของประเทศแล้วก็คิดว่าโรงพยาบาลที่รักษาโรคยาก โรคซับซ้อนจะทำให้แข่งขันได คอนเซ็ปต์ใหม่ ดีไซน์ใหม่ นพ.พงษ์พัฒน์ย้ำว่า การออกแบบอาคารสถานที่ให้ผู้ป่วยโรคซับซ้อนต้องทำให้สิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลช่วยสนับสนุนการแพทย์ ทำให้สภาพแวดล้อมเหมาะกับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ดังนั้น โรงพยาบาลทั้งอาคารจึงออกแบบเป็น positive pressure มีระบบดูดอากาศจากภายนอกเข้ามาใส่ตัวอาคารโดยผ่านระบบกรองอากาศ ทำให้อากาศในโรงพยาบาลดีกว่าอากาศภายนอกหลายเท่า ถือเป็นข้อได้เปรียบ เป็นผลดีด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นการออกแบบโรงพยาบาลตัวอย่าง ซึ่งทลายข้อจำกัดที่โรงพยาบาลเก่าๆ ทำไม่ได้ “โรงพยาบาลสำคัญ ไม่มีเชื้อราซึ่งแก้ยาก ความชื้นทำให้เกิดเชื้อราและไปซ้ำเติมผู้ป่วย ที่นี่จึงปลอดภัยมาก” นอกเหนือจากบริการที่ดี มีทีมแพทย์เฉพาะทาง สามารถให้บริการรักษาโรคซับซ้อนได้แล้ว ที่สำคัญเมดพาร์คยังคำนึงถึงเรื่องการเรียนการสอนและงานวิจัย ซึ่ง นพ.พงษ์พัฒน์เผยว่า ได้ไอเดียมาจากโรงเรียนแพทย์อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกาที่ทุกคนต้องไปดูงาน เป้าหมายอยากมุ่งไปทางนั้น ทั้งบริการการแพทย์ที่ดีและเพิ่มองค์ความรู้ทางการแพทย์ด้วย “เราปรับหวอดทั้งชั้นเป็น negative isolation เพื่อทำให้คนไข้ที่เข้าไปพักไม่สามารถแพร่เชื้อออกมาตามประตูและทางเดินไม่ทำให้พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เดินผ่านต้องติดเชื้อ เราดูดอากาศออกภายนอก ทำการฆ่าเชื้อก่อนแล้วค่อยปล่อยออกไป คนไข้ที่ cohort ward (หอผู้ป่วยเฉพาะป้องกันแพร่ระบาด) เรามีอยู่ 15 เตียง ICU 8 เตียง hospitel อีกราว 80 ห้อง ที่โรงแรมหัวช้างเฮอริเทจ เพิ่งเปิดเมื่อ 24 กรกฎาคม เปิดได้ 2 วันเต็ม ตอนนี้เต็มทุกที่” ความต้องการโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 มีค่อนข้างสูง แต่ความสามารถให้บริการยังมีจำกัด กรรมการผู้จัดการเมดพาร์คอธิบายว่า “ตอนนี้โรงแรมที่ยังว่างๆ มีเยอะ แต่ปัญหาคือ บุคลากรจะเพียงพอหรือไม่ อยากจะเรียนว่าประเทศไทยเราดีไซน์ระบบ healthcare โดยมีบุคลากรทางสาธารณสุขน้อยไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้เราอาจไม่เห็นผลของมัน” ระบบบริการสาธารณสุขของไทยมีแพทย์ 5 คนต่อผู้ป่วย 10,000 คน ขณะที่มาเลเซียมีแพทย์ 15 คน สิงคโปร์มี 20 กว่าคน อเมริกา 40 กว่าคน “สัดส่วนนี้แต่ก่อนไม่เห็นผลเพราะหมอเราเก่ง ต่อคนนี่เก่งไม่แพ้หมอในอเมริกาหรือสิงคโปร์ และอาจเก่งกว่าด้วย แต่เมื่อคิดถึงแมสใหญ่เวลาเกิดโรคระบาด ใช้ความเก่งส่วนตัวไม่พอมันต้องคำนึงปริมาณต่อคนด้วย” มาดูตัวเลขสำคัญล่าสุด (27 กรกฎาคม ปี 2564) “วันนี้เรามีคนไข้ ICU จากโควิด-19 อย่างเดียวเกือบ 4,000 คน และคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจเกือบพันคน ในสหรัฐฯ มีเคส ICU จากโควิด-19 ประมาณ 8,000 คน แต่เขามีหมอมากกว่าไทย 10 เท่า แสดงว่าหมอไทยต้องดูแลคนไข้โควิด-19 ที่เข้าขั้น ICU มากกว่าอเมริกาถึง 5 เท่า ตัวเลขนี้เป็นภาระที่เราอาจต้อง reconsider เรื่องสาธารณสุขใหม่” นพ.พงษ์พัฒน์เผยว่า “ภายใต้นโยบายที่เยอะ เราตรวจแล็บโควิดเป็นล้านเคส เรามีเตียง cohort เยอะ มี hospitel เกือบ 30,000 ห้อง และมี ICU ช่วยทั้งหมด เพียงแต่ระบบที่มีอยู่เก่ามันอ่อน และดีไซน์โดยมีกฎหมายกำกับเรา” หากดูจากก่อนหน้านี้จะพบมีข่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนหยุดทำแล็บตรวจโควิดเพราะมีกฎหมายเดิมว่า ถ้าใครทำแล็บแล้วพบเชื้อต้องรับผู้ป่วยไปรักษา ถ้าไม่รับผิดกฎหมาย ทำให้คนไข้เต็มรับไม่ได้ โรงพยาบาลจึงหยุดทำแล็บ “แต่ตอนนี้กฎหมายแก้แล้วไม่ต้องผูกกัน คนนี้ตรวจไม่จำเป็นผูกว่าต้องหาเตียงให้ ซึ่งก็ปลดล็อก ไปเรื่องที่ 1 กฎหมายหลายอย่างที่ดีไซน์ไว้มันเป็นเรื่องที่ยังต้องแก้เพราะไม่ถูกต้องอยู่แล้ว มันคนละวัตถุประสงค์ คนตรวจให้เจอเชื้อหรือไม่ มันเพื่อให้คนไข้ไปแก้ปัญหา สังคมแก้ปัญหา ตอนนี้ทุกคนก็ช่วยตรวจ พอตรวจยิ่งเยอะเราก็ยิ่งรู้ว่าคนไหนสีแดง สีเขียว สีขาว” เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ MedPark