อมตะแห่งความสุข สมบัติที่ปลายรุ้งของ วิกรม กรมดิษฐ์ - Forbes Thailand

อมตะแห่งความสุข สมบัติที่ปลายรุ้งของ วิกรม กรมดิษฐ์

ธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยไม้ใหญ่เต็มพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารกรมดิษฐ์ บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เนื้อที่ราว 2,000 ตารางเมตร ได้รับการเนรมิตเป็นสวนป่ากลางเมือง เพื่อเป็นแหล่งพักพิงและต้อนรับผู้มาเยือนให้สัมผัสกับบรรยากาศอันสงบร่มรื่นและความเรียบง่ายตามเจตจำนงของผู้ก่อตั้งอาณาจักรอมตะ

“การให้ต้องทำด้วยใจ ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียง” วิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธาน มูลนิธิอมตะ วัย 64 ปี เริ่มต้นมุมมองเกี่ยวกับการให้เพื่อตอบแทนสังคม ในฐานะมหาเศรษฐีไทย ซึ่งติดอันดับสุดยอดผู้ใจบุญแห่งเอเชียแปซิฟิก “48 Heroes of Philanthropy” โดยนิตยสาร Forbes Asia เมื่อปี 2557 จากทุกย่างก้าวของชีวิตที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคและขวากหนามนับตั้งแต่ถือกำเนิดในชุมชนท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2496 ได้กลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมและขัดเกลาจิตใจเด็กชายเชื้อสายจีนแคะ ซึ่งตระหนักดีถึงความรับผิดชอบของบุตรชายคนโตในครอบครัวใหญ่ที่มีน้องร่วมมารดาและต่างมารดาถึง 23 ชีวิต วิกรมเริ่มทำธุรกิจขายถั่วคั่วมาตั้งแต่ 4 ขวบและเก็บหอมรอมริบมากพอที่จะแบ่งปันช่วยเหลือสัตว์ ผู้พิการและคนเจ็บป่วยในชุมชนมาตั้งแต่เล็กๆ
วิกรม กรมดิษฐ์ ท่ามกลางสวนเขียวขจีบนชั้นดาดฟ้าของอาคารกรมดิษฐ์ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่
ขณะที่เส้นทางธุรกิจของวิกรมเริ่มต้นอย่างจริงจังหลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมเครื่องกลจาก National Taiwan University ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไต้หวัน โดยในปี 2518 เขาได้ดำเนินธุรกิจนำเข้าส่งออกในนามบริษัท วี แอนด์ เค คอร์ปอเรชั่น จำกัด บนชั้น 3 ของตึกแถวย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี ด้วยความมุ่งมั่นหาเงินทุนศึกษาต่อปริญญาโทวิศวกรรมการบินและอวกาศ ตามความฝันในวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม ความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจที่วิกรมต้องทุ่มเทล้างหนี้สินที่หยิบยืมจากมารดาและบุตรสาวของป้านับแสนบาทในช่วงก่อตั้งบริษัท ทำให้ภาพฝันที่จะเป็นนักบินอวกาศยิ่งไกลห่าง เขาขาดแคลนทุนทรัพย์ขนาดเคยเหลือเงินติดตัวเพียงแค่สลึงเดียว วิกรมใช้เวลา 3 ปีกว่าที่จะล้างหนี้สินได้หมด “พอเริ่มมีเงิน 35 ล้านบาท เราจึงคิดลงทุนนิคมอุตสาหกรรมเพราะคำพูดคำเดียวของรัฐมนตรีพาณิชย์ของไต้หวันที่เป็นแรงบันดาลใจว่า เราเป็นคนไทยลูกครึ่งไต้หวัน ทำไมเราไม่เป็นสะพานช่วยคนไต้หวันให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย”
ชื่อของ อมตะ หมายถึง “นิรันดร” หรือ “กัลปาวสาน” ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานสำเร็จรูป ทีมสนับสนุนเทคนิค ที่พักอาศัย ร้านค้า แหล่งช็อปปิ้ง และถนนการเงิน
วิกรมตัดสินใจเบนเข็มธุรกิจสู่การบุกเบิกนิคมอุตสาหกรรมในปี 2531 บนที่ดินราว 300 ไร่ในช่วงแรก ซึ่งสามารถขายได้เกือบหมดในระยะเวลาเพียง 8-9 เดือน ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้เขาขยายพื้นที่เป็น 750 ไร่ระหว่างกรุงเทพฯ และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังใหม่ ภายใต้ชื่อ บางปะกอก อินดัสเทรียล พาร์ค 1 และ 2โดยได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด ในปี 2532 พร้อมขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งยังนำอมตะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2540 ชื่อ AMATA ในปัจจุบันบริษัทมีที่ดินครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง รวมจำนวนที่ดินทั้งหมด 14,137 ไร่ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการมากกว่า 1,000 โรงงาน จาก 30 ประเทศ สร้างมูลค่าการผลิตโดยรวมทั้งหมดกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งมีการลงทุนในต่างประเทศที่ประเทศเวียดนามผ่าน บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) ค้นพบความสุขแท้จริง มากกว่าความสุขจากความสำเร็จทางธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง วิกรมค้นพบความสุขอันเป็นอมตะที่เกิดขึ้นจากการให้ ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2539 ด้วยการใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว 200,000 บาทก่อตั้งมูลนิธิอมตะ เพื่อสร้างสรรค์ด้านการศึกษา กิจกรรมกีฬา การจัดการสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าหายาก รวมถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม “ตั้งแต่ปี 2519 สมัยอยู่สุขุมวิท 20 ยังมีเงินไม่มาก เราชอบคุยกับกวางชื่อจุ๋มจิ๋ม ใครเห็นจึงรู้ว่าเรารักสัตว์ เมื่อก่อนใครไม่อยากเลี้ยงอะไรก็เอามาให้เราหมด เช่น ลิง ค่าง ชะนี หมี งู เสือ สิงโต เหมือนเป็นศูนย์รับฝาก ต่อมาเมื่อเรามีเงินมากขึ้น เราสนใจช่วยเรื่องป่าไม้ โดยเฉพาะเขาใหญ่ที่มีความรักและผูกพันมาก เราต้องการทำอะไรเพื่อสังคม จึงตั้งมูลนิธิขึ้นมา” วิกรมกล่าวถึงที่มาของมูลนิธิอมตะที่เริ่มต้นจากความรักในธรรมชาติ และลงมือร่วมกับหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศเพื่อยกระดับเทคนิคการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
การใกล้ชิดธรรมชาติและสัตว์เป็นอีกหนึ่งความสุขของวิกรม
สำหรับผลงานที่ทำให้มูลนิธิอมตะโดดเด่นด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ โครงการประกวดศิลปกรรมอมตะ อาร์ต อวอร์ด ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2547 เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางด้านศิลปะของศิลปินไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ นอกจากนั้น มูลนิธิยังมีการมอบรางวัลนักเขียนอมตะ ยกย่องผู้สร้างสรรค์คุณค่าผ่านงานประพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมอบเงินรางวัล 1 ล้านบาทและเกียรติบัตรให้กับนักเขียนอมตะเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2547 “เราเน้นเรื่องหนังสือและการศึกษาซึ่งห้องสมุดทั่วประเทศมีหนังสือของเราหมด เพราะเรามองว่า เราได้รับเงินปันผลจำนวนมากจากบริษัทเป็นเงินส่วนตัวที่เราควรย้อนกลับไปทำเรื่องสิ่งแวดล้อมและการศึกษา เพราะคนที่ทำผิดในสังคมไทยไม่ได้อยากทำผิด แต่ทำเพราะไม่เข้าใจหรือไม่มีทางไป เราจึงควรเขียนหนังสือ” วิกรมย้ำ แม้ขณะนั้นวิกรมจะมีชื่อเสียงในฐานะซีอีโอของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ แต่เขากล้าที่จะเปิดเผยเรื่องราวชีวิตส่วนตัวเป็นวิทยาทานและเป็นลายแทงชีวิต รวมถึงแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านไม่ท้อถอยต่อโชคชะตาในหนังสือ “ผมจะเป็นคนดี” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2551 “เรามองเห็นปัญหาในครอบครัว และไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับครอบครัวอื่น เรามองการเสียสละความเป็นส่วนตัวของบ้านเรามาแบ่งปันจะทำให้อีกล้านครอบครัวได้ประโยชน์และมองเห็นทางออกของปัญหา มูลนิธิจึงเริ่มต้นหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกและแจกไปยังนักโทษ โรงเรียนต่างๆ รวมถึงจำหน่ายในราคาไม่แพง เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย” จนถึงปัจจุบันวิกรมเขียนหนังสือตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 20 เล่ม รวมยอดพิมพ์กว่า 7 ล้านเล่ม
คิดถึงแม่: ผลงานเล่มที่ 21 ของวิกรม เริ่มจัดจำหน่ายแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับผลงานล่าสุดที่กำลังจรดปากกาถ่ายทอดในเล่มที่ 21 เป็นเรื่องราวที่สะท้อนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากชีวิตจริงในอดีตของเขา เพื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญในการตอบแทนบุญคุณและดูแลบิดามารดาขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในชื่อหนังสือ คิดถึงแม่ ซึ่งเริ่มจัดจำหน่ายแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถ่ายทอดประสบการณ์จริงของวิกรมเองที่มีปมกับแม่ในวัยเด็กและกว่าจะตระหนักได้ก็เกือบจะสายเกินกาล สานฝันอมตะคาสเซิล บนความเพียรพยายามทำให้ฝันเป็นความจริง วิกรมตั้งใจสร้างศูนย์รวมผลงานทางด้านศิลปะทุกแขนงและวัฒนธรรมของศิลปิน โดยส่งเสริม สนับสนุน การจัดกิจกรรมทางด้าน ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การละครเป็นสถานที่จัดประชุม นิทรรศการ ปาฐกถา สัมมนา อภิปราย งานจัดเลี้ยง บริการห้องสมุด การจัดพิมพ์หนังสือหรือเอกสารเผยแพร่ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิอมตะ
ฝันที่เป็นจริง อมตะคาสเซิล ซึ่งได้รับการออกแบบในลักษณะอาคารทรงยุโรปผสานวัฒนธรรมสุวรรณภูมิและศิลปะของหอยในทะเล
แม้จะใช้เวลามากกว่าทศวรรษ ในที่สุดโครงการศูนย์จัดแสดงนิทรรศการและศิลปะแห่งภาคพื้นสุวรรณภูมิ อมตะคาสเซิล สามารถเปิดตัวได้อย่างสง่างามเมื่อต้นปี 2559 บนเนื้อที่กว่า 10,000 ตารางเมตรของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ด้วยสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของอาคารหินทรายสูง 49.9 เมตร ยาว 118 เมตร มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ปราสาทในฝันแบ่งออกเป็นส่วนที่พักอาศัยราว 2,500 ตารางเมตร ห้องจัดเลี้ยง 500 ตารางเมตร ห้องสัมมนา 140 ตารางเมตร และห้องศิลปิน 24 ห้อง โดยชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์พื้นที่ประมาณ 1,270 ตารางเมตร “เราต้องการทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และสร้างการยอมรับเอเชียในระดับโลก ซึ่งการเผยแพร่วัฒนธรรมจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักเอเชีย” วิกรมกล่าวถึงความตั้งใจในการสร้างเวทีแสดงผลงานเพื่อศิลปินระดับตำนาน   ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี
คลิกเพื่ออ่าน "อมตะแห่งความสุข สมบัติที่ปลายรุ้งของ วิกรม กรมดิษฐ์" จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine