ล็อกซเล่ย์ รีโฟกัส 8 ทศวรรษเจ้ายุทธจักร “เทรดดิ้ง” - Forbes Thailand

ล็อกซเล่ย์ รีโฟกัส 8 ทศวรรษเจ้ายุทธจักร “เทรดดิ้ง”

บริษัทชื่อฝรั่งที่เริ่มต้นมาจากกิจการทำไม้ และค้าขายสินค้าเกษตรเป็นหลัก ค่อยๆ เติบใหญ่ฝังรากลึกเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคง แผ่กิ่งก้านสาขาขยายสู่ “อาณาจักรหมื่นล้าน” วันนี้ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบศตวรรษ

ท่ามกลางธุรกิจที่แข่งขันกันสูงล็อกซเล่ย์ทำ business transformation เมื่อปีที่แล้ว หวังให้ธุรกิจสลิมขึ้น คัดเหลือ 5 กลุ่มธุรกิจเด่นสร้างกำไร ลบภาพ “ล็อกซเล่ย์ทำทุกอย่าง” พร้อมเป้ารายได้เพิ่ม 20% ปีนี้จากการนำทัพของ 3 ขุนพลแห่งตระกูล “ล่ำซ่ำ” อาจไม่บ่อยครั้งนักที่ ธงชัย ล่ำซำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) จะเปิดห้องทำงานบนตึกสูงย่านคลองเตย อีกหนึ่งอาณาจักรของ “ตระกูลล่ำซำ” ในสายของ trading firm สัญชาติไทย 100% Forbes Thailand มีโอกาสสัมภาษณ์ธงชัยเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาถึงเป้าหมายธุรกิจ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายสำหรับล็อกซเล่ย์ กับเส้นทางธุรกิจที่ดำเนินมาครบปีที่ 80 ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจที่รุนแรงขึ้นทุกปี  

ย้อนตำนานล็อกซเล่ย์

ธงชัยเป็นบุตรชายของ จุลินทร์ ล่ำซำ และ พรรณี ล่ำซำ เป็นขุนพลล็อกซเล่ย์ในเจเนอเรชั่นที่ 3 มีศักดิ์เป็นหลานของผู้ก่อตั้ง รับไม้ต่อตำแหน่งประธานกรรมการบริหารจากพี่ชาย คือไพโรจน์ ล่ำซำ ธงชัยนับเป็นขุนพลคนสำคัญที่ถูกเลือกให้นำทัพล็อกซเล่ย์ผ่านเส้นทางธุรกิจครั้งแล้วครั้งเล่า รวมไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมาแบบไม่บอบช้ำมาก ด้วยจุดแข็งสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของล็อกซเล่ย์มาจนถึงวันนี้ คือ ความซื่อสัตย์ และคำว่า “trust” “80 ปีที่ผ่านมา เราผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ช่วงที่เจริญรุ่งเรืองก็ผ่านมาเรื่อยๆ มียุคที่เจอมรสุมหนักหน่วงยุควิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เงินบาทจาก 25 บาทขึ้นมาเป็น 50 บาท ตอนนั้นเรามีเงินกู้จากต่างประเทศมากพอสมควรซึ่งไม่ใช่แค่ล็อกซเล่ย์ บริษัทอื่นส่วนใหญ่ก็ประสบภาวะยากลำบากเช่นเดียวกันบางบริษัทผ่านพ้นไปได้ บางบริษัทต้องหยุดดำเนินธุรกิจ แต่สิ่งที่ทำให้เราผ่านมาได้คือ trust เราได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น ลูกค้า สถาบันการเงินก็ผ่อนผันให้เราตามสมควร ผู้ถือหุ้นก็เชื่อมั่นด้วยการเพิ่มทุน ลูกค้าที่เราม commitment ไปแล้ว ยังพร้อมสนับสนุนเราอยู่ ทำให้เราพ้นวิกฤตช่วงนั้นมาได้” ธงชัย ย้อนเรื่องที่เป็นตำนานแห่งความจดจำของล็อกซเล่ย์ เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศช่วงนั้นล็อกซเล่ย์ทำหลากหลายธุรกิจจนได้ชื่อว่าทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบขายสินค้าอุปโภคบริโภค ขายข้าว ไม้ส่งออกนำเข้าทั้งในและต่างประเทศขายสินค้าไฮเทค ทำธุรกิจไอที ประมูล งานภาครัฐ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัทมหาชน “ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง นโยบายของเราคือไม่ปลดพนักงานเลย แต่สิ่งที่เราทำก็คือพยายามลดค่าใช้จ่าย โดยลดเงินเดือนผู้บริหารลง 30% เป็นเวลา 3 ปี แต่ไม่ลดเงินเดือนพนักงานชั้นผู้น้อย เพราะเรารู้ว่าในช่วงเศรษฐกิจแบบนั้น พนักงานลำบากอยู่แล้ว ซึ่งผู้บริหารทุกคนก็ยินยอมพร้อมใจ” ธงชัยเล่าย้อนอดีตให้ฟังถึงช่วงเวลายากลำบาก กลยุทธ์ที่ล็อกซเล่ย์ใช้ฝ่าฟันวิกฤตมาได้คือ การเจรจากับเจ้าหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มทุน และขายทรัพย์สินที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ก่อนธงชัยจะขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดล็อกซเล่ย์ยังเป็น trading company อยู่ประมาณ 90% หลังธงชัยเข้ามาบริหารได้ 5-10 ปี ล็อกซเล่ย์ปรับตัวจากเดิมที่เป็นเพียง trading company เสริมเพิ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา และวาง position ตัวเองสู่การเป็น technology solution provider เริ่มแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมงานต่างๆ มากขึ้น

สู่ยุคเจเนอเรชั่นที่ 3-4

ในยุคของธงชัย ล่ำซำ ถือเป็นยุคที่รุ่งเรืองและมีการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจล็อกซเล่ย์เป็นอย่างมาก เริ่มพัฒนาธุรกิจเข้าสู่วงการโทรคมนาคมและไอที ล็อกซเล่ย์เป็นหนึ่งในบริษัทที่นำเข้าอุปกรณ์ไฮเทคมานานกว่า 40 ปี แต่ก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตอีกหลายครั้ง ด้วยความที่ล็อกซเล่ย์มีแนวทางการดำเนินธุรกิจในสไตล์ “ช้าๆ แต่มั่นคง” ทำให้ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ทุกครั้ง และสามารถนำพาบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในที่สุด ปี 2559 กลุ่มล็อกซเล่ย์ได้ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยธงชัย ล่ำซำ ผู้กุมบังเหียนมาหลายสิบปี ขอวางมือจากการบริหาร และส่งมอบให้ทายาทรุ่นลูกและหลานขึ้นบริหารธุรกิจแทน การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นบททดสอบสำคัญอีกบทหนึ่งขององค์กรธุรกิจที่อายุยืนยาวมา 80 ปี ธงชัยก้าวลงจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด เปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมบริหารงาน ธงชัย ดึง สุรช ล่ำซำ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทนตัวเขาและให้ เฉลิมโชค ล่ำซำ ลูกชายคนโตนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สุรชและเฉลิมโชคถือเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของล็อกซเล่ย์เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อธุรกิจ วันนี้ ธุรกิจของล็อกซเล่ย์ไม่ได้เน้นทำทุกอย่างอีกต่อไปแล้ว หลังจากบริษัทได้ทำ business transformation เมื่อปี 2561 ด้วยการคัดเลือกธุรกิจที่เป็นอนาคตและทำกำไรทั้งหมด 5 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งยังคงแนวทางของการเป็น trading firm ผสมผสานกับบริษัทที่เชี่ยวชาญการจัดการโซลูชั่นไอทีให้กับลูกค้าและบริษัทที่ครองสัดส่วนงานประมูลภาครัฐระดับชั้นนำของประเทศ “วันนี้แม้ล็อกซเล่ย์จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนเรียกได้ว่าก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น แต่ความดีความชอบไม่ใช่มาจากผมคนเดียว มันต้องรวมถึงผู้บริหารและพนักงานท่านอื่นๆ ด้วย” ธงชัยกล่าวอย่างภาคภูมิใจ 5 กลุ่มธุรกิจขับเคลื่อนในฐานะผู้บริหารระดับสูงสุดที่ค่อยๆ วางมือ เปิดทางให้คนรุ่นหนุ่มสานต่อ โดย 5 กลุ่มธุรกิจที่จะขับเคลื่อนล็อกซเล่ย์จากนี้ ประกอบด้วย 1. กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) 2. กลุ่มธุรกิจบริการอาหารและการ จัดจำหน่าย (Food Service & Distribution)  3. กลุ่มธุรกิจพลังงาน (Energy) 4. กลุ่มธุรกิจเน็ตเวิร์กโซลูชั่น (Network Solutions) และ 5. กลุ่มธุรกิจบริการ (Service) ขณะที่อีกกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้จัดอยู่ใน 5 กลุ่มธุรกิจข้างต้น แต่สำคัญไม่แพ้กันได้แก่ บริษัท เช่น บริษัท บีพี-คาสตรอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยไฟเบอร์ออฟติคส์ จำกัด ธุรกิจผู้ผลิตในประเทศรายแรกที่จัดจำหน่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเพื่อโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงข่ายอินเทอร์เน็ต รวมถึง บริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป ไลสาจท์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับยุทธศาสตร์โตต่างประเทศ ธงชัยเล่าให้ฟังว่าแม้ธุรกิจที่ทำรายได้หลักยังอยู่ในประเทศแต่ที่ผ่านมาล็อกซเล่ย์ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วยในแบบเงียบๆ ค่อยๆ โต อาทิการส่งออกสินค้า “ข้าว” ไปที่จีนโดยเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทไซโนเปคยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเลียมอันดับ 1 ของจีน

Treat คู่แข่งและพาร์ทเนอร์เป็นมิตร

ในรอบ 80 ปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งความท้าทายของล็อกซเล่ย์ คือการเข้ามาของบริษัทข้ามชาติที่บางครั้งเป็นตัวแปรในแง่ส่วนแบ่งรายได้ที่ “สั่นคลอน” บริษัทคนไทยที่อยู่มานาน แต่ล็อกซเล่ย์มองว่าเป็นได้ทั้ง opportunity และ threat ธงชัยบอกว่าที่ผ่านมาล็อกซเล่ย์ทำธุรกิจในแบบ joint venture มาหลายครั้ง และไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไร แต่กลับกันจะยิ่งทำให้บริษัททำตลาดได้มากขึ้น และแข็งแกร่งขึ้น ประธานใหญ่ล็อกซเล่ย์มักพูดกับคนใกล้ตัวเสมอว่า การทำธุรกิจของล็อกซเล่ย์ไม่ต้องการวิ่งนำหน้าคู่แข่ง ในทางกลับกันเขายกย่องและให้เกียรติคู่แข่งของเขาเสมอ ด้วยความที่เป็นผู้บริหารมือเก๋าของวงการกรำสังเวียนธุรกิจมาหลายยุค ธงชัยยังมองว่าการแข่งขันของธุรกิจในไทยไม่ได้ลดความเข้มข้นลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และเพิ่มเข้ามาเป็นอาวุธสำคัญของทุกธุรกิจ เปิดโอกาสเจนใหม่ลุยตามสไตล์ แม้ล็อกซเล่ย์จะก่อกำเนิดมาจากการเป็น family business แต่วันนี้ธงชัยยืนยันว่าล็อกซเล่ย์ก้าวผ่านจุดนั้นมาสู่การเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัว “ธุรกิจล็อกซเล่ย์ผ่านมาหลายเจเนอเรชั่นเข้าสู่ของเจเนอเรชั่นที่ 4 เป็นยุคของลูกและหลานผม การส่งไม้ต่อไปยังรุ่นถัดไปตัวผมเองไม่เคยขีด boundary ว่าจะต้องเดินไปอย่างไร ทั้งคุณสุรช คุณเฉลิมโชคซึ่งจริงๆ แล้วผู้บริหารในล็อกซเล่ย์ไม่ได้มีแค่ 2 คนนี้ แต่เรามีตั้ง 5 ธุรกิจ head แต่ละธุรกิจทั้ง 5 กลุ่มไม่ใช่คนจาก family เลย ผมคิดว่ามันมีความหลากหลายมีเอกลักษณ์ในการทำธุรกิจแต่ละกลุ่มแต่ละคนมีสไตล์การบริหารที่เป็นของตัวเอง” เรื่อง: เอกรัตน์ สาธุธรรม ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี และ บมจ.ล็อกซเล่ย์
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ล็อกซเล่ย์ รีโฟกัส 8 ทศวรรษเจ้ายุทธจักร “เทรดดิ้ง”" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine