กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ทายาทของผู้ก่อตั้งสายการบิน Bangkok Airways นำพา บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA ทะยานขึ้นครองน่านฟ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้จุดแข็งด้านเส้นทางบินเป็นแรงส่งและมุ่งหลีกสงครามตัดราคา รักษาเพดานบินสร้างผลกำไรต่อเนื่อง
กว่า 48 ปีแล้วที่ บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA เมื่อครั้งยังเป็นแผนกการบินสหกลแอร์ ของ บริษัท กรุงเทพ สหกล จำกัด เริ่มกางปีกสู่น่านฟ้าธุรกิจการบินด้วยความคิดริเริ่มของ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร (ล่าสุดติดอับดับ 8 ของ Thailand’50 Richest ประจำปี 2015 ที่จัดโดยนิตยสาร Forbes) ที่ปัจจุบันวางมือจากการบริหารธุรกิจสายการบินและส่งไม้ต่อให้ลูกชายคนโต กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ วัย 50 ปี เข้ามารับช่วงคุมทิศทางของธุรกิจอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2551
“ตอนนั้นหน่วยงานที่ทำเรื่องการบินมีเพียงบริษัทการบินไทยและหน่วยงานราชการเท่านั้น เราเริ่มจากให้บริการเช่าเหมาลำแก่หน่วยงานต่างประเทศที่มาติดต่อราชการหรือทำธุรกิจในเมืองไทย จนได้รับอนุญาตให้บินประจำหรือคือการทำธุรกิจสายการบินอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2527”
ปัจจุบัน บมจ.การบินกรุงเทพ ให้บริการเที่ยวบินแบบประจำในเส้นทางบินภายในประเทศ 10 เส้นทางและเที่ยวบินแบบประจำในเส้นทางการบินระหว่างประเทศอีก 13 เส้นทาง ทั้งนี้บริษัทฯ ยังได้ขยายการให้บริการให้ครอบคลุมไปยังกลุ่มลูกค้าในยุโรป เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น โดยการประสานความร่วมมือกับสายการบินอื่นๆ 20 ราย ในลักษณะการทำความตกลงเที่ยวบินร่วม (code sharing) เช่น Etihad Airways, Japan Airlines และสมาชิกล่าสุด คือ Emirates และ Air Astana รวมถึงยังประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจสนามบิน (สนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย) บริการธุรกิจภาคพื้นดิน ครัวการบิน และบริการคลังสินค้าระหว่างประเทศให้แก่สายการบิน Bangkok Airways และสายการบินต่างประเทศอื่นๆ ผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วม
ในฐานะทายาทผู้นำพา Bangkok Airways เหินฟ้าสู่การเติบโตรายได้เฉลี่ยที่ 10-15% ในช่วงระยะ 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นและข้อจำกัดการรองรับผู้โดยสารของสนามบินในเมืองไทย กัปตันพุฒิพงศ์ ยืนยันเป้าหมายว่าจะมีเครื่องบินครบ 43 ลำ ภายในปี 2561 พร้อมมุ่งเพิ่มเส้นทางบินให้ครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมองว่าปริมาณการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงมีการเติบโตอยู่สูงในอนาคต
ในปัจจุบัน (ณ ธันวาคม 2558) บมจ.การบินกรุงเทพ ให้บริการด้วยเครื่องบิน ATR 72-500 ขนาด 70 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ ATR 72-600 ขนาด 70 ที่นั่งจำนวน 1 ลำ จากประเทศฝรั่งเศส เครื่องบิน Airbus 320 ขนาด 162 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ เครื่องบิน Airbus 319 ขนาด 144 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำ Airbus 319 ขนาด 138 ที่นั่งจำนวน 4 ลำ Airbus 319 ขนาด120 ที่นั่ง (ชั้นธุรกิจ 12 ที่นั่ง) จำนวน 4 ลำ รวมเป็น 27 ลำ
นอกจากนี้ โจทย์ที่ผู้นำแห่ง Bangkok Airways มุ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การวางโครงข่ายเส้นทางบินอันสอดคล้องกับความนิยมของผู้โดยสารที่เลือกบินตรงไปเมืองอื่นๆ แทนการเดินทางผ่านเมืองหลวงเช่นในอดีต ควบคู่ไปกับเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่ทำ code sharing ให้มากขึ้น เพื่อให้สุดท้ายยังคงความเป็น The Best of Asia ทั้งในแง่ชื่อเสียง ความเป็นที่นิยม และผลตอบแทนที่ให้กับผู้เกี่ยวข้อง
“แต่เราก็ไม่ขยายแบบผลีผลาม จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะครบทั้งหมดภายในเมื่อใด” กัปตันพุฒิพงศ์กล่าวถึงแผนขยายธุรกิจอีกว่าล่าสุดจะเริ่มให้บริการจุดหมายใหม่คือเมือง Da Nang (ดานัง) ประเทศเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ภายในปีนี้ Bangkok Airways จึงมีอีก 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ที่ยังไม่มีเส้นทางบินไป
แม้จะมีช่วงที่ต้องสะดุดหลุมอากาศหลายต่อหลายครั้ง แต่ กัปตันพุฒิพงศ์ในฐานะทายาทผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจสายการบินของครอบครัวปราสาททองโอสถ ยังสามารถคงสถานะตัวเลขผลประกอบการของ บมจ.การบินกรุงเทพ ให้มีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง “ตั้งแต่เราเข้าตลาดมา สามารถทำกำไรได้ทุกไตรมาสและมี Market Cap ราว 5 หมื่นล้านซึ่งใหญ่มากจนผมเองก็ยังตกใจ” กัปตันพุฒิพงศ์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
สำหรับในปีนี้กัปตันพุฒพงศ์ เชื่อมั่นว่าทิศทางธุรกิจสายการบินก็น่าจะมีแนวโน้มดีกว่าสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากที่เข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะส่งเสริมให้มีการเดินทางระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้สะดวกยิ่งขึ้นและการขยายธุรกิจระหว่างประเทศต่างๆ ใน AEC ก็จะยิ่งทำให้มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการสายการบินมากขึ้นตามมา “เราไม่มีคู่แข่งที่ชนกัน 100% เหมือนกลุ่มสายการบิน low cost เพราะเราฉีกตัวออกมาสร้างแนวทางของตัวเอง”
Bangkok Airways พร้อมย้ำที่จะคงจุดยืนความเป็น boutique airline ที่เน้นเรื่องการบริการอย่างมีคุณภาพทั้งบนเครื่องบินและภาคพื้นดิน ณ สนามบิน
“ผมวางคอนเซ็ปต์ boutique airline เพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในตลาด เรามองว่าตลาดที่คนเดินทางอย่างมีความมั่นใจ มีคนดูแล และสบายใจ ผู้โดยสารกลุ่มนี้น่าจะยังมีอยู่ เราจึงพยายามเน้นการบริการ และการให้ความช่วยเหลือในกรณีต่างๆ อาทิ เรื่องการต่อเที่ยวบิน การเช็คทรูกระเป๋า เราก็ให้บริการช่วยเหลือจนเขาสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้”
สุดท้ายแล้วเส้นทางที่ บมจ.การบินกรุงเทพ เลือกนั้นจะส่งให้บริษัทครองน่านฟ้าธุรกิจสายการบินและไต่ระดับขึ้นสูงได้ดังหวังหรือไม่ ส่วนหนึ่งคงต้องขึ้นกับฝีมือการบังคับของกัปตันพุฒิพงศ์ ทายาทแห่งตระกูลปราสาททองโอสถผู้มุ่งจะทำให้ดีที่สุดอย่างเสมอมา
ภาพ: ฐิระวิชญ์ ล้อเลิศรัตนะ
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ พา BA ครองน่านฟ้าอุษาคเนย์" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2016 ได้ในรูปแบบ E-Magazine