บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตำนานสารพัดค้าสู่อาณาจักรสหพัฒน์ - Forbes Thailand

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตำนานสารพัดค้าสู่อาณาจักรสหพัฒน์

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่พลิกผ่านจากยี่ปั๊วสู่อาณาจักรสหพัฒน์สามแสนล้านในมือขุนพลรุ่นสองแห่งโชควัฒนา พร้อมผสานศาสตร์และศิลป์เปิดเกมรุกทางธุรกิจ เพื่อประกาศความเป็นผู้นาอย่างภาคภูมิ

กระดานหมากล้อมที่มองไม่เห็นยังคงขับเคลื่อนหลากหลายมิติในองค์กรอายุ 74 ปี นับแต่ยังเป็นร้าน “เฮียบเซ่งเชียง” จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดในปี 2485 ด้วยเงินทุนหลักหมื่น สายเลือดนักสู้ทางธุรกิจแดนมังกรของ นายห้างเทียม โชควัฒนา ได้ถ่ายทอดถึงทายาททั้ง 8 ของตระกูล โดยเฉพาะ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา หรือบุ้นเซี้ยง บุตรชายคนที่ 3 ผู้สวมหัวใจสิงห์ต่อยอดธุรกิจกงสีของครอบครัวสู่หลากหลายกลุ่มธุรกิจในเครือราว 155 บริษัท (เฉพาะ SPI) สินค้ากว่า 30,000 ชนิด 1,000 แบรนด์ รวมรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท แม้ในวันนี้กระบวนทัพสหพัฒน์จะพร้อมสรรพด้วยกำลังพลที่แข็งแกร่ง แต่บุณยสิทธิ์ในวัย 79 ปียังคงอยู่เบื้องหลังบัญชาการอาณาจักรหลายแสนล้านบาทในฐานะประธานเครือสหพัฒน์และประธานกรรมการของ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ SPI “การทำงานของฉันคือการพักผ่อน และการพักผ่อนคือทำงาน ถ้าไม่มีงานทำก็จะรู้สึกอึดอัด ไม่รู้จะไปไหน”บุณยสิทธิ์เปิดฉาก การสนทนาอย่างเป็นกันเองกับทีมงาน Forbes Thailand เขาเริ่มต้นในธุรกิจกงสีเต็มตัวในช่วงรอยต่อระหว่างร้านเฮียบเซ่งเชียงเป็นสหพัฒนพิบูล พร้อมขยายการติดต่อทางธุรกิจกับประเทศญี่ปุ่น เพียงวัย 17 ปีเขาถูกส่งตัวไปเรียนรู้งานในบริษัทเคียวโกะ โดยทำหน้าที่ไม่ต่างจากพนักงานคนหนึ่ง รวมถึงเสาะหาผลิตภัณฑ์นำเสนอกลุ่มสหพัฒน์และโรงงานคุณภาพที่สามารถผลิตได้ในราคาถูกที่สุด โดยติดต่อสื่อสารผ่านทางจดหมายกับนายห้างเทียมผู้เป็นบิดา ผ่านเทเล็กซ์ (telex) โดยมีความบันเทิงช่วงเวลาพักเที่ยงหลังมื้ออาหารกลางวัน คือ กระดานหมากล้อมหรือโกะขนาด 19 x 19 เส้น สนามประลองกลยุทธ์ที่ฝึกปรือเด็กหนุ่มวัย 17 ปี “สมัยที่ฉันเข้ามาช่วยคุณพ่อ ฉันพยายามมองว่า อะไรเป็นที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ยอดขาย แต่เป็นจุดเด่นหรือจุดขายความเป็นที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพดีที่สุด อร่อยที่สุด หรือโดดเด่นที่สุด ขณะที่คู่แข่งบางรายขายทั้งปียังไม่รู้จุดเด่นของตัวเอง เราพยายามเสาะหาสินค้าอันดับ 1 ในด้านต่างๆ และตั้งเป้าให้สินค้านั้นเป็นที่ 1” เบอร์หนึ่งของสหพัฒน์ย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างความเป็นหนึ่งในอาณาจักรติดปีกสหพัฒน์สู่เส้นขอบฟ้า หลังเดินทางกลับประเทศสิงห์หนุ่มวัย 24 ปีได้สร้างตำนานบทใหม่ให้สหพัฒน์ครองความเป็นหนึ่งในฐานะผู้ผลิตไทยที่กล้าประกาศศึกกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติ โดยแจ้งเกิดแชมพูผง “ไลอ้อน” ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และต่อยอดความร่วมมือสู่การร่วมทุนระหว่างสหพัฒน์และไลอ้อน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จำนวนมาก บุณยสิทธิ์ระลึกถึงโอกาสและความท้าทายในช่วงที่ธุรกิจต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคสำเร็จรูป 75% ในปี 2505 ซึ่งกลายเป็นที่มาให้สหพัฒน์สร้างโรงงานแห่งแรกแทนการนำเข้า ทำแชมพูจำหน่ายเองและช่วยให้ราคาต้นทุนต่ำ จากความสำเร็จในการชิงไหวชิงพริบทางธุรกิจ แปรเปลี่ยนเป็นความมั่นใจและพลังในการขับเคลื่อนอาณาจักร สู่การแตกยอดสู่ธุรกิจเครื่องสำอาง เช่น เพี้ยซ (Pias) ธุรกิจเครื่องแต่งกาย นำโดยวาโก้ ซึ่งร่วมทุนระหว่าง บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งและบริษัท วาโก้คอร์ปอเรชั่นแห่งญี่ปุ่น โดยมี ไอ.ซี.ซี. รับหน้าที่ผู้จัดจำหน่ายโดยมีผลงานสินค้าสร้างชื่อ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “อากง (ผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น) และอาม่า (มาม่า)” ในยุคนั้น พร้อมสร้างยอดขายติดอันดับนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสำหรับผลการดำเนินงานในกลุ่มสหพัฒน์สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องรวม 2.89 แสนล้านบาทในปี 2558 และน่าจะแตะ 3 แสนล้านบาทได้ในช่วงสิ้นปี 2559 หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของสหพัฒน์ ในช่วงนั้นคือ “โตแล้วแตก และแตกแล้วโต” กลุ่มบริษัทจึงมุ่งขยายผลิตภัณฑ์เชิงกว้างครอบครองตลาดขนาดเล็กที่มียอดขายรวมกันกลายเป็นตัวเลขมหาศาล ส่งผลให้บริษัทสามารถพลิกจุดอ่อนด้านขนาดธุรกิจให้กลายเป็นความได้เปรียบ ใช้ความคล่องตัวเอาชนะยักษ์ใหญ่ “การเติบโตช่วง 5 ปีนี้ไม่ค่อยหวือหวาเรามีรุกบ้าง ถอยบ้าง รับบ้าง เรายังคงลงทุนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ในอนาคตเราสนใจธุรกิจอาหาร แต่ละตัวต้องพัฒนามากขึ้น แต่เร็วไม่ได้ เปรียบเหมือนเครื่องบินที่รันเวย์ยาวกว่าจะเทคออฟ การตลาดค่อยเป็นค่อยไปให้ซึมลึก เช่น มาม่า ฟาร์มเฮ้าส์ คิวพี คอร์นซอย หรือร้านอาหารญี่ปุ่นที่เราทำมานานก่อนจะได้รับความนิยม” ทั้งนี้ สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งหลักของกลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งถือหุ้นโดยตระกูลโชควัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวน 71% (ณ เดือนมีนาคม 2559)

จัดทัพไอทีสร้างขุมพลังอนาคต

ความสนใจในเทคโนโลยีของบุณยสิทธิ์เริ่มต้นตั้งแต่เด็กที่มักจะรื้อนาฬิกาเพื่อประกอบใหม่เรือนแล้วเรือนเล่าจนเป็นมืออาชีพด้านการซ่อมนาฬิกาประจำบ้าน ส่งให้บุณยสิทธิ์เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสร้างการเติบโตให้ธุรกิจโดดเด่นเหนือคู่แข่ง โดยริเริ่มการฝึกอบรมให้พนักงานคุ้นชินกับการใช้คอมพิวเตอร์และไอที พร้อมเรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองอย่างถ่องแท้เพื่อเป็นต้นแบบเดินนำให้ผู้อื่นทำตามได้ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัทในเครือไอ.ซี.ซี. สะท้อนชัดถึงความสำเร็จของการนำระบบไอทีและเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ในองค์กร หลังจากพนักงานเรียนรู้เป็นอย่างดี บุณยสิทธิ์จึงเริ่มใช้โปรแกรม SAP (Systems, Application, Products) ควบคุมดูแลทุกสายงานในเครือไอ.ซี.ซี. ส่งผลให้ผู้บริหารสามารถเรียกดูข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลสถานะของบริษัทได้ รวมถึงสามารถจัดการทุกสายงานและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ หมากตาต่อไปของบุณยสิทธิ์จึงอยู่ภายใต้การปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยเฉพาะยุคดิจิทัลที่กำลังรุกไล่ให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัว พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนอาณาจักรสหพัฒน์ให้เติบโตได้ทุกยุคสมัย “เรากำลังปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล คนมีอายุต้องถอยออก และสร้างคนรุ่นใหม่มาบริหารเราต้องพยายามกระตุ้นให้เขานำเสนอไอเดียเปลี่ยนวิธีคิด และเพิ่มลูกเล่น รวมถึงช่องทางการขายแบบ multi channel โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ และจัดจำหน่ายสินค้า “Thailand Best” ส่งเสริมสินค้าไทยตามนโยบายประชารัฐ” เจ้าสัวสหพัฒน์ปิดท้ายถึงความพร้อมในการส่งมอบอาณาจักรสามแสนล้านบาทสู่ขุนพลที่ได้รับการวางตัวไว้อย่างเหมาะสมในแต่ละสายธุรกิจ พร้อมรับแนวคิดการบริหารธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างสายสัมพันธ์กับคู่ค้าอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายที่วางไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องไม่ขาดทุน ต้องรู้สังคมและต้องรู้รับผิดชอบพนักงาน ไม่ใช่แค่ความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเท่านั้น” บุณยสิทธิ์กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น   อ่านเพิ่มเติม: สหพัฒนพิบูล-ไอ.ซี.ซี. สองเสาหลักแห่งเครือสหพัฒน์  
คลิกอ่านฉบับเต็ม "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตำนานสารพัดค้าสู่อาณาจักรสหพัฒน์" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560