ท่ามกลางเป้าหมาย SDGs (Sustainable Development Goals) ที่เรียกว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อที่สหประชาชาติวางเป็นทิศทางการพัฒนาของโลกมาตั้งแต่ปี 2558 ทว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายธุรกิจดำเนินการมาก่อนหน้านั้น เช่น กลุ่มมิตรผลผู้พลิกผืนดินสร้างโอกาสชาวไร่อ้อยและธุรกิจน้ำตาลเติบโตคู่กันได้อย่างชัดเจนและส่งต่อมาถึง บรรเทิง ว่องกุศลกิจ เจเนอเรชั่นที่ 3
“ผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ทำงานกับมิตรผลมา 40 ปี เพิ่งก้าวมารับตำแหน่งนี้ได้ราว 2 เดือน” บรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล ออกตัวในการให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand เมื่อกลางเดือนมีนาคม ปี 2564 ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งรับช่วงต่องานบริหารมาจาก อิสระ ว่องกุศลกิจ คุณลุงซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจเจเนอเรชั่น 2 ผู้สร้างการเติบโตให้กับอาณาจักรมิตรผลยืนหนึ่งในอุตสาหกรรมน้ำตาลของไทย เติบโตควบคู่มากับคู่ค้าลูกไร่ด้วยการทำมาค้าขายที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคู่ค้าและพันธมิตร “คุณพ่อผมมักพูดเสมอว่า อย่าโกงตราชั่งชาวไร่นะกว่าเขาจะปลูกอ้อยได้มันเหนื่อย” เป็นประโยคจำที่ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น เพื่อปลูกฝังทายาทมิตรผลทุกคนให้รักษาความซื่อตรงในการค้าขายที่ยังคงยึดมั่นถึงปัจจุบัน ชาวไร่อ้อยคือ ต้นกำเนิดของธุรกิจในกลุ่ม “มิตรผล” กิจการเกษตรอุตสาหกรรมของครอบครัว “ว่องกุศลกิจ” ที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานถึง 65 ปี จากรุ่นบุกเบิกในฐานะชาวไร่อ้อยที่ จ. ราชบุรี เริ่มต้นด้วยพื้นที่ 10 ไร่ ก้าวสู่อาณาจักรไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ด้วยเครือข่ายพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 2 ล้านไร่ทั่วประเทศ และ 40,000 ไร่ของมิตรผลในพื้นที่ปลูกอ้อยหลักที่ อ. ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี ความพิเศษของกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมน้ำตาลรายนี้คือ แนวคิดการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยสโลแกน “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ที่พิสูจน์ให้เห็นจากความสำเร็จของบรรดาลูกไร่ พันธมิตรคู่ค้าที่เติบโตก้าวหน้าจากชาวไร่ดั้งเดิมสู่เกษตรกรสมัยใหม่ smart farmer ที่บริหารไร่แบบ modern farm ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรการเกษตรมาทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
เป้าหมาย Bioeconomy
นอกจากทำธุรกิจแล้ว มิตรผลยังทำการเกษตร เป็นกลุ่มธุรกิจที่เกิดมาจากการเป็นเกษตกร เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำไร่อ้อยจึงมีความใกล้ชิดกับชาวไร่ เข้าใจความต้องการ เห็นถึงความลำบาก จึงมีความตั้งใจที่จะช่วยพัฒนาชาวไร่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมีอาชีพที่มั่นคง และพยายามสร้างความเติบโตและพัฒนาชาวไร่ไปพร้อมๆ กับก้าวย่างการพัฒนาของบริษัทที่ดำเนินควบคู่กันมาตลอด “อ้อย” คือ วัตถุดิบต้นทาง และหลังจากเข้าสู่กระบวนการผลิตได้น้ำตาล เหลือกากในการผลิตสามารถนำไปต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่น โดยอ้อยเป็นหัวใจหลักของการผลิต กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นคือก้าวย่างความสำเร็จที่เดินควบคู่กันไประหว่างมิตรผลและลูกไร่ที่เป็นทั้งพันธมิตรคู่ค้าและหุ้นส่วนสำคัญในวงจรธุรกิจ ซึ่งผู้นำมิตรผลมองว่า นับจากนี้ไปคงไม่ได้มีแค่น้ำตาล แต่จะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อีกหลายกลุ่ม เป้าหมายของผู้นำมิตรผลคนใหม่คือ สร้างการเติบโตในธุรกิจที่ต่อยอดจากน้ำตาลไปสู่ธุรกิจพลังงานและอื่นๆ โดยมีปลายทางที่มุ่งหวังคือ biopharma ตามเทรนด์ความต้องการของโลก และพยายามพัฒนาไปสู่ bioeconomy value chain ด้วยการต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปสินค้าจากพืชเศรษฐกิจสู่สินค้าแปรรูปขั้นสูง โดยกลุ่มมิตรผลมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้อ้อยและน้ำตาลเป็น value creation เพื่อมุ่งสู่ bioeconomy นำความรู้การวิจัยและพัฒนาเข้ามาเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับองค์กร และสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับชาวไร่ไปในเวลาเดียวกัน “เราทำวิจัยและพัฒนามาตลอด 20 กว่าปีในการต่อยอดการผลิตอ้อยสู่น้ำตาล และต่อเนื่องไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป้าหมายของเราอยากทำให้ถึง pharma grade” เป็นเป้าหมายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการผลิตน้ำตาลไปสู่ bioenergy, biochemical & materials (PLA/PBS), food & feed, cosmetics, nutrition, และ biopharma ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าสัดส่วนรายได้ในอนาคตของกลุ่มมิตรผลย่อมเปลี่ยนไป แม้ยังไม่อาจระบุสัดส่วนใหม่ที่ชัดเจนได้ แต่แม่ทัพอาณาจักรน้ำตาลอันดับ 1 ก็ได้วางเป้าหมายเรื่องรายได้ไว้ชัดเจนว่า ภายในปี 2568 กลุ่มมิตรผลจะมีรายได้แตะยอด 1 แสนล้านบาท (ปัจจุบันอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท) โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ธุรกิจน้ำตาลมาจากการส่งออกร้อยละ 70 และขายในประเทศอีก 30“มิตร” และ “ผล”
นั่นคือเป้าหมายตัวเลขทางธุรกิจ แต่นอกเหนือจากตัวเลขแล้ว แม่ทัพเจเนอเรชั่น 3 ย้ำว่าสิ่งที่มิตรผลทำมาตลอดคือ การพัฒนาความยั่งยืนร่วมกับคู่ค้าและพันธมิตร ตั้งแต่เริ่มตั้งองค์กรในยุคบุกเบิก โดยชื่อกลุ่มมิตรผลมาจากคำว่า “มิตร” และ “ผล” ซึ่งแปลได้ว่า เป็นผลผลิตจากมิตรแท้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา จนเกิดเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ซึ่งเขาบอกว่า การพัฒนาทุกอย่างเกิดจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลผลิตที่ดีที่สุดไม่ใช่สำหรับบริษัทเท่านั้น แต่ต้องดีมาตั้งแต่ต้นทาง ดีสำหรับชาวไร่ ดีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และไปถึงปลายทางคือ ดีต่อผู้บริโภค “การอยู่ร่วมในชุมชน สังคมอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ ถ้ารวยคนเดียวก็อยู่ไม่ได้ เราทำงานได้เงิน แต่ก็ต้องมีความสุข มีสุขภาพที่ดีด้วย” เป็นปรัชญาโดยสรุปที่แม่ทัพคนใหม่วัยต้น 60 ยึดมั่นสืบต่อมาจากผู้นำรุ่นแรกๆ ความมั่นคงของมิตรผลไม่ได้มาจากบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่พันธมิตรชาวไร่คือ องค์ประกอบที่สำคัญ
เกษตรสมัยใหม่
สิ่งที่มิตรผลทำมาโดยตลอดคือ กิจกรรมร่วมกับลูกไร่ ส่วนใหญ่เน้นหาแนวทางหลักว่าทำอย่างไรจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่ จะมีการอบรมหาโอกาสและแนวทางใหม่ๆ พอใช้เครื่องจักรในการทำไร่ และมีระบบบริหารจัดการแบบ smart farming ก็ทำให้ชาวไร่มีเวลาเหลือ มิตรผลจึงต่อยอดไปทำโครงการที่เรียกว่า “ทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะสุข” ซึ่งเขาบอกว่า ชื่อโครงการมี 2 นัย “พ่อผมเป็นชาวไร่ เรื่องการปลูกอ้อย ถ้ามองที่โลโก้โครงการคำว่าตามจะมีเลข ๙ แอบอยู่ เพราะได้นำปรัชญาในหลวง ร. 9 มาทำคู่สัญญาดัชนีความสุขร้อยละ 80 ตอนนี้มีเกษตรกรร่วมโครงการอยู่ 8,200 ราย ก็ไม่ได้หวือหวาใหญ่โต มีโรงเรือนแค่เล็กๆ เหมาะกับแต่ละครัวเรือน” ทุกวันนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง จากเกษตรกรไร่อ้อยยุคเก่าเริ่มเปลี่ยนเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ทำเกษตรสมัยใหม่ มีคนหนุ่มสาวเข้ามาเป็นเกษตรกรมากขึ้น “ผมมีสาวๆ จบมหาวิทยาลัยขับแทรกเตอร์ตัดอ้อยเองหลายคน ซึ่งทุกวันนี้ทำแล้วสนุกไม่เหนื่อย เพราะใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยรถทุกคันติดแอร์ มี GPS วิ่งได้เองแค่กดปุ่มเลี้ยวซ้ายขวาเท่านั้น ทุกวันนี้บอกได้ว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยเราใช้เทคโนโลยีเทียบเท่ากับต่างประเทศ แต่เพิ่งเริ่มต้นยังไม่ครบทุกครัวเรือน”

คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine
