อัศวินขี่ม้าขาว “หวู่ วั่น ทง” ผู้กอบกู้สถาบันการเงินตระกูลล่ำซำฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก ด้วยการเปิดฉากเชิงรุกเพิ่มสมรรถภาพการบริหารและยกเครื่องระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อ Thai Farmers Bank เป็น Kasikorn Bank สร้างรายได้เติบโตทะยานสู่ 1.85 แสนล้านบาท
กว่า 4 ทศวรรษในธนาคารรวงข้าวของทายาทรุ่นที่ 5 แห่งตระกูลล่ำซำ ได้รับภารกิจสานต่ออาณาจักรของครอบครัว ที่มีจุดเริ่มต้นจากบรรพบุรุษ “อึ้งเมี่ยวเหงี่ยน” กสิกรชาวมณฑลกวางตุ้ง ที่อพยพเข้าสู่เมืองไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความมุมานะทำให้สามารถขยับจากลูกจ้างในร้านขายเหล้าของจิวเพ็กโกและกิจการขายไม้ จนกระทั่งเป็นเถ้าแก่ร้านขายไม้ซุง “ก้วงโกหลง” ย่านสัมพันธวงศ์ และได้รับสัมปทานป่าไม้ขยายธุรกิจสู่โรงเลื่อยจักร “กิมล้ง” ส่งโรงเลื่อยที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งติดต่อค้าขายอย่างเชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ จากกิจการค้าไม้ในยุโรปและเอเชียที่ได้รับการบุกเบิกในรุ่นแรกสู่การต่อยอดในรุ่น 2 นำโดยอึ้งยุกหลง ซึ่งเริ่มต้นกิจการโรงสีข้าวและรับซื้อข้าว รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นเพื่อส่งไปขายยังต่างประเทศ ขณะที่ล่ำซำรุ่นที่ 3 ได้แก่ โชติ จุลินทร์ และเกษม 3 พี่น้องได้ต่อยอดกิจการเดิมและแตกยอดธุรกิจใหม่ โดยโชติได้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทย สาขาสำนักงานถนนเสือป่าเป็นที่ทำการแห่งแรกด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และพนักงาน 21 คน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2488 ซึ่งชื่อของธนาคารกสิกรไทยได้สื่อความหมายโดยตรงถึงชาวนา หรือชาวไร่ในชนบท เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในเวลานั้น ก่อนจะเปิดสาขาแรกที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และกระจายไปยังหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ สำหรับการขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยในยุคของล่ำซำรุ่นที่ 4 ได้รับการเห็นชอบจากมติของสภาตระกูล เมื่อบัญชา บุตรชายคนโตของโชติได้แสดงฝีมือพัฒนาธุรกิจเมืองไทยประกันชีวิต บริษัท ล่ำซำประกันภัย และคลังสินค้า (ภัทรประกันภัย) ได้สำเร็จบัญชาพร้อมรับภารกิจนำทัพกสิกรไทย ขยายเครือข่ายสาขาธนาคารอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกำหนดคำขวัญ “บริการทุกระดับประทับใจ” และใช้ตราสัญลักษณ์ “รวงข้าว”เปิดฉากล่ำซำรุ่นที่ 5
บนเส้นทางธุรกิจที่ได้รับการวางรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่ง ในฐานะบุตรชายคนโตของบัญชา และทายาทล่ำซำรุ่นที่ 5 พร้อมแปรเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสม หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี จาก Princeton University สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ MBA-Harvard Business School (HBS) ของ Harvard University สหรัฐอเมริกา ในปี 2520 ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย และเริ่มต้นเป็นพนักงานธนาคารกสิกรไทยทันทีในปี 2522 “ช่วงที่พ่อให้เข้ามาทำ ซึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วจริงๆ เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เรารอดมาได้อย่างฉิวเฉียด และทำให้เราได้รับมุมมองที่กว้างกว่าเดิมมาก โดยโจทย์ของการแก้วิกฤตเศรษฐกิจต้องแก้ไขทีละขั้น และเรายังได้รับบทเรียนว่า การทำเกินตัวทำให้พังได้ ไม่เฉพาะแบงก์แต่รวมถึงทั้งประเทศ ซึ่งขณะนั้นทุกคนทำเกินตัวโดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยง สุดท้ายก็พัง” บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือชื่อจีนว่า หวู่ วั่น ทง ยังคงระลึกถึงความท้าทายในช่วงเวลาที่ได้รับมอบหมายให้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการในวัยเพียง 39 ปี จากความสนใจในความเปลี่ยนแปลงของระบบธนาคารในต่างประเทศ นำมาพัฒนาระบบการบริหารสถาบันการเงินของไทยให้มีประสิทธิภาพในระดับสากล ทำให้บัณฑูรมั่นใจในกลยุทธ์รื้อปรับกระบวนการทำงาน “reengineering” ด้วยการยกเครื่ององค์กร 512 สาขาทั่วประเทศในช่วงปี 2537-2540 ส่งผลให้กสิกรไทยสามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้อย่างแข็งแกร่งในปี 2540 และเป็นธนาคารแรกที่สามารถระดมทุนก้อนใหญ่จากต่างประเทศได้สำเร็จ โดยเป็นผู้นำรายแรกของประเทศที่เริ่มต้นระดมทุนในรูปแบบการเสนอขายหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (SLIPs และ CAPs) ในปี 2541 พร้อมทั้งโฟกัสที่การปรับภาพลักษณ์องค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของธนาคารจาก Thai Farmers Bank เป็น Kasikorn Bank “เราเจอโจทย์ใหม่อีกแบบ โดยเป็นการค้าขายบนอินเทอร์เน็ต หรือ digital disruption ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายหลังวิกฤตเศรษฐกิจพัง เรากำลังทุ่มเทพัฒนากันอยู่ก็เจอกับวิกฤตโรคระบาด เมื่อก่อนนึกไม่ถึงว่าจะมีอะไรที่ทำให้ทุกคนต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันออกให้เราต้องรับมือ พัฒนาและปรับปรุงต่อไป” บัณฑูรกล่าวถึงความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่เคยนำทัพธุรกิจในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ปี 2545 สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน ธุรกิจสตาร์ทอัพ และพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ควบคู่การบริหารจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านดิจิทัล “สถาบันการเงินในอนาคตจะไปทางดิจิทัลมากขึ้น KBank ก็ปรับไปในแนวทางนี้ตามครรลองของโลก บทบาทของสถาบันการเงินเป็นแกนกลางการค้าขายยังเป็นหลักอยู่เหมือนเดิม แต่จะมีเรื่องของความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมเกี่ยวกับ cyber security ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะระบบการเงินทุกอย่างจะอยู่บนโครงสร้างดิจิทัล ถ้าเกิดปัญหาอย่างไวรัสหรือระบบล่มจะวุ่นวายมาก เราต้องให้น้ำหนักพวกนี้มากขึ้น” ส่งผลให้ธนาคารสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยกำไรสุทธิจำนวน 3.87 หมื่นล้านบาทในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.7% และมีรายได้จากการดำเนินงานสุทธิเพิ่มขึ้น 3.22% ทั้งยังมีการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งสะท้อนถึงสถานะเงินทุนของธนาคารอันแข็งแกร่ง “เรามองโจทย์โดยรวมว่าอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์ การบริหารธุรกิจธนาคารในมิติหนึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจป่าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำมาหากินของประชาชนก็เกิดประโยชน์ซึ่งโยงถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนที่เป็นเรื่องใหญ่ รวมทั้งประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศก็เป็นโจทย์สำคัญ”เชิดชูเกียรติประธานกิตติคุณ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสถาบันการเงินอายุกว่า 75 ปี เกิดขึ้นหลังจากบัณฑูรประกาศลาออกจากตำแหน่งกรรมการและประธานกรรมการ หลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 108 และมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 พร้อมแต่งตั้งกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ให้มารับช่วงต่อเป็นประธานกรรมการ และขัตติยา อินทรวิชัย ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการนำทัพธุรกิจโดยตระกูลล่ำซำ และเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของธนาคารกสิกรไทย ขณะที่คณะกรรมการธนาคารได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ประกาศฉายา “ประธานกิตติคุณ” หรือ chairman emeritus ให้กับบัณฑูร เพื่อยกย่องและให้เกียรติจากการร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยเป็นเวลา 40 ปี โดยได้สร้างคุโณปการอย่างอเนกอนันต์ให้กับธนาคารกสิกรไทย และเป็นผู้นำองค์กรให้เจริญก้าวหน้า มั่นคงอย่างยั่งยืน พร้อมยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและหลักธรรมาภิบาล ส่งผลให้ธนาคารสามารถผ่านวิกฤตสำคัญของประเทศและของโลกได้หลายครั้ง ตลอดจนเป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบ ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ “การลงจากตำแหน่งในภาวะวิกฤตแสดงถึงความเชื่อมั่นของฝ่ายบริหารจัดการมาก และเป็นการทดสอบทีมใหม่อย่างดีที่สุด ถ้ารับมือกับตอนนี้ได้ก็สอบผ่าน สามารถรับมือหรือรับงานต่อไปได้จังหวะนี้ดีที่สุดแล้ว ซึ่งในวันนี้พูดได้เต็มปากว่าทำงานแบงก์มา 40 ปี สมควรแก่เวลาส่งต่อได้อย่างดี ผมไม่มีความกังวลอะไร” บัณฑูรกล่าวถึงการเบนเข็มเส้นทางจากด้านการเงินและธนาคารกว่า 40 ปี มาสู่การลงพื้นที่พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติหรือป่าต้นน้ำในจังหวัดน่านอย่างเต็มตัว พร้อมทิ้งท้ายเป็นคำเตือนหรือข้อคิดสำหรับนักบริหารและผู้ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน “อย่ามั่ว อย่าไม่คำนวณ อย่าชุ่ย และอย่าเหยียบเท้ากัน ซึ่งหลังวิกฤตประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ทุกคนตระหนักว่าอะไรก็ไม่แน่ สิ่งที่ดูเหมือนมั่งคั่ง เพียงชั่วข้ามคืนก็หายไปได้ ทุกคนจะเข้าใจถึงความเปราะบางของความเป็นอยู่และระบบเศรษฐกิจ ซึ่งระหว่างการกลับเข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต เราต้องประคองคนที่อยู่ล่างสุดของระบบ ซึ่งหนีไม่พ้นผู้ที่มีกำลังทรัพย์หรือปัญญาต้องช่วยประคองคนที่มีต้องช่วยคนไม่มี ดังพระราชดำรัสของในหลวง ร. 9 ว่า ประเทศไทยยังดีอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะมีการให้ซึ่งกันและกัน”คลิกอ่านฉบับเต็ม บัณฑูร ล่ำซำ “ทวงคืนผืนป่า” ภารกิจท้าทายอำนาจรัฐ-ชุมชน-ผลประโยชน์ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine