การพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ ตรีชฎา เพชรรัตน์ จากนักแสดงมืออาชีพที่สามารถสร้างชื่อในต่างประเทศสู่การแจ้งเกิดในฐานะนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ ปั้นธุรกิจการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมก่อตั้งบริษัทผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาตรฐานสากลด้วยความมุ่งมั่นในเป้าหมายการเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น
เมื่อสปอตไลต์ที่สาดส่องเริ่มส่งผลต่อความรู้สึก จากแสงแห่งความเจิดจรัสกลายเป็นแสงจ้าที่สว่างมากเกินไป พร้อมกับหมุดหมายในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงสัญชาติไทย ที่แจ้งเกิดสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศจนได้รับรางวัล Person of the Year หรือผู้ทรงอิทธิพลในประเทศจีนหลายปี ตัดสินใจเดินตามความฝันและความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการเริ่มต้นนับหนึ่งทั้งการศึกษาเฉพาะทางและก่อตั้งธุรกิจเต็มตัว “อินเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กที่รู้ว่าโลกนี้มีวิทยาศาสตร์อยู่จริง ซึ่งเมื่อก่อนเคยตั้งคำถามกับคุณย่าว่า ทำไมแผลถึงหายเร็วหลังจากทาน้ำผึ้ง เพราะทุกอย่างเกิดจากความสงสัยและตั้งคำถามตลอดเวลา โดยได้นำหลักการเหล่านี้มาใช้ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในวงการบันเทิงที่เคยตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงไม่สามารถทำงานในตลาดอินเตอร์ได้ เมื่อตั้งคำถามแล้วเราจึงกำหนดวิธีการไปให้ถึงเป้าหมายเหมือนการออกแบบทดลอง” ตรีชฎา เพชรรัตน์ กล่าวถึงความสนใจในหลักการและแนวทางของวิทยาศาสตร์ที่สามารถปรับใช้ในชีวิต

ปั้น BIOMT เทียบมาตรฐานสากล
ธุรกิจในฝันที่กลายเป็นความจริงไม่เพียงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจฝ่าบททดสอบอันท้าทายได้สำเร็จ แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมีส่วนร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย โดยสามารถก่อตั้งบริษัทใจกลางเมืองใกล้สถาบันการศึกษา ซึ่งสะดวกในการเดินทางและเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยได้ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้สร้างประโยชน์ให้กับคนทั่วโลก “ในระหว่างที่ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตยาหรืออาหารเสริมเอง เราได้ศึกษาเทคโนโลยีและ R&D จนได้ไอเดียโปรเจ็กต์คอนเซ็ปต์การก่อตั้งบริษัทรับวิจัยพัฒนาและวิเคราะห์ด้วย จากเดิมแบ่งสัดส่วนให้ความสำคัญเท่ากัน แต่ขณะนี้เราได้ทุ่มเงิน ทุ่มใจ และทุ่มแรงไปกับการวิจัย 60% ซึ่งทุกวันนี้ไทยยังพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติมาก ไม่ใช่ว่าทรัพยากรบุคคลของไทยไม่เก่ง ในทางตรงกันข้ามนักวิทยาศาสตร์ไทยเก่งมาก แต่ปัญหาอยู่ที่ส่วนใหญ่ประเทศไทยจะเน้นผลการศึกษาวิจัยเป็นกระดาษ หรือ lab scale โดยไปไม่ถึงขั้น production หรือ commercial scale” ดังนั้น ในปัจจุบันกลุ่ม BIOMT แบ่งธุรกิจออกเป็น บริษัท ไบโอฟาร์มา แปซิฟิก จำกัด ทำหน้าที่รับผลิตเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยามาตรฐานสากลในระดับแล็บสเกลที่คำนึงถึงระดับโปรดักชันสเกลด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เกิดจาก บริษัท ไบโอฟาร์มาเทค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาประยุกต์ (applied research) 3 ด้านหลัก ได้แก่ การทดสอบเชื้อ การวิจัยทางคลินิก และการวิจัยเคมี “เราวางแผนให้ไบโอฟาร์มา แปซิฟิกสามารถผลิตยาได้ในอนาคต เช่น ยาทั่วไป ยาสามัญประจำบ้าน ยาอันตรายด้วยการยกระดับสถานที่ให้เป็นมาตรฐานสากล ระบบไร้สัมผัส และ workflow ต่างๆ โดยคนในองค์กรเรามากกว่า 70% เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศาสตราจารย์ และ professor ซึ่งการลงทุนในไบโอฟาร์มาเทคเราแบ่งเป็นเฟส โดยใน 5 ปีแรกเรามองตัวเองเป็นไบโอเทคสตาร์ทอัพใน New S-Curve ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องไฟแนนซ์เป็นหลัก แต่เน้นคอนเซ็ปต์ไอเดีย การทำให้ impact หรือกลายเป็นยูนิคอร์นในไบโอเทคโนโลยี” ตรีชฎายกตัวอย่างงานวิจัยของบริษัทด้านการทดสอบเชื้อ เช่น การศึกษาเชื้อจุลินทรีย์ Probiotics หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพให้มีชีวิตอยู่หลังกระบวนการผลิตให้มากที่สุด เพื่อช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลของร่างกายให้เกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนั้นการวิจัยทางคลินิกที่จะสร้างประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในอนาคต ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุลสำหรับการตรวจวินิจฉัยและการเลือกรูปแบบการรักษาที่ตรงจุดหรือ precision medicine ซึ่งมุ่งเน้นที่การรักษามะเร็งเต้านมเป็นโปรเจ็กต์แรก เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลกสูงสุด และมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นมาก
สร้างมายเซ็ตการทำงาน
ตรีชฎาย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำพร้อมสร้างประโยชน์ให้กับคนทั่วโลกด้วยการผสมทั้งศาสตร์ด้านหลักการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ และศิลป์ด้านการบริหารจัดการทางการเงินรวมถึงความต้องการในตลาด เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเป็นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมได้ “เราต้องการให้นักวิจัยของเราเปลี่ยน mindset ให้ทุกคนคิดเผื่อการใช้งานในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับโลกเพราะถ้าสำเร็จจบในแล็บห้องเดียวอาจจะใช้เวลานานกว่าจะเกิดประโยชน์กับคนอื่น เนื่องจากสุดท้ายผู้ประกอบการต้องดัดแปลงให้เหมาะกับ production scale หรือข้อจำกัดทางการแพทย์ ถ้าสำเร็จแต่จับต้องไม่ได้จริงก็ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งบริษัทเราต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำและคำนึงถึงปลายน้ำด้วย โดยต้องมีการเบลนด์ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้ามา รวมถึงต้องมองตลาดให้ออกว่าสิ่งที่ทำมีตลาดรองรับและเป็นปัญหาของโลกหรือไม่” ขณะที่หลักการบริหารธุรกิจและทีมงานมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น หรือระดมสมองสร้างสรรค์จินตนาการกันอย่างเต็มที่ โดยออกแบบระบบการทำงานของบริษัทให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด (paperless) และใช้คลาวด์เป็นระบบกลางในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้ทีมงานสามารถทำงานได้ทุกที่และทุกเวลา เช่น ร้านกาแฟ Cafe Tabebuya ของบริษัทที่ใช้แทนห้องทำงาน หรือห้องประชุมเสมือนศูนย์รวมสภากาแฟสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมถึงทำเลที่อยู่ใจกลางเมืองและข้างสถาบันการศึกษาจึงทำให้มีนักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา พนักงานบริษัท และบุคคลทั่วไปเข้าใช้บริการด้วย “เนื่องจากเราเป็นสตาร์ทอัพ ทำให้การทำงานของเราอิสระมาก อะไรที่ทีมของเราคิดขึ้นมา เรามองก่อนเลยว่าเป็นไปได้ หรือถ้าใครได้รับการปฏิเสธจากที่อื่น เราจะให้ลองมาคุยกัน ซึ่งโมเมนต์ที่นักวิทยาศาสตร์คุยกันสนุกมาก เหมือนจินตนาการกันออกมาก่อน หรือไม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ แค่สงสัย ตั้งคำถาม และเห็นความเป็นไปได้ เพราะปอยชอบคนคิดนอกกรอบและเชื่อว่าความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด”
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine
