ภาพเขียนของสารพัดศิลปินรายล้อมระหว่างทางเดินและประดับอยู่ตามห้องต่างๆ ภายในชั้น 11 ของอาคารอาคารสาธรซิตี้ทาวเวอร์ ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ บมจ. เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) สะท้อนถึงแนวคิดของผู้ก่อตั้งวัย 60 ปี อย่าง ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหารแห่ง ASP
ASP ในปัจจุบันประกอบด้วยสามบริษัทย่อย คือ 1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอเซีย พลัส จำกัด ที่ครอบคลุมธุรกิจการบริหารสินทรัพย์และการเป็นที่ปรึกษาทางการลงทุน ธุรกิจการลงทุนต่างประเทศ และธุรกิจตราสารอนุพันธ์ 2. บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ให้น้ำหนักด้านธุรกิจด้านวาณิชธนกิจและธุรกิจกิจการร่วมลงทุน และ 3. บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ที่เน้นด้านธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ สร้างให้ ASP มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) กว่า 7 พันล้านบาท (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559) และผ่านการสร้างสรรค์สุดยอดดีลมากมายที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ของแวดวงการเงินไทย เมื่อย้อนเวลากลับไปเขาถูกบ่มเพาะความชื่นชอบสะสมงานศิลปะจากงานอดิเรกของผู้เป็นบิดา ไพจิตร โอภาสวงการ ที่บ่อยครั้งพาเขาไปดูการตัดสินประกวดภาพถ่ายระดับประเทศและได้รับคำอธิบายจากบิดาว่าเหตุผลอะไรที่ทำให้ผ่านการคัดเลือกหรือตกรอบเป็นประจำ รวมไปถึงการปลุกฝังให้พี่น้องทั้ง 4 คน ได้รับการส่งเสริมความเป็นนักสะสมตั้งแต่วัยเยาว์กับการสะสมแสตมป์ เป็นที่มาของรากฐานการลงทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งของ ดร.ก้องเกียรติ ในปัจจุบัน และตกตะกอนเป็นรากฐานการดำเนินธุรกิจที่ยึดหลัก “The Art of Financial Services” หรือศิลปะแห่งการให้บริการด้านการเงิน เขาเองมีความฝันที่จะสร้างกิจการของตัวเอง ซึ่งถูกจุดประกายขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ผู้เติบโตจากครอบครัวชนชั้นกลางที่พ่อแม่เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ได้รายได้มาก “ตัวผมเองยังต้องไปสอบชิงทุนเพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งยิ่งได้อ่านและแปลหนังสือเกี่ยวกับทำธุรกิจส่วนตัวชื่อเรื่อง The Entrepreneur’s Guide ที่เขียนโดย Philip Holland ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ตัดสินใจทำธุรกิจของตัวเอง” แม้ตัวเขาจะประสบความสำเร็จในแง่การศึกษา ทั้งจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง) สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ทุนการศึกษาจากธนาคารกสิกรไทยจนจบทั้งปริญญาโทและปริญญาตรีจากสถาบันที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง The Wharton School แห่ง University of Pennsylvania แต่ก็ไม่ได้มีทรัพย์สินอะไรดังนั้นเมื่อมีโอกาสเข้ามาก็ย่อมต้องคว้าไว้การเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนจึงเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม 4 ปี กับการทำงานกับบริษัทไทยอย่างธนาคารกสิกรไทยที่ได้โอกาสเรียนรู้งานที่หลากหลาย และอีก 4 ปี ที่พัฒนาความเชี่ยวชาญจากบริษัทสัญชาติอังกฤษอย่าง Baring Securities 4 ปี ในที่สุดจึงตัดสินใจเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินชื่อ บริษัท แอสเสท พลัส จำกัด เมื่อปี 2536 ที่มีผู้ถือหุ้น 3 คน คือ ดร.ก้องเกียรติ Fouad Said และ อนันต์ อัศวโภคิน จากสายสัมพันธ์แห่ง Baring Securities ด้วยจำนวนพนักงานเพียง 6 ราย ทำดีลด้าน private equity โดยมีลูกค้ารายแรกคือการระดมทุนและเสนอขายหุ้นไอพีโอของ บมจ.ชินแซทเทลไลท์ (บมจ.ไทยคม ในปัจจุบัน) มูลค่ากว่า 1.3 พันล้านบาท เมื่อปี 2537 “ตอนนั้น license บริษัทหลักทรัพย์หายากมากต้องใช้เงินเป็นหลายร้อยล้านบาทถึงจะซื้อได้” ดร.ก้องเกียรติ ให้เหตุผลที่เลือกเริ่มต้นบทบาทผู้ประกอบการด้วยธุรกิจที่ปรึกษาการเงินก่อนที่จะแจ้งเกิดบริษัทหลักทรัพย์ของตัวเอง ในการเข้าซื้อกิจการ บล.ชาวไทยในปี 2538 ที่ปิดกิจการไปแล้ว และมีหนี้สินคงค้างราว 4 ร้อยล้านบาท หลังจากรองกับเจ้าหนี้ 4 ราย และได้ license ในที่สุด และจากแอสเสท พลัส จำกัดในปี 2536 บริษัทถูกแปลร่าง เข้าถือหุ้น เข้ารวมกิจการ ปรับโครงสร้างผ่านช่วงเวลาที่ลับคมเป็นความสำเร็จ จนกระทั่งปี 2558 ใช้ชื่อ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย หลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และขยายธุรกิจเพิ่มเติมจนเกือบครบวงจรและยังให้บริการในจุดเด่นในเรื่อง วานิชธนกิจ (investment banking ) เป็นหลักในปัจจุบัน โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่าธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์มีแต่จะชะลอลงเรื่อยๆ ในอนาคต สวนทางกับธุรกิจที่ให้บริการกับลูกค้าแบบเฉพาะบุคคลหรือ tailor-made จะเติบโตขึ้น โดยเฉพาะด้านบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) และบุคคลธนกิจ (private banking) จะเป็นที่ต้องการของลูกค้าอย่างมาก รวมถึงเชื่อว่าคนไทยจะไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นจึงจำเป็นต้องสร้างคนเพื่อมาให้ความรู้ด้านหุ้นและตราสารหนี้ต่างประเทศกับลูกค้า สอดคล้องกับรูปแบบการลงทุนที่กำลังทวีความนิยมมากขึ้นของกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อการลงทุนสูงตั้งแต่ 30 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปที่เรียกว่า Ultra High Net Worth Individuals (UHNWIs) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีโอกาสแนะนำลูกค้าให้ลงทุนในอสังหาฯ หลายประเภท ทั้งอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย อาคารคลังสินค้า หรือแม้แต่ศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศโดยเฉพาะที่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันกระแสหนึ่งที่เด่นชัดในกลุ่มคนไทยที่เป็น UHNWIs คือรสนิยมในการลงทุนและสะสมสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยสะสมนาฬิกาและรถยนตร์หรูก็เริ่มหันมาซื้อเพชรพลอยชิ้นเด่นมากขึ้น ขณะที่งานศิลปะก็เริ่มเป็นที่สนใจของกลุ่มเศรษฐีไทยรุ่นใหม่มากขึ้นด้วย อีกทั้งยังสนใจเรื่องการลงทุนในไวน์ราคาแพงเพิ่มขึ้นคลิ๊กอ่าน "ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ศิลปินแห่งวงการสร้างสรรค์ดีล" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ May 2016 ในรูปแบบ E-Magazine