ปูทางตลาดไทยสู่ Hub of ASEAN ผู้บริหารหนุ่มรุ่น 3 แห่งครอบครัวผู้ค้าทองคำระดับ Top 3 ของไทยตั้งเป้าหมายใหญ่ขอพาไทยผงาดสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายทองคำแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่กับการพาแบรนด์ “เอ็มทีเอส โกลด์” ให้เลื่องชื่อในระดับสากลพร้อมปรับเปลี่ยนธุรกิจครอบครัวที่ยืนยงกว่า 60 ปีให้เป็น “บริษัทมหาชน” ภายใน 2 ปีข้างหน้า
จากร้านทองตู้แดงจำหน่ายทองรูปพรรณในห้องแถวขนาด 2 คูหาเมื่อหลายสิบปีก่อน มาวันนี้ธุรกิจห้างทองแม่ทองสุกของครอบครัว “หิรัณยศิริ” เติบใหญ่ทวีประกายสุกปลั่งกว่าเดิมในชื่อ “กลุ่มบริษัทเอ็มทีเอสโกลด์ แม่ทองสุก” ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับทองคำครบวงจร ติดอันดับผู้ค้าทองคำอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ค้าปลีกค้าส่งทองรูปพรรณ 2. ค้าขายทองคำแท่ง 3. เทรดดิ้ง (โบรกเกอร์ Gold Futures) 4. โรงงานผลิตและสกัดทองคำ “ผมไม่กดดันที่ต้องเข้ามาบริหาร แต่ถือเป็นความท้าทายมากกว่า” ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ วัย 33 ปี เริ่มต้นบทสนทนากับ Forbes Thailand ด้วยบุคลิกผ่อนคลายแต่ประกายตามุ่งมั่น ณัฐพงศ์คือประธานฝ่ายบริหารกลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด ซึ่งบริษัทหลังคือเรือธงขององค์กรในธุรกิจค้าขายทองคำแท่ง ที่สร้างรายได้ให้กลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ฯ ถึง 95% ด้วยรายได้รวม 4.4 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมาทุกวันนี้ ณัฐพงศ์เป็นทายาทคนโตในจำนวน 3 คน ของ นพ.กฤชรัตน์ ชายหนุ่มเห็นการทุ่มเททำงานหนักของผู้เป็นพ่อตั้งแต่เขายังเยาว์วัยหลังจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจาก Babson College สหรัฐอเมริกา เขาต้องการหาประสบการณ์การทำงานในสายธุรกิจอื่นเสียก่อน ทว่าความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไม่เคยรอใคร เมื่อกิจการครอบครัวต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มหรือทิศทางการลงทุนใหม่ๆ ณัฐพงศ์จึงเข้ามาเสริมทัพในราวปี 2550 ซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิกธุรกิจหลายอย่างขององค์กร ห้วงเวลาก่อนหน้านั้นราว 5 ปี รูปแบบการลงทุนของผู้คนเริ่มหันสู่การซื้อขายทองคำแท่งเพื่อเก็บหรือเพื่อเก็งกำไร ซึ่งเป็นการบริหารความมั่งคั่งในรูปแบบหนึ่ง นพ.กฤชรัตน์จึงนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาระบบเกิดเป็นการซื้อขายทองคำแท่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “Gold Online” มีสินค้าทั้งที่เป็นทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 96.5% และทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 99.99% มาตรฐาน LBMA (London Bullion Market Association) ภายใต้บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด “บทบาทเด่นที่ทำให้เราเป็น industry changer ที่สุดคือตัวซื้อขายทองคำออนไลน์เพราะเป็นรายแรกที่ทำลูกค้าก็ไม่ต้องไปร้านทองแล้วเพราะสามารถซื้อแล้วโอนเงินได้เลย” ณัฐพงศ์กล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจ นอกจากนี้บริษัทยังปฏิวัติการชำระเงินในธุรกิจทองคำเป็นรายแรกๆ ของประเทศ ด้วยการจัดทำ “Gold Payment Card” (GPC) หรือระบบการชำระเงินผ่านบัตรที่บริษัทร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยพัฒนาให้เกิดขึ้น “แต่ก่อนเราแบกเงินสดเข้าธนาคารเป็นว่าเล่น จนต้องบอกว่าไม่ไหวแล้ว มันไม่ยั่งยืนผมอยากทำอะไรที่สะดวก เป็น cashless ให้ได้ ปีแรกโดนด่าไป 95% เพราะเขาคิดว่าเด็กรุ่นใหม่คิดอะไรที่เป็นไปไม่ได้” กลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ฯ มองเห็นอนาคตในการต่อยอดธุรกิจลงทุนทองคำ จึงมอบหมายให้ณัฐพงศ์นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด (MTSGF) ซึ่งก่อตั้งในปี 2551 และเป็นหนึ่งในบริษัทที่ช่วยผลักดันการซื้อขายล่วงหน้าใน TFEX โดยบริษัทดำเนินธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ซื้อขายสินค้า Gold Futures ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 96.5% ขนาดของสัญญาเป็นทองคำน้ำหนัก 50 บาท มีราคาซื้อขายเป็นสกุลเงินบาท เปิดการซื้อขายครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2552 ก่อนจะเปิดซื้อขายสัญญาทองคำน้ำหนัก 10 บาทในเดือนสิงหาคมปีถัดมา ณัฐพงศ์พิสูจน์ฝีมือด้วยการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี เพราะปี 2553-2554 MTSGF ครองส่วนแบ่งตลาดโบรกเกอร์ซื้อขายสินค้า Gold Futures ใน TFEX ที่ 15% ซึ่งในช่วง 2 ปีนั้น ปริมาณการซื้อขายรวมของ Gold Futures อยู่ที่ราว 971,000 สัญญา และ 3.99 ล้านสัญญาความคึกคักในการลงทุน Gold Futures ที่ MTSGF มีส่วนร่วมสร้าง ทำให้บริษัทเป็นโบรกเกอร์แห่งแรกที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ด้านการให้บริการสินค้าอนุพันธ์ 3 ปีซ้อนระหว่างปี 2554-2556 แตกยอดนวัตกรรม ณัฐพงศ์หวังรักษาฐานที่มั่นในเมืองไทยไว้ให้ได้อย่างเหนียวแน่น ทว่าคู่แข่งของเขาไม่ใช่ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ในไทย แต่เป็นผู้เล่นจากต่างประเทศที่เข้ามาหลากหลายช่องทาง เอ็มทีเอสโกลด์จึงได้จับมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นฟินเทคต่างประเทศมาได้ 1-2 ปีแล้วทำการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับ “Robot Trade” โดยเป็นแอพพลิเคชั่นให้ลูกค้าซื้อขายทองคำ ซึ่ง AI จะเรียนรู้สถานการณ์ตลาดเพื่อดูทิศทางการซื้อขายทองคำ หากนักลงทุนคนใดสนใจก็สามารถนำ Robot Trade มาช่วยในการซื้อขายได้ โดยคาดว่าจะพร้อมใช้ในปี 2561 ปั้นไทยสู่ฮับทองคำแห่งอาเซียน Singapore Bullion Market Association (SBMA) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมโลหะมีค่าของสิงคโปร์ ระบุว่าประเทศไทยเป็นตลาดทองคำใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย มีอุปสงค์ทองคำรวมทั้งหมด 92 ตันในปีที่ผ่านมา ราวปี 2557 ณัฐพงศ์จึงพาเอ็มทีเอสโกลด์ บุกตลาดสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อ MTS Gold Global Trading Pte. Ltd. ผู้บริหารหนุ่มย้อนถึงความยากลำบากในคราวก่อตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ใหม่ๆ ว่า ถึงเอ็มทีเอส โกลด์ จะมีคุณภาพและมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับในแวดวงค้าขายทองคำในเมืองไทยมากสักเท่าไร แต่เมื่อก้าวขาออกนอกประเทศแล้วก็แทบไม่มีใครรู้จักเพราะธุรกิจระดับสากลแข่งขันกันที่แบรนด์และสายสัมพันธ์ นอกจากนี้บริษัทยังมีสะพานเชื่อมไปฮ่องกงเริ่มจากเมื่อ 1-2 ปีก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ประสานขอคำแนะนำเรื่องการซื้อขาย Gold Futures เพื่อดึงชาวจีนเข้ามาลงทุน เนื่องจากเห็นว่าเอ็มทีเอส โกลด์ เคยทำงานร่วมกับ TFEX ในเรื่องดังกล่าว หลังจากพูดคุยรายละเอียดณัฐพงศ์จึงตอบตกลงและช่วยให้คำแนะนำมาได้กว่าครึ่งปีแล้ว และปีนี้ยังได้เข้าไปก่อตั้ง MTS Gold (Hong Kong) Limited ในฮ่องกงอีกด้วย เพื่อเข้าไปช่วยทำตลาด HKEX และเจาะกลุ่มนักลงทุนชาวจีน กลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ฯ ยังเป็นหนึ่งในสองบริษัทไทยจาก 89 บริษัททั่วโลก ที่ People’s Bank of China ออกใบอนุญาตให้ทำการซื้อขายทองคำในจีนได้ จากการคัดเลือกบริษัทจากทั่วโลกเพื่อเป็นสมาชิกของ Shanghai Gold Exchange (SGE) นับเป็นอีกก้าวที่น่าจดจำภายใต้ความรับผิดชอบของณัฐพงศ์ถึงความพยายามในการไปปักธงในต่างประเทศเพื่อหนุนให้ต่างชาติรู้จักเมืองไทยมากขึ้นจะเริ่มเห็นผล เดินหน้า “บริษัทมหาชน” ณัฐพงศ์ยังมีน้องอีก 2 คนช่วยดูแลธุรกิจกลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ฯ คือ กีรดิต วัย 31 ปี ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการ มารับผิดชอบธุรกิจด้านการผลิต คือโรงงานผลิตและสกัดทองคำ และดลพรวัย 29 ปี ประธานฝ่ายการเงิน ดูแลธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งทองรูปพรรณ รวมถึงดูแลด้านบัญชีการเงิน และทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้ภายใน 3 ปีนี้ เขาหวังให้สัดส่วนปรับเป็นในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% เพราะเอ็มทีเอส โกลด์ สร้างฐานในสิงคโปร์ไว้อย่างแข็งแรงแล้วแม้จะเป็นธุรกิจครอบครัวที่บริหารงานอย่างมืออาชีพ “ปกติบริษัทอื่นจะเข้าตลาดฯ ก่อน เมื่อระดมทุนได้แล้วค่อยไปต่างประเทศ แต่เรากลับกันเพราะเป็นจังหวะที่รอไม่ได้แล้วน่าจะใช้เวลาอีก 2 ปีจึงจะเห็นเราเป็นบริษัทมหาชน ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หรือฮ่องกงบอกว่ามาจดทะเบียนกับเขาแล้วได้นักลงทุนจีนตั้งเยอะ แต่เราบอกว่าไม่ได้ เราเป็นบริษัทสัญชาติไทยก็ต้องเข้าตลาดฯ ไทยก่อน” ทุกวันนี้ ณัฐพงศ์ยังสนุกกับงานและเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง เพื่อดูแลกิจการที่ก่อตั้งและเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จะนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ทั้งหมดเพื่อทำให้กลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ฯ สุกใสในตลาดทองคำเมืองไทยตราบนานเท่านาน ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ เอ็มทีเอส โกลด์อ่านฉบับเต็ม "ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ คลื่นลูกใหม่แห่ง 'เอ็มทีเอส โกลด์'" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magazine