สองคู่หู Omise ฟินเทคสตาร์ทอัพชั้นนำในไทย ต่อยอดเงินระดมทุนกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก VC ยักษ์ใหญ่ ชูจุดต่างและสร้างความโดดเด่นให้ช่องทางชำระเงินออนไลน์ พร้อมติดปีกโบยบินสู่ 20 ประเทศในเอเชีย
เมื่อการจับจ่ายซื้อขายเคลื่อนเข้าสู่โลกออนไลน์ สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว จึงก่อให้เกิดเม็ดเงินมหาศาลไหลเวียนอยู่ในเศรษฐกิจดิจิทัล สอดคล้องกับการที่สองคู่หู Jun และอิศราดร ตัดสินใจเดินบนถนนสายฟินเทคสตาร์ทอัพให้บริการช่องทางชำระเงินออนไลน์ (payment gateway) ในชื่อ Omise (เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ร้านค้า”) ภายใต้ บริษัท โอมิเซะ จำกัด (ทุนจดทะเบียนปัจจุบันอยู่ที่ 42.8 ล้านบาท) มี Jun เป็นผู้ก่อตั้งและ CEO ส่วนอิศราดรคือ ผู้ร่วมก่อตั้งและ COO “หลายคนคิดว่าสิ่งที่พวกเราทำเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ประเด็นหลักของเราคือต้องการแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินออนไลน์ที่มีอะไรต้องทำอีกหลายจุด มากกว่าจะมาพิสูจน์ว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้” Jun Hasegawa ชายหนุ่มจากแดนอาทิตย์อุทัย และ อิศราดร หะรินสูต ลูกครึ่งไทย-นิวซีแลนด์ ที่แวดวงสตาร์ทอัพรู้จักมักคุ้นกับเขาในชื่อ “ดอนนี่” ร่วมกันถ่ายทอดให้ Forbes Thailand ฟัง ณ สำนักงานของ Omise ย่านรามอินทราที่นั่น มีพนักงานหลากหลายเชื้อชาติราว 70 คน มาร่วมกันระดมความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันให้ Omise ซึ่งขณะนี้ระดมทุนไปได้กว่า 20 ล้านเหรียญหรือราว 700 ล้านบาท เป็นช่องทางชำระเงินออนไลน์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเพื่อพร้อมสำหรับการก้าวไปรุกระดับสากลอย่างเต็มกำลัง ชูจุดต่างช่องทางจ่ายเงินออนไลน์ คู่หูที่ปัจจุบันอายุ 35 ปีเท่ากัน รู้จักกันเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ทั้งคู่เคยทำงานในบริษัทเอเยนซี่ที่ทำโฆษณาให้ NTT Communications บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่น “Jun ถามผมว่าเมืองไทยมีอะไรน่าทำหรือเปล่า ซึ่งในปี 2556 อี-คอมเมิร์ซกำลังบูม เราก็อยากทำเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซเป็นแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ จึงให้ทีมงานช่วยออกแบบให้เรียบง่ายและสวยงาม เพราะขณะนั้นเว็บไซต์ที่เป็นแพลตฟอร์มร้านค้าส่วนใหญ่จะมีคอนเทนต์เยอะมาก จนลายตา” อิศราดรเล่า รูปแบบเว็บไซต์ที่เขาวาดไว้จะคล้าย Fancy ซึ่งเป็นเว็บไซต์ประเภทโซเชียลคอมเมิร์ซ คือผสมผสานระหว่างเว็บไซต์จำหน่ายสินค้ากับการเป็นโซเชียลมีเดียที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้ใช้ได้ดี แต่หลังจากพัฒนาเว็บไซต์ที่เป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซไปได้สักระยะ ความตั้งใจของพวกเขาก็แปรเปลี่ยนไปเป็นความมุ่งมั่นในการปลุกปั้นช่องทางชำระเงินออนไลน์ในแบบที่ทั้งคู่ต้องการให้เป็นขึ้นแท่นฟินเทคแนวหน้าเมืองไทยเนื่องจากเห็นช่องว่างที่มีอยู่ แต่หากย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน สตาร์ทอัพที่เลือกทำธุรกิจด้านฟินเทคอย่าง Omise ย่อมไม่ได้มีกลีบกุหลาบโรยอยู่บนเส้นทางที่เลือกอย่างแน่นอนเมื่อตัดสินใจรุกช่องทางชำระเงินออนไลน์ Jun และอิศราดร รวมทั้งทีมงานก็ทำการพัฒนา Omise อยู่ราว 2 เดือนครึ่ง ซึ่งขณะนั้นได้แค่การตัดบัตรเครดิตเพียงอย่างเดียวยังไม่มีฟีเจอร์อื่นเพิ่มเติม และใช้เวลาอีก 1 เดือนครึ่ง ในการขอการรับรอง PCI DSS ซึ่งเน้นความปลอดภัย 3 ด้าน คือการถ่ายทอดข้อมูลบัตรเครดิตให้วิ่งผ่านเซิร์ฟเวอร์กระบวนการจ่ายเงิน และการเก็บรักษาข้อมูลบัตร จากนั้นก็ยื่นขอใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย “เราสร้างระบบโครงสร้างต่างๆ บนคลาวด์ซึ่งตอนนั้น ธปท. ยังเห็นว่าคลาวด์คือการแชร์ทรัพยากร จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคนอื่นจะไม่เห็นเลขบัตรเครดิตและข้อมูลต่างๆ” อิศราดรเล่าย้อนไปถึงการเจรจากับ ธปท.ซึ่งต้องอธิบายว่าบริษัทผู้ให้บริการระบบความเสี่ยงและระบบความปลอดภัยของการเก็บข้อมูลในรูปแบบดังกล่าว Omise เปิดให้บริการเต็มรูปแบบในลักษณะ B2B ราวกลางปี 2558 โดยเจาะฐานผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ได้มีเงินวางมัดจำ เงินหมุนเวียนในบัญชีและไม่มีทุนจดทะเบียนมากพอจะไปสมัครใช้บริการของธนาคารรายใหญ่ที่กระโดดลงมาเล่นในธุรกิจช่องทางชำระเงินออนไลน์เพราะธุรกรรมการเงินที่ผ่านช่องทางนี้มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ Omise สร้างชื่อด้วย 3 ปัจจัยเด่น ได้แก่ความง่ายและรวดเร็ว เชื่อมต่อกับเว็บไซต์ร้านค้าโดยไม่ต้อง redirect ใช้ได้ทั้งคอมพิวเตอร์ คลาวด์ที่ Omise เลือกใช้ คือ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Amazon ได้รับการรับรอง PCI DSS และมีลูกค้าเป็นสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่ง นอกจากนี้ ยังให้วิศวกรและฝ่ายกฎหมายของ AWS เดินทางมาชี้แจง เพื่อให้เห็นภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวชัดขึ้น และเมื่อผ่านไป 6 เดือน Omise กลายเป็นบริษัทแรกในไทยซึ่งใช้ระบบคลาวด์ที่ได้ใบอนุญาตฯ จาก ธปท.และขณะนี้ก็มีส่วนเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้คำแนะนำกับบุคลากรของ ธปท.
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ปั้นช่องจ่ายเงินแบบ Omise" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine
