“ชูชาติ-ดาวนภา” 1+1=10 สมการ 4 หมื่นล้าน สร้าง "เมืองไทย ลิสซิ่ง" - Forbes Thailand

“ชูชาติ-ดาวนภา” 1+1=10 สมการ 4 หมื่นล้าน สร้าง "เมืองไทย ลิสซิ่ง"

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และดาวนภา เพชรอำไพ สองสามีภรรยาทำงานเก็บเงินได้ 100 ล้าน ตั้งแต่อายุไม่ถึง 40 ทั้งคู่เดิมพันชีวิตสร้างธุรกิจด้วย “เงินต่อเงิน” ปล่อยเงินกู้ในนาม เมืองไทย ลิสซิ่ง จนเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้าน

Born to Be เป็นคำนิยามของ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ที่ให้ไว้ให้กับตัวเองและภรรยา ที่เกิดมาเพื่อดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อ กว่า 24 ปีที่ทั้งคู่เดินหน้าขยายอาณาจักรเงินกู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขยายสาขาจนมีลูกหนี้อยู่ทั่วประเทศ แม้ว่าบริษัทจะเผชิญหน้ากับปัญหารอบด้านของประเทศ ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตสินเชื่อซับไพร์มของสหรัฐฯ น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ราคาข้าวตกต่ำ ภัยแล้ง กำลังซื้อถดถอย จนถึงหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง (MTLS) ซึ่งมีลูกค้าหลักคือ เกษตรกร กลับสวนกระแสด้วยพอร์ตปล่อยกู้โตวันโตคืน และมีหนี้เสียเพียง 0.9% ซึ่งต่ำที่สุดของผู้ประกอบการในตลาด และยังมีแนวโน้มในอนาคตที่สดใส ความสำเร็จนี้ทำให้พวกเขาติดทำเนียบมหาเศรษฐีของไทย ที่จัดอันดับโดย Forbes ปี 2559 โดยรั้งอันดับที่ 29 ครอบครองมูลค่าทรัพย์สินราว 3.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 31 ในปี 2558 ที่ครอบครองมูลค่าทรัพย์สิน 2.7 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันครอบครัวของเขาถือหุ้นรวมใน MTLS อยู่ที่ 71% ของบริษัท โดยมี ชูชาติ อายุ 64 ปี นั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร ส่วน ดาวนภา อายุ 63 ปี นั่งอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริหาร Forbes Thailand ไม่รีรอที่จะเข้าพูดคุยถึงความสำเร็จ ที่ทั้งคู่ร่วมเปิดใจเป็นที่แรก โดยเฉพาะดาวนภา ที่แทบจะไม่ปรากฏตัวผ่านสื่อใดมาก่อน เพราะต้องการเป็น “nobody” มากกว่า “somebody” เพื่อคงชีวิตที่เรียบง่าย ทั้งๆ ในความเป็นจริง เธอเป็นฟันเฟืองสำคัญ ยืนเคียงข้างสามี ผลักดันให้ MTLS ยืนโดดเด่นอย่างสง่าในอุตสาหกรรมในทุกวันนี้  

ธุรกิจเสริมที่กลายเป็นงานประจำ

“เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง เราไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน เราทำงานเพราะสนุกกับงาน...แต่สิ่งอื่นจะมาเอง” ชูชาติ เกริ่นกับพวกเราในบ่ายวันหนึ่ง ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทแถวบางอ้อ เขตบางพลัด อาณาจักรหมื่นล้าน ชูชาติและดาวนภาเป็นคนจังหวัดสุโขทัยโดยกำเนิด ภายหลังเรียนจบ ทั้งคู่กลับบ้านเกิดเพื่อหางานทำและได้งานที่ธนาคารกสิกรไทยสาขาอำเภอเมือง โดยเริ่มเงินเดือนราว 2,400 บาท ที่นี่เป็นที่พบรักของทั้งสอง ด้วยความที่เป็นคนชอบค้าขาย จึงเริ่มทำธุรกิจเสริมจากงานประจำ และหนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจรับซื้อบัญชีลูกหนี้ (factoring) มาบริหารซึ่งเป็นลูกหนี้จากการผ่อนรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ไม่ดี ติดค้างชำระค่างวด แม้เป็นงานที่เสี่ยง แต่พวกเขาก็ชอบและรู้สึกท้าทาย จนสามารถสร้างธุรกิจมั่นคงในอีก 10 ปีต่อมา เมื่อธุรกิจเดินหน้าไปด้วยดี ทั้งคู่จึงตัดสินใจลาออกจากงานธนาคาร เพื่อบริหารอย่างเต็มตัว จนถึงปี 2531 สองสามีภรรยาทิ้งลูกชายทั้ง 2 ไว้กับแม่ของชูชาติ เพื่อบินไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐฯ ตามความฝันของตัวเอง เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม  

ขยายอาณาเขตคุมภาคเหนือตอนล่าง

หลังจบปี 2533 ก็เข้ามาลุยธุรกิจนี้อีกครั้ง โดยตั้ง บริษัท ดี.เอส. ลิสซิ่ง จำกัด ในปี 2535 ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ โดยมีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ขณะที่แหล่งเงินที่ใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจเป็นหลักมาจากการกู้จากธนาคาร ต่อมาในปี 2544 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมืองไทย ลิสซิ่ง ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานของทั้งคู่ ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นตามลำดับ จนสามารถเก็บเงินได้ถึง 100 ล้านบาท เมื่ออายุยังไม่ถึง 40 ปี ในปี 2549 บริษัทเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน หลังจากได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และขยายการให้บริการไปยังสาขาต่างๆ และเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทขยายเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หลังจากได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ธุรกิจค่อยๆ ขยายอาณาเขตจากบ้านเกิดครอบคลุมไปในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง อาทิ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร โดยมีลูกค้า 5 กลุ่มหลักคือ เกษตรกร ตามด้วย ธุรกิจส่วนตัว-พ่อค้าแม่ค้า ลูกจ้างรายวัน มนุษย์เงินเดือน และพนักงานราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มใหญ่สุด คิดเป็นราว 40% ของทั้งหมด การดำเนินนโยบายทั้งรุกและอนุรักษ์นิยมในเวลาเดียวกัน เป็นอีกหัวใจของความสำเร็จ นโยบายแนวรุกคือ บริษัทเร่งขยายสาขาให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า ปัจจุบันมีสาขา 1,200 สาขา ปีนี้คาดว่าจะมี 1,350 สาขาและอาจจะถึง 1,500 สาขา สำหรับปี 2560 จะมีราว 1,750 สาขา ขณะที่นโนยายด้านอนุรักษ์นิยม บริษัททำธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยคัดกรองลูกหนี้ที่มีคุณภาพ ก่อนปล่อยสินเชื่อ พร้อมยังตั้งสำรองไว้ถึง 200% และยังรักษาอัตราหนี้เสียให้อยู่ระดับต่ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.9% “ผมผ่านวิกฤตมา 2-3 ครั้ง ทั้งซับไพร์มน้ำท่วม เราเดือดร้อนเฉพาะจุด ที่ผ่านมาเราไม่กระทบ เราไม่ได้โชคดี ถ้ามีโชคก็แค่ปี 2 ปี แต่เราทำมาตลอด 24 ปี มันไม่ใช่โชคแล้ว มันขึ้นอยู่กับการกระจายความเสี่ยง” ชูชาติบอก  

เข้าตลาดฯ ลดต้นทุนการเงิน

ชูชาติและดาวนภา บุกเบิก MLTS มาถึง 22 ปี จนวันหนึ่งพบว่า บริษัทเผชิญหน้ากับข้อจำกัดเรื่องเงินทุนขยายธุรกิจ ทำให้ธุรกิจไม่เติบโตอย่างที่คาดหวัง ดังนั้น ทั้งคู่จึงตัดสินใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหาแหล่งเงินทุนใหม่และลดต้นทุนทางการเงินที่ส่วนใหญ่กู้จากธนาคาร จากเดิมต้นทุนอยู่ที่ 7% ปัจจุบันลดลงเหลือ 3% การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ บริษัทสามารถระดมทุนได้ 4,000 ล้านบาท “หลังปีหน้า จะประกาศแผนต่อไป ยังมีตัวเล่นอีกเยอะ อย่างธุรกิจตามหนี้...เรายังไปได้ แต่ยังอยู่ในธุรกิจการเงิน เราจะไม่ทำธุรกิจที่เราไม่รู้จัก เราจะโฟกัสสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ...ตอนนี้ยังหากินกับคนไทย ยังโตได้อีกเยอะ ทำไมต้องไปพม่า เวียดนาม เราเป็นโอดีของชาวบ้าน” ชูชาติอธิบายถึงจุดยืนที่มี และย้ำว่า แผนระยะสั้น บริษัทจะเน้นที่ธุรกิจสินเชื่อคือ ทะเบียนรถจักรยานยนต์ ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน สินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์

1+1=10

1+1=10 เป็น สูตรของชูชาติ ที่รวมหนึ่งพลังของเขา เข้ากับหนึ่งพลังของภรรยา กลายเป็น 10 ไม่ใช่ 2 ตามหลักคณิตศาสตร์ สิ่งนี้ต้องการตอกย้ำว่า พวกเขา born to be เกิดมาเพื่อธุรกิจนี้ สองพลังที่ต่างกัน แต่รวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน เติมเต็มซึ่งกันและกันจนกลายเป็นนักธุรกิจ คู่ duo สร้างอาณาจักรเงินกู้หมื่นล้านขึ้นมา “เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ไม่ใช่ทุกคนจะมาได้ ที่มาได้เพราะ born to be มาได้เพราะ synergy 1+1= 10 ภรรยามีสัญชาตญาน รู้ว่าใช่ ไม่ใช่ นี่ทำ นี่อย่าทำ” ชูชาติขยายความให้ฟัง ชูชาติชอบเรียนหนังสือ เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ได้ที่หนึ่งของอำเภอ มีปริญญาโท 3 ใบ จาก 3 มหาวิทยาลัย ทั้งสาขาปรัชญาการเงินบริหารทั่วไป และเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ Oklahoma City University ประเทศสหรัฐฯ ความรู้จากโลกวิชาการสามารถช่วยเติมเต็มให้กับงานของเขาได้ นอกจากนี้ การเข้าห้องเรียน ยังทำให้ได้พบมิตรสหายเพิ่มพูนโลกทัศน์และสายสัมพันธ์ ด้วยเหตุนี้เขาจึงรับบทบาทวาดแผนธุรกิจของบริษัท กำหนดวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย หรือออกแบบดัชนีวัดผลการปฏิบัติงาน และถอดรหัสจากนโยบายที่เข้าใจยาก มาสร้างแผนปฏิบัติการที่เข้าใจง่าย อธิบายให้กับพนักงานได้รับรู้ ดาวนภา ต่างจากชูชาติ เป็นคนที่อธิบายไม่เก่ง ไม่ชอบพบปะสังสรรค์ มีโลกส่วนตัว ชอบชีวิตธรรมดา มุ่งมั่นทำงาน จึงรับบทเป็นสตรีหลังบ้าน ดูรายละเอียดงานและช่วยขับเคลื่อนบริษัท วันที่ไปสัมภาษณ์ เธอใส่ชุดยูนิฟอร์มสีฟ้าของบริษัท ทำตัวเหมือนกับพนักงานคนอื่นๆ บ่งบอกถึงความเรียบง่าย นอกจากนี้ จุดเด่นของดาวนภา ที่ชูชาติไม่มีคือ “สัญชาตญาน” ในการทำธุรกิจและความคิดริเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่นริเริ่มขยายสินเชื่อเข้าสู่สินเชื่อโฉนดที่ดิน หรือแม้แต่ช่วงจบใหม่ เขาคิดหาธุรกิจที่จะทำ โดยส่วนตัวที่เป็นผู้ชาย ชูชาติก็คิดว่าน่าจะทำธุรกิจก่อสร้าง แต่ดาวนภาก็แย้งว่า เป็นธุรกิจที่ “ไม่ใช่” ตัวของเขา ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกเรื่องก็คือ วันที่บริษัทเข้าซื้อขายหุ้นในวันแรก ราคาหุ้นบริษัทดีดตัวขึ้นสูงจนทุกคนมีความสุขกันถ้วนหน้า แต่สำหรับดาวนภา ตั้งคำถามกลับว่า ท้ายสุดแล้ว ลูกค้าเราได้อะไร? ทุกคนงง เธอประกาศทันทีจากนั้นที่จะลดดอกเบี้ยและค่าบริการต่อเดือนให้ลูกค้าจาก 1.25% เหลือ 1.19% เป็นการตอบแทน ดาวนภาเป็นเด็กเรียนหนังสือเก่งอยู่ในอันดับ 2-3 ของจังหวัด เป็นคนไม่ทะเยอทะยาน ความฝันสูงสุดในชีวิตคือ เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่จุฬาฯ และเรียนต่อปริญญาโท ไม่เคยคิดว่าจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี เธอบอกว่า เป็นคนโชคดี ได้ทำในสิ่งที่รักมากกว่า ความร่ำรวยเกิดตามมาจากการมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่ “คนเราไม่ perfect อย่าง connection คุณชูชาติเก่ง ประชาสัมพันธ์เก่ง มีเพื่อนฝูง ส่วนตัวเราไม่ใช่คนอย่างนั้น ค่อนข้างจะเป็นคนรักอิสระ ชอบเป็นตัวของตัวเอง ชอบเป็น nobody ไม่เป็น somebody ดังนั้น 2 คนต่างบุคลิก เข้ามารวมกัน” ดาวนภาอธิบาย ปัจจุบันนี้ ชูชาติเดินทางไปประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะสิงคโปร์ ฮ่องกง ปารีส ลอนดอน เพื่อโร้ดโชว์หุ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เขารู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำมาก เขาและภรรยาเดินทางไกลมากว่าที่คาดคิด เริ่มต้นจากเป็นพนักงานขับรถจักรยานยนต์ซูซูกิสีแดงเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตากฝนกับภรรยา ทำงานในวันเสาร์อาทิตย์ ตอนนี้เติบโตแข็งแกร่งต่อไปและนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ “ภูมิใจในจุดเริ่มต้น จากขี่มอเตอร์ไซค์หาลูกค้า ตอนนี้ไประดับโลกแล้ว นี่คือความภูมิใจ ความภูมิใจเริ่มต้นจากบ้านนอก เราไม่เอาเปรียบลูกค้า ไม่เอาเปรียบสังคมและได้ตอบแทนสังคมในเวลาเดียวกัน”
คลิกอ่าน ฉบับเต็ม “ชูชาติ-ดาวนภา” 1+1=10 สมการ 4 หมื่นล้าน สร้าง MTLS" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016