เปิดฉาก
ตำนานตลาดปากเพรียว จ. สระบุรี คือสถานที่ที่ชัยวัฒน์ เติบโตและคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก กิมฮง พ่อของเขา ยึดอาชีพค้าขายมาตั้งแต่ชัยวัฒน์จำความได้ บางครั้งลูกคนโตในจำนวน 8 คนอย่างเขาต้องติดตามกิมฮงไปค้าขายที่กรุงเทพฯ หรือบางคราวก็ต้องหิ้วตะเกียงเจ้าพายุฝ่าความมืดออกไปช่วยพ่อรับผ้าจากสถานีรถไฟแล้วคัดแยกให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายเมื่อโตพอจะเข้าโรงเรียนได้ กิมฮงก็ส่งชัยวัฒน์ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนเผยอิงในกรุงเทพฯ แล้วย้ายกลับมาสระบุรี เพื่อเรียนที่โรงเรียนพิฉายรวมมิตรศึกษา (เผยไฉ) ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง ไปเรียนต่อชั้นเตรียมมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล “เรียนได้ปีกว่าๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้มีความรู้อะไรมากขึ้นกว่าเดิม เพราะติดเพื่อน ชอบเที่ยว คิดว่าอยู่เมืองไทยก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เลยไปเรียนเมืองนอกดีกว่า” ชัยวัฒน์ถ่ายทอดชีวประวัติของตนไว้ในหนังสือ “ชีวิตคือบทเรียน : ดร. ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์” ซึ่งครอบคลุมทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมาของเขาชัยวัฒน์เลือกศึกษาต่อที่ St. Stephen’s College ในฮ่องกง ด้วยเหตุผลว่ามีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ความมีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้ากับคนอื่นง่าย ทำให้เพื่อนฝูงต่างรักใคร่ชอบพอ ชัยวัฒน์ จากที่จะไปร่ำเรียนหาความรู้ตามที่กิมฮงหวังไว้ กลับกลายเป็นผิดคาด เพราะชัยวัฒน์มักใช้เวลาเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูงอยู่เสมอ จนวันหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจกลับเมืองไทยด้วยเหตุผลว่าอยู่ฮ่องกงต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด สู้กลับมาช่วยพ่อทำกิจการค้าขายน่าจะดีเสียกว่าเมื่อชัยวัฒน์กลับมา กิมฮงซึ่งเปลี่ยนการค้าจากขายผ้าเป็นดูแลกิจการโรงสีไฟปากเพรียว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักก็ได้ให้ชัยวัฒน์ซึ่งขณะนั้นอายุราว 20 ปี เข้ามาช่วยบริหารในตำแหน่งผู้จัดการโรงสี รับเงินเดือนราว 800 บาท “ผมไม่ได้ตั้งใจจะมาทำงานที่โรงสี แต่เตี่ยมีหุ้นอยู่ในโรงสีนี้คนที่จะเข้ามาทำงานต้องไว้ใจได้ เพราะต้องดูแลเรื่องเงินซื้อข้าวขายข้าวต่างๆ ผมเลยได้เข้ามาทำ มีคนสบประมาทว่าผมเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ และคงจะทำงานได้ไม่กี่วันก็คงออกไป...” เป็นตอนหนึ่งที่ชัยวัฒน์เล่าไว้ในหนังสือความขยันขันแข็งและการทำงานหนัก ทำให้คนที่เคยตั้งแง่กับชัยวัฒน์ลดกำแพงลง และร่วมแรงร่วมใจกันทำให้โรงสีไฟปากเพรียวเจริญก้าวหน้า เมื่อโรงสีที่มีอยู่เดิมสามารถซื้อข้าวมาสีได้เต็มที่เพียงวันละ 40 เกวียน ชัยวัฒน์ก็คิดหาทางขยับขยายกิจการเขาขยายโรงสีมาทางถนนใหญ่ บริเวณแยกมิตรภาพ ห่างจากโรงสีเดิมราว 2 กิโลเมตร แต่อุปสรรคหลักคือที่ดินที่จะสร้างโรงสีนั้นไม่ได้ติดแม่น้ำ เพราะน้ำจะช่วยในการตากข้าวหรือนึ่งข้าวสำหรับส่งไปต่างประเทศ เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับราชการเพื่อขอวางท่อส่งน้ำ และปรับพื้นที่ลานสำหรับตากข้าวให้มีเนื้อที่หลายสิบไร่ และสามารถรับสีข้าวได้กว่า100 เกวียนต่อวัน โดยเปิดให้บริการในปี 2499 ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งติดถนนใหญ่ ทำให้ง่ายต่อการขนส่งข้าวไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ หรืออีสาน และมีส่วนทำให้เกษตรกรมาขายข้าวกับโรงสีของชัยวัฒน์ มากขึ้น เถ้าแก่หนุ่มอย่างชัยวัฒน์ เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องยนต์และเครื่องจักรต่างๆ เขาสั่งซื้อเครื่องชั่งยี่ห้อ Yamato จากญี่ปุ่นมาใช้ เพื่อจะได้ชั่งข้าวแล้วนำไปกองได้เลยโดยไม่ต้องตวงเป็นถังและสั่งรถตักดิน Caterpillar มาดัดแปลงให้เป็นรถตักข้าวเปลือก เพื่อให้ขนข้าวได้เร็วยิ่งขึ้น และยังเป็นคนกล้าคิดนอกกรอบ ด้วยการนำเข้า ปุ๋ยเคมีมาจำหน่ายเป็นรายแรกของประเทศ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้ธุรกิจปุ๋ยเคมีของชัยวัฒน์ต้องประสบความล้มเหลว แต่เขาก็ไม่เสียใจ เพราะมองว่าวันหนึ่ง ปุ๋ยเคมีจะเป็นสิ่งที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องใช้ ระหว่างที่ชัยวัฒน์เริ่มทำธุรกิจโรงสีนั้นเอง เขาก็พบรักและแต่งงานกับ บังอร ศิริรังคมานนท์ ซึ่งรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากพ่อของบังอรเปิดร้านขายของในตลาดปากเพรียวด้วยเช่นกัน ทั้งสองร่วมสร้างครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกด้วยกันทั้งหมด 6 คน คือ อัญชนา (แต่งงานกับ กรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์) วนัส ดร.วรัญ วสิษฐ วสันต์ และกนกรัตน์ แล้วความเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งใหญ่ก็มาถึง เมื่อชัยวัฒน์ในวัย 38 ปี ต้องก้าวเข้ามารับผิดชอบธุรกิจใหม่คือเบทาโกรในปี 2516 ชัยวัฒน์เล่าไว้ในหนังสือว่า ขณะนั้นเขาไม่มีความรู้เรื่องอาหารสัตว์เลยสักนิด แต่ที่ต้องเข้ามาทำเพราะพ่อของเขามีหุ้นอยู่ในเบทาโกรและเป็นช่วงที่บริษัทอยู่ในสภาวะยุ่งเหยิง ทั้งเรื่องบุคลากร ค่าใช้จ่ายลูกค้า ฯลฯ จึงต้องหาผู้บริหารมาช่วยจัดการ เขานำเครื่องจักรผลิตอาหารสัตว์ยี่ห้อ Buhler มาใช้เป็นรายแรกของประเทศ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์คำนวณสูตรอาหารสัตว์ เริ่มธุรกิจโรงเชือดไก่แบบทันสมัยแห่งแรกที่อ้อมน้อย จ. สมุทรสาคร โดยร่วมทุนกับ บริษัท โตโชกุ จำกัด จากญี่ปุ่น แต่ต้องพบอุปสรรค เพราะคนไทยไม่ชอบรับประทานไก่แช่เย็น ทำให้ขาดทุนเดือนละเป็นล้านบาท จนบริษัทญี่ปุ่นขอถอนตัว แต่ไม่นานธุรกิจโรงเชือดไก่ก็ดีขึ้นเพราะมีการส่งออกไก่แช่แข็งไปต่างประเทศมากขึ้น และลูกค้าในไทยก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ชัยวัฒน์ยังนำเข้าพันธุ์หมูจากอังกฤษ ใช้วิธีเช่าเหมาเครื่องบินเพื่อบรรทุกหมูจาก London สู่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลว่าเป็นหมูสายพันธุ์ดี และตลาดเมืองไทยยังรองรับได้อีกมากชัยวัฒน์คาดการณ์ไม่ผิด เพราะใช้เวลาไม่นานเขาก็คืนทุนได้สำเร็จในสายตาพนักงาน ชัยวัฒน์คือผู้นำที่ลุยงานโดยไม่หวั่นความยากลำบาก เมื่อมีโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมของเบทาโกร ชัยวัฒน์ จะลงทุกรายละเอียด ทั้งหาพื้นที่สร้างโรงงานดูแบบแปลนพิมพ์เขียว รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อดูแลการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด “นี่คือความสุขของผม” เขาบอกไว้ชัยวัฒน์บริหารกลุ่มเบทาโกรให้เจริญเติบโตด้วยดีมาเป็นลำดับ กระทั่งปี 2531 ชัยวัฒน์ก็ตัดสินใจส่งมอบไม้ต่อการบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้วนัสวัย 29 ปี ซึ่งเป็นลูกชายคนโต ส่วนตัวเขาเองขึ้นไปเป็นประธานกรรมการกลุ่มเบทาโกร และยังคงทุ่มเทพลังให้กับการทำงานอย่างไม่หยุดนิ่ง ความรู้ความสามารถที่เขาได้จากนอกห้องเรียน ทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ชัยวัฒน์ แม้กระทั่งตอนนี้ ชัยวัฒน์ในวัย 81 ปี ก็ยังคงสนใจไต่ถามความเป็นไปในการดำเนินธุรกิจกลุ่มเบทาโกรจากลูกๆ อยู่เสมอ “ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไป หลักการบริหารก็ต้องเปลี่ยนด้วยความคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นผมไม่เหมือนกัน วนัสเขามีในสิ่งที่ผมขาดไป ที่เห็นชัดที่สุดก็คือเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ เขาเป็นคนพูดจาดี มีหลักการและเหตุผล” ชัยวัฒน์ กล่าวถึงวนัสไว้ในหนังสือรุ่น 3 บริหารอย่างเป็นระบบ วนัส เกิดและเติบโตในช่วงที่ชัยวัฒน์เริ่มกิจการโรงสีแห่งใหม่ที่สระบุรีได้เพียงไม่กี่ปี หลังเรียนจบปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ University of Santa Clara สหรัฐอเมริกา วนัสในวัย 25 ปี เริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่ง Executive Trainee บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด จากนั้นในปีถัดมา เขาก็ย้ายไปทำตำแหน่งเดียวกันที่ Citibank ลูกชายคนโตของบ้าน ตัดสินใจกลับมาช่วยชัยวัฒน์ดูแลกิจการครอบครัวในปี 2528 ในบทบาทผู้จัดการฝ่ายวางแผนธุรกิจ บริษัท เบทาโกร จำกัด แล้วขึ้นสู่เก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเบทาโกร ในปี 2531-2556 ก่อนที่หลังจากนั้นจะรับหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาจนถึงปัจจุบันเพราะความแข็งแกร่งขององค์กรจะมีขึ้นได้ก็จากการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ วนัสจึงให้ความสำคัญกับการนำเครื่องมือต่างๆ มาใช้ เพื่อให้องค์กรก้าวสู่จุดสูงสุด เช่น TQM (Total Quality Management) พัฒนาบุคลากรในองค์กรให้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ด้วยการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า มีการนำ TPM (Total Productivity Management) หรือการบริหารผลิตภาพโดยรวมมาใช้ ซึ่งทิศทางการดำเนินธุรกิจต้องมีความชัดเจน ผลลัพธ์ของแต่ละกิจกรรมสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำสร้างสภาพแวดล้อมให้ทุกคนเกิดความไว้วางใจและร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยมุ่งผลลัพธ์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ เขายังนำหลัก Kaizen ของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ คือการลดและเลิกขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ด้วยการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน รวมถึงใช้หลัก performance analysis ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์และประเมินศักยภาพของพนักงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เป็นต้น ไม่เพียงนำหลักการบริหารงานมาใช้ภายในองค์กร แต่วนัสยังนำไปปรับใช้ในชุมชน เกิดเป็น “ช่องสาริกาโมเดล” ที่ ต. ช่องสาริกา อ. พัฒนานิคม จ. ลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของหลายบริษัทและหลายโรงงานในกลุ่มเบทาโกร เน้นการพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน ส่งทีมงานที่มีความรู้ความสามารถและมีทัศนคติที่ดีในการทำงานด้านชุมชนลงพื้นที่ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและสนิทสนมกับชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น โรงเรียนคุณธรรม หรือการช่วยให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม ฯลฯ เมื่อได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ ก็จะทำให้ทีมงานเข้าใจชุมชนมากขึ้น และสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ถึงความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน เพื่อวางแผนงานในการแก้ไขปัญหาให้ชุมชนทั้งเรื่องอาชีพ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และการศึกษา และลงมือปฏิบัติจริงตามแนวคิด PDCA (plan-การวางแผน do-การปฏิบัติตามแผน check-การตรวจสอบ action-การปรับปรุงการดำเนินการ) เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบเป็นองค์รวมตามวัตถุประสงค์เพราะการทำธุรกิจให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง ชุมชนและบริษัทต่างต้องเติบโตไปด้วยกัน ไม่ใช่ทิ้งชุมชนไว้ข้างหลังอย่างเดียวดายคลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ชัยวัฒน์-วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ สองรุ่นร่วมสร้างเบทาโกร" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ NOVEMBER 2016 ในรูปแบบ e-Magazine