RICH’S DUTY มหาเศรษฐีส่วนใหญ่ เมื่อร่ำรวยย่อมคิดถึงสังคมและการแบ่งปัน แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จว่ารวยแล้วต้องแบ่งปัน มั่งคั่งแล้วต้องให้โอกาสคน เพราะหากมองตามข้อเท็จจริง ความมั่งคั่งเหล่านั้นก็แลกมาด้วยความเหนื่อยยาก การแบ่งปันจึงเป็นทางเลือก ไม่มีกฎกติกาใดบังคับ
ทีมงาน Forbes Thailand มีโอกาสได้สัมภาษณ์นักธุรกิจแถวหน้าในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังขยายอาณาจักรไปสู่ธุรกิจโรงแรม ที่พัก ด้วยการถือหุ้นใหญ่เชนโรงแรมจากฝั่งอเมริกา “The Standard Hotel” ที่เริ่มเข้ามารุกตลาดในไทยและเอเชียมากขึ้นผ่านการขับเคลื่อนของเขา เศรษฐา ทวีสิน ประธานกรรมการ สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชันแนล, ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 60 ปีผู้นี้มีมุมมองในเรื่องการทำธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสังคม และมองบทบาทหน้าที่ของคนที่ถูกเรียกว่า “มหาเศรษฐี” ในแง่มุมที่น่าสนใจ
เชื่อมธุรกิจแบ่งปันสังคม
“หลังโควิดเห็นชัดว่าความเปราะบางเหลื่อมล้ำในสังคมมีสูงมาก” เป็นคำกล่าวช่วงกลางๆ ของการพูดคุยวันนั้น เมื่อเราข้ามเรื่องธุรกิจไปมองเรื่องสังคม ซึ่งในระยะหลังจะเห็นว่าดีเวลลอปเปอร์ร่างสูงโปร่งผู้นี้วางบทบาทของ “แสนสิริ” ให้เชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น เป็นองค์กรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือและร่วมพัฒนาในช่องทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แบ่งปันและแลกเปลี่ยนไม่เฉพาะตัวเงิน แต่รวมถึงความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ให้ทั้งกับพนักงานและชุมชนที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐาพยายามสื่อว่าธุรกิจต้องเดินควบคู่ไปกับสังคม คนที่ทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากสังคม “บริษัทใหญ่อย่างแสนสิริทำโครงการเยอะมากยอดขายต่อปีเป็นหมื่นล้าน หมายความว่า เราใช้ทรัพยากรของประเทศมาก ใช้ที่ดินใช้ถนนมาก เราต้องคิดว่าจะคืนให้สังคมอย่างไร” นายใหญ่แสนสิริอธิบายสิ่งที่เขาคิดและที่มาของการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระจายโอกาสสู่สังคม ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา การร่วมพัฒนาสาธารณูปโภคในบางพื้นที่
การแบ่งปันในที่นี้ไม่ได้มองการตอบแทนสังคมเพียงอย่างเดียว แต่แบ่งปันในมุมของเศรษฐาคือ ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพนักงานและลูกค้าซึ่งเขาใช้คำว่า “เป็นผู้มีอุปการคุณ ลูกค้าคือคนสำคัญ เป็นผู้ที่ทำให้บริษัทเติบโต พนักงานก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีทีมงานที่แข็งแกร่งบริษัทคงไม่เติบโตมาขนาดนี้”
เศรษฐาบอกว่า อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนช่วยกันแบ่งปันและตอบแทนสังคมถ้าทำได้ เขายกตัวอย่างแสนสิริในวันที่มียอดขายเติบโตแล้ว เริ่มหันมองเรื่องการตอบแทนให้สังคม “สมัยก่อนเราเล็ก ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นสำคัญ แต่เราข้ามผ่านจุดนั้นมาแล้ว เรามีพนักงานแข็งแกร่ง ฐานลูกค้าใหญ่มาก มีผู้ถือหุ้นที่ดีเข้าใจผู้บริหาร วันนี้เรามองการตอบแทนสังคมมากขึ้น”
ทุกคนคาดหวังว่า มหาเศรษฐีมีความสามารถแบ่งปันได้เยอะ ทั้งแบ่งปันความรู้ ความคิด สินทรัพย์ เพื่อช่วยให้สังคมเดินดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลง “มหาเศรษฐีควรเสียสละมากขึ้น แบ่งปันความยั่งยืนดีกว่า เพราะไม่มีสังคมไหนที่ยั่งยืนโดยมีความเหลื่อมล้ำสังคมมาก”
อีกสิ่งที่ผู้นำแสนสิริอยากเห็นคือ คนที่มีโอกาสน้อยได้รับโอกาสดีขึ้น อยากให้เด็กรุ่นใหม่มีความหวังได้รับแรงบันดาลใจพวกเขาต้องการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีแหล่งงานที่ดี เรียนจบแล้วมีงานทำตามต้องการและตามโลกที่เปลี่ยนไป เด็กรุ่นใหม่อาจไม่อยากทำงานกับแสนสิริเพราะเก่าไปเป็นโอลด์อีโคโนมี่ พวกเขาอาจอยากทำงานกับกรีนอีโคนีมี่ที่เป็นอนาคต
“เป็นหน้าที่ของบริษัทใหญ่ๆ ไม่อยากบอกเป็นหน้าที่รัฐบาลอย่างเดียว บริษัทใหญ่ต้องสร้างความหวังและแรงบันดาลใจว่าเราจะพัฒนาตามโลกที่เปลี่ยนไป ดึงบุคลากรเก่งๆ ให้อยู่กับเราไม่ออกไปนอกประเทศ” เขาบอกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ซึ่งผู้ใหญ่ต้องทำให้เห็น ทุกคนต้องสร้างประเทศที่ดีขึ้นกว่าเดิม “เราต้องร่วมกันสร้าง เพราะทุกคนเป็นหุ้นส่วนของประเทศนี้ ไม่ว่านักธุรกิจ นักการเมือง หรือข้าราชการ”
ปรับตัวเร็วรับมือวิกฤต
เมื่อย้อนกลับมาคุยเรื่องธุรกิจ เศรษฐายังกล่าวถึงหลักคิดเรื่องความเสมอภาค ซึ่งเขาบอกว่า ระยะหลังความเสมอภาค ความเท่าเทียม การเข้าถึงได้ หรือ inclusiveness มีความสำคัญมาก เขายกตัวอย่างจากเรื่องใกล้ตัว คือการเข้าถึงได้ของตัวเอง การทำงานที่แสนสิริออกแบบให้สำนักงานเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ “สิริ แคมปัส” ไม่ใช่แค่รูปแบบ แต่ใช้งานแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซจริง เป็นแนวคิดที่ทำงานแบบใหม่
“สิริ แคมปัสมี canteen มี cafe มีห้องต่างๆ มุม relax ให้ทุกคนมาใช้ ตัวผมเองมาทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าก็จะอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ พนักงานสามารถเข้ามาพูดคุยเสนอแนะแลกเปลี่ยนได้” เศรษฐาอธิบายสไตล์การทำงานแบบใหม่ของเขาและสิริ แคมปัส ซึ่งตัดพิธีการแบบเดิมออกไป การจะพูดคุยกับประธานบริษัทเพื่อหารือเสนอแนะหรือขอคำปรึกษาไม่ต้องนัดผ่านเลขาอย่างเป็นทางการ สามารถพบเขาในพื้นที่ส่วนกลางของแคมปัสและพูดคุยได้โดยไม่ต้องนัดล่วงหน้า ยกเว้นการประชุมวาระสำคัญ
เขายังเป็นแบบอย่างให้หัวหน้างานทุกส่วนดำเนินตามแนวทางนี้ ซึ่งเศรษฐาบอกว่า มันทำให้การทำงานเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนต่างๆ ลงได้ “ทีมงานระดับ senior เราก็อยากให้มาใช้พื้นที่นี้ ลดช่องว่างในการพูดคุยกับทีมงาน เพราะในสถานการณ์วิกฤตทุกปัญหาต้องแก้อย่างรวดเร็ว” เศรษฐาบอกเล่าแนวคิดแคมปัสออฟฟิศอย่างเรียบง่าย เพราะเขาตัดทอนเรื่องพิธีรีตองและกติกาแบบเดิมในการทำงานออฟฟิศออกไปไม่น้อย จะเรียกว่าปฏิวัติก็คงไม่ผิด เพราะทำให้สำนักงานเป็นเหมือนที่พักผ่อนสบายๆ แต่สามารถผสานการประชุม การทำงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปรึกษาหารือได้อย่างกระชับและฉับไว
เศรษฐาอธิบายว่า สำหรับเขาแล้วแสนสิริคือองค์กรใหญ่ที่เติบโตและอยู่ตัวแล้ว แสนสิริ มีพนักงานกว่า 4,000 คน ยอดขายที่ทำได้กว่า 3.4 หมี่นล้านบาท พิสูจน์ความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง
“ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่ผมคิดว่าดีที่สุด เราน่าจะบันทึกกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์” เขากล่าวในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่แสนสิริ ก่อนจะอธิบายว่า งานของแสนสิริเดินหน้าได้ดีไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะมีทีมงานที่แข็งแกร่ง พัฒนาและสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่อง เขาจึงมองหาโอกาสที่อื่นที่ใกล้เคียงและ “The Standard Hotel” คือคำตอบล่าสุด
“ไม่ใช่แค่ 2-3 ปีมานี้ เรามองการลงทุนใน The Standard Hotel มาก่อนหน้านี้ 7-8 ปี และเข้าไปซื้อเรื่อยๆ จนวันนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่” เศรษฐาเล่าที่มาของการก้าวสู่ธุรกิจโรงแรมที่พักอย่างเต็มตัว ซึ่งหากติดตามในหลายสื่อจะพบว่าในระยะหลังเขาปรากฏในสื่อต่างๆ ถี่ขึ้น เพราะอยู่ในช่วงสำคัญของการแนะนำแบรนด์ The Standard Hotel เข้าสู่ตลาด
“The Standard” เป็นโรงแรมจากสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียงด้วยความแตกต่างและโดดเด่นเป็นสไตล์ของตัวเองชัดเจน แต่แบรนด์นี้ถือว่ายังใหม่ในเอเชียและสำหรับเมืองไทย โรงแรมสายอาร์ตแห่งนี้เข้าสู่ตลาดมาแล้ว 3 ปี แห่งแรกที่เปิดคือ “The Standard Huahin” ที่นี่แสนสิริเป็นเจ้าของเอง พัฒนาออกมาได้สวยมีสไตล์ มีเอกลักษณ์ และที่สำคัญให้ความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นมิตรกับธรรมชาติ
หลังเปิดที่หัวหินราว 2 ปี เขาได้ดีลพื้นที่เปิดโรงแรมแบรนด์นี้แห่งที่ 2 ขึ้นที่กรุงเทพฯ “The Standard Bangkok Mahanakhon” ที่อาคารมหานคร ถนนนราธิวาส-สาทร (เหนือ) เป็นอาคารพักอาศัยที่สูงที่สุดของไทยในปัจจุบัน ที่นี่มีจุดขายมากมายทั้งการเป็นอาคารสูงที่สุดของกรุงเทพฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเป็นจุดชมวิวสูงสุดของกรุงเทพฯ และสำคัญไปกว่านั้น “ที่อาคาร คิง เพาเวอร์ มหานคร คุณต๊อบ (อัยยวัฒน์) เป็นเจ้าของอาคารที่เข้าใจและเปิดกว้าง ให้โอกาส The Standard ได้ทำทุกอย่างที่ต้องการ ทั้งเรื่องการออกแบบ การเลือกวัสดุ การตกแต่ง และการใช้พื้นที่”
รุกธุรกิจโรงแรมยูนีกสไตล์
The Standard Bangkok Mahanakhon เป็นโรงแรมแห่งที่ 8 ของแบรนด์ที่เปิดให้บริการแล้ว “เรามีโรงแรมที่ทำสัญญาไปแล้ว และเตรียมเปิดบริการรวม 17 แห่งอยู่ในหลายพื้นที่” เศรษฐาสรุปเพียงสั้นๆ ถึงก้าวย่างล่าสุดของแบรนด์โรงแรมดังจาก New York ที่มีต้นกำเนิดมาจากกลุ่มคนบันเทิงย่านฮอลลีวู้ด
The Standard อาจไม่ใช่เชนโรงแรมที่ใหญ่โตมีอาณาจักรนับร้อยนับพันพร็อพเพอร์ตี้ แต่เป็นโรงแรมที่มีความยูนีกและมีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ทั้งความเท่ ความอาร์ต และเอนเตอร์เทนในสไตล์ที่เป็นตัวเอง มาพร้อมบริการระดับ 5 ดาว ในแบบที่ทุกคนเข้าถึงได้
“ผมเลือกความแตกต่างของแบรนด์ ความ inclusive ที่ลูกค้าทุกคนเข้าถึงได้ ความหลากหลายของลูกค้า เราไม่ได้เป็น business hotel หรือ leisure hotel อย่างเดียว” นั่นหมายความว่า เป็นได้ทั้งธุรกิจและพักผ่อน แถมมากไปกว่านั้นยังเป็นแหล่งแฮงเอาต์ที่ทุกคนกล่าวถึงหลังแนะนำตัวสู่ตลาดภายในระยะเวลาอันสั้น
เศรษฐาประเมินว่า ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาแน่นอนหลังโรคระบาดคลี่คลาย “ธุรกิจท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อมนุษย์ อย่างไรก็อยู่ยั้งยืนยง ไม่ว่าจะเพื่อ business หรือ leisure” เศรษฐาย้ำความมั่นใจที่มีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่า ต่อให้โลกเผชิญวิกฤตเพียงใดการท่องเที่ยวก็ยังคงสำคัญและจำเป็น
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทาง ห้องพักโรงแรมหลายแห่งมียอดจองสูงกว่าช่วงก่อนโควิด หลายประเทศเปิดตัวรับนักท่องเที่ยวกันคึกคัก ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา การเดินทางคึกคัก สายการบินกลับมามีผู้โดยสารเต็มอีกครั้ง
จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีเชื่อมโยงมาที่ The Standard Bangkok Mahanakhon ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ “ผมคิดว่าครั้งนี้จะเป็นการเปิดตัวโรงแรมปี 2022 ที่ยิ่งใหญ่และถูกกล่าวถึงมากที่สุด” เศรษฐาใช้คำว่า การเปิดตัวครั้งนี้จะเป็น “The Best Hotel Opening of the World” เขามั่นใจจากผลตอบรับหลังเริ่มกิจกรรมกับกลุ่มสื่อเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
“ห้องอาหาร Mott 32 เพิ่งเปิดจองเพียงไม่กี่ชั่วโมงมียอด call 4,000 ราย” นี่เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สร้างความเชื่อมั่น และตอกย้ำแนวคิดที่ว่าคนเริ่มกลับมาเดินทางและใช้ชีวิตมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นเศรษฐาไม่ได้คาดหวังเรื่องสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรมมากนักในช่วงปีแรกๆ เนื่องจากสัดส่วนรายได้หลักเกือบทั้งหมดมาจากแสนสิริ ส่วนธุรกิจโรงแรมมองในระยะยาวและให้ความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน “ทุกวันนี้ผมแบ่งเวลาให้กับธุรกิจโรงแรม 20% อีก 80% ยังคงเป็นแสนสิริ” เขาย้ำ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้จะเปิดตัวโรงแรมอาจให้เวลาโรงแรมมากขึ้น ถือเป็นอีกสายธุรกิจที่น่าตื่นเต้นและหวังผลได้ในระยะยาว
เจาะนักท่องเที่ยวคุณภาพ
การท่องเที่ยวกลับมาแล้วและเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะประเทศไทยก็เป็นแม่เหล็กสำคัญ “ไม่ว่าจะอ่าน magazine ท่องเที่ยวเล่มไหนก็ตาม ประเทศไทยติดอันดับตลอดเวลา” เมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต กรุงเทพฯ สมุย ติดอันดับเสมอ
“หลายเมืองในเอเชียอย่างมาเลเซีย เวียดนาม เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงที่เราจะไปเปิด The Standard ได้ เช่น เกาะลังกาวี มาเลเซีย หรือเกาะสมุย เราก็ยังไม่มี” นี่คือเป้าหมายใหม่ของเชนโรงแรมสัญชาติอเมริกันรายนี้ หลังจากเปิดที่หัวหิน กรุงเทพฯ และเตรียมเปิดที่ภูเก็ตในอีก 2 ปีข้างหน้า
เศรษฐาย้ำว่า ประเทศไทยมีโอกาสเยอะมาก เมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต สมุย พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ มีโอกาสสูงที่ The Standard จะเข้าไป และนอกจากนี้ในกลุ่มยังมีโรงแรมอีก 2 แบรนด์ที่ออกแบบมาให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น นำเสนอกลิ่นอายของท้องถิ่นเป็นจุดขาย คือโรงแรม Bunkhouse และ PERI ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า The Standard แต่มีความยูนีกที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวในเมืองรองที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นโดดเด่น เช่น สุโขทัย น่าน บุรีรัมย์ และอีกหลายเมือง
“ประเทศไทยเราไม่ได้ด้อย มีหลายเมือง เช่น สุโขทัย น่าน บุรีรัมย์ ชุมพร ระนอง เมืองเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ถ้ามีโรงแรมที่ดี ที่เท่ และเข้าใจนักท่องเที่ยว ต่างชาติอาจมาเมืองเหล่านั้น” ที่สำคัญเมืองนั้นๆ ต้องมีสาธารณูปโภคที่ดีเพื่อโปรโมตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ ช่วยกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น
บาลานซ์แนวคิด “สิทธิ-หน้าที่”
เศรษฐาบอกว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเสริมเศรษฐกิจประเทศได้ ความร่วมมือร่วมใจหลายอย่าง “เอกชนมีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเทศ เราได้เปรียบหลายชาติ เพราะเจอต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้วหนักหนาสาหัส เราเสริมงบดุลสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งมาก เจอโควิด หวัดนกไม่สะเทือน” เขาตอกย้ำความแข็งแกร่งของฐานธุรกิจว่า “เราแข็งแกร่งมาก แต่ก็มีคนอ่อนแอ แล้วก็ต้องกลับไปเรื่องเดิมคือ ใหญ่แล้วต้องแบ่งปัน”
“คำว่าใช้สิทธิ์ เรามีสิทธิ์ หนูมีสิทธิ์ รัฐบาลมีสิทธิ์ การใช้สิทธิ์เยอะเกินไป ลองเปลี่ยนเป็นหน้าที่บ้าง หน้าที่สำคัญ เราอยู่สังคมเดียวกัน หุ้นส่วนประเทศเหมือนกัน อยากให้คำนึงถึงหน้าที่ให้เยอะขึ้น”
นี่คือมุมมองของเศรษฐาในวันที่ผ่านร้อนหนาวบนสังเวียนธุรกิจมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ เขาบอกว่า วันนี้อายุ 60 แล้วผ่านโลกมาเยอะ บอกตัวเองว่า มีหน้าที่ให้ความหวัง สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ก้าวหน้า เพื่อให้ประเทศแข็งแรงและแข่งขันกับคนอื่นได้
ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์
อ่านเพิ่มเติม:
>> แสนสิริ เดินหน้าสู่ Net-zero ในปี 2050
>> The Standard หัวหิน อเมริกันสไตล์ ส่วนผสม โมเดิร์นอาร์ต & เอ็นเตอร์เทนเมนต์