หลุยส์ เตชะอุบล กับดีเอ็นเอนักลงทุน พร้อมนำทัพเสริมแกร่ง “ไทรทัน” - Forbes Thailand

หลุยส์ เตชะอุบล กับดีเอ็นเอนักลงทุน พร้อมนำทัพเสริมแกร่ง “ไทรทัน”

ดีเอ็นเอนักลงทุนของ หลุยส์ เตชะอุบล ที่มุ่งมั่นค้นหาธุรกิจอนาคตไกล ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสู่การปรับเปลี่ยนประสบการณ์ในฐานะผู้บริหารแสดงฝีมือเทิร์นอะราวด์พลิกวิกฤตติดลบพร้อมก้าวต่อยังอาณาจักรหมื่นล้านที่เติบโตในระยะยาว

หลุยส์ เตชะอุบล เป็นลูกสาวคนที่ 3 ของ “คุณพ่อ (สดาวุธ) และคุณแม่ (อรวรรณ) มีพี่ชาย 2 คนคือ คุณบี คุณเบน และน้องชายคือ คุณทอมมี่ ส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำธุรกิจครอบครัว แต่หลุยส์ชอบลงทุนในหุ้นช่วงเรียนจบจึงบอกพ่อแม่ว่าจะทำงานในสายหลักทรัพย์จึงไปเป็นโบรกเกอร์ หลังจากคุณพ่อลงทุนที่บริษัทหลักทรัพย์ก็ให้หลุยส์ไปบริหารฝั่งการลงทุน ซึ่งต้องปรับเยอะเพราะนักลงทุนไม่ต้องบริหารคน และช่วงนั้นเรายังเด็กมาก โดยเราทำประมาณ 4-5 ปีก็ออกมาเป็นนักลงทุน ซึ่งลงทุนในหลายบริษัทจนมาเจอไทรทัน” หลังจากทำงานในธุรกิจครอบครัวได้ราว 4 ปี หลุยส์จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทเพื่อเป็นนักลงทุนเต็มตัวตั้งแต่ปี 2552 ก่อนจะเล็งเห็นโอกาสการเริ่มต้นสร้างอาณาจักรใหม่ของตัวเอง ด้วยความเชื่อมั่นในแนวโน้มการเติบโตในอนาคตจากโมเดลธุรกิจที่ต้องใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมเฉพาะทางเน้นงานรับเหมาที่มีความยากและใช้ทักษะสูงเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่มีคู่แข่งน้อยรายและเป็นธุรกิจมาร์จิ้นสูง “แม้เราจะอ่านหนังสือ Warren Buffett มาทุกเล่ม เล่มละเป็นสิบรอบก็ใช้ไม่ได้กับตลาดหุ้นไทย เพราะไม่เหมือนที่เราอ่านมาเลย เราได้บทเรียนเยอะมากจากการลงทุนและขาดทุน ทำให้รู้ว่าเราต้องการถือบริษัทแบบไหน ในแง่ที่เราเป็นผู้ถือหุ้นหลักของไทรทันแปลว่า หลุยส์จะถือหุ้นตัวนี้ในระยะยาว และหลุยส์ไม่ได้มานั่งเป็นซีอีโอ แต่จะมีทีม professional ดูแล โดยเราดูอยู่ห่างๆ อาจจะช่วยวางกลยุทธ์ และรับฟังความเห็นของทีมด้วย” หลุยส์กล่าวถึงการผันตัวจากนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ถือหุ้นหลักกลุ่มไทรทัน พร้อมนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการบริหารในช่วงปลายปี 2559  
  • ยกเครื่องเทิร์นอะราวด์ TRITN
บทพิสูจน์ความสามารถทั้งในฐานะนักลงทุนและผู้บริหารนำทัพสร้างการเติบโตได้สะท้อนชัดในผลการดำเนินงานที่พลิกฟื้นจากตัวเลขขาดทุนกว่า 334.7 ล้านบาทในปี 2559 กลายเป็นกำไร 148.7 ล้านบาทในปี 2561 เช่นเดียวกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจาก 323.1 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 2.43 พันล้านบาทในปี 2561 ทั้งยังเดินหน้าขยายพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่องหลากหลายไปยังธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอตามจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม TRITN “จากขาดทุนจำนวนหลายร้อยล้านบาทต่อปีสามารถ turnaround ได้ใน 2 ปี ด้วยการหยุดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และรับงานเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยกเครดิตให้ครอบครัวและคุณพ่อที่เข้ามาช่วยให้เราเปิดตลาดได้มากโดยเป้าหมายที่วางไว้จาก backlog ประมาณ 1-2 พันล้านบาท และเซ็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกเดือน เราต้องการเห็นหมื่นล้านใน 1-2 ปี ซึ่งน่าจะทำได้และมีความเป็นไปได้สูง” นอกเหนือจากความสามารถในการพลิกฟื้นธุรกิจให้ทำกำไรได้แล้ว หลุยส์ยังสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้บริษัทมากขึ้นทั้งการร่วมถือหุ้นของ Asia Alpha Equity Fund 3 และบริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BROOK นำโดย ชาญ บูลกุล ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีประสบการณ์ด้านบริหารและที่ปรึกษาการปรับโครงสร้างหนี้บริษัทขนาดใหญ่ “เราเรียนทางด้านไฟแนนซ์และสนใจด้านการลงทุนตั้งแต่เด็กจึงรู้ว่ามีผลตอบแทนที่ดี แม้บริษัทจะขาดทุนมาตลอด แต่เราเห็น hidden value ใน construction ซึ่งโมเดลเราต้องการเป็น specialist engineering อะไรที่ไม่ใช่ก็เอาออก อะไรใช่ก็เก็บไว้และจัดระเบียบใหม่ รวมถึงค้นหาพาร์ตเนอร์ที่ดี จากนั้นจึงมุ่งตามโมเดล specialist engineering เน้นงานรับเหมาที่มีความยากและใช้ทักษะสูง” ขณะที่กำหนดกลยุทธ์จำกัดความเสี่ยงและสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องผ่านธุรกิจ 3 แกนหลัก ได้แก่ ธุรกิจด้านวิศวกรรมเฉพาะทาง (engineering specialization) ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (renewable energy) ธุรกิจอาหารและบรรจุภัณฑ์ (food and package) โดยธุรกิจด้านวิศวกรรมเฉพาะทาง สำหรับธุรกิจด้านวิศวกรรมเฉพาะทางยังแบ่งเป็นธุรกิจกลุ่มน้ำมันและแก๊ส (oil & gas) และงานวางระบบรถไฟนำโดย บริษัท ไทรทัน เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TTEC เป็นผู้นำทางด้านงานก่อสร้างและวางระบบท่อด้วยประสบการณ์มากกว่า 20 ปี และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 100 คน “เราเห็น hidden value ของบริษัทโดยเฉพาะด้าน specialize engineering และการทำท่อน้ำมันที่เป็นผู้นำตลาด ซึ่งเราตั้งใจว่าจะปั้นบริษัทนี้ให้เป็นแกนของไทรทันให้ได้ รวมถึงการเป็นผู้นำตลาดใน HDD หรือ horizontal directional drilling (การขุดเจาะแบบไม่เปิดหน้าดิน) เราจะไปในแนวทางค่อนข้าง niche ไม่ต้องแข่งกับบริษัทอื่นมาก และไม่ตัดราคาตัวเอง โดยเราสามารถ turnaround ได้ และชนะเมกะโปรเจ็กต์เป็นท่อน้ำมันยาวที่สุดในไทยมากกว่า 600 กิโลเมตรขึ้นไปทางเหนือ และเข้าไปใน specialize engineering oil & gas” ขณะเดียวกันหลุยส์ยังเล็งเห็นโอกาสการขยายธุรกิจงานวางระบบรางรถไฟ ด้วยการเข้าถือหุ้น 65% ในบริษัท ทรานส์ ไทย เรลเวย์ จำกัด หรือ TTR ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำอันดับต้นๆ ของธุรกิจที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่และบริษัทต่างประเทศที่เป็นเจ้าของระบบ โดยมีทีมงานและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านรวมไปถึงปัจจัยบวกจากการสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับงานรถไฟของภาครัฐ “ธุรกิจหลักตอนนี้ยังเป็น oil & gas แต่หลังจาก TTR เข้ามา งานวางระบบรางรถไฟจะเริ่มแซงแล้ว ซึ่งในอนาคตเราต้องการให้สัดส่วนธุรกิจระหว่าง engineering specialization เท่ากับ recurring income ซึ่งมาจากการลงทุนใน green energy ส่วนใหญ่ โดยวันนี้เราเข้าไปซื้อไบโอแก๊ส 2 โรงไฟฟ้า และ recurring income อื่นๆ อย่างการลงทุนในบริษัทโกลบอลคอนซูเมอร์ซึ่งมี growth potential สูงมาก”  
  • บาลานซ์พอร์ตยั่งยืน
ภายใต้กลยุทธ์ธุรกิจที่มุ่งเน้นการลงทุนหลากหลายเพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอ และประโยชน์สูงสุดจากความแข็งแกร่งด้านการเงินที่มีเงินสดในมือกว่า 1 พันล้านบาทและไม่มีหนี้สินในระยะยาว หลุยส์เดินหน้าแผนการลงทุนธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมออย่างต่อเนื่องในอนาคต ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานบริสุทธิ์ นำโดยบริษัท ไทรทัน พาวเวอร์ จำกัด หรือ TPW พร้อมทั้งลงทุนในธุรกิจอาหารและบรรจุภัณฑ์ ด้วยการถือหุ้น 20% ในบริษัท โกลคอน คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOCON นอกจากนั้น บริษัทยังเตรียมยื่นขออนุมัติโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สชุมชนแบบ quick win อีก 2 โครงการรวม 12 เมกะวัตต์ และเตรียมยื่นขออนุมัติโรงไฟฟ้าชุมชนเพิ่มเติมอีกในรอบต่อไป รวมถึงบริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (biomass) และโรงไฟฟ้าจากขยะเพื่อลงทุนในอนาคต โดยเน้นผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำ ส่วนการลงทุนในด้านธุรกิจอาหารและบรรจุภัณฑ์ (food and packaging) ผ่าน GLOCON แบ่งเป็น 4 ด้านหลัก ได้แก่ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนและพลาสติก ธุรกิจร้านอาหารแบบ quick service restaurant ภายใต้ชื่อ A&W จำนวน 26 สาขา และ Kitchen Plus จำนวน 52 สาขา รวมถึงธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี สเปน เบลเยียม คูเวต จอร์แดน บาห์เรน หลุยส์ย้ำถึงการปรับเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองจากนักลงทุนที่สนใจธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต และการให้ความสำคัญกับทีมงานผู้บริหารมืออาชีพร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอหรือทำกำไรจากธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ พร้อมเป็นหลักทรัพย์ที่ดีและอยู่ในใจนักลงทุนตลอดไป “ในฐานะนักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนมานานเรารู้ว่าการลงทุนในบริษัทหรือหุ้นตัวไหน เราต้องการอะไรในบริษัทนั้น อย่างแรกถ้าเราต้องการให้บริษัทเติบโตในอนาคตเราต้องมี the right person เพราะไม่มีใครเก่งในทุกด้าน เราต้องมีทีมงานที่เก่งที่สุด และต้องไว้ใจเขาได้” นอกจากนั้น หนึ่งในคีย์ความสำเร็จที่หลุยส์ให้ความสำคัญยังอยู่ที่การเลือกรับงานที่มีมูลค่า หรือสามารถทำากำไรได้ รวมถึงการส่งมอบงานให้ตรงเวลามากที่สุด พร้อมสร้างวัฒนธรรมองค์กรมุ่งเน้นความหลากหลายทั้งทักษะความสามารถ ความรู้ความคิด และประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาเพื่อให้ได้ความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในระยะยาว  
คลิกอ่านฉบับเต็ม “หลุยส์ เตชะอุบล นำทัพเสริมแกร่ง “ไทรทัน”” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine