วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ นำก้าวใหม่ "เบทาโกร" โตยั่งยืนในธุรกิจเกษตร-อาหาร - Forbes Thailand

วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ นำก้าวใหม่ "เบทาโกร" โตยั่งยืนในธุรกิจเกษตร-อาหาร

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Dec 2022 | 08:00 PM
READ 6928

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทอ่อนตัวแรง และปัจจัยลบรอบด้าน แต่ธุรกิจอาหารยังคงเติบโตด้วยดี ทำให้บริษัทเกษตร-อาหารรายใหญ่ที่ยืนหยัดมากว่า 55 ปี ตัดสินใจนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนสร้างโอกาสเติบโตสู่ตลาดมากขึ้น


    อาหารคือความมั่นคงของโลก ยิ่งในภาวะโรคระบาดและสงคราม อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญ ผู้ผลิตอาหารหลายรายจึงวางแผนเติบโตแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับ “เบทาโกร” บริษัทเกษตรและอาหารครบวงจรรายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 55 ปี ตัดสินใจนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุนก้อนใหญ่ 2 หมื่นล้านบาทมาต่อยอดธุรกิจ

    “อุตสาหกรรมเราต้องลงทุนระบบอย่างมาก ทั้งระบบการควบคุมคุณภาพ ระบบความปลอดภัยในอาหาร และระบบการจัดการเพื่อให้ productivity ของเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG กล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand ในการสัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา


- ระดมทุนใหม่ 2 หมื่นล้านบาท -

    เบทาโกรไม่ใช่บริษัทน้องใหม่ และขนาดธุรกิจก็ถือว่าใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มเกษตร-อาหาร ยอดขายในปี 2564 ปิดที่กว่า 8.5 หมื่นล้านบาท มีพนักงานที่เกี่ยวข้องในกลุ่มมากกว่า 33,000 คน เป็นกิจการที่มีความมั่นคงอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่ด้วยการแข่งขันในธุรกิจเกษตร-อาหาร การจะยืนหยัดอยู่ได้ต้องมีมาตรฐานที่ดี

    “Filing effective แล้ว มั่นใจว่าไม่มีปัญหาแต่ก็อยู่กับภาวะตลาดหุ้นด้วย ตอนนี้ตลาดทุนผันผวนมีตัวแปรหลายอย่าง ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อ รวมถึง food inflation” วสิษฐย้ำถึงข้อคำนึงที่มีต่อการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ก่อนถึงวันเปิดขายหุ้น IPO ที่คาดว่าอย่างช้าไม่น่าเกินกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เขาคาดการณ์จากวันที่ให้สัมภาษณ์ (4 ตุลาคม ปี 2565)


    หลังจากนั้นในวันที่ 5 ตุลาคม ปี 2565 เบทาโกรได้เปิดแถลงข่าวการขายหุ้น IPO โดยข้อมูลที่ชี้แจงต่อสาธารณชนระบุว่า การเสนอขายหุ้นสามัญของ BTG ในครั้งนี้นั้นมีจำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญ ที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 434.8 ล้านหุ้น หรือไม่เกิน 21.7% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO บนสมมติฐานว่า มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินเต็มจำนวน

    นอกจากนี้ เบทาโกรอาจพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (overallotment option) จำนวนไม่เกิน 65.2 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 15.0% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขาย ตั้งต้นเพื่อใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (stabilization) ในช่วง 30 วันแรก หลังจากที่หุ้น BTG เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน


วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)


    “ครอบครัวมองว่าเบทาโกรจะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้องค์กรเป็นที่ดึงดูดคนเก่งๆ มาร่วมงานมากขึ้น เรามองว่าการเข้าตลาดฯ จะช่วยยกระดับองค์กรได้ดี” เป็นเหตุผลข้อแรกที่ซีอีโอวัย 60 ปีอธิบายมุมมองและแนวคิดของเขาได้ทันทีเมื่อถูกถาม

    เขาอธิบายต่อถึงเหตุผลที่ 2 ว่า “เบทาโกรจะโตได้อีกมาก ซึ่งการเติบโตต้องการเงินทุนใหม่ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร” จากที่ปัจจุบันเบทาโกรมีความสามารถในการทำปศุสัตว์แปรรูป เนื้อสัตว์ และการจัดการอาหารบางตัวต้องใช้เทคโนโลยีความเย็นหรือการแช่แข็งมากขึ้นแต่นับจากนี้ไปเบทาโกรจะทำอาหารที่เป็น shelf stable เป็นพอร์ตสินค้าใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าให้บริษัทฯ สามารถสร้างแบรนด์และเพิ่มความสามารถองค์กรได้ดียิ่งขึ้น


- ไมล์สโตน 55 ปีโตต่อเนื่อง -

    การเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอายุยาวนานกว่า 55 ปี เมื่อตัดสินใจนำกิจการเข้าตลาดฯ ความยากน่าจะมีมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม แต่วสิษฐตอบคำถามในส่วนนี้ว่า ความใหญ่ไม่ใช่ปัญหา เพราะเบทาโกรมีการปรับตัวที่ดีมาโดยตลอด ก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง



    “องค์กรเรามีการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยหยุดนิ่งเลย ปรับโครงสร้างตั้งแต่เรื่องของระบบการจัดการภายใน มีการนำเอาระบบ ERP และ SAP มาใช้” เป็นการบริหารงานยุคใหม่ที่ปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนผ่าน แม้ยังไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 

    แต่เบทาโกรก็เป็นองค์กรที่ทันสมัย พร้อมย้ำว่า “ทุกวันนี้เบทาโกรรันระบบงานอยู่บน SAP 100% ทำให้เห็นโอกาสเรื่อง digital transformation อย่างมาก” นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ช่วยในการจัดการต่างๆ



    “แต่ก่อนเราเป็นธุรกิจเกษตร ในตอนเริ่มต้นทำอาหารสัตว์ พอเข้ายุคกลางทำไก่ส่งออก แต่ปัจจุบันเบทาโกรเป็นธุรกิจอาหารที่มี branded และมีความเป็นสากลชัดเจน” เป็นภาพธุรกิจในเส้นทางการเติบโตของเบทาโกรที่วสิษฐบอกว่า 

    ในช่วงเริ่มแรกทำเกษตรควบคู่ไปกับอาหารสัตว์ใช้เวลาประมาณ 10 ปี มาถึงยุคกลางที่หันมาทำไก่ส่งออกใช้เวลาประมาณ 15 ปี และยุคปัจจุบันอยู่ในธุรกิจอาหารและการสร้างแบรนด์ BETAGRO, S-Pure และ ITOHAM ทำมาเกือบ 20 ปี และอาหารสัตว์ Perfecta, DOG n joy และ CAT n joy

    ธุรกิจของเบทาโกรเริ่มต้นจากโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกที่พระประแดงตั้งแต่ปี 2510 หรือ 55 ปีที่แล้ว ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ยังใช้งานอยู่และได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น เบทาโกรยังมีโปรเจ็กต์โรงงานอาหารสัตว์ที่ใช้ระบบดิจิทัล 100% มีซอฟต์แวร์กลางที่เชื่อมต่อกับตัวโรงงานและไลน์การผลิต

    “เครื่องจักรคงไม่สามารถทดแทนคนได้ 100% บางงานยังต้องพึ่งแรงคนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้าหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยุโรป”


- ย้ำแบรนด์อาหารปลอดภัย -

    นอกจากปริมาณการผลิตและยอดขายที่สูงแล้ว เบทาโกรยังมีความชัดเจนในเรื่องธุรกิจอาหารปลอดภัยนำเสนอผ่านแบรนด์ที่คนรู้จักดีคือ S-Pure ซึ่งเป็นสินค้าเนื้อไก่ สุกร ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่างๆ เกรดพรีเมียมปลอดสาร ปลอดภัยสำหรับตลาดไฮเอนด์ที่ได้การตอบรับดีมาก

    ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์ที่เจาะตลาดพรีเมียมแมสคือ BETAGRO ที่ทุกคนรู้จักดีทุกแบรนด์ของบริษัทขายผ่านทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นโมเดิร์นเทรดต่างๆ ร้านค้าของเบทาโกรเอง รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างชั้นนำต่างๆ อยู่ในตลาดมากว่า 18 ปีแล้ว ครองความเป็นผู้นำอาหารโปรตีนไก่ สุกร ในตลาดแบรนด์ระดับพรีเมียมที่ประสบความสำเร็จสูงมากว่า 10 ปี

    “2 ปีที่ผ่านมาเรายังได้การรับรองจากสิงคโปร์ เป็นรายแรกที่นำไก่สดเข้าไปจำหน่ายในสิงคโปร์ได้ในแบรนด์ S-Pure” ส่วนแบรนด์ BETAGRO ถือเป็นพรีเมียมแมสขายในซูเปอร์สโตร์ต่างๆ ในโมเดิร์นเทรดทุกแห่งโดยพรีเซนต์ความเป็น Thai Genius Food คุณภาพความปลอดภัยที่ดี มีความน่าเชื่อถือซึ่งได้การยอมรับจากผู้บริโภคค่อนข้างมาก

    ในยุคที่ 2 ของการเติบโตเป็นช่วงที่เพิ่มความแข็งแกร่งให้บริษัท เมื่อประเทศญี่ปุ่นต้องการไก่เนื้อจากไทย เบทาโกรได้ส่งออกไปญี่ปุ่นพร้อมกับหลายบริษัท และเบทาโกรมีโมเดลการส่งออกด้วยไก่สดแช่แข็ง ต่อมาก็พัฒนาเป็นไก่ปรุงสุกเพื่อการส่งออกทั้งญี่ปุ่นและประเทศยุโรป มีการตอบรับสินค้าที่ดีมากทั้งที่สหราชอาณาจักรอังกฤษและหลายประเทศใน EU ด้วยกัน โดยปัจจุบันเบทาโกรส่งออกมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลกทั้งในเอเชียหลายประเทศและในยุโรป



    นอกจากนี้ ยังมี เบทาโกรช็อป ร้านค้าย่อยอีกว่า 200 สาขา จึงสามารถเสิร์ฟลูกค้าได้ทุกเซกเมนต์ ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพในการทำให้สินค้ามีมูลค่าที่ดีขึ้นทั้งการทำแบรนด์ดิ้งและการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย

    ปัจจุบันเบทาโกรลงทุนในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และลาว ประเทศเหล่านี้มีความต้องการโปรตีนมาก ปัจจุบันเบทาโกรยังทำธุรกิจสัตว์เลี้ยง มีอาหารสัตว์เลี้ยงหลายแบรนด์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก มีทั้งขายในประเทศภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น Perfecta, DOG n joy และ CAT n joy และมีการส่งออกไปประเทศสำคัญๆ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งทุกแห่งมีการเติบโตที่ดี



- 4 ธุรกิจหลักฐานแกร่ง -

    องค์กรเบทาโกรที่เติบโตด้วยยอดขายถึง 8.5 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ดำเนินการใน 4 ธุรกิจหลัก เริ่มต้นธุรกิจแรก อะโกรธุรกิจเกษตรและอาหารสัตว์ คิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 25% ธุรกิจที่ 2 ฟู้ดแอนด์โปรตีนเนื้อสัตว์ไก่ สุกร และปลา เพื่อการบริโภคมีสัดส่วนใหญ่สุด 68% ส่วนยอดขายต่างประเทศสัดส่วนประมาณ 5% และธุรกิจที่ 4 คือ ธุรอาหารกิจสัตว์เลี้ยงประมาณ 2% รวมกันเป็น 100% ทำยอดขายเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ปริมาณการขายลดลง เพราะการขนส่งและการต้องปิดโรงงาน แต่ถึงกระนั้นธุรกิจก็ยังเติบโต แต่เป็นการเติบโตในอัตราเลขตัวเดียวที่ 7% ไม่ถึงกับแย่แต่ถือว่าเติบโตต่ำในช่วงนั้นผลกระทบตลาดส่วนใหญ่มาจากในประเทศเพราะเป็นฐานรายได้หลัก ส่วนรายได้จากการส่งออกถือว่ายังน้อยมียอดรวมกันไม่เกิน 10% ของรายได้ทั้งหมด

    วสิษฐขยายความถึงรายได้ของเบทาโกรว่า ในกลุ่มฟู้ดแอนด์โปรตีนโปรดักต์ทั้งหมดมีรายได้จากสัตว์เป็นไม่เกิน 9% ในจำนวนนี้มาจากการขายพันธุ์สัตว์ ขายแม่พันธุ์ไก่ไข่ หรือพ่อพันธุ์สุกร แม่พันธุ์สุกร ซึ่งรวมอยู่ใน 9% นี้ “เพราะฉะนั้นเบทาโกรเราเรียกตัวเองว่าเป็น food company ไม่ใช่ feed farm food ทั่วไป เราเป็นอุตสาหกรรมอาหารเน้นที่แบรนด์และความแตกต่าง”


- กำลังผลิต 4 ล้านตันต่อปี -

    ความต้องการอาหารมากขึ้น หรือที่เราเรียกว่า food security ในสเกลโลกเป็นความต้องการหลังโควิดฟื้นตัว ทำให้ความต้องการอาหารที่มีมากอยู่แล้วมีมากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตอาหารทั่วโลกยังทรงตัวอยู่ ภาวะราคาอาหารจึงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง ประกอบกับประเทศไทยมีปัญหาเรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทำให้สูญเสียสุกรไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณโปรตีนประเทศไทยตกต่ำเกิด

    ก่อนจบการสนทนา วสิษฐยังกล่าวทิ้งท้ายเรื่องบทเรียนจากช่วงโควิด-19 ว่า มีเยอะมาก แต่สิ่งหนึ่งที่พบว่ามีความสำคัญสูงสุดคือ ความต้องการผู้บริโภคมีสูงมากและพวกเขาให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพอนามัย เพราะฉะนั้นสินค้าอาหารที่ตอบโจทย์ต้องเน้นคุณภาพและสุขภาพเป็นสำคัญ ความยั่งยืนของอาหารคือเส้นทางการผลิตที่มีมาตรฐานตรวจสอบตรวจทานย้อนกลับได้ ซึ่งนับจากนี้ไปจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ BTG

อ่านเพิ่มเติม:

>> วีกฤษฏิ์ พลาฤทธิ์ Norse Republics วิศวกรผู้ผันตัวสู่งานดีไซน์

>> เอกชนห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจปี 66


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine